Latest

กินแล้วล้วงคออ๊วก กลัวอ้วน นิสัยไม่ดี

ขอรบกวน ถามคุณหมอค่ะ

คือดิฉัน เป็น หนึ่งในคนที่ กลัวอ้วน และใช้นิสัยไม่ดี โดยการล้วง คอให้อาเจียน หลังทาน อาหาร ตอนนี้ พยามเลิกอยู่ค่ะ เหตุ ที่ทำให้คิดจะเลิก คือ ดิฉันมีอาการ ปวดเกร็ง ที่ หูรูด ทวาร เหมือน ปวด เกร็ง มาจาก ลำไส้ใหญ่ มีอยู่คืนนึง ปวดมาก ขยับ ตัว แทบไม่ได้ ขยับ แล้ว จะปวด ตึง บริเวร หูรูด คล้าย กับจะเป็น ตะคริว แต่ก็ไม่ใช่ ทรมาน มากค่ะ
อันนี้ เป็นผลข้างเคียง จากการ อาเจียน รึเปล่าคะ เคยเป็นอย่างนี้ อยู่บ่อยๆ แต่ครั้งนี้ มาก จนร้องไห้เลยค่ะ
อยากถามคุณหมอค่ะว่า ดิฉัน มีโอกาส เสี่ยง ต่อ โรคอะไรบ้างคะ
และยังไม่สาย เกินไปใช่มั้ยคะ ที่จะกลับใจ และถ้าเกิดอาการ ปวดเกร็งอีก ดิฉัน ควร ทานยาอะไรดีคะ

นินจา

…………………………………………………………..

ตอบครับ

1. ในมุมมองของแพทย์ คุณเป็นคนป่วยด้วยโรคที่ชื่อ Bulimia nervosa ซึ่งหมายถึงคนที่กลัวอ้วน และมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แล้วใช้วิธีกินแล้วรีบชดเชยด้วยการเอาออก จะด้วยการอ๊วก หมายถึงล้วงคอให้อาเจียน หรือกินยาระบาย ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ ก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ทำไปเพราะอารมณ์เครียดและคุมตัวเองไม่ได้

2. อาการที่ปวดท้องเป็นเรื่องปกติของคนเป็นโรคนี้ แต่อาการปวดมากตึงเหมือนเป็นตะคริวบริเวณหูรูดทวารหนักจนขยับตัวไม่ได้ อาจเป็นอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อจากการสูญเสียโปตัสเซียมไปมาก ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย และเป็นต้นเหตุให้เสียชีวิตจากโปตัสเซียมต่ำจนหัวใจเต้นผิดปกติได้

3. การที่คิดจะเลิกนั้นดีแล้ว หากเลิกได้สำเร็จด้วยตนเองก็ยิ่งดี แต่หากเลิกด้วยตนเองไม่ได้ ผมแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพราะโรคนี้จิตแพทย์ช่วยได้แน่นอนครับ

4. โรคนี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรต่อไปอีกบ้าง โอ้โฮ เยอะแยะเลยนะครับ เช่น การเสียชีวิตกะทันหันจากหัวใจเต้นผิดปกติ โรคกระดูกพรุน ประจำเดือนไม่มี โรคขาดอาหารแบบต่างๆ ความเสียหายต่อระบบทางเดินอาหาร ฟันผุ หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง โรคจิตประสาทอื่นๆเช่นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

5. การรักษาโรคนี้ไม่มีคำว่าสายครับ โรคนี้หากได้รับการรักษาจะมีการพยากรณ์โรคที่ดี หมายความว่าหายได้เป็นส่วนมาก ดังนั้นแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์โดยเร็ว

6. เมื่อไปถึงแพทย์แล้ว การรักษาโดยแพทย์นั้น จะมุ่งไปที่

a. การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งมีหลายประเด็นมาก เช่นฟันเสีย หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ประจำเดือนไม่มา ขาดสารอาหารที่จำเป็น เป็นต้น

b. การทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดแบบ Cognitive behavioral psychotherapy (CBT) ซึ่งประกอบด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ เช่นจดบันทึกอาหารที่ทาน (diary keeping) การวิเคราะห์เหตุนำเหตุร่วม การปรับความคิดและมุมมองเรื่องน้ำหนักและภาพลักษณ์ เป็นต้น

c. การปรับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด (Interpersonal psychotherapy -IPT)

d. โภชนบำบัดเพื่อรักษาภาวะขาดอาหาร

e. การรักษาครอบครัว (family therapy) เพื่อปรับเจตคติของคนในครอบครัวให้สนับสนุนการรักษา

f. การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าและยาอื่นๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์