Latest

เวลามีประจำเดือนจะบวมเป็นอึ่งอ่าง

เรียน คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันน้ำหนัก 64 กก. สูง 157 ซม. เวลามีประจำเดือนจะบวมเป็นอึ่งอ่าง เพื่อนๆบอกว่าอย่างนี้เรียกอ้วนไม่ใช่บวม ดิฉันว่าไม่ใช่ เพราะเวลากดลงไปผิวหนังมีรอยบุ๋มนิ้วมือคาอยู่เลย แล้วก็ปวดท้องเมนส์รุนแรงมาก ต้องหยุดงาน ทำอะไรไม่ได้เลย ไปหาหมอหมอก็ให้กินยาคุมจนอ้วนเอาๆ และให้กินยา Arcoxia และยา Lasix ขับปัสสาวะ อยากถามว่า (1)เป็นโรคอะไร(2)สาเหตุเกิดจากอะไร(3)มีวิธีรักษาไหม

Pornpana

ตอบครับ

1. ถามว่าเป็นอะไร โอ้โฮคนบวมเป็นอึ่งอ่างเนี่ยเป็นได้หลายโรคมากนะครับ ที่แน่ก็คือเป็นโรคอ้วนอย่างที่เพื่อนของคุณวินิจฉัยนะน่าจะถูกแล้ว เอาน้ำหนัก 64 ตั้ง เอาส่วนสูงเป็นเมตรคือ 1.57 ไปหารสองครั้ง ได้ดัชนีมวลกาย = 25.9 แปลว่าน้ำหนักเกินถ้าใช้มาตรฐาน WHO แต่ถ้าใช้มาตรฐานคนเอเซ๊ยก็แปลว่าเป็นโรคอ้วน ซ.ต.พ.
ส่วนที่บวมจนกดแล้วบุ๋มลงไปนั้น เป็นหลักฐานว่าบวมจริง คุณบอกว่าไปหาหมอมาแล้ว หมอให้ยาอาร์คอกเซียที่มีพิษต่อไตมาด้วย แสดงว่าไตคุณของคุณยังดีอยู่ ไม่ได้บวมเพราะเป็นโรคไต ดังนั้นการวินิจฉัยที่น่าจะเป็นมากที่สุดก็คือกลุ่มอาการเลือดจะไปลมจะมา ภาษาแพทย์เรียกว่า premenstruation syndrome หรือ PMS หมายถึงอาการผิดปกติที่เกิดเฉพาะช่วงก่อนประจำเดือนมา เช่นสิวขึ้น ปวดหลัง ท้องอืด เรอ เบื่ออาหาร อยากกินอะไรเฉพาะอย่างแบบคนแพ้ท้อง ท้องผูก ซึมเศร้า ร้องไห้ แสบหน้าอก หงุดหงิด เพลีย ปวดหัว วูบวาบ ปวดข้อ อารมณ์แปรปรวน ไม่มีอารมณ์เซ็กซ์ เต้านมตึง ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ มือเท้าบวม อยากอยู่คนเดียว น้ำหนักขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

2. ถามว่า PMS เกิดจากอะไร ตอบว่าไม่มีใครทราบ ทราบเพียงแต่ว่ามันสัมพันธ์กับรอบเดือน

3. ถามว่ามีวิธีรักษา PMS ไหม ตอบว่าไม่มี

แต่ไหนๆคุณก็มาถึงคลินิกแล้ว จะไม่รักษาเลยก็จะเก็บเงินไม่ได้ ลองทำสิ่งต่อไปนี้ดูสิครับ แม้จะไม่รู้สาเหตุแต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าทำให้ PMS ดีขึ้น คือ
3.1 การออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน (คือออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้หนักพอควรถึงขั้นร้องเพลงไม่ได้และให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีสัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง ควบกับการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามสัปดาห์ละอย่างน้อยสองครั้ง)
3.2 ปรับโภชนาการให้ถูกส่วน ให้มีสัดส่วนของผักและผลไม้มากพอ และลดปริมาณเกลือให้เหลือต่ำมากๆ ลดสารกระตุ้นเช่นกาแฟ แอลกอฮอล์
3.3 จัดเวลานอนให้พอเพียง อย่างน้อยวันละ 7-8 ชม. และนอนให้เป็นเวลา
3.4 การจัดการความเครียด เช่นการฝึกสมาธิ โยคะ มวยจีน ตรงนี้ผมขอแนะนำนอกตำรานิดหนึ่ง ไม่ถือว่าผิดจริยธรรมวิชาชีพนะครับ เพราะบอกแล้วว่านอกตำรา ลองฝึกวิปัสสนาแบบตามดูอาการปวดของร่างกาย (เวทนานุสติปัฐฐาน)มีคนลองแล้วเขาว่าทำให้ความทนทานต่ออาการปวดดีขึ้น เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ เพราะเป็นหลักฐานขั้นคำบอกเล่า ไม่ใช่งานวิจัย
3.5 ใช้ยาช่วย บรรเทาอาการถ้าจำเป็น ทั้งนี้ต้องยอมแลกกับผลเสียที่อาจเกิดจากยา ยาที่ใช้มากได้แก่
3.5.1 ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID)
3.5.2 ยาขับปัสสาวะ ใช้บรรเทาอาการบวมมาก
3.5.3 ยาแก้ซึมเศร้า ถ้ามีอาการหงุดหงิดซึมเศร้ามาก แต่ยาพวกนี้ต้องกินต่อเนื่องทุกวันจึงจะได้ผล
3.5.4 ยาคุมกำเนิด เพื่อปรับระดับฮอร์โมนไม่ให้หวือหวามาก ได้ผลในบางราย

4. คุณไม่ได้ถาม แต่ขอพูดถึงยาผีบอกที่ใช้รักษา PMS หมายถึงวิตามินหรือสมุนไพรที่มีผู้แนะนำไว้ตามเว็บไซท์มากมาย แต่ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าได้ผลจริงหรือไม่ เช่น วิตามินบี.6 วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส ทริปโตแฟน น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส เป็นต้น เนื่องจากหลักฐานทางการแพทย์ยังไม่มี ผมจึงแนะนำอะไรไม่ได้ ถ้าคุณอยากลองก็ต้องไปเสี่ยงลองเอาเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์