Latest

ถุงยางแตก แล้วรีบทานยาทันที..

1. อยากสอบถามคุณหมอครับ พอดีผมไปเที่ยวผู้หญิงขายบริการมาแล้วถุงยางแตก หลังจากนั้น 3 ชม ก็รีบรับยาทานทันที และผมได้พาผู้หญิงไปตรวจเลือดด้วยผลออกมาเป็นลบ แต่ผมยังยืนยันที่จะรับยาเนื่องจากกลัวเรื่อง Windiws period โดยครั้งแรกหมอได้ให้ยามาเป็น GPO vir S30 มาทานประมาณ 6 วัน แล้วทางโรงพยาบาลก็นัดอีกทีหลังจากนั้น โดยมาหาหมอเฉพาะทาง แล้วทำการเปลี่ยนยาให้ผมเป็น AZT + 3tc เท่านั้น เท่าที่ผมเข้าไปดูที่เว็ปส่วนใหญ่เค้าได้ยามากัน 3 ตัวทำไมผมถึงได้ 2 ตัวครับ แล้วให้ผมทานเพียง 25 วันเองแล้วจะมีผมต่อการป้องกันมัยครับ
2. ผมทำการไปตรวจเลือดหลังเสี่ยงที่ 45 วัน และ 70 วัน ที่คลีนิคนิรนาม ตัวแบบ ECLIA เป็น Negative และตรวจแบบ NAT ด้วยแต่เห็นที่มีคนถามเรื่อง NAT คุณหมอบอกว่ามีโอกาสเป็นบวกปลอม ได้ แล้วมีโอกาสเป็นลบปลอมมัยครับ
3. แล้วระยะ Windows Preriod จะเพิ่มขึ้นมัยครับ ถ้าหากเราทานยาต้านไวรัสแบบฉุกเฉิน หรือว่าถ้าตรวจที่ 3 เดือนผ่านก็ถึอว่าผ่านเลยครับ เพราะเครียดทุกวันเลยครับ ไม่แน่ใจว่าจะจบที่ 3 หรือ 6 เดือนดีครับ

Moo

…………………………………………………………..

ตอบครับ

1. การกินป้องกันเอดส์หลังการสัมผัสเชื้อ ทางการแพทย์เรียกว่า post exposure prophylaxis หรือ PEP มีหลักสากลที่กำหนดโดย WHO ดังนี้

1.1 กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ไม่มีเชื้อ ไม่ต้องกินยาป้องกัน หลักข้อนี้ใช้การได้ดีกรณีแพทย์หรือพยาบาลได้รับบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา แต่กรณีของคุณซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอาชีพพิเศษ หลักข้อนี้อาจใช้ไม่ได้ เพราะแม้จะพิสูจน์ได้ว่าเธอไม่มีเชื้อในเลือด แต่ยังมีความเสี่ยงจากของเหลวจากร่างกายของลูกค้าคนก่อนหน้าคุณยังค้างคาอยู่ใน vagina ของเธอซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อมาสู่ตัวคุณได้ ดังนั้นการที่คุณตัดสินใจกินยาทั้งๆที่ผลตรวจเลือดฝ่ายหญิงเป็นลบ ผมเห็นด้วยว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้ว

1.2 กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้เป็นแหล่งแพร่เชื้อมีเชื้อเอดส์อยู่จริง ให้กินยาต้านไวรัสเอดส์ดังนี้

1.2.1 กินทันที เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ นับเวลากันเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวัน แต่ถ้าล่าใช้ไปเช่นช้าไปถึง 7 วันก็ยังเริ่มกินได้ ดีกว่าไม่กินเลย

1.2.2 กินนาน 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกันไปไม่หยุด

1.2.3 ในกรณีทั่วไปที่พิสูจน์ว่าผู้เป็นแหล่งแพร่เชื้อมีเชื้อแล้ว ใช้ยาควบกันสองตัว เช่น zidovudine (AZT) + lamivudine (3TC) หรือ 3TC + stavudine เป็นต้น สูตรนี้เป็นสูตรมาตรฐาน

1.2.4 ในกรณีที่แพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อสูงมาก เช่น ผู้แหล่งแพร่เชื้อมีปริมาณเชื้อมาก หรือมีเชื้อดื้อ หรือรูปแบบการสัมผัสได้รับเชื้อเป็นปริมาณมาก (เช่นถ่ายเลือดของคนติดเชื้อเข้าไป) แพทย์อาจเพิ่มยาตัวที่ 3 ซึ่งจะเป็นตัวไหนก็ตามแล้วแต่ดุลพินิจ กรณีนี้ไม่ใช่มาตรฐาน

1.3 จากหลักฐานวิจัยแบบย้อนดูกลุ่มคน พบว่าการกินยาแบบ PEP ลดความเสี่ยงการติดเชื้อลงได้ประมาณ 81% แต่ไม่ใช่ 100% หมายความว่ามีคนจำนวนหนึ่งแม้จะกินยาแบบ PEP ก็ยังติดเชื้อได้

ในกรณีของคุณ ถือว่าเป็นกรณีทั่วไปที่แหล่งแพร่เชื้อยังไม่ยืนยันว่ามีเชื้อหรือไม่ด้วยซ้ำ การที่แพทย์ท่านแรกให้ทานยาสามอย่าง (GPO vir S30 = Nevirapine 200 mg + lamivudine 150 mg + stavudine 30 mg) ผมมีความเห็นว่ามากเกินไป ประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงของยา ซึ่งต่อมาแพทย์ท่านที่สองได้ปรับให้ยา AZT+3TC ตามสูตรมาตรฐาน ซึ่งผมว่าก็น่าจะดีแล้ว ส่วนระยะเวลาที่ให้นับรวมกับ (6+25) ก็เกินสี่สัปดาห์แล้ว ผมว่าก็โอเค.แล้วนี่ครับ

2. คุณไปตรวจเลือด 70 วันหลังจากนั้น ทั้งด้วยวิธี ECLIA และ NAT ได้ผลลบ ก็คือลบแน่นอนแล้วหละครับ ผลลบเทียมของเอดส์ก็ที่เราเรียกว่า window period นั่นไงครับ กรณีของคุณนี้พ้น window period ไปแล้วทั้งโดย NAT (12-14 วัน) และ ECLIA (1 เดือน – 6 สปด.) ดังนั้นผลลบที่ได้ก็คือลบจริงๆ จบความกังวลของคุณได้แล้วครับ

3. การกินยาป้องกันแบบ PEP จะทำให้ window period ยืดออกไปหรือไม่ ประเด็นนี้ผมตอบคุณไม่ได้ครับ เพราะความจริงเป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบ มีแต่ความคิดเชิงทฤษฏีของสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าการไปกินยาแบบ PEP ไปทำลายเชื้อให้เหลือน้อยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสนองตอบต่อเชื้อช้า แต่อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะมีเชื้อมากหรือน้อยระบบภูมิคุ้มกันก็สนองตอบได้เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายไม่มีหลักฐานสนับสนุน ทั้งโลกนี้มีรายงานผู้ป่วย 1 รายที่กินยาแบบ PEP แล้วติดเชื้อ HIV โดยที่ window period เนิ่นช้าออกไปมากกว่าปกติ แต่ผู้ป่วยรายนั้นติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี.ด้วย จึงสรุปไม่ได้ว่า window period ยืดไปเพราะเหตุใด อย่างไรก็ตาม เป็นมาตรฐานว่าการกินยาแบบ PEP ควรตรวจคัดกรองเอดส์ครั้งสุดท้ายเมื่อครบ 6 เดือนหลังสัมผัสเชื้อครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Updated U.S. Public Health Service Guidelines for the Management of Occupational Exposures to HBV, HCV, and HIV and Recommendations for Postexposure Prophylaxis. MMWR;2001:50(RR11);1-42