Latest

ขอให้คุณหมออธิบายปัญหาไทรอยด์ของดิฉันอย่างละเอียด

– ปี เม.ย.2549 มีอาการใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หมอ(1) ตรวจ THS อย่างเดียว(ไม่ทราบค่าหมอไม่ได้บอก) แต่บอกว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ให้ทานยาPROPYLและTAPAZOLE อย่างละ 1 เม็ด เช้า,เย็น
– หลังทานยา 3 เดือน ได้ตรวจกับหมอ (2) ค่า THS=0.009 T3=120 ระบุเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ ให้ทานยา PROPYL 1 เม็ด เช้า,กลางวัน,เย็น /PROPRANOLOL(BETALOL)1 เม็ด เช้า และ สั่งงดTAPAZOLE ที่หมอ (1) สั่งให้กิน
– และได้ทานยา PROPYL อย่างเดียว ก.ค.2549 ถึง พ.ย.2551 โดยค่อยๆลดปริมาณยาลง เป็นวันละ 2 เม็ด / 1 เม็ด /วันเว้นวัน/เลิกทานยาส่วน PROPRANOLOL(BETALOL) ทานเฉพาะเมื่อมีอาการใจสั่น ระหว่างทานยา ผลตรวจ THS เพิ่มสูงขึ้น แต่ T3 ลดลง (THS=1.8 T3=78) หมอให้เลิกทานยา
– หลังเลิกทานยา ได้ตรวจเลือดทุก 3 เดือน ค่า THS ลดลง แต่ T3 เพิ่มขึ้น (ล่าสุด 25 พ.ย. 2552 THS=0.545 T3=102.80)
คำถาม
1) อาการดังกล่าวน่าจะเป็น hyperthyroidism หรือ secondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism หรือ อื่นๆ
2) และถ้าเป็นsecondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism การที่หมอรักษาและจ่ายยาสำหรับการรักษา hyperthyroidism จะส่งผลเสียหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้างคะ (ทานยา PROPYL ระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน)
3) นัดเจาะเลือดครั้งหน้า พ.ค. 2553 ควรจะรอดีหรือไม่ หรือควรไปตรวจกับหมอที่ ร.พ.อื่น ดีคะ และต้องตรวจอะไรบ้าง ปัจจุบันมักมีอาการอ่อนเพลีย และตัวร้อนบ่อยๆ ทานยาพารา ก็ไม่ค่อยหาย อาการจะเป็นช่วงๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ( ร.พ.เดิม ใช้สิทธิประกันสังคม ถามอะไรหมอก็ไม่ค่อยตอบ บอกแต่ว่าก็ดีแล้วนี่ )

รู้สึกกังวลใจมาก กลัวค่าTHS จะลดลงกว่านี้อีก แล้วจะมีอาการเหมือนเดิมก่อนรักษา คุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆคะ

นิรนาม

ตอบ

ผมสรุปการเจ็บป่วยของคุณดังนี้นะ

หมอคนที่หนึ่ง พบว่าคุณมีอาการเริ่มต้นคือ ใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เจาะเลือดดู TSH (เข้าใจว่าได้ค่าต่ำกว่าปกติ) แล้ววินิจฉัยว่าคุณเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ จึงรักษาด้วยยา Propyl thyouracil (PTU) ควบกับยา Tapazole อย่างละ 1 เม็ด เช้า,เย็น

สามเดือนต่อมา หมอคนที่สองตรวจได้ THS=0.009 (ค่าปกติ =0.4 – 4.2) T3=120 (ค่าปกติ = 80-220) แล้ววินิจฉัยว่าไฮเปอร์ไทรอยด์ยังเป็นอยู่ เปลี่ยนยาเหลือ PTU อย่างเดียววันละสามเม็ด เลิก Tapazole และเพิ่ม Propanolol วันละเม็ด กินยาอยู่นาน สองปีสี่เดือนจนเลิกทานยา PTU ได้

ตรวจเลือดครั้งสุดท้าย 25 พ.ย. 2552 THS=0.545 T3=102.80) ตอนนี้ยังมีอาการเพลีย ตัวร้อน ต้องใช้ยาพารา

เอาละทีนี้มาตอบคำถามของคุณไปทีละข้อ

1) ถามว่า อาการดังกล่าวน่าจะเป็น hyperthyroidism หรือ secondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism หรือ อื่นๆ ใช่หรือไม่ ขอตอบว่า ไม่ใช่ทั้งสามอย่างนั้นหรอกครับ ผลเลือดครั้งสุดท้ายเป็นภาวะปกติ ที่ทางหมอเรียกว่า euthyroid เพราะทั้งค่า TSH ก็ไม่ได้ต่ำ และค่า T3 ก็ไม่ได้ต่ำ คุณจะไปหาว่าตัวเองเป็น secondary hypothyroid ได้อย่างไร (secondary และ tertiary hypothyroid หมายถึงกรณีที่มีโรคที่สมอง ทำให้การผลิตฮอร์โมน TSH ลดลง เมื่อขาดฮอร์โมน TSH ซึ่งเป็นเจ้านายมาคอยกระตุ้น ต่อมไทรอยด์ก็พาลขี้เกียจผลิตฮอร์โมนทัยรอยด์ลดลงกว่าที่ร่างกายต้องการ)

2) ถามว่า ถ้าเป็นsecondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism การที่หมอรักษาและจ่ายยา (PTU นาน 2 ปี 7 เดือน) จะส่งผลเสียหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้างคะ ขอตอบว่า ก็คุณไม่ได้เป็นไฮโปไทรอยด์ไม่ว่าแบบไหนนี่ครับ มันจึงไม่มีผลกระทบอะไร ถ้าคุณเป็นไฮโปไทรอยด์จริงแล้วหมอทะลึ่งให้กิน PTU สิครับ ต้องมีผลกระทบแน่นอน คือหมอคนนั้นต้องถูกส่งเข้ารพ.สมเด็จเจ้าพระยา

3) นัดเจาะเลือดครั้งหน้า พ.ค. 2553 ควรจะรอดีหรือไม่ หรือควรไปตรวจกับหมอที่ ร.พ.อื่น ดีคะ ( ร.พ.เดิม ใช้สิทธิประกันสังคม ถามอะไรหมอก็ไม่ค่อยตอบ บอกแต่ว่าก็ดีแล้วนี่) ขอตอบว่า อันนี้แล้วแต่คุณละครับ ความเห็นของผมก็คือ (1) หมอทีมเดิมเขาก็ดูแลคุณมาถูกต้องตามหลักวิชาทุกอย่างแล้ว (2) เปลี่ยนหมอโดยไม่จำเป็นมีโอกาสที่การส่งต่อข้อมูลระหว่างหมอด้วยกันจะขาดหายไม่ครบถ้วน จึงมักต้องไปเริ่มต้นรักษากันที่สนามหลวงใหม่ ไม่ดีหรอกครับ (3) อย่าไปว่าระบบประกันสังคมกับระบบสามสิบบาทนะครับ เพราะผมมีความเห็นว่านี่เป็นระบบดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีที่สุดในโลกแล้ว (4) การที่เราถามอะไรแล้วหมอท่านไม่ค่อยตอบนั้นผมต้องขอความเห็นใจให้เขาบ้าง เพราะถ้าหมอขยันตอบคนไข้ก็ขยันถามต่อยอด ต่อ ต่อ ต่อไปอีกไม่รู้จบ แล้วคิวที่นั่งรออยู่หน้าห้องตรวจละครับ เที่ยงนี้จะได้หยุดกินข้าวกันไหมละเนี่ย หมอก็หิวเป็นเหมือนกันนะ หมอเลยต้องชิ่งไปใช้ยุทธวิธีนิ่งเสียพันตำลึงทอง..หมดเรื่อง

4) จะต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง อันนี้สำคัญ ผมแนะนำดังนี้

4.1 ต้องประเมินอาการอ่อนเพลียในสามประเด็น คือ (1) เวลาพักผ่อน โดยประเมินจากแบบแผนการใช้ชีวิตของคุณเอง ว่าวันๆคุณทำอะไรบ้าง นอนวันละกี่ชั่วโมง เวลานอนพอไหม (8 ชม.ถึงจะพอ) นอนหลับสนิทหรือเปล่า ใช้ยานอนหลับไหม (2) การออกกำลังกาย คุณได้มีโอกาสออกกำลังลังกายสม่ำเสมอหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายทุกวันก็ไม่ต้องมาบ่นเรื่องเพลีย เพราะยังไงก็เพลียอยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายจะขาดสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งควรจะได้จากการออกกำลังกาย ทำให้อ่อนระโหยโรยแรง อันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับไฮเปอร์ไทรอยด์หรอก (3) การจัดการความเครียด ระดับความเครียดคุณสูงไหม คุณมีวิธีจัดการความเครียดที่ดีหรือยัง ได้เปิดให้ร่างกายมี relaxation response บ้างหรือเปล่า ถ้าคุณเครียดสติแตกอยู่ทุกวันก็อย่ามาโทษไฮเปอร์ไทรอยด์ว่าทำให้เพลีย เพราะคุณทำตัวเองต่างหาก

4.2 ต้องประเมินอาการตัวร้อนให้ชัดๆ ที่ว่าตัวร้อนจนต้องกินยาพารานั้นมันเป็นของจริงหรือของปลอม เพราะความรู้สึกว่าตัวร้อนๆรุมๆ บ่อยครั้งไม่ใช่ของจริง มันเป็นอาการของโรค ป.ส.ด. (ย่อมาจาก ประ-สาท-แด๊กซ์ นะครับ ขอโทษ..ล้อเล่น) วิธีพิสูจน์มีอย่างเดียว คือไปซื้อปรอทที่ปากซอยมาเก็บไว้ที่บ้าน พอรู้สึกตัวร้อนก็อม อม อม แล้วดูด เอ๊ย..ไม่ใช่ อมแล้วบันทึกไว้ว่าวันๆมีไข้ตัวร้อนจริงหรือเปล่า ถ้ามีไข้เรื้อรังจริง (อุณหภูมิเกิน 37 องศาขึ้นไป) ค่อยเอาแผ่นบันทึกนั้นไปให้หมอดู

4.3 ต้องประเมินการเต้นของหัวใจ ในสองประเด็นคือ (1) มันเต้นยังไง เร็วไปไหม โดยจับแมะตัวเองดู ถ้าเต้นไม่เกิน 72 ครั้งต่อนาทีก็ถือว่ายังโอเค แต่ถ้าเร่งเครื่องเต้นเร็วจี๋ก็ไม่ดี (2) จังหวะการเต้นเป็นอย่างไร มันเต้นเป็นจังหวะจะโคนตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ดีหรือเปล่า หรือเต้นไม่เป็นส่ำ แบบบุ่ม..บ่าดีบุม..บ้าดีบุ่ม..บุ้มบุ้ม แบบนั้นทางหมอเขาเรียกว่าเป็น AF ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของไฮเปอร์ไทรอยด์ ต้องรีบรักษา

4.4 ต้องตรวจบันทึกความดันเลือด ซึ้อเครื่องมาวัดเองก็ได้ เพราะคนเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์มักมีความดันเลือดสูง ถ้าสูงเกิน 120/80 ก็เรียกว่าใกล้เป็นความดันสูง ถ้ามากกว่า 140/90 ก็ถือว่าเป็นความดันสูงไปแล้วเรียบร้อย ต้องรีบรักษาเช่นกัน

4.5 ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าน้ำหนักปัจจุบันนี้มันมากไปหรือน้อยไป มันมีทิศทางเพิ่มหรือลด ถ้ามันน้อยอยู่แล้ว แถมมีทิศทางลดลงไปอีกแบบสาละวันเตี้ยลง ก็แสดงว่าไฮเปอร์ไทรอยด์ยังคุมไม่ได้

4.6 ต้องตรวจน้ำตาลในเลือด เพราะคนเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์มักเป็นเบาหวานด้วย เพราะมันเป็นโรคพี่น้องกัน หมอรักษาไทรอยด์ถึงเป็นคนเดียวกันกับหมอรักษาเบาหวานไง..เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย

4.7 ต้องตรวจความแน่นของกระดูกด้วย เพราะไฮเปอร์ไทรอยด์ทำให้กระดูกพรุน ถ้าพบว่ากระดูกพรุนจริงก็จะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่ารอให้มันหัก

4.8 ถ้าคุณยังอยู่ในวัยที่คิดจะมีลูก ก็ควรต้องประเมินการเจริญพันธ์ (fertility) ว่ามีลูกยากหรือเปล่า เพราะไฮเปอร์ไทรอยด์มักทำให้มีลูกยาก ถ้ามียากแต่ก็ยังอยากมี ก็ต้องหาหมอด้านการเจริญพันธ์มาเป็นตัวช่วย

5. คุณกลัวว่าจะกลับเป็นใหม่ ขอตอบว่าไม่ต้องกลัว ให้คุณ make your heart แปลว่าทำใจเสียเถิดครับ เพราะโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ อัตราการหายขาดจากการรักษาด้วยยามีเพียง 25-30% เท่านั้น แต่ไม่ต้องวอรี่ ถ้ามันกลับเป็นจริงๆก็ยังมีก๊อกสอง คือการรักษาด้วยการกิน Radioactive iodine (I-131) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในอเมริกา เป็นวิธีที่ปลอดภัย มีอัตราหาย 75-100% และไม่ได้ทำให้เป็นหมันหรือเป็นมะเร็งอย่างที่คนไม่รู้จริงกลัวกัน [1] แต่ว่ามีข้อเสียคือทำให้มักต้องกินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน (Levothyroxine sodium) ไปตลอดชีวิต

สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Singer RB. J Insur Med. 2001;33(2):138-42. Long-term comparative cancer mortality after use of radio-iodine in the treatment of hyperthyroidism, a fully reported multicenter study. J Insur Med. 2001;33(2):138-42.