Latest

ล้มเหลวในการเรียน คิดมาก กลุ้มใจ

คุณหมอครับ

ผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีสี่ ผมคิดมาก ผมกลุ้มใจ ผมล้มเหลวในการเรียน ผมเหงา ผมอยากมีเพื่อน แต่ก็ไม่มีเพื่อน เพราะไม่อยากคบกับพวกเพื่อนที่เรียนอยู่ด้วยกัน อ่านหนังสือไม่ได้ อ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่จูงใจ มันไม่น่าอ่าน ไม่อยากอ่าน ผมมีความกังวล คิดแต่ตำหนิตัวเองว่าที่ล้มเหลวอย่างนี้เพราะที่ผ่านมาผมเอาแต่เล่นเกม ผมกลัวพ่อแม่ซึ่งเสียเงินเสียทองส่งเสียผมเรียนจะผิดหวัง ได้แต่คิดอยู่อย่างนี้ คุณหมอจะให้ผมทำอย่างไรดีครับ อย่าแนะนำให้ผมไปหาจิตแพทย์นะครับ เพราะผมไม่มีเงินเสียค่าหมอ

ตริน

………………………………………………………….

ตอบครับ

วัยหนุ่มสาวมีปัญหา คิดมาก กังวล ฟุ้งสร้าน สติแตก นี่เป็นเรื่องธรรมดา และมันสะท้อนออกมาในเพลงของคนวัยนี้เป็นครั้งคราวเช่นเพลงของ กมลา สุโกศล ที่ว่า

“..อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน
ตามความคิดสติเราให้ทัน
อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด..”

หรือเพลงของคาราบาวเพลงหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว ที่ว่า

“..ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย
ใจในร่างกายกลับไม่เจอ
ทุกข์ที่เกิดซ้ำเพราะใจนำพร่ำเพ้อ
หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข..”

ดังนั้นปัญหาที่คุณประสบอยู่นี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ลองมาแกะปัญหาของคุณออกทีละเปลาะนะ ประเด็นหลักคือวิธียุติความคิดกังวล ถ้าจะสอนคุณแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องสอนแบบวิลเลียม ออสเลอร์ ที่สอนว่า “ให้เอาฉากเหล็กมหึมามาสองอัน อันหนึ่งกั้นระหว่างเมื่อวานนี้กับวันนี้ไว้ อีกอันหนึ่งกั้นระหว่างวันนี้กับวันพรุ่งนี้ แล้วอยู่แต่ในโลกของวันนี้ อะไรที่เป็นเรื่องของอดีตหรืออนาคต..อย่าคิด” ฟังดูก็ง่ายดี แต่บางคนทำไม่ได้ เพราะคนเรานั้นรู้ทั้งรู้ว่าความคิดกังวลมันไม่ดี แต่ใจมันจะคิด มันห้ามใจไม่ได้ คือบางครั้งเราก็แพ้ใจ อย่างที่เพลงคาราบาวเพลงนั้นว่า

“..คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว
คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ..”

ดังนั้นคุณลองเอาสูตรของผมไปเสริมด้วย ซึ่งตัวผมเองใช้ได้ผลมาแล้ว ของผมนี้จะใช้เครื่องมือสองอันคือ Recall กับ Self awareness

Recall แปลว่า “เอ๊ะ” ก็คือการที่เราฝึกตัวเองให้ระลึกขึ้นได้ ว่าเมื่อตะกี้นี้ เราคิดอะไรอยู่ วิธีการก็คือผมจะแยกใจของผมเองออกเป็นสองคน คนแรกก็คือผมคนเดิมนั่นแหละ จะคิดจะทำอะไรก็คิดไปทำไปตามปกติ คนที่สองนี้คือผมคนใหม่ซึ่งผมโคลนตัวเองขึ้นมาแล้วตั้งชื่อว่านาย “เอ๊ะ” นายคนนี้จะตามผมไปทุกแห่งแล้วก็คอยร้องบอกผมคนดั้งเดิมว่า “เอ๊ะ เมื่อตะกี้คุณคิดอะไรอยู่ เอ๊ะ เมื่อตะกี้คุณเผลอคิดเรื่องนี้นะ เอ๊ะ เมื่อตะกี้คุณเผลอโกรธนะ “ ทำอย่างนี้อยู่ทั้งวัน ยิ่งร้องเอ๊ะบ่อยเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น บางทีเราเผลอคิดซ้ำๆซากๆไม่รู้จบ นายเอ๊ะก็จะร้องเอ๊ะ..เอ๊ะ..เอ๊ะ จนความคิดนั้นฝ่อหายไปเอง ทำอย่างนี้บ่อยๆก็จะพบว่าความคิดหรือความรู้สึกที่ทำให้เราปวดหัวนั้นส่วนใหญ่มันเสนอหน้าเข้ามาซ้ำซาก ซึ่งผมก็ให้นายเอ๊ะจับมันตีทะเบียนไว้ว่าเป็นเจ้าฮั่นแน่ ฮั่นแน่1 ฮั่นแน่2 ฮั่นแน่3 อย่างเช่นสมัยก่อนผมชอบคิดใจลอยว่าถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีผมจะทำอะไรบ้าง ผมก็ให้นายเอ๊ะตีทะเบียนความคิดนี้ว่าชื่อเจ้า “นายกปลอม” ถ้ามันเสนอหน้าเข้ามาอีกนายเอ๊ะก็จะร้องว่า “ฮั่นแน่ เจ้านายกปลอมมาอีกละ” ทำอย่างนี้เจ้าความคิดนั้นพอมันถูกจับได้มันก็จะหลบหน้าแว้บหายไปเลย

Self awareness ก็คือความรู้สถานะของตัวเอง คือการที่ผม (คนที่ชื่อนายเอ๊ะ) ทำการสำรวจตัวผม (คนดั้งเดิม)เป็นพักๆว่า ณ ขณะนี้ตัวผมเองเป็นอย่างไรบ้าง สุขสบายดีหรือเปล่า ซึ่งผมแบ่งเป็นสองส่วน body awareness ก็คือดูร่างกายว่า ณ ขณะนี้มีอาการผิดปกติไหม เจ็บ หรือปวด หรือแน่นอะไรตรงไหนหรือเปล่า ง่วงหรือเปล่า อีกส่วนหนึ่งก็คือด้านจิตใจ หรือ mind awareness ก็คือดูใจของผมเองว่า ณ ขณะนี้ใจมันผ่อนคลายสบายใจเฉิบดีอยู่ หรือกำลังเครียด สำรวจเพื่อทราบสถานะเฉยๆไม่ได้เพื่อลงมือแก้ไขหรือทำอะไรเป็นพิเศษ เพราะธรรมชาติของกายและใจเรานี้ แม้ว่าเดิมมันจะกำลังออกฤทธิ์ออกเดชอยู่อย่างไรก็ตาม แต่หากเรารับรู้สถานะของมันอยู่ มันก็ดูจะทำตัวดีเองโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องไปกะเกณฑ์บังคับอะไรมันเลย กล่าวคือถ้าใจมันกำลังเครียดอยู่ แล้วเรารับรู้และเฝ้าดูมัน มันก็จะค่อยๆผ่อนคลายลงเอง อาการทางร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าเรารับรู้ว่าส่วนนี้กำลังปวดหรือคันและเฝ้าดูมัน พักหนึ่งอาการปวดหรือคันมันก็จะหายไปเอง แปลกดีนะครับ ไม่เชื่อลองดู

ทั้ง Recall ก็ดี ทั้ง Self awareness ก็ดี เป็นทักษะ (skill) ไม่ใช่ความรู้ (knowledge) หมายความว่าต้องฝึกบ่อยๆจึงจะเกิดขึ้นได้และเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง จะใช้วิธีอ่านหนังสือแล้วไตร่ตรองทำความเข้าใจเอาแบบความรู้ทั่วไปนั้นไม่ได้ เหมือนกันการว่ายน้ำจะอ่านวิธีทำแล้วจะหวังว่าเวลาลงน้ำจริงแล้วตัวจะลอยนั้นไม่ได้ ต้องฝึกบ่อยๆสม่ำเสมอจึงจะลอยน้ำได้จริงๆ
คุณเอาแค่นี้ไปทำดูก่อนนะ เอาฉากเหล็กมากันเมื่อวานกับวันพรุ่งนี้ออกไป อยู่ในโลกของวันนี้โดยใช้ recall และ self awareness เป็นเครื่องมือช่วยให้คุณทำแต่เรื่องของวันนี้ที่อยู่ตรงหน้าก็พอ เรื่องที่ผ่านมาแล้ว และเรื่องที่ยังมาไม่ถึงก็ขอโทษ.. ช่างแม่ม ..ม เถอะครับ

ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยนะครับ ทั้งคุณตรินและผู้อ่านทุกท่าน นี่เป็นการตอบคำถามสุดท้ายของปีนี้ แล้วผมจะไปปลีกวิเวกไม่เปิดคอมเด็ดขาด พบกันปีหน้า 2554 ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์