Latest

ชอบรองเท้าส้นสูงมาก มีผลเสียต่อสุขภาพมากไหม

เป็นคนรูปร่างไม่สูง (155 ซม.) ต้องใส่รองเท้าส้นสูงมากๆจึงจะมีความมั่นใจ แต่ก็มีคนทักว่าใส่รองเท้าส้นสูงแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากถามว่าผลของการใช้รองเท้าส้นสูงต่อสุขภาพมีมากเพียงใด

นุช

ตอบครับ

ยังไม่เคยมีรายงานการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ ว่าระหว่างคนใส่ส้นสูงกับคนไม่ใส่ สุขภาพของเท้า เข่า และหลังใครจะดีไม่ดีกว่ากันอย่างไร เข้าใจว่าคงไม่มีผู้หญิงยอมให้สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มไม่ให้ใส่ส้นสูงนะครับ งานวิจัยนี้จึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์มีการคาดเดาจากหลักท่าร่างกลไกการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ ว่าการใส่รองเท้าส้นสูงน่าจะมีผลเสีย เท่าที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ที่ผมพอรวบรวมได้มีดังนี้

1. การสวมรองเท้าส้นสูงต้องอยู่ในท่าเหยียดฝ่าเท้า (plantarflex) ตลอดเวลา ทำให้น้ำหนักไปตกหน้กอยู่ที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ร่างกายต้องปรับไปใช้ท่าแบบย่องเบา โดยโดยแอ่นพุงไปข้างหน้าและหงายหลังส่วนบนมากขึ้นเพื่อรักษาดุล ซึ่งไม่ใช่ท่าร่างตามปกติ ถ้าต้องอยู่ในท่าแบบนี้เป็นประจำก็ทำให้ปวดหลังได้

2. เวลาเดินด้วยรองเท้าส้นสูง เท้าหลังจะออกแรงถีบตัวได้น้อย ทำให้กล้ามเนื้อเข่าต้องทำหน้าที่แทนมากขึ้น นอกจากนี้เวลาเดินต้องเดินเหมือนกับเดินกายกรรมบนขอนไม้ ข้อเท้าถูกบีบให้อยู่ในท่าแบะออก (supinate) กระดูกหน้าแข้ง (tibia) จะหมุนบิดเข้าใน (varus) ทำให้มีแรงกดที่ด้านในของผิวข้อเข่าซึ่งเป็นจุดเกิดเข่าอักเสบ (OA) ง่าย นอกจากนี้รองเท้าส้นสูงยังเพิ่มระยะระหว่างหัวเข่ากับพื้น ทำให้เกิดแรงกระทำ (torque) ที่หัวเข่ามากขึ้น จึงน่าจะทำให้เข่าเสื่อมเร็วได้

3. การอยู่ในท่าเขย่งเท้านานๆทำให้กล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius) และเอ็นร้อยหวาย (achilles tendon) หดสั้น ทำให้เกิดแรงดึงของเอ็นร้อยหวายต่อกระดูกส้นเท้า (cacaneus) น่าจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะเอ็นอักเสบเรื้อรัง (insertional Achilles tendinitis)

4. การเดินแบบเขย่งทำให้น้ำหนักย้ายไปกดที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ยิ่งส้นสูง ยิ่งกดมาก ถ้าส้นสูง 3 ¼ นิ้ว แรงกดจะเพิ่มขึ้น 76% ทำเกิดตาปลา (bunion) ขึ้นที่ฝ่าเท้าส่วนหน้าและหัวแม่เท้า ทำให้เจ็บ

5. รูปทรงของรองเท้าที่บีบปลายทำให้นิ้วเท้าเบียดซ้อนกัน มีการบาดเจ็บของผิวหนังเป็นตุ่มน้ำพองหรือเป็นไตแข็งได้ง่ายเมื่อใช้รองเท้าไปนานเข้าหรือเมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้น ถ้ามองว่าคนเราควรการถนอมรักษาการใช้งานอวัยวะร่างกายให้อยู่ในท่าใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด ก็แนะนำว่าควรสวมรองเท้าส้นสูงเฉพาะเวลาจำเป็น และเมื่อสวมก็ไม่ควรสวมรองเท้าที่ส้นสูงเกินไป เช่นส้นสูงประมาณ 1 ½ นิ้วก็น่าจะถือว่าโอเค.แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Ebbeling CJ, Hamill J, Crussemeyer JA. Lower extremity mechanics and energy cost of walking in high-heeled shoes. J Orthop Sports Phys Ther. 1994 Apr;19(4):190-6.
2. Esenyel M, Walsh K, Walden JG, Gitter A. Kinetics of high-heeled gait. J Am Podiatr Med Assoc. 2003 Jan-Feb;93(1):27-32.
3. Kerrigan DC, Johansson JL, Bryant MG, Boxer JA, Della Croce U, Riley PO. Moderate-heeled shoes and knee joint torques relevant to the development and progression of knee osteoarthritis. Arch Phys Med Rehabil. 2005 May;86(5):871-5.
4. Kerrigan DC, Todd MK, Riley PO. Knee osteoarthritis and high-heeled shoes. Lancet. 1998 May 9;351(9113):1399-401.
5. Opila KA, Wagner SS, Schiowitz S, Chen J. Postural alignment in barefoot and high-heeled stance. Spine. 1988 May;13(5):542-7.