Latest

เป็นหวัดบ่อย และอยากรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ

ช่วงปีนี้ดิฉันเป็นหวัดหลายครั้งแล้ว และล่าสุดดิฉันเพิ่งหายไปประมาณเดือนเดียวก็เป็นอีก
ดิฉันเคยเป็นหวัด แล้วหมอจ่ายยาปฏิชีวนะ ดิฉันทานไม่หมด ครั้งต่อมาที่เป็นหวัด เลยไม่ทายาปฎิชีวนะเลย เพราะเคยเรียนหมอ อาจารย์เคยบอก อย่ากินยาปฎิชีวนะสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องรอให้อาการครบหลายๆอย่างก่อนถึงไปกิน เช่นทั้งไอ ไข้ หวัด จาม น้ำมูก อะไรประมาณนี้ และถ้ากินไม่ครบก็จะดื้อยา ดิฉันกลัวจะดื้อยาจากครั้งที่แล้วที่ทานไม่ครบ เลยไม่กล้ากินอีก ค่อยๆให้มันหายเอง ทานน้ำอุ่น ดูแลร่างกาย ประมาณนั้น แต่พอหวัดหาย อาการไอก้อไอนานกว่าจะหาย
ตอนนี้เป็นหวัดอีกแล้ว ดิฉันไม่ทรบว่าภูมิดิฉันไม่ดี หรืออากาศเปลี่ยนใครๆก็เป็นกัน หรือเพราะทานยาปฎิชีวนะไม่ครบ เชื้อเลยลุกลาม หรือภูมิแพ้ หรืออะไร
อยากให้คุณหมอตอบรื่องยาปฎิชีวนะอย่างละเอียดด้วย และที่ดิฉันกินไม่ครบนี่จะทำไงต่อไป
ขอบคุณมากค่ะ

ตอบครับ

1. เอาเรื่องยาปฏิชีวนะ (antibiotic) กับโรคหวัดก่อนนะครับ ซึ่งมีประเด็นปลีกย่อยดังนี้

1.1 หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยังไม่มียาอะไรรักษาได้ ส่วนยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อบัคเตรี เชื้อบักเตรีนี้ไม่ได้เป็นญาติกับเชื้อไวรัส เหมือนทักษิณไม่ได้เป็นญาติกับอภิสิทธิ์ จะกินยาฆ่าเชื้อบัคเตรีเพื่อหวังจะให้ไปฆ่าไวรัสนั้น เป็นไปไม่ได้เลย โรคหวัดเป็นโรคที่เป็นเองหายเอง ไม่ได้หายเพราะการรักษา หมอคนไหน หรือคนขายยาเจ้าไหนอ้างว่ารักษาหวัดให้หายได้คนนั้นโกหกแน่นอน ความเชื่อเดิมที่ว่าการกินยาปฏิชีวนะลดอุบัติการเกิดโรคแทรกซ้อนของหวัดได้นั้นเดี๋ยวนี้ก็ถึงบางอ้อกันแล้วว่าเป็นความเชื่อที่เหลวไหลไม่เป็นความจริง

1.2 มาตรฐานการรักษาโรคหวัดที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน คือห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ การซี้ซั้วใช้ยาปฏิชีวนะในขณะที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษ โทษที่ว่าคือ (1) ได้รับพิษจากยาโดยไม่จำเป็น (2) เป็นภัยต่อสังคม คือทำให้เชื้อบัคเตรีในสังคมคุ้นกับยาและดื้อยา จนยาที่เคยดีๆเดี๋ยวนี้ใช้ฆ่าเชื้อไม่ได้แล้ว เพราะดื้อหมด เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะกันแบบสามล้อถูกหวย ใช้กันอุตลุต ใช้กันหมดตั้งแต่คนเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูก็เอายาปฏิชีวนะให้ไก่กินแก้เซ็ง คนคนโง่ก็ใช้ คนฉลาดก็ใช้ หมอก็ใช้ แต่ผมขอประกาศไว้ที่นี้เลยว่าหมอคนไหนใช้ยาปฏิชีวนะรักษาหวัดที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน หมอคนนั้นเป็นหมอเถื่อน ทำการรักษานอกรีต ให้คุณแจ้งแพทยสภาจัดการได้

1.3 ยาปฏิชีวนะใช้รักษาเฉพาะโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อบักเตรี ดังนั้นก่อนจะให้ยาปฏิชีวนะต้องตอบคำถามหลักสี่ข้อต่อไปนี้ก่อนคือ (1) จะฆ่าเชื้ออะไร (2) เชื้อนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ลำคอ ที่โพรงไซนัส หรือที่ปอด (3) ยาที่จะให้ มันเข้าถึงที่นั้นหรือเปล่า เพราะยาบางชนิด เข้าไปได้เฉพาะบางที่ (4) มีเหตุให้ต้องปรับขนาดยาไหม เพราะบางคนตับไม่ดีใช้ยานี่ไม่ได้ บางคนไตไม่ดีใช้ยานั่นไม่ได้ จะเห็นว่าการจะตอบคำถามสี่ข้อนี้ได้ต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าที่ว่ามีโรคแทรกซ้อนนะ มันคือโรคอะไร ประมาณ 80% ของหวัดเป็นแล้วหายเองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่อีก 20% มีโรคแทรกซ้อน อันได้แก่

1.3.1 คออักเสบจากเชื่อสะเตร็พ (streptococcal pharyngo-tonsilitits) ซึ่งทราบได้แน่ชัดจากการเอาสำลีกวาดเมือกที่คอไปเพาะเชื้อ หรืออาจจะใช้วิธีเดาเอาจากการที่มีไข้สูงปรี๊ด คอแดงโร่ เจ็บคอจนกลืนน้ำลายแล้วเหมือนมีดบาด มาตรฐานการรักษาคือกินยาเพ็นนิซิลลินนาน 7 วัน

1.3.2 ไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากบัคเตรี (bacterial sinusitis) ซึ่งโรคนี้กว่าจะวินิจฉัยได้จะจะก็ผ่านไปอย่างน้อย 7 วันแล้ว ในเจ็ดวันแรกวินิจฉัยไม่ได้เพราะการเป็นหวัดธรรมดาถ้าทำซีที.สะแกนดูภาพของโพรงไซนัสก็จะเห็นน้ำขังขุ่นๆเหมือนกัน คำแนะนำของสมาคมอุรุแพทย์อเมริกัน (ACCP) จึงไม่ให้ผลีผลามรักษาไซนัสอักเสบในเจ็ดวันแรก แม้ว่าจะมีน้ำมูกเขียวเหลืองข้นก็ไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ต้องรอให้พ้นเจ็ดวันไปก่อนจึงค่อยทำซีที.สะแกนดูโพรงไซนัส หรือใช้วิธีเดาเอาจากอาการอันได้แก่ปวดที่โพรงไซนัส (สองข้างจมูก) หรือที่กราม หรือปวดฟัน ร่วมกับมีน้ำมูกข้น มาตรฐานการรักษาปัจจุบันใช้ยาดุเดือดมากซึ่งผมขอไม่พูดถึงเพราะกลัวคนจะไปซื้อยากินเอง ไปให้หมอเขารักษาให้ดีกว่า

1.3.3 หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) ซึ่งมาตรฐานการรักษาในเจ็ดวันแรกคือไม่กินยา ไม่หยอดหู หากพ้นเจ็ดวันแล้วไม่หายค่อยไปหาหมอหู

1.3.4 ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (epiglottitis) ทราบจากหายใจเข้าลำบากมีเสียงอื๊ด อี๊ด แถมอาจมีอาการเสียงแหบ แบบนี้ต้องไปหาหมอแน่นอน

1.3.5 หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (acute bronchitis) ซึ่งเด่นด้วยอาการไอมีเสมหะ ซึ่งมาตรฐานการรักษาของ ACCP คือไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลยไม่ว่าจะไอนานเท่าใด เพราะคนเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่มักไอแห้งๆตามหลังได้เป็นเดือนๆโดยไม่เกี่ยวกับเชื้อใดๆ การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะนี้มีข้อยกเว้นเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอันได้แก่อายุมากกว่า 60 ปีหรือมีโรคเรื้อรังหรือติดตามดูอาการไปพักใหญ่แล้วไม่ดีขึ้น

1.3.6 ปอดบวม (pneumonia) ทราบจากไข้สูงปรี๊ด หอบ เหนื่อย หายใจไม่อิ่ม แบบนี้ก็ต้องไปนอนรักษาในรพ.
สรุปในประเด็นยาปฏิชีวินะในโรคหวัดคือไม่กินเลย โดยเฉพาะเอย่างยิ่งในเจ็ดวันแรก หลังเจ็ดวันไปแล้วถ้ามีโรคแทรกซ้อน ซึ่งต้องบอกได้ว่าโรคอะไร ถ้าบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไรแทรก อย่าเพิ่งกิน ให้ไปหาหมอวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเป็นโรคอะไรแทรก แล้วจึงเจาะจงรักษาโรคนั้น ซึ่งถึงตอนนั้นอาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะ

2. เป็นหวัดแล้วจะรักษาอย่างไร ก็บอกแล้วไงว่าหวัดเป็นเองหายเองไม่ต้องรักษา แต่ถ้าอดไม่ได้ อยากจะรักษา มีหลักการรักษาดังนี้

2.1 บรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลและไอ ACCP แนะนำยาแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นโบราณผสมยาลดน้ำมูก เช่น brompheniramine ผสม pseudoephedrine ส่วนแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นใหม่ที่ไม่ง่วง ไม่แนะนำเพราะบรรเทาอาการไอได้ไม่ดีเท่ารุ่นโบราณที่ทำให้ง่วง

2.2 กรณีมีอาการน้ำมูกไหลแบบแพ้รุนแรง อาจใช้ยาสะเตียรอยด์หยอดจมูกบรรเทาอาการ

2.3 ต้องติดตามอาการทุกสามวัน ว่าดีขึ้นหรือเลวลง ถ้าเลวลงก็ควรไปให้หมอตรวจว่ามีโรคแทรกซ้อนที่ต้องรักษาหรือไม่ และอย่าทำเซ่อเถียงหมอถ้าหมอไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ประโยชน์ของการไปหาหมอคือการวินิจฉัยโรคแทรก ไม่ใช่ไปเอายาปฏิชีวนะมากินแบบสามล้อ ถ้าอยากกินยาซี้ซั้ว โน่น ร้านขายยา ง่ายกว่าแยะ

3. ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นหวัดบ่อย มีหลักอยู่สองอย่างเท่านั้นคือ

3.1 การป้องกันการกระจายเชื้อ อันนี้เป็นประเด็นจริยธรรม คนเป็นหวัดแล้วจามฮาดเช้ยเสียงดังลั่นไปในอากาศคือพวกไม่มีจริยธรรม การเอามือปิดปากไอแล้วเอามือนั้นเที่ยวไปจับลูกบิดประตูหรือราวรถไฟฟ้าก็ไม่มีจริยธรรม ต้องใช้ผ้าปิดจมูกเวลาเป็นหวัด ถ้าไอก็ใช้กระดาษทิชชูปิดปากแล้วทิ้งถังขยะ ถ้าไม่มีกระดาษทิชชูก็งอแขนขึ้นมาไอใส่แขนเสื้อของตัวเองนะแหละ จะได้ไม่กระจายไปให้คนอื่นเขา

3.2 การดูแลตัวเองให้มีภูมิต้านทานโรคสูงไว้ตลอดเวลา อันได้แก่ (1) การได้นอนหลับพักผ่อนพอเพียง (2) การได้ออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานสม่ำเสมอ ถึงระดับมาตรฐานหมายความว่าออกกำลังกายให้เหนื่อยถึงขั้นร้องเพลงไม่ได้ติดต่อกันครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละสองครั้ง (3) การรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของผักและผลไม้สูง อย่างน้อยวันละ 5 เสริฟวิ่ง หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผักสลัดหนึ่งถ้วยหรือผลไม้ลูกเขื่องๆเช่นแอปเปิ้ลหนึ่งลูก (4) อย่าพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ปิดที่แออัดยัดเยียดหายใจไอจามรดกันบ่อยนัก เพราะถึงภูมิคุ้มกันดีอย่างไรแต่ถ้าตั้งหน้าตั้งตาสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายแบบไม่บันยะบันยังมันก็ไม่แคล้วต้องป่วยแหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์