Latest

กลัววัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะเห็นคุณยายเสียชีวิต

สวัสดีค่ะหนูมีเรื่องให้รบกวนอีกแล้วค่ะ คือเมื่อวันเสาร์ที่ผ่าน เค้ามีฉีดวัคซีนหวัด2009 ให้ฟรีอ่ะค่ะแต่หนูกะที่บ้านไม่กล้าฉีดเนื่องจากยายของหนูที่เค้าเป็นเบาหวานอ่ะค่ะเค้ามีหลายโรคแทรกซ้อนค่ะก็ไปตรวจเป็นประจำทุกอาทิตย์เนื่องจากมีปัญหาเรื่องไตต้องฟอกไตตลอด แล้วแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง(ขอไม่เอ่ยชื่อนะค่ะ)เค้าก็ให้ยายฉีดวัคซีนหวัด 2009 ฉีดได้ 1 อาทิตย์ยายหนูอาการก็ทรุดหนักเลยจะกระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ยังไม่ทราบผลเลือดว่าเป็นหวัดใหญ่,2009 หรือไข้เลือดออกหรือไม่ เนืองจากผลเลือดยังไม่ออก ยายก็เสียก่อน ที่บ้านหนูจึงกลัวว่าการที่เราไปฉีดวัคซีน2009 แล้วอาจเกิดอันตรายขึ้น (หนูกลัวเป็นอะไรไปแล้วไม่มีเวลามาปรึกษาคุณหมอค่ะ)

……..

ตอบครับ

ขอตอบโฟคัสเรื่องวัคซีนนะ เรื่องการติดเชื้อในกระแสเลือดของคุณยายนั้นขอข้ามไปก่อน

ประเด็นที่ 1. การฉีดวัคซีนให้คุณยายของคุณที่ทำไปแล้วนั้น เป็นสิ่งดีไหม ตอบว่าโดยทั่วไปผู้ที่อายุมากเกิน 65 ปี มีโอกาสเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 น้อยกว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 65 ปี ความเร่งด่วนหรือความจำเป็นต้องได้วัคซีนก็จึงน้อยกว่าด้วย แต่หากมีวัคซีนเหลือเฟือ การเสนอฉีดให้ผู้มีอายุเกิน 65 ปีก็เป็นสิ่งที่ควรทำและทำกันอยู่แล้วในอเมริกา เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องแน่นอน ไม่ได้ผิดหลักวิชาแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2. ความปลอดภัยของวัคซีน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโด๊ส เฉพาะวัคซีน 2009 นับถึงวันนี้ก็ฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโด๊สเช่นกัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมีแค่เจ็บคอหรือบวมแดงกดเจ็บตรงที่ฉีดเท่านั้น ในวัยรุ่นมักมีรายงานว่ามีปวดหัว ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้บ้าง แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าวัคซีนทำให้ใครเป็นอะไรถึงตายแม้แต่รายเดียว ข้อมูลนี้ไม่ได้นั่งเทียนบอกนะครับ เพราะระบบติดตามความปลอดภัยของวัคซีนทั่วโลกนี้เป็นระบบแน่นหนามากเรียกว่า VAERS หรือ Vaccine Adverse Event Report System ซึ่งทั้ง CDC และ FDA ร่วมเป็นเจ้าภาพ ตัว CDC เองมีหน่วยงานสาขาอยู่ในเมืองไทยด้วย พิษภัยใดๆของวัคซีนทั่วโลกจะถูกสอบสวนความจริงแล้วรายงานเข้าที่นี่หมด ใครๆก็รายงานได้ คนธรรมดาที่เสียหายและคิดจะเอาค่าเสียหายจากบริษัทวัคซีนก็รายงานได้ นอกจากนี้ยังมีระบบ VSD หรือ Vaccine Safety Datalink ซึ่ง CDC ร่วมกับองค์กรบริการสุขภาพอื่นๆติดตามดูผู้ป่วยที่ได้วัคซีนแล้ว 9 ล้านคนโดยติดตามดูหลังฉีดไปแล้วทุกสัปดาห์ ถ้ามีพิษภัยของวัคซีนที่ไม่มีใครรายงานก็จะทราบได้จากระบบนี้ เรียกว่าในบรรดายาที่ฉีดให้คนไข้ในโลกนี้ วัคซีนเป็นอะไรที่มีระบบความปลอดภัยสูงสุด และอย่างที่บอกไปนั่นแหละ ยังไม่มีหลักฐานใดๆเลยว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ใครเป็นอะไรถึงตายแม้แต่รายเดียว

ประเด็นที่ 3. การแพ้วัคซีน จริงๆแล้วเป็นการแพ้ตัวพาหรือ adjuvant ซึ่งวัคซีนที่ซื้อมาใช้ในบ้านเราทำจากไข่ ตัวที่จะแพ้คือแพ้ไข่ คนแพ้ไข่จึงไม่ควรฉีด เราแพ้ไข่หรือไม่ทราบได้จากกินไข่เมื่อไรเป็นได้ปากเจ่อลิ้นพองหรือแน่นหน้าออกจับหืดทุกที พูดถึงจับหืด ถ้าเป็นเด็กที่มีเป็นหืดแรงๆก็ไม่ควรฉีดวัคซีน เพราะคนเป็นหืดถ้าแพ้อะไรจะจับหืดรุนแรงมาก

ประเด็นที่ 4. อันนี้คุณไม่ได้ถาม ผมเพิ่มให้เอง คือประเด็นความกลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเป็น กีแลงเบเร่ซินโดรม (Guillain – Barr’e syndrome หรือ GBS) ผมขอเท้าความนิดหนึ่ง ว่ากีแลงเบเร่ซินโดรมนี้มันคือโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเซลประสาทของตัวเอง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้าเป็นมากก็อ่อนแรงระดับอัมพาตได้ ซึ่งส่วนใหญ่กลับมาหายเป็นปกติได้ วงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไรแน่ ได้แต่เดาเอาว่าถ้ามีอะไรไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน อาจมีผลพลอยเสียให้เกิดโรคนี้ขึ้นมาได้ การติดเชื้อบางชนิดเช่นบักเตรีชื่อ Campylobacter jejuni ซึ่งทำให้ท้องเสีย เป็นเหตุร่วมที่พบบ่อยที่สุด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสอื่นๆเช่นไซโตเมกาโลไวรัส และ เอ็บสไตน์บาร์ไวรัส ก็เป็นเหตุร่วมได้บ้าง เหตุที่คนกลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมนี้มาจากอดีตอันไกลโพ้นเมื่อปีค.ศ. 1976 คือสามสิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นพบว่ากลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอัตราเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมเพิ่มขึ้นประมาณ หนึ่งคนต่อแสนคน วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พยายามทำวิจัยมากมายเพื่อจะหาความเชื่อมโยงว่าวัคซีนทำให้เกิดเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมจริงหรือเปล่า งานวิจัยเกือบทั้งหมดรายงานสรุปว่าไม่มีความเชื่อมโยงกัน แต่มีอยู่สองงานวิจัยที่สรุปเชิงสถิติว่าในการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่จะเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมได้หนึ่งคน ซึ่ง CDC ได้ติดตามดูผู้รับวัคซีนทั่วโลกตลอดตั้งแต่นั้นมา แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมที่ว่าจะมีหนึ่งในล้านจริงๆ กล่าวโดยสรุปคือความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับกีแลงเบเร่ซินโดรมนั้น ณ วันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ถึงมีก็มีโอกาสน้อยระดับหนึ่งในล้าน และโรคนี้เมื่อเกิดแล้วส่วนใหญ่ก็รักษาให้กลับหายเป็นปกติได้

ประเด็นที่ 5. แถมอีกเหมือนกัน คือประเด็นคนไทยไม่เชื่อคนไทย กลัวว่าวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยจะอันตราย อันนี้ผมขอไม่เจาะรายละเอียดกระบวนการผลิตนะครับ แต่ขอบอกเพียงแต่ว่าวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นซึ่งใช้พ่นจมูก ยังผลิตไม่เสร็จ ยังไม่ได้เอาออกมาใช้ วัคซีนแบบฉีดที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งซื้อฝรั่งเขามา ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะตกไปก่อน ยังไม่ต้องไปวอรี่ อย่างน้อยก็ในสองสามปีข้างหน้านี้ขณะที่วัคซีนไทยยังไม่ออกมา

ประเด็นที่ 6. สุดท้าย เรื่องการเสียชีวิตของคุณยายจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อมาจากไหนนั้นตอบทางไปรษณีย์ไม่ได้ครับ ต้องพิสูจน์ด้วยกระบวนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ บางทีก็พิสูจน์ไม่ได้เสียดื้อๆ ต้องใช้วิธีเดาเอาตามอุบัติการณ์ที่เคยเกิดกับคนอื่นๆทั่วๆไป เรียกว่าวิธีเดาแอ็ก ไม่ใช่ไดแอ็ก (diagnosis) กรณีของคุณยายซึ่งล้างไตประจำ หลักวิชาแพทย์เขียนเป็นตำราเลยว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของการล้างไต ส่วนที่กลัวว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดถึงตายนั้น ตัดทิ้งได้เลย เพราะทั่วโลกไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ไว้ว่าเคยเกิดขึ้นแม้แต่เพียงรายเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์