Latest

ไปเยี่ยมคนป่วย melioidosis แล้วเขาตาย จะติดเชื้อไหม?

ไปเยี่ยมคนป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดมา ต่อมาคนป่วยนั้นเสียชีวิต แพทย์สงสัยว่าเป็น Melioidosis ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อและติดต่อได้ อยากถามคุณหมอสันต์ว่า (1) โรคเมลิออยโดสีสคืออะไร (2) ไปเยี่ยมคนป่วยจะติดโรคได้ไหม (3) จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร ฉีดวัคซีนได้ไหม (4) ถ้าเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตทุกรายไหม รักษาอย่างไร ทำไมทั้งๆที่แพทย์รู้ว่าเป็นโรคนี้แล้วแต่ก็ยังเสียชีวิต
(สงวนนาม)

ตอบ

(1) โรคเมลิออยโดสีสคืออะไร

Melioidosis คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบักเตรีที่มีอยู่ทั่วไปในดินหรือในน้ำ ชื่อ Burkholderia pseudomellei และแหล่งที่มีโรคนี้ชุกชุมที่สุดในโลกก็ไม่ใช่ที่ไหนไกล คืออิสานบ้านเฮานี่เอง งานวิจัยการขุดดินทั่วประเทศไทยเพื่อตรวจหาเชื้อนี้พบว่าดินไทยทุกภาคมีเชื้อนี้อยู่ แต่ภาคอิสานมีมากกว่าเขาเพื่อน เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีอาการได้สารพัดแบบ จนโรคนี้มีนิคเนมว่าโรคนักเลียนแบบ (mimicker) ในภาพรวมพอสรุปอาการได้สามแบบ คือ (1) แบบติดเชื้อเฉพาะที่ คือเป็นแผลหรือตุ่ม หรือฝี ที่ผิวหนังก่อน แล้วมีไข้ (2) แบบติดเชื้อที่ปอด ก็คือปอดบวม ไข้ ไอ ปวดตามตัว (3) แบบติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นเร็ว แล้วมักตามด้วยภาวะช็อกจากการติดเชื้อ โรคเมลิออยโดสีสนี้นอกจากคนแล้ว สัตว์เช่น หมา แมว หมู วัว แพะ แกะ ม้า ก็เป็นได้เช่นกัน

(2) ไปเยี่ยมคนป่วยจะติดโรคได้ไหม

ปกติโรคนี้จะผ่านมาสู่คนจากดินหรือน้ำโดยตรง ด้วยการสัมผัสกับผิวหนังที่เป็นแผล หรือสูดดม หรือดื่มกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป การติดต่อจากคนสู่คนโดยตรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ทั้งโลกมีรายงานว่ามีการติดต่อจากคนสู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกันไว้เพียงรายเดียว เป็นการติดต่อจากผู้ชายที่ป่วยเรื้อรังไปสู่พี่สาวซึ่งเป็นเบาหวานที่ให้การดูแลเขาอยู่ นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์อีกสองราย จะเห็นว่าการติดต่อจากคนสู่คนนั้นเกินน้อยเสียจนแทบตัดทิ้งได้เลย อีกประการหนึ่ง สภาวะภูมิต้านทานโรคของผู้รับเชื้อก็มีความสำคัญ กล่าวคือคนที่เป็นโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคทาลาสซีเมีย มักจะเป็นโรคนี้ง่ายกว่าคนทั่วไป ในกรณีของคุณซึ่งผมเดาว่าเป็นคนมีสุขภาพดีเป็นปกติ ไปเยี่ยมผู้ป่วยเฉยๆไม่ได้สัมผัสคลุกคลีตีโมง การติดโรคนี้มานั้นมีโอกาสน้อยมากจนตัดทิ้งได้เลย

(3) จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร ฉีดวัคซีนได้ไหม

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเมลิออยโดสีส การป้องกันโรคนี้มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องสัมผัสดินและน้ำเป็นประจำเช่นคนมีอาชีพทำสวนทำไร่ ในกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน โรคไตอยู่แล้ว การจะสัมผัสดินหรือน้ำหนองคลองบึงควรมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเช่นรองเท้าท็อปบูท ถุงมือ เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีโรคเรื้อรังและมีภูมิคุ้มกันของร่างกายปกติอยู่นั้น การใช้อุปกรณ์ป้องกันดังกล่าวหากทำได้ก็ดี แต่หากทำไม่ได้ หรือไม่สะดวก ก็คงไม่ซีเรียสมากเท่ากับคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนคนที่ไม่ได้มีอาชีพสัมผัสดินหรือน้ำหนองคลองบึงเลยนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องป้องกันอะไรเป็นพิเศษครับ

(4) ถ้าเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากไหม รักษาอย่างไร ทำไมทั้งๆที่แพทย์รู้ว่าเป็นโรคนี้แล้วแต่ก็ยังเสียชีวิต

โรคเมลิออยโดสีสเป็นบักเตรีธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นเชื้อโรคที่มีความแรงขนาดถูกตีทะเบียนว่าเป็นเชื้อที่จะถูกเอาไปทำสงครามเชื้อโรคได้ในอนาคต เมื่อเป็นโรคนี้แล้วหากเป็นแบบติดเชื้อในกระแสเลือดและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือรักษาไม่ทัน จะมีอัตราตายสูงเกิน 90% แม้แต่กรณีที่ได้รับการรักษาถูกต้องอย่างในภาคอิสานของเรานี้ก็ยังมีอัตราตายถึง 40% ความยากของโรคนี้อยู่ที่การวินิจฉัย เพราะอาการของโรคไม่มีเอกลักษณ์หรืออาการเฉพาะ ดูเผินๆเหมือนโรคปอดบวม ดูอีกทีเหมือนวัณโรค ดูให้ดีๆก็เหมือนโรคอื่นๆได้สารพัด จึงวินิจฉัยจากอาการไม่ได้ ต้องอาศัยผลการเพาะเชื้อจากเลือดหรือสิ่งคัดหลั่ง ซึ่งผลมักจะกลับมาไม่ทันใช้ หมายความว่าโรคลามไปเสียก่อน แถมบางครั้งติดเชื้อนี้จริงแต่เพาะเชื้อไม่ขึ้นอีกต่างหาก การเจาะเลือดตรวจดูระดับภูมิคุ้มกันของโรค (Ab titer) ก็อาจช่วยวินิจฉัยได้บ้างแต่ไม่เด็ดขาด เพราะคนไทยส่วนหนึ่งเคยติดเชื้อนี้มาก่อนและมีภูมิคุ้มกันโรคนี้อยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับอาการป่วยในครั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานใดๆประกอบการวินิจฉัยเลย บางครั้งแพทย์ก็ต้องใช้วิธีมั่วนิ่มรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปก่อน (empirical treatment) ก็มีบ่อยๆ
การรักษาโรคนี้แบ่งเป็นสองระยะ คือระยะเฉียบพลันสองสัปดาห์แรก ยาหลักที่ใช้คือยาฉีด ceftazidime และยา meropenam และระยะกำจัดเชื้อหลังสองสัปดาห์ คือเมื่อไข้หายดีแล้ว ก็ต้องตามด้วยยากำจัดเชื้อให้หมดโดยใช้ยา doxycyclin กินควบกับยา co-trimoxazol ต่อไปอีกราว 20 สัปดาห์ จึงจะจบการรักษา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Cheng AC, Currie BJ. “Melioidosis: epidemiology, pathophysiology, and management”. Clin Microbiol Rev 2005; 18 (2): 383–416. doi:10.1128/CMR.18.2.383-416.2005. PMID 15831829.
2. Limmathurotsakul D, Wongratanacheewin S, Teerawattanasook N. “Increasing incidence of human melioidosis in Northeast Thailand”. Am. J. Trop. Med. Hyg.2010; 82 (6): 1113–1117. doi:10.4269/ajtmh.2010.10-0038. PMID 20519609.