Latest

เจ็บหน้าอกอย่างนี้เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

คุณหมอครับ
ผมอายุ 30 ปี น้ำหนัก 74 กก. สูง 170 กก. มีอาการแน่นหน้าอก ตรงกลางหน้าอกพอดี เหมือนมีใครเอาอะไรมารัด เป็นอยู่พักเดียวแล้วก็หายไป เวลาผมทำอะไรมากๆเช่นขึ้นบันไดสองชั้นก็จะเป็น พอพักสักครู่ก็หาย ไปหมอที่คลินิก หมอบอกว่าอายุแค่นี้ไม่เป็นโรคหัวใจหรอก ไปหาหมอที่รพ. (ไม่ใช่พญาไท) หมอตรวจคลื่นหัวใจ เจาะเลือด นอนรพ.หนึ่งคืน แล้วบอกว่าผมไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ให้กลับบ้านได้ ขอให้คุณหมอช่วยอธิบายให้ผมสบายใจหน่อยว่าอย่างนี้ไม่ใช่โรคหัวใจใช่ไหม และเจ็บหน้าออกอย่างไรจึงจะเป็นโรคหัวใจครับ
ปอง

ตอบครับ

1.. เจ็บหน้าอกแบบคุณนี้แหละ เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอน คือการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ทางหมอเรียกว่า angina มีสองแบบคือแบบคลาสสิกต้นตำรับ เรียกว่า Typical angina ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนสามอย่างคือ
1.1 เจ็บตื้อๆกลางอก
1.2 เจ็บมากขึ้นถ้าออกแรง
1.3 ดีขึ้นถ้าพักหรืออมยา

ซึ่งของคุณตรงสะเป๊กทุกประการ เพราะฉะนั้นเจ็บหน้าอกแบบคุณนี้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอนไม่มีข้อสงสัยเลย

ส่วนการเจ็บแบบไม่ตรงสะเป๊ก เรียกว่า Atypical angina เป็นการเจ็บแบบอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสามข้อ เช่นเจ็บหน้าอกแบบแหลมๆเสียด หรือเจ็บที่ข้างซ้ายไม่ตรงกลาง หรือเป็นอาการอื่นไกลไปเลยเช่น ท้องอืดอาหารไม่ย่อย หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม เวียนหัวหน้ามืดเป็นลม อาการเหล่านี้เป็น atypical ยังคือยังแน่ใจไม่ได้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่เป็น ต้องไปตรวจเพิ่มเติมให้ละเอียดอีกที

2.. อายุไม่ใช่ประเด็นแล้ว ผู้ชายไทยอายุ 30 ปีสมัยนี้ เป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้สบายมาก อายุไม่ถึงสามสิบต้องถูกผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบแล้วก็มีให้เห็นบ่อยๆ สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือปัจจัยเสียงของโรค ซึ่งคุณควรจะบอกหมอด้วยทุกครั้ง ว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด 6 ตัวคือ
2.1 บุหรี่
2.2 ไขมันในเลือดผิดปกติ (โดยเฉพาะ HDL ต่ำ)
2.3 ความดันเลือดสูง
2.4 เบาหวาน
2.5 ตัวเองอายุมาก (ชายเกิน 55 หญิงเกิน 65 ถือว่ามาก)
2.6 พ่อแม่ปู่ย่าตายายตายด้วยโรคหัวใจแต่อายุยังน้อย (ชายตายก่อนอายุ 45 หญิงก่อนอายุ 55 ปี ถือว่าตายอายุน้อย)

3.. การตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) และเจาะเลือดหาเอ็นไซม์หัวใจ (cardiac marker) วินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดชนิด stable angina ที่คุณเป็นอยู่ไม่ได้หรอกครับ คือคุณควรทราบไว้ด้วยว่าอาการเจ็บหน้าอกแบ่งชนิดตามความเร่งด่วนได้สองแบบ คือ

3.1 Stable angina ก็คืออย่างที่คุณเป็นเนี่ยแหละ ออกแรงแล้วเจ็บ พักแล้วหาย พวกนี้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ยังมีรูให้เลือดวิ่งไปเลี้ยงหัวใจได้ พอออกแรงมาก เลือดไหลไม่พอก็เจ็บหน้าอก พอพัก หัวใจใช้เลือดน้อย เลือดไหลทัน ก็หาย ตอนหายเจ็บไปตรวจคลื่นหัวใจก็ไม่เจออะไรเพราะกล้ามเนื้อไม่ได้ขาดเลือด เจาะเลือดตรวจหาเอ็นไซม์หัวใจก็ไม่เจอเพราะกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ตาย จึงไม่มีเอ็นไซม์ออกมาในเลือด

3.2 Unstable angina คือคนที่เจ็บหน้าแบบ angina โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ คือ
3.1.1 เจ็บนานต่อเนื่องนาน พักไม่หาย (เกิน 20 นาที)
3.1.2 เพิ่งเจ็บเป็นครั้งแรกก็เจ็บแรงเลย
3.1.3 เจ็บแบบเพิ่มขึ้นๆๆแบบเจ็บ..เจ้บ..เจ๊บ.. เหมือนจังหวะ crescendo ของเพลงซิมโฟนี่
ถ้าเจ็บแบบใดแบบหนึ่งในสามแบบนี้เรียกว่า unstable angina หรือพูดง่ายๆว่าเจ็บแบบหัวใจจะวาย พวกนี้เกิดจากมีลิ่มเลือดไปอุดรูตีบที่เดิมเลือดเคยวิ่งผ่านได้ ทำให้เลือดวิ่งผ่านไม่ได้เลย ตรวจคลื่นหัวใจจะเห็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเจาะเลือดจะพบมีเอ็นไซม์หัวใจออกมาเพราะกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตายลง พวกนี้ฉุกเฉินสุดๆ ต้องรีบรักษาโดยเปิดหลอดเลือดด้วยวิธีฉีดยาละลายลิ่มเลือดหรือสวนหัวใจใช้บอลลูนขยายทันที ถ้าไปรพ.ช้าก็มีหวัง..ซี้หม่งเซ็ก

4. รู้สึกผมจะตอบคำถามคุณครบแล้วนะ คุณเป็นหรือไม่เป็น..ตอบแล้ว และเจ็บอย่างไรจึงจะเป็นโรคหัวใจ..ตอบแล้ว สรุปอีกทีว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิด stable angina แนะนำให้ไปรับการรักษาที่ศูนย์หัวใจที่ไหนสักแห่ง การรักษาโรคนี้มีหลักการดังนี้ คือ
4.1 การจัดการปัจจัยเสี่ยงที่จัดการได้ทั้ง 4 ตัว(บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดและมีประเด็นปลีกย่อยมากพูดกันสามวันสามคืนไม่จบ
4.2 ให้กินยาบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
4.3 ตรวจจัดชั้นความเสี่ยง (risk stratification) เพื่อดูว่าเป็นพวกที่เสี่ยงตายสูงหรือเปล่า วิธีประเมินมีหลายแบบ หนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือการให้วิ่งสายพาน (EST) ถ้าได้ผลว่าเป็นพวกมีความเสี่ยงสูง ก็ต้องตรวจสวนหัวใจ (CAG) เพื่อดูว่ามีจุดตีบทีอยู่ในตำแหน่งสำคัญหรือเปล่า ถ้ามีก็จะได้รักษาซะเลยเป็นการป้องกันไม่ให้อายุสั้น

แต่ในกรณีของคุณ ผมว่าคุณไม่ต้องไล่ระดับการรักษาไปตามหลักการหรอกครับ เพราะแค่ที่คุณเล่าว่าเดินขึ้นบันได 2 ชั้นก็เจ็บหน้าอกแล้วนี่ผมประเมินว่าคุณเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงได้แล้ว ไม่ต้องไปวิ่งสายพานหรอก เพราะเดี๋ยวจะไปป๊อกคาสายพานเสียก่อน ผมเสนอแนะว่าให้คุณขอทำการตรวจสวนหัวใจ (CAG) เลย โดยบอกหมอว่าคุณไม่ประสงค์ที่จะเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคาสายพาน

เมื่อได้รับการรักษาจะด้วยทำบอลลูนหรือผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขียนมาเล่าให้ผมฟังด้วยนะครับ จะได้คุยกันเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในระยะยาว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์