Latest

การรำมวยจีนรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อและเอ็น (FMS)

คุณหมอสันต์ที่นับถือ

อายุ 52 ปี สูง 156 ซม. น้ำหนัก 48 กก. ป่วยเป็นโรคข้อปวดกระดูกและกล้ามเนื้อมา 5 ปี เจ็บลึกๆในกระดูก บางวันอ่อนเปลี้ยไม่มีแรงแม้กระทั่งจะเปิดประตูรถ เคยรักษาแบบรูมาตอยด์ แต่หมอคนใหม่บอกว่าไม่ใช่รูมาตอยด์ให้หยุดยา เคยตรวจ SLE แล้วหมอก็บอกว่าไม่ใช่ แล้วส่งดิฉันไปหาจิตแพทย์ทำนองว่าดิฉันคิดมาก ซึ่งหมอพูดไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

………………….

ตอบครับ

คุณมีดัชนีมวลกาย 19.7 จัดว่ากำลังดีไม่ผอมไม่อ้วน

อาการป่วยของคุณนั้น ทางการแพทย์เขาเหมาเรียกว่าเป็นกลุ่มอาการปวดเอ็นและกล้ามเนื้อ (fibromyalgia syndrome – FMS) คือปวดและตึงเป็นหลัก ไวต่อความรู้สึกปวด บางทีเสียงดังหนวกหูหรือเครียดก็ปวดแล้ว โดยไม่มีภาวการณ์อักเสบใดๆเกิดขึ้นในร่างกาย บ่อยครั้งอาการมักเกิดตามหลังการบาดเจ็บครั้งใหญ่ หรือการติเชื้อ หรือการมีความเครียดทางใจ เวลาปวดมาก็ปวดได้ทั่ว ไม่ว่าจะเป็นคอ ก้น หลัง ไหล่ แขน อก ข้อต่างๆ ปวดได้ทั้งสองข้าง บางจุดที่ปวดเวลาไปกดเข้าก็เจ็บจนสะดุ้ง เป็นมากจนบางทีนอนไม่หลับ เหนื่อย เพลีย เปลี้ย กังวล หรือซึมเศร้าไปเลย บางทีก็พาลทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน

สาเหตุของโรคนี้ไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าไม่มีอาการอักเสบใดๆเกิดขึ้น ไปตรวจหารูมาตอยด์ ตรวจหาเอสแอลอี.ซึ่งเป็นการตรวจหาภาวการณ์อักเสบและหาภูมิคุ้มกันที่ทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง จะไม่เจออะไรผิดปกติเลย และไม่มีความผิดปกติหรือการผิดรูปผิดร่างของข้อใดๆเกิดขึ้นด้วย

การวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัยวิธีตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่อาการคล้ายๆกันออกไปก่อน ได้แก่โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี. โรคไฮโปไทรอยด์ โรคขาดวิตามินดี โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเนื้องอกหรือมะเร็งที่ทำให้ปวดกระดูก โรคติดเชื้อเรื้อรังเช่นไวรัสตับอักเสบบี โรคเอดส์ เป็นต้น เมื่อแน่ใจไม่มีโรคเหล่านี้แล้ว จึงวินิจฉัยว่าอาการปวดเกิดจากกลุ่มอาการปวดเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือ FMS
การรักษา FMS ต้องมุ่งไปที่การบรรเทาอาการเฉพาะแต่ละคนเพราะแต่ละคนอาการไม่เหมือนกัน การบอกให้รู้ว่าโรคนี้ซึ่งแม้จะเรื้อรังแต่ก็ไม่ได้รุนแรงถึงคอขาดบาดตาย เป็นสะเต็พแรกของการรักษาที่ดี การจัดการความเครียดและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การงดเว้นแอลกอฮอล์และกาแฟ และการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAID) และยาต้านซึมเศร้า ถือเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยการรักษากลุ่มอาการปวดเอ็นและกล้ามเนื้อ (FMS) ด้วยวิธีให้รำมวยจีนแบบขุนศึกตระกูลหยาง (Yang-style tai chi) โดยสุ่มเอาคนเป็น FMS มาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เรียนรำมวยจีนและรำวันละ 60 นาที สัปดาห์ละ 2 วันนาน 12 สัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งก็ให้ทำอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย การประเมินเมื่อสิ้นสุดงานวิจัยและ 6 เดือนหลังจากนั้นพบว่ากลุ่มที่รำมวยจีนทุกวันมีอาการลดลงมากกว่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า งานวิจัยทำให้ถือได้ว่าการรำมวยจีนเป็นวิธีร่วมรักษา FMS ที่ได้ผลวิธีหนึ่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Wang C, Schmid CH, Rones R, Kalish R, Yinh J, Goldenberg DL, Lee Y, McAlindon M. A Randomized Trial of Tai Chi for Fibromyalgia.
N Engl J Med 2010; 363:743-754