Latest

ถูกรุ่นพี่บังคับทั้งที่ไม่ได้เป็นเกย์ หดหู่ อยากตาย

ผมอายุ 19 ปีครับ ผมถูกผู้ชายคนนึงเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้มีอะไรด้วยครับ ผมไม่ได้เป็นเกย์ ตอนนี้รู้สึกหดหู่ อยากตาย นั่งเครียดไป ทั้งกลัวโรค กลัวตัวเองจะกลายเป็นเกย์ กลัวพ่อแม่จะรู้เรื่องต่ำๆ แบบนี้ แต่ผมไม่รู้จะปรึกษาใครดีครับ อยากเรียนถามดังนี้ครับ1.ถ้าผมจะตรวจเลือดก็ต้องมีการทำประวัติคนไข้ด้วยใช่ไหมครับ กังวลเรื่องความลับของผลตรวจหากออกมาเป็นบวก 2.ผมลองหากระทู้อื่นๆ ที่สอบถามคุณหมอเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องเอดส์และระยะเวลาการตรวจ คราวนี้ก็ยิ่งกังวลไปว่า ระยะเวลา Window period ที่ว่านี้ อยู่ที่ 1 เดือนถึงหกสัปดาห์ คือ ตอนนี้ผมไม่สบายใจมากๆ จนแทบจะเป็นบ้า กะว่าจะรอไปตรวจตอน 1 เดือนพอดี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ครอบคลุมแล้ว แต่กังวลว่าจะเชื่อถือได้แน่นอนหรือเปล่าเพราะ Window period อยู่ที่ 1 เดือนจนเลยไปถึงหกสัปดาห์ คือบางที ตรวจที่ 1 เดือนผลอาจออกมาลบ แต่พอไปตรวจอีกที่หกสัปดาห์อาจออกมาบวก แบบนี้จะมีมั้ยครับ หรือว่าผลที่ได้สบายใจได้เลยว่าแน่นอนแล้ว 3. ผมอยากคุยกับจิตแพทย์ครับ คือต้องให้พ่อกับแม่อนุญาตก่อนหรือเปล่าครับ 4.ตอนนี้ทานยานอนหลับตลอด ไม่ทราบว่าจะมีผลอะไรด้วยหรือไม่ครับ เพราะถ้าไม่ทานจะไม่สามารถหลับได้เลย

Get
…………………………………………………………………

ตอบครับ

1. การตรวจเลือดเอดส์โดยไม่ให้มีใครรู้ว่าเป็นเรา มีสองวิธี คือ

1.1 ไปตรวจที่คลินิกนิรนาม ซึ่งเขาตรวจให้โดยไม่ถามชื่อแซ่

1.2 ไปตรวจรพ.เอกชน โดยวิธีพบแพทย์ก่อน แล้วบอกแพทย์ว่าไม่ต้องการให้แพทย์บันทึกผลการตรวจลงในเวชระเบียน ก็จะมี
เพียงเวชระเบียนชื่อเราตามปกติแต่ไม่มีบันทึกเรื่องการตรวจ HIV ถ้ากลัวหมอจะไม่ทำตามนี้ คุณมาที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.พญาไท 2 แล้วแจ้งว่าขอพบแพทย์ก่อนตรวจสุขภาพ (แพทย์คนไหนก็ได้) แล้วบอกเขาตามนี้ รับประกัน ได้ตามนั้นแน่นอน

2. เรื่อง Window period เนื่องจากมีคนถามบ่อยมาก ผมขออธิบายเผื่อให้ทุกท่านเข้าใจประเด็นย่อยต่อไปนี้ให้ครบ

2.1 ค่า Window period คือค่าเฉลี่ยที่ได้จากการตรวจเลือดผู้ป่วยจำนวนมาก ว่านับจากวันติดเชื้อจนถึงวันที่ตรวจพบ คนส่วนใหญ่จะตรวจพบหลังติดเชื้อแล้วกี่วัน ธรรมชาติของข้อมูลย่อมมีการกระจายตัวบ้าง มันจึงย่อมต้องมีบ้างที่บางคนไปตรวจพบเอาหลังจาก window period ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเรียกว่าเกิด late sero-conversion แต่ว่ามันเป็นส่วนน้อย อย่าเอามาเป็นกังวล

2.2 ในทางการแพทย์ถือเสมอว่าไม่มีอะไร 100% แพทย์จึงจับเอาตรงที่คนส่วนใหญ่เขาจบกันว่าเป็นจบเรื่องไว้ก่อน ในกรณีของคุณซึ่งประเด็นหลักคือความกังวล ผมแนะนำให้ยึดคอนเซ็พท์เดียวกัน ว่าเมื่อตรวจครั้งแรกแล้วได้ผลลบก็คือลบและจบความกังวลเสีย ส่วนการจะติดตามตรวจซ้ำเมื่อสามเดือนหรือหกเดือนหลังจากนั้น (ไม่ใช่หกสัปดาห์) เพื่อความดับเบิ้ลชัวร์นั้นก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเขานิยมทำกัน และผมเองก็แนะนำว่าควรทำ แต่มันไม่จำเป็นต้องไปแขวนความกังวลรอว่าเมื่อไรเราจะปลอดโรค 100% เพราะไม่มีใครที่ไหนในโลกนี้บอกได้ ตัวเลข 100% จริงๆจะเกิดก็โน่น คือที่อินฟินิตี้ หมายถึงว่าเมื่อเราตายแล้ว

2.3 ถ้าคุณสังเกตให้ดีจะเห็นความแตกต่างของตัวเลข window period ที่หมอใช้พูดกับคนไข้ (หนึ่งเดือนถึงหกสัปดาห์) ซึ่งอ้างอ้างอิงผลวิจัยของ 4th generation ที่เป็นงานวิจัยใหม่ขนาดไม่ใหญ่นัก กับตัวเลข window period ที่ปรากฏในเอกสารแนะนำต่างๆ (3-6 เดือน) ซึ่งอ้างอิงผลวิจัยดั้งเดิมที่ขนาดใหญ่กว่า ทั้งนี้เป็นเพราะพวกหมอนั้นเผชิญอยู่กับความกังวลที่กำลังทำลายคนไข้อยู่ตรงหน้า ส่วนเอกสารแนะนำนั้นเผชิญกับการถูกนำไปอ้างอิงเช่นในศาลหรือในการเรียกสินไหมทดแทน ต่างฝ่ายจึงต่างเลือกหยิบตัวเลขที่ต่างกันมาใช้ คุณเองมีปัญหาหลักคือความกังวล ก็ต้องรู้จักเลือกตัวเลขที่จะดับความกังวลของคุณได้มาใช้

2.4 เมื่อเราพูดถึง window period หนึ่งเดือน หมายความว่าต้องตรวจด้วยวิธี 4th generation electrochemiluminescence ซึ่งควบรวมการตรวจทั้งหาภูมิคุ้มกันและหาตัวไวรัสเข้าด้วยกันเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจภูมิคุ้มกันอย่างเดียวแบบดั้งเดิม การตรวจแบบนี้เป็นแบบใหม่ซึ่ง FDA เพิ่งอนุญาตให้ใช้ไม่กี่เดือนมานี้เอง บางแล็บยังไม่มีใช้

2.5 ยังมีวิธีตรวจที่ตรวจพบได้เร็วกว่าวิธี 4th generation คือวิธีตรวจหาเศษยีนของไวรัสซึ่ง เรียกว่าวิธี NAT หรือวิธี PCR ซึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่สองสัปดาห์หลังรับเชื้อ แต่ผมไม่แนะนำให้คุณไปตรวจ NAT เพราะปัญหาการเกิดผลบวกเทียม (false positive) ซึ่งอาจจะทำให้คุณสติแตกได้ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรค

3. การพบกับจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองครับ การที่คุณมีความคิดจะพบกับจิตแพทย์นั้นเป็นเรื่องที่ดีมากและผมสนับสนุน คนเราเมื่อเผชิญความเครียดตัวช่วยที่ดีที่สุดคือกัลยาณมิตร ดีกว่าที่จะหมกมุ่นกับความทุกข์อยู่คนเดียว ในกรณีของคุณซึ่งไม่อยากให้เรื่องแพร่งพรายมาก จิตแพทย์ก็จะเป็นกัลยาณมิตรที่ดี

4. การที่คุณทานยานอนหลับทุกวันนั้นไม่มีอันตรายอะไร คุณกำลังมีปัญหานอนไม่หลับอันสืบเนื่องมาจากภาวะโศกเศร้า (bereavement) การใช้ยาช่วยให้นอนหลับเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว ถ้าคุณไปหาหมอ หมอก็จะให้คุณทานยานอนหลับเช่นกัน

เอาละ ผมตอบคำถามคุณหมดแล้ว ทีนี้ให้ผมคุยกับคุณกันเองแบบเพื่อนบ้างนะ คุณเคยถูกหมากัดไหม? ถ้าไม่เคยผมเล่าให้ฟังก็ได้เพราะผมเคยโดนมาแล้ว พอถูกหมากัด ผมยั้วะหมา แต่แล้วก็รีบทำใจว่ามันเป็นหมาจะเอาอะไรกับมันมากคงไม่ได้ ช่างหมามันเถอะ แล้วผมก็หันมากังวลว่าผมจะเป็นโรคหมาบ้า จึงรีบทำแผล ฉีดยาบาดทะยัก ฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า กว่าจะหมดห้าเข็มก็หนึ่งเดือนเต็มๆ พอหนึ่งเดือนผ่านไปผมก็ลืมเรื่องนี้ได้ คุณก็เหมือนกันครับ ให้คุณแยกออกเป็นสามเรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1. คือการถูกหมาก้ด คุณรีบจบเรื่องนี้เสียโดยการบอกตัวเองว่ามันเป็นหมา แล้วเราก็ดันไปไว้ใจหมาเข้าไปไกล้หมาซะเอง ช่างหมามันเถอะ ถ้ามัวแต่ผูกใจเจ็บเรานั่นแหละจะเป็นคนเจ็บยาว ไม่ใช่หมา

เรื่องที่ 2. คือการประเมินสภาวการณ์ติดเชื้อเอดส์ คุณทำเป็นตารางไว้เลย ครบเดือนไปตรวจคัดกรอง HIV ถ้าได้ผลลบก็ให้เชื่อว่ามันเป็นผลลบจริง พอครบหกเดือนก็ไปตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อความดับเบิ้ลชัวร์ แล้วก็จบ

เรื่องที่ 3. คือจิตใจที่หมกมุ่นทุกข์กังวล ให้คุณมองว่านี่เป็นเรื่องของการเลือกวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้า สิ่งเร้าก็คือการที่เราถูกหมากัด ซึ่งเป็นอะไรที่มาจากภายนอก เราคุมไม่ได้ ที่เหลือเป็นการสนองตอบของเรา ซึ่งเราเลือกได้ เราเลือกเองว่าเราจะสนองตอบแบบไหน ถ้าเราเลือกสนองตอบแบบลบ คือ แค้นและกลัว (กลัวเป็นเอดส์ กลัวพ่อแม่เสียใจ กลัวแฟนรู้ ฯลฯ) เราก็จะเป็นทุกข์มาก ถ้าเราเลือกสนองตอบแบบบวก คือ อภัยกับเรื่องในอดีตเสีย ดีดความกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงทิ้งไป หันมาโฟคัสกับชีวิตปัจจุบันในวันนี้ จัดการปัญหาสุขภาพไปตามขั้นตอนที่ควร จดจ่อทำอะไรเล็กๆน้อยๆที่ง่ายๆและดีๆกับตัวเราในวันนี้ วันนี้ วันนี้ ทีละวัน เราก็จะผ่านวันเวลาช่วงนี้ไปได้โดยไม่เป็นทุกข์มากนัก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

………………………………..

ขอบพระคุณมากๆ ครับ คำแนะนำที่ดีทำให้ผมรุ้สึกเบาใจขึ้นมาบ้าง ผมจะทำตามกระบวนการที่แนะนำมาครับ

Get