Latest

ภาวะดื้ออินสุลินกับอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ

คุณหมอคะ

มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ คือเพิ่งทานอาหารไปได้ชั่วโมงกว่าแล้วไปชอปปิ้ง ขณะกำลังเดินก็มีอาการใจสั่นมือไม้สั่น หวิวๆ ต้องรีบหาอะไรหวานๆอม และพักอยู่ตั้งนานกว่าอาการจะหมดไปและเดินได้ใหม่ เป็นอย่างนี้แล้วสองสามครั้ง เคยไปตรวจสุขภาพประจำปีน้ำตาลในเลือด (FBS) 102 อยู่ประมาณนี้มาทุกปี ไม่ได้ทานยาอะไรอยู่ประจำเลย อยากทราบว่าอาการเช่นนี้เกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำไมจึงเป็นหลังจากทานอาหารไปไม่นานเลย

………………………………

ตอบครับ

1. อาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) แบบคลาสสิกจากเบาไปหาหนัก คือ มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย เหนื่อย หมดแรง เข่าอ่อน หน้ามืด สั่น หวิว ผิวหนังเย็นชื้น อาจง่วงหรือปวดหัว กังวล สับสน ปวดกล้ามเนื้อ ตามัว หอบ คันตามตัว ถ้าเป็นมากก็หมดสติ ชัก โคม่า จะรู้ว่าเป็นน้ำตาลในเลือดต่ำจริงหรือเปล่าก็จากการที่ถ้ากินอะไรที่ให้พลังงานเช่นน้ำตาลแล้วอาหารมันหายไป หรือขณะมีอาการถ้าเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลแล้วพบว่าต่ำกว่า 45 มก./ดล. ก็ชัวร์

2. ส่วนใหญ่ อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นอาการของคนไข้เบาหวานที่ได้ยารักษาเบาหวานอยู่ การไม่ได้ดุลระหว่างอาหารที่กินกับจังหวะที่ยาออกฤทธิ์ ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ นี่เป็นเหตุที่พบบ่อยที่สุด

3. อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดหลังกินอาหารไม่นานได้ ขึ้นอยู่กับดุลยภาพระหว่างปริมาณและชนิดอาหารที่กิน กับกิจกรรมใช้พลังงานหลังกินอาหารแล้ว ถ้ากินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ หรือให้พลังงานสูงแต่ให้เร็วหมดเร็ว บวกกับมีกิจกรรมใช้พลังงานมากเช่นทำอะไรแยะหรือโมโหโกรธาใครเข้าแบบสุดขีด ก็เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้แม้จะกินอาหารมาได้ไม่นาน

4. คนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานอย่างคุณนี้ ก็มีน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ถ้ามีภาวะดื้อต่ออินสุลินอยู่ หมายถึงการที่ร่างกายผลิตอินสุลินมากเกินไปเนื่องจากมีภาวะที่เซลร่างกายสนองตอบต่ออินสุลินน้อยลง (insulin resistance) คนแบบนี้น้ำตาลในเลือดจะบัดเดี๋ยวขึ้นไปสูง บัดเดี๋ยวลงมาต่ำแบบรถตีลังกาเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์ในสวนสนุก สาเหตุของภาวะดื้อต่ออินสุลินเกิดจากกรรมพันธุ์บ้าง เกิดจากปัจจัยแวดล้อมบ้าง กรรมพันธ์ก็คือกรรมพันธ์เบาหวานนั่นแหละ อย่างกรณีคุณนี้น้ำตาลในเลือดอยู่ในเขตที่เรียกว่าใกล้เป็นเบาหวาน (prediabetes) ก็อาจมีกรรมพันธ์ของภาวะดื้ออินสุลินได้

5. ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินสุลินมีได้หลายอย่าง ได้แก่

5.1 กินอาหารคาร์โบไฮเดรตแบบปรุงสำเร็จ (high refined) เช่นน้ำตาล มากเกินไป น้ำตาลนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วดูดซึมได้ทันที ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นจู๊ดทันที และกระตุ้นให้อินสุลินขึ้นสูงขึ้นทันทีเช่นกัน ซึ่งอินสุลินที่สูงขึ้นไปมากนี้จะไปลดระดับน้ำตาลลงอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ถ้ากินอาหารแบบนี้นานๆเข้าก็จะไปทำให้เซลต่างๆเซ็งระดับอินสุลินที่สูงมากๆบ่อยๆจึงรวมหัวกันดื้อด้านต่ออินสุลิน นำไปสู่การเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

5.2 การขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิดก็ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ไม่ดีทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นครั้งคราวได้ กลไกการควบคุมน้ำตาลในเลือดต้องอาศัยวิตามินบี.6 บี.3 (niacin) และแร่ธาตุเช่นโครเมียม แมงกานีส สังกะสี วานาเดียม แคลเซียม ธาตุอาหารเหล่านี้มีอุดมในอาหารธรรมชาติทั้งพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ แต่มักถูกทำลายไปในกระบวนการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรม การกินอาหารที่มีผักผลไม้น้อย กินอาหารที่เป็นผลผลิตแบบอุตสาหกรรมเช่นขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด มาก จึงเป็นเหตุของภาวะดื้ออินสุลินได้

5.3 ความเครียดก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะดื้ออินสุลิน เพราะมันไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้ผลิตฮอร์โมนคอร์ติโซนและ DHEA ซึ่งเร่งการใช้น้ำตาล ซึ่งหากเกิดขึ้นซ้ำซากก็จะมีผลทำต่อมหมวกไตล้า เซ็ง ไม่ยอมผลิตฮอร์โมน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง อินสุลินสูงเรื้อรัง เกิดภาวะดื้ออินสุลินตามมา

5.4 การไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็มีหลักฐานวิจัยชี้ชัดว่าทำให้เกิดภาวะดื้ออินสุลินง่าย เป็นเบาหวานง่าย และเมื่อเปลี่ยนนิสัยไปออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเล่นกล้าม (strength training) ก็ทำให้ภาวะดื้ออินสุลินลดลง และหายจากเบาหวานโดยบางกรณีไม่ต้องใช้ยาเลย
กล่าวโดยสรุป ให้คุณ (1) ปรับอาหารที่กินให้เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจากธรรมชาติแทนน้ำตาล (2) ปรับปริมาณแคลอรี่ในอาหารให้พอดีกับชนิดของกิจกรรมที่จะทำหลังกินอาหาร (3) กินผักผลไม้แยะๆทุกวัน (4) ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันรวมทั้งเล่นกล้ามด้วย (5) อย่าเครียด ถ้าทำได้ทั้งห้าอย่างนี้ อาการของคุณก็จะหายไปครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์