Latest

เด็กติดเกมคอมพิวเตอร์, มุมมองของแพทย์ประจำครอบครัว

ตัวผมนี้เป็นหมอรักษาผู้ใหญ่ อยู่ห่างไกลเหลือเกินกับปัญหาสุขภาพเด็ก แต่เรื่องเด็กติดเกมนี้มันพันมากับพ่อแม่เด็ก ซึ่งเป็นคนไข้ของผม คือการจะรักษาโรคทางกายของพ่อแม่ ก็ต้องไล่เลียงไปถึงปัญหาทางใจด้วย หลายคนมีปัญหาทางใจที่แกะไม่หลุดคือลูกติดเกม ผมก็เลยถูกลากเข้ามาสู่เรื่องเด็กติดเกมด้วยประการฉะนี้

ความที่ไม่มีความรู้ ผมจึงตั้งต้นด้วยการสืบค้นหลักฐานทางการแพทย์ว่าโรค “เด็กติดเกม” นี้เขารักษาอย่างไรกัน แต่น่าเสียใจครับ วงการแพทย์สากลไม่นับปัญหาเด็กติดเกมเป็นปัญหาทางการแพทย์ แม้ในมาตรฐานการวินิจฉัยโรคทางจิตประสาท (DSM) ฉบับใหม่ที่จะนำออกใช้ในปี 2012 ข้อเสนอให้บรรจุให้มีโรค “VDO game addiction” ก็ถูกโหวตตกกระป๋องไปแล้วเรียบร้อย ในสาระบบโรคนานาชาติ (ICD) ก็ไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นโรค และเมื่อผมสืบค้นงานวิจัยทางการแพทย์ในหอสมุดแพทย์กลาง (MEDLINE) ก็จึงถึงบางอ้อว่าตราบถึงปัจจุบันในโลกนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์เจ๋งๆแม้เพียงชิ้นเดียวที่พิสูจน์ได้ว่าโรคติดเกมนี้มีอยู่จริง เมื่อถือว่าโรคนี้ไม่มี ก็ป่วยการที่จะไปพูดถึงว่าจะวินิจฉัยอย่างไร จะรักษาอย่างไร อย่างมากก็วินิจฉัยได้แค่ว่าเป็นโรคคุมกิเลสไม่อยู่ (impulse control disorder) เท่านั้น

แต่ว่าคนไข้ของผมซึ่งเป็นพ่อแม่เด็กที่กำลังหน้าหมองเป็นทุกข์เพราะลูกติดเกมอยู่ตรงหน้านี้เป็นของจริง ถ้าผมจะบอกพวกเขาว่าปัญหาของคุณไม่มีอยู่จริงหรอก เขาก็คงเปลี่ยนหมอเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย มาพยายามอีกสักหน่อยดีกว่า ผมจึงลองสืบค้นข้อมูลนอกวงการแพทย์ โอ้..มีเพียบแฮะ แต่ว่าทั้งหมดเป็นเพียงความเห็น อ่านจนตาแฉะก็ยังจับไม่ค่อยได้ว่าอะไรจริงอะไรไร้สาระ เพราะทั้งหมดเป็นหลักฐานชั้นคำบอกเล่า ไม่ใช่ผลการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ ผมจึงตัดสินใจถอยกลับมาหาวิธีมวยวัดของนักการตลาด ที่เรียกว่าการทำวิจัยแบบโฟคัส กรุ๊พ คือนั่งคุยกับคนกลุ่มเล็กๆที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่เด็กที่เล่นเกมบ้าง พ่อแม่เด็กบ้าง แล้วใช้อัตวิสัยของตัวผมเองสกัดสาระออกมา โม่เป็นข้อสรุป สิ่งที่ได้มาคือบทความนี้ แม้จะเป็นวิธีที่วงการแพทย์ดูถูกดูแคลนว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำ เชื่อถือไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้เริ่มต้นเสียเลย

ต่อไปนี้เป็นผลจากโฟคัสกรุ๊พที่ผมทำ

สาระจากเด็กที่เล่นเกม

1. “..เกมทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ ในเกมเราอยากเป็นใคร มีหน้าต่อหล่อสวยอย่างไร รวย เก่ง แค่ไหน ทำได้หมด ดีกว่าโลกแห่งความเป็นจริง ที่แค่จะเรียนให้รอดแต่ละวันยังเอาตัวไม่รอดเลย แล้วใครที่ไหนจะมายอมรับเรา”

2. “..โลกไซเบอร์เป็นโลกที่มีความเครียดสูงนะครับ เมื่อเล่นแพ้ เราต้องมานั่งคิดว่าทำไมเราทำไม่ได้ ต้องพยายามหนักขึ้นไปอีก เพื่อจะได้ชนะ จะได้ภูมิใจในตัวเอง นอกจากนั้นสังคมไซเบอร์ก็มีความกดดัน ถ้าเราแพ้ก็จะถูกเย้ยหยันจากศัตรู ถูกด่าโดยเพื่อนร่วมทีม การแข่งเป็นทีมนี้เครียดเสียยิ่งกว่าสอบปลายภาคเสียอีก”

3. “..ร้านเกมมันดีกว่าบ้านแน่นอน อยู่บ้านพ่อแม่เขาก็รำคาญเรา อีกอย่างหนึ่งที่ต้องไปอยู่ที่ร้านเกมแทนบ้านเพราะเราต้องทำให้สังคมของเด็กเล่นเกมยอมรับว่าเราเก่ง มีความสามารถ จึงทำให้ต้องขยันเล่น ขยันฝึก ถ้ามีโอกาสหนีเรียนได้ ก็จะหนีเลย”

4. “..ติดก็ติด เป็นเรื่องปกติ เพราะเกมมันสนุกสนานท้าทาย ผมเป็นคนฉลาด เก่ง
ชอบท้าทาย ชอบประลอง ชอบความแปลกใหม่และชอบระทึกขวัญ เกมให้สิ่งเหล่านี้ผมได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผมบอกอะไรกับเพื่อนๆได้ว่าผมทันเกม ทันสมัย เกมกระจอกเล่นทีไรชนะทุกทีผมทิ้งทันที ผมจะเสาะหาเกมใหม่ที่ยากกว่า”

5. “..การเล่นเกมทำให้ได้รู้จักเพื่อนๆ แต่ว่าก็ไม่ถึงกับสนิทกัน แบบว่าอยู่วงการแบบนี้หาเพื่อนดีๆไม่ค่อยได้ ที่ดีๆก็กลับตัวออกจากวงการกันไปหมดแล้ว แต่บางร้านก็เป็นกลุ่มที่ดีหน่อย เราก็ได้อะไรจากพวกเขามาแยะ บางคนก็กลายเป็นเพื่อนกันมาจนเดี๋ยวนี้”

6. “..คนไม่รู้ก็ไม่เข้าใจ เอะอะก็ว่าเกมคือการพนัน เป็นอบายมุข เป็นสิ่งต้องห้าม จริงๆแล้วเกมมีประโยชน์ ช่วยหัดให้เราตัดสินใจ ทำให้เราฉลาดและทันเล่ห์เหลี่ยมของคน ดีกว่าไปนั่งจุมปุ๊กในห้องเรียนไร้สาระไปวันๆ”

7. “..ถ้าถูกห้ามไม่ให้เล่นเกมหรือครับ..ก็อาจตายได้นะ”

8. “..หาอะไรที่มีสาระกว่ามาถ่วงดุลสิครับ พูดตรงๆก็คือ ตอนนี้ผมติดอะไรบางอย่างมากกว่าติดเกมเสียแล้ว อะไรที่ผมเชื่อว่ามันมีสาระดีกว่าการเล่นเกม”

9. “..มันต้องได้เล่นทุกวัน ถ้าไม่ได้เล่นมันจะร้อนรนอยู่ไม่ได้ เพราะคนอื่นเขาจะทำเลเวลสูงขึ้นแซงหน้าเราไป แต่พอถึงช่วงสอบผมก็ไม่เล่นเลย หยุดไปหมดเลย ฮิ..ฮิ.. ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน”

10. “.. เมื่อเล่นเกมเก่งแล้ว ให้มีโอกาสแสดงออกในทางที่ถูกต้องได้ไหม เช่น จัดแข่งขันยกระดับความสามารถ มีการประกาศ มีรางวัล ให้เป็นที่ยอมรับ คนที่สนใจเกมจริงจังก็ให้มีโอกาสพัฒนาในด้านนี้ อาจจะเป็นในด้านออกแบบ และสร้างเกม รวมไปถึงอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นคอมพิวเตอร์กราฟฟิค”

11. ที่ยุโรปเหนือนี่คนติดเกมนะเป็นผู้ใหญ่ค่ะ ใครเล่นเกมดูเหมือนจะเท่ ประมาณนั้น สามีใครในแถบยุโรปเหนือนี้ไม่เล่นเกมมาเหยียบหน้าอกได้เลย บางคนบ้าเกมชนิดเลิกไม่ได้ ใช้โรงรถเป็นเขตปลอดเมียนั่งเล่นเกมเอาเป็นเอาตาย เรื่องงานบ้านเลี้ยงลูกไม่สน”

สาระจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง

1. “..ลูกชายติดเกมหนักถึงขั้นหนีเรียนไปอยู่ร้านเกม พออาจารย์รายงานมาว่าจะหมดสิทธิ์สอบ ตกใจมาก ลงโทษยังไงก็ไม่ดีขึ้น ขังไว้ในห้องก็ปีนหนีออกจากบ้าน ไม่ให้เงินใช้ก็แล้ว แถมขโมยของไปขายเสียอีก เครียดจนนั่งร้องไห้ บังเอิญลูกกลับมาเจอเข้า จึงได้คุยกันพ่อลูกทั้งน้ำตา”

2. “..เขาเป็นเด็กฉลาด ไม่ดื้อ แต่สังเกตว่าเมื่อเล่นเกมมากแล้วเขากลายเป็นคนชอบสันโดษ เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร และระเบียบวินัยต่อตัวเองเสียไป นอนดึก หรือไม่นอนเลย ตื่นสายมาก”

3. “..เข้าใจ ว่าลูกเขาไม่รู้จะยับยั้งชั่งใจตัวเองได้อย่างไร ไม่รู้จะบังคับตัวเองให้หยุดตรงไหนได้อย่างไร แต่เราเองก็ไม่รู้วิธีจะเข้าไปพูดกับเขาหรือเข้าไปช่วยเขาอย่างไร เพราะเราให้อิสระเขามาตั้งแต่เด็ก จะมาบังคับเขาตอนโตมันคงไม่ได้”

4. “..ที่ซื้อเกมให้ก็เพราะเขารบเร้ามาก เขาบอกว่าไม่ได้เล่นเกมก็ไม่รู้จะคุยอะไรกับเพื่อน เพราะเพื่อนๆเล่นเกมกันหมด อีกอย่างก็คิดว่าเกมคอมพิวเตอร์มันก็มีข้อดีของมันอยู่ พอซื้อให้แล้วก็ไม่คิดว่าเขาจะติดเกมจนเสียการเรียนขนาดนี้”

5. “..ผมเคยตามลูกไปร้านเกม บรรยากาศมันแย่มาก อุดอู้ สกปรก เด็กที่เล่นเกมอยู่ในร้านทุกคนแม้จะแต่งตัวดีแต่ก็ใช้คำหยาบคาย ลามก และรุนแรงขณะเล่นเกม จนผมคิดอยากจะทำร้านเกมเสียเองให้มันมีแคแรคเตอร์ของการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ แต่ครั้นพอคิดได้ว่าตัวเองยังเอาตัวเองไม่รอดเรื่องลูกติดเกมก็เลยเลิกคิด”

6. “..ผมใช้วิธีเข้มงวดเรื่องเวลา จะให้เล่นได้ก็ต่อเมื่อเอาการบ้านมาให้ผมดูก่อนว่าทำเสร็จแล้ว และเล่นได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ยอมเสียเวลาตรวจสอบลูกทุกคน เข้มงวดและลงโทษหนักแน่นเสมอกัน ก็ได้ผลดี”

7. “.. เพื่อนแนะนำให้ดิฉันตามไปดูถึงเกมที่เขาเล่น พูดคุยกับลูกเรื่องเกมที่เขาสนใจ เลือกเกมที่เป็นกีฬา การผจญภัย หรือเกมในทางสร้างสรรค์อื่นๆ มาเล่นกับลูก”

8. “..ที่เสียใจอยู่ตอนนี้ก็คือการตัดสินใจให้เขามีคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอน เวลาเล่นเกมเขาปิดประตูล็อคห้อง พ่อแม่จะเข้าไปหาก็ไม่ได้ ถ้าย้อนเวลาได้ จะเอาคอมพิวเตอร์มาวางไว้กลางบ้าน ผ่านไปมาก็เห็นว่าลูกเล่นอะไรทำอะไรอยู่ และเมื่อเราเข้านอนไปแล้วเขาจะแอบลุกขึ้นมาเล่นเกมตอนดึกอีกไม่ได้ ความผิดพลาดข้อสองก็คือเขาขอติดตั้งอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงก็ติดให้เขา ยิ่งทำให้เขาเล่นเกมได้มันยิ่งขึ้นไปอีก มาถึงตอนนี้แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร มันจึงยากไปหมด ถ้าบังคับมากก็กลัวเขาจะประชดชีวิต ไม่ยอมเรียนหนังสือ”

9. “..ทั้งหมดนี้ก็มาจบที่การโทษตัวเอง ว่าเรานี้เลี้ยงลูกไม่เป็น ทั้งๆที่พ่อแม่เราเลี้ยงเรามาดี แต่เราตามใจลูกไปเสียหมดทุกอย่าง ทำให้ลูกเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เกียจคร้าน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ดื้อรั้น ไม่มีความรับผิดชอบ เอาแต่สนุกสนาน ไม่ชอบทำงาน ไม่ชอบเรียน”

10. “ ดิฉัน (แพทย์) เห็นว่าเกมเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “อาการติด” ที่จะเปลี่ยนเข้ามาตามวัย เช่น โทรศัพท์ ทีวี เรื่องเพศ เหล้าและบุหรี่ การพนัน ทั้งหมดนี้ถ้าเด็กฝึกควบคุมตัวเองก็จะก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ทั้งนั้น”

สรุปวิธีแก้ปัญหา

ต่อไปนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ผมกลั่นออกมาจากข้อมูลที่ได้จากโฟคัส กรุ๊พ แล้วนำมาลองใช้กับผู้ป่วยของผมสองสามราย ตอนนี้กำลังใช้อยู่ ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย พูดง่ายๆว่าไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่า จัดว่าเป็นวิธีการแบบหมอเถื่อน ช่วยไม่ได้จริงๆเพราะหลักวิชาแพทย์ในเรื่องนี้ที่ตรงๆจะๆยังไม่มี อ่านแล้วขอให้ถือว่าบทความนี้เป็นเพียงหลักฐานชั้นคำบอกเล่าอีกชิ้นหนึ่งก็แล้วกัน ยังไม่ต้องเชื่อเป็นตุเป็นตะ วิธีแก้ปัญหาของผมคือ

1. เครื่องมือหลักที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องใช้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณลูก คือ “การรู้จักวิธีใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วยวิธีง่ายๆ” อันได้แก่ ซึ่งสร้างขึ้นจากองค์ประกอบสามอย่างคือ (1) การฝึกสมาธิ (meditation) เพื่อให้จิตใจสงบสุขด้วยวิธีเช่นการตามรู้ลมหายใจ (2) การฝึกตามดูหรือฝึกระลึกรู้ (recall) ความคิดของตัวเองว่าเมื่อตะกี้ตัวเองเผลอคิดอะไร พูดง่ายๆว่าฝึกสติ (3) การฝึกตัวเองให้หัดรู้สภาวะจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ (self awareness) ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหานี้ ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่ และฝ่ายลูก

2. เริ่มต้นการแก้ปัญหาโดยให้พ่อแม่สร้างวินัยต่อตัวเองของตัวพ่อแม่เองก่อน โดย

a. ฝึกตามความคิดและอารมณ์ของตัวเองให้ทัน ทำตัวเองให้เป็นคนที่มีจิตใจโปร่งโล่งสบาย ไม่ซึมเศร้า หรือโมโห หงุดหงิด ดุด่า หรือพร่ำบ่นเพื่อระบายอารมณ์ เรียกว่าจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน

b. ทำทุกสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ดีมีวินัยคนหนึ่งพึงทำต่อตนเอง ได้แก่ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์อยู่ควรเลิก ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอควรลงมือออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าการรับประทานอาหารเป็นไปอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการควรปรับเปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ถ้าเป็นคนนอนน้อย พักผ่อนไม่พอ ควรจัดเวลานอนและเวลาพักผ่อนแต่ตัวเองให้พอ เป็นต้น

c. จัดการงานของตนเองให้ดี เป็นระเบียบ ไม่คั่งค้างพอกหางหมู รวมไปถึงจัดการเรื่องการเงินของตนเองให้พอดี มีรายจ่ายไม่เกินรายรับ

3. เมื่อพ่อแม่ได้สร้างวินัยต่อตนเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว จึงนำความสำเร็จของการสร้างวินัยต่อตนเองนี้ไปสร้างบรรยากาศของครอบครัวที่อบอุ่นสำหรับลูกๆขึ้นมา คู่ขนานไปกับฝึกสอนให้ลูกๆสร้างวินัยต่อตัวเองของลูกๆ ดังนี้

a. สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวขึ้นมา มีสติตลอดว่าเวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปดูแลลูก สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ขึ้นในบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส จัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน

b. ให้ความเข้าใจแก่ลูก เวลาลูกพูดอะไรให้ตั้งใจฟัง ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าลูกต้องการสื่อความคิดหรือความรู้สึกอะไรแก่เรา สรุปความเข้าใจของเราให้เขาตรวจสอบว่าเราเข้าใจเขาถูกหรือไม่ ถ้าเขาบอกว่าเราเข้าใจเขาผิดก็ต้องฟังเขาใหม่ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจเขาจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะโต้ตอบหรือสั่งสอน

c. พูดกับลูกดีๆ พูดในลักษณะเป็นการตกลงกติกา ไม่ใช่การออกคำสั่ง กำหนดกติกาให้ชัดเจนร่วมกันว่าจะค่อยๆลดเวลาเล่นเกมลงอย่างไร

d. สนองต่อพฤติกรรมขบถ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟังของลูกด้วยท่าทีไม่ใช้อารมณ์ ใช้ท่าทีที่ธรรมดาแต่มั่นคง ไม่ท้อถอยหรือประชดประชัน บอกเพียงแต่ว่าเราตกลงกันแล้วต้องทำตามที่ตกลง พ่อแม่พึงหนักแน่นในกฎระเบียบ นุ่มนวลในท่าที อย่าทำแบบบัดเดี๋ยวแข็ง ตวาด ด่า ถอดปลั๊ก บัดเดี๋ยวอ่อนพอลูกขอเล่นอีกหน่อยก็ยอม ต้องใช้ท่าทีอ่อนนอกแข็งใน ตกลงกันแล้ว 2 ชั่วโมงครบสองชั่วโมงแล้วขอให้ลูกหยุด ทำกิจกรรมอย่างอื่นดีมั้ยลูก เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องทำโทษก็ทำด้วยความรัก ไม่ทำเพราะเผลอโมโห

e. สร้างวัฒนธรรมการแสดงออกถึงความรักและหวังดีต่อกันแบบทำอย่างเปิด ทำบ่อยๆ ทำทั้งด้วยวาจา เช่นพูดออกมาบ่อยๆว่า “พ่อรักแม่นะครับ” “แม่รักลูกค่ะ” และทำทั้งการใช้ภาษากาย เช่นการสัมผัสบีบมือ โอบกอด ตบหลังตบไหล่

f. กำหนดกิจกรรมร่วมกันขึ้นมา อย่างน้อยสักหนึ่งอย่างในหนึ่งสัปดาห์ที่พ่อแม่ลูกทุกคนต้องมาร่วมกันทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องจัดเวลาของตัวเองมาทำสิ่งนี้ให้ได้ เช่นวันอาทิตย์ อาจเป็นการให้ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติ เพื่อแย่งเวลาที่ใช้เล่นเกมมาใช้เวลาเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์อื่นๆอีกมาก

g. วางแผนการใช้เวลาบางส่วนของลูกแบบ “ภาคกึ่งบังคับ” เช่น วันเสาร์ให้เข้าคอร์ส เรียนดนตรี ศิลปะ เต้นรำ กีฬา ภาษา หากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขาได้ลอง ได้รู้จัก ได้เลือกเองว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ผลพลอยได้นอกจากทักษะด้านต่างๆก็คือลูกจะได้มีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้นสร้างบรรยากาศ ทำให้เด็กค้นพบความสุข ความสนุกหลายๆ ด้าน

h. ลงทุนลงแรงสอนลูกให้มีความรับผิดชอบเป็นขั้นเป็นตอน มอบความรับผิดชอบให้เด็กทำตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักมีความรับผิดชอบ ต้องทำอะไรบางอย่างถึงแม้จะเบื่อทำขี้เกียจทำแต่ต้องทำ เป็นการสร้างวินัยให้เด็ก เพื่อจะให้เด็กสร้างวินัยให้ตัวเองในอนาคตได้ อย่าเลี้ยงลูกแบบ over protected ไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้ตัดสินใจอะไรเองเลย

i. กำหนดมาตรการทางการเงิน สอนให้ลูกบริหารจัดการเงินรายรับ-รายจ่ายของตนให้ได้

j. ชื่นชมให้กำลังใจ มองหาข้อดีในตัวลูก แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องดีก็ควรชม ให้เขาได้เกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ให้เขาได้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองข้ามข้อตำหนิเล็กๆน้อยๆของเขาไปเสียบ้าง

k. หมั่นสังเกตว่าลูกอาจอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ โดยตัวชี้วัดสำคัญก็คือผลการเรียน สุขภาพ พฤติกรรม และการใช้จ่ายเงิน เมื่อเห็นว่ามีปัญหา ต้องรีบเข้าไปช่วยเขาแก้ปัญหา ชี้ให้เขาเห็นด้านดีอื่นๆที่เขามี ชวนเขาหาความสุขความสำเร็จจากเรื่องอื่นๆ

l. การส่งลูกไปเข้าค่ายตอนปิดเทอมก็เป็นวิธีที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายแก้ไขเด็กติดเกม ค่ายเด็กอ้วน ค่ายพ่อแม่ลูกผูกพันป้องกันปัญหายุคไซเบอร์ เป็นต้น

m. ถึงจุดหนึ่ง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจาะลึกลงไปถึงรากของความสำเร็จในการสร้างวินัยต่อตนเอง นั่นคือการสอนให้ลูกรู้จักร้องเตือนตัวเอง (recall) เมื่อความคิดหรือความรู้สึกลบเกิดขึ้นในใจ ควบไปกับการฝึกให้มี “ความรู้ตัว (awareness)” ว่าขณะนี้ตัวเองกำลังเฝ้ามองความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองอยู่ รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกมีอารมณ์อย่างไร และฝึกสมาธิ ให้รู้วิธีเอาใจไปจดจ่อไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นลมหายใจของตนเอง เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีพากันไปวัด ที่มีการฝึกสอนการฝึกสติสัมปชัญญะและสมาธิโดยตรง

n. ถ้าพยายามทำทั้งหมดนี้แล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าสิ้นหวัง รู้สึกว่าไม่มีหนทางช่วยเหลือลูกได้ ควรหาทางขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ถ้าไม่รู้จะไปหาที่ไหน เท่าที่ผมทราบ มีหน่วยงานที่มีหน้าที่นี้โดยตรงอยู่หน่วยหนึ่งชื่อศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โทร. 02-3548305-7 หรือ http://cgap.icamtalk.com/index.php

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์