Latest

เพิ่งแต่งงานใหม่ แต่กลัวเซ็กซ์ ไม่ยอมมีอะไรกับสามี

เพิ่งแต่งงานผ่านมาได้ไม่กี่วันนี้ค่ะ แล้วยังไม่ได้มีอะไรกะสามีเลย เพราะความกลัวคะ กลัวการมีเพศสัมพันธ์อย่างมากๆ คือ ไม่กล้ามีอะไรกับสามีเลย กลัวไปหมด กลัวเจ็บ รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่ค่อยสะอาดด้วยค่ะ ตอนสามีเข้ามาเล้าโลมจะรู้สึกปวดแสบในช่องคลอดมากๆ ค่ะ จนรู้สึกว่าเจ็บนิดๆ ทั้งๆ ที่เค้ายังไม่ได้มาสอดใส่อะไรเลย ตอนแรกคิดว่าอาจเป็นเพราะเราไม่เคยมีอะไรกับใครเลยหวาดๆ แต่งงานไปแล้วจะดีขึ้นแต่เปล่าเลยคะ คือกลัวไปหมด ไม่กล้า คิดมาก คุยกะสามี สามีเข้าใจนะค่ะ แต่ก็ดูเค้าจะหงอยๆ ไปเหมือนกัน เหมือนเราจะผิดปกติหรือเปล่า แบบนี้นิวต้องคุยกะจิตแพทย์หรือไม่ค่ะ

นิว

……………………………..

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. เอาเรื่องคุณเป็นอะไรก่อนนะ กรณีของคุณนี้ทางแพทย์เรียกว่ามีความผิดปกติในเรื่องเพศสัมพันธ์ (sexual dysfunction) ในกลุ่มย่อยชื่อ โรครังเกียจการมีเซ็กซ์ (sexual aversion disorder) ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะว่าเป็นธรรมดาที่ผู้หญิงจะไม่เอาเซ็กซ์ในบางโอกาสเช่น ถ้าเธออยู่ในช่วงมีเมนส์ หรือหลังคลอด หรือหลังหมดประจำเดือน หรือเพิ่งฟื้นไข้ หรือมีความเครียด หรือเพิ่งเปลี่ยนบทบาทใหม่ เช่นเพิ่งได้งานใหม่ เพิ่งได้เป็นเจ้านาย หรือขาดความเป็นส่วนตัวขณะมีเซ็กซ์ เช่นคุณพ่อคุณแม่นอนอยู่ห้องข้างๆ เป็นต้น อันนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่โรค แต่โรครังเกียจเซ็กซ์นี่ไปไกลกว่านั้น คือไปถึงกลัว ผลักไส รังเกียจเดียดฉันท์ เมื่อใดก็ตามที่จะมีการเอาอวัยวะเพศมาสัมผัสกันขึ้นมา นอกจากกลัวแล้วยังมีความรู้สึกลบต่อเรื่องแบบนี้อย่างแรง อาจจะมีความกล้วอย่างอื่นผสมโรงด้วย เช่น กล้วติดเชื้อ กลัวคุมตัวเองไม่ได้ กลัวอวัยวะเพศของตนเองจะผิดปกติ กลัวตั้งครรภ์ กลัวสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งเกินไป เป็นต้น บางรายตอนโหมโรง (foreplay) ก็ดูจะเวอร์คดี แต่พอจะเข้าพระเข้านางถึงขั้นมีการเอาอวัยวะเพศมาสัมผัสกันจริงๆก็เกิดมีอาการขึ้นมา

ประเด็นที่ 2. ควรพบจิตแพทย์ไหม ตอบว่าควรพบกับจิตแพทย์ทั้งสามีภรรยาเลยครับ เรียกว่าทำ marital counseling เพราะโรคนี้เป็นความผิดปกติของจิตใจล้วนๆ การทำจิตบำบัดเป็นเครื่องมือหลักในการรักษา จิตแพทย์เองจะต้องเป็นผู้ที่ specialize ในเรื่องการหลับนอน ซึ่งเมืองไทยมีอยู่ไม่กี่คน เท่าที่ผมมองเห็นตัวตอนนี้มีอยู่แค่สองสามคนเท่านั้นเอง ต้องสอบถามหาแล้วไปหาให้ถูกตัว

ประเด็นที่ 3. โรคนี้รักษากันอย่างไร ขั้นตอนของแพทย์จะมีสี่ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ 1. ต้องตรวจร่างกายทั้งสองสามีภรรยาเพื่อวินิจฉัยแยกความผิดปกติทางกาย หรือสาเหตุที่พบเห็นได้ง่ายเช่นความสกปรกของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

ขั้นที่ 2. การสืบค้นหาสาเหตุทุกด้าน รวมทั้งสาเหตุทางใจ ซึ่งอาจต้องทำใจรับคำถามที่กวนใจเช่น เราถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เคยถูกลวนลามหรือถูกกระทำทางเพศมาก่อนหรือเปล่า เป็นต้น ทั้งหมดนี้หมอเขาถามเพราะจำเป็นต้องเช็คความเป็นไปได้ให้ครบก่อน

ขั้นที่ 3. การทำจิตบำบัด วิธีที่นิยมทำสมัยนี้ก็คือพฤติกรรมบำบัด (cognitive-behavioral therapy – CBT) ซึ่งมีหลักการสามข้อใหญ่ๆ (1) Exposure คือค่อยๆให้สัมผัสกับสถานการณ์บ่อยๆเพื่อลดความกลัว (2) Cognitive restructuring คือคิดใหม่ทำใหม่ พยายามปรับความคิดความเชื่อที่ทำให้เกิดความกลัว ปรับความคิดจากเดิมที่ว่าความกลัวเป็นสิ่งแก้ไขไม่ได้ เป็นความเข้าใจใหม่ว่าความกลัวเป็นปัญหาทางการแพทย์ซึ่งแก้ไขได้หากทำถูกวิธี (3) Skill training คือการสอนทักษะในเรื่องเพศสัมพันธ์ ว่าถึงตรงนี้ควรทำอย่างไร ถึงตรงนี้ควรทำอย่างไร เพื่อให้เพศสัมพันธ์มันง่ายขึ้น รวมทั้งแนะนำการใช้อุปกรณ์ช่วยเช่นสารหล่อลื่น วัสดุเทียมต่างๆ เป็นต้น

ขั้นที่ 4. การใช้ยาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จำเป็นต้องบรรเทาความกลัว อย่างไรก็ตาม การใช้ยาควรเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

ประเด็นที่ 4. โรคนี้มีโอกาสหายไหม ตอบว่าโรครังเกียจการมีเซ็กซ์นี้เป็นโรคทางใจชนิดที่มีการพยากรณ์โรคดี หมายความว่ามีโอกาสหายสูงมาก ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าถ้าได้รับการรักษาทางใจอย่างถูกต้อง

ผมขอแถมอีกนิดหนึ่ง สำหรับท่านอื่นที่อ่านบทความนี้และอาจมีปัญหาคล้ายกัน คือหากเจาะลึกลงไปแล้ว โรครังเกียจการมีเซ็กซ์นี้มีสองแบบ คือแบบที่เกิดจากเงื่อนไขจำเพาะ อย่างกรณีของคุณนิวนี้ กับแบบที่เกิดจากความสัมพันธ์ หมายความว่าแต่ก่อนก็เคยมีเซ็กซ์กันดีๆ ต่อมาเกิดรังเกียจเซ็กซ์เพราะมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่นเพิ่งค้นพบว่าอีกฝ่ายหนึ่งนอกใจ หรือมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องใหญ่ๆเช่นการมีลูก การเงินการทอง เป็นต้น หากเป็นโรคแบบที่เกิดจากความสัมพันธ์นี้ การรักษาจะไปอีกแบบ คือไปเน้นที่การแก้ปัญหาความสัมพันธ์แทน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์