Latest

ตรวจสุขภาพได้ Cr = 1.5 กลัวต้องล้างไต

ผมไปตรวจเลือดประจำปี ผลเลือดออกมาปรากฎว่าค่า CREATININE คือ 1.5 และ BUN คือ 13
ไม่ทราบว่า ค่า CREATININE สูงเกินไปหรือเปล่าครับ
ผมอายุ 35 ปี ส่วนสูง 178 ซม. น้ำหนัก 68 ก.ก. ที่ผ่านมาผมออกกำลังกายโดยการยกดัมเบล หนักประมาณ 10 กิโลกรัม มองดูภายนอกเป็นคนมีกล้าม แต่ไม่เคยออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือ การเดิน วิ่งหรือว่ายน้ำเลย
ตอนนี้ผมรู้สึกกังวลใจมากครับ กลัวว่าจะเป็นโรคไต หรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ผมควรปฏิบัติตัวอย่างไร และควรกินอาหารอย่างไร อาหารประเภทไหนที่ไม่ควรรับประทาน และควรรับประทาน รบกวนคุณหมอช่วยอธิบายและให้คำแนะนำผมด้วยครับ
ขอบคุณครับ

ชาติ

…………………………………………………………

ตอบครับ

ตัวชี้บ่งการทำงานของไตที่ดีที่สุดคือค่าปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที (GFR) ห้องแล็บที่ดีต้องรายงาน GFR ด้วยเสมอในการตรวจค่าครีอาตินิน (Cr) เพื่อประเมินการทำงานของไต แต่คุณไม่ได้บอกค่า GFR มาด้วย ผมคำนวณ GFR ให้คุณได้ 53 ซีซี.ต่อนาที ดังนั้นโดยคำนิยามของสมาคมโรคไตคุณก็เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 (จาก 5 ระยะ)

แต่อย่าได้ตกใจเกินเหตุ การวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะเนิ่นๆก็เพื่อให้คุณทันตื่นตัวปกป้องไตของคุณได้เต็มที่ แทนที่จะไม่รู้อิโหน่อิเหน่กว่าจะรู้ตัวก็บวมอะหลึ่งฉึ่งหรือต้องล้างไตแล้ว ดังนั้นรู้เสียแต่ระยะที่ 3 ย่อมดีกว่าไปรู้เอาตอนระยะที่ 5 ตอนนี้ให้ใช้ชีวิตปกติ ออกกำลังกายทุกวัน และใส่ใจปกป้องไตของคุณไม่ให้เสื่อมลงเร็ว ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดสุขภาพของคุณขึ้นมาก่อน นั่นคือ

1.1 ความดันเลือดต้องไม่เกิน 130/80 mmHg ห้ามความดันสูงเด็ดขาด ถ้าสูงต้องรีบรักษา

1.2 ไขมันเลว (LDL) ในเลือดต้องต่ำกว่า 100 มก./ดล.

1.3 รักษาน้ำหนักอย่าให้เกิน 72 กม. (ให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 23 กก./ตรม.)

2. การหลีกเลี่ยงยาหรือสารพิษที่ทำลายไต ได้แก่

2.1 ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่มไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID) และกลุ่ม COX2 inhibitors

2.2 ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides ซึ่งเป็นพิษต่อไต

2.3 การฉีดสารทึบรังสี (radiocontrast agents) เพื่อการวินิจฉัยโรคทางเอ็กซเรย์แบบพิเศษต่างๆ

2.4 สมุนไพรต่างๆ เพราะสมุนไพรหลายชนิดเป็นพิษต่อไต

2.5 ระวังยาที่ทำให้โปตัสเซียมสูง เช่นยาในกลุ่ม ACEI

3. โภชนาการ ถือหลักดังนี้

3.1 กินโปรตีนในปริมาณพอดีเท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่มากเกินไปจนก่อให้เกิดการเสื่อมของไต ไม่น้อยเกินไปจนเกิดภาวะทุพโภชนาการ กรณีของคุณเป็นโรคในระยะที่ 3 ควรได้รับโปรตีนวันละ 0.6 – 0.8 กรัม/กก.นน.ตัวที่ควรเป็น คุณน้ำหนัก 68 กก. ก็ควรได้โปรตีนประมาณวันละ 50 กรัม ต้องเข้าใจนะว่าอาหารโปรตีนที่เรากินทั่วไปเช่นเนื้อหมู ปลา ไก่ ไข่ นม มีโปรตีนประมาณ 20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นส่วนของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และกาก อย่าเข้าใจว่าไข่หนึ่งฟอง 70 กรัม ได้โปรตีน 70 กรัม ไม่ใช่นะ ได้แค่ 14 กรัมดท่านั้น

3.2 แคลอรี่ต้องไม่น้อยเกินไปจนเกิดการสลายโปรตีน และไม่มากเกินไปจนเหลือใช้และเก็บสะสมในรูปไขมัน ถ้าอายุต่ำกว่า 60 ปีอย่างคุณก็ควรได้แคลอรี่วันละ 35 แคลอรีต่อกก. อาหารอะไรให้กี่แคลอรี่คุณก็หัดอ่านฉลากแล้วลองคำนวณดูเอาเอง

3.3 ต้องหัดทานอาหารจืดเข้าไว้ จืดสนิทยิ่งดี เพราะเกลือโซเดียมไม่ถูกกับโรคไต

3.4 การรับประทานผักและผลไม้ในระยะนี้ซึ่งระดับโปตัสเซียมยังปกติให้ทานอะไรก็ได้อย่างอิสระไม่ต้องระวังอะไร
แต่ถ้าเป็นโรคระยะปลาย (ซึ่งกรณีคุณจะไม่เป็นเพราะคุณยังป้องกันทัน) คือเมื่อมีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงแล้วก็ควรรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมต่ำ อันได้แก่ แตงกวา แตงร้าน ฟักเขียว ฟักแม้ว บวบ มะระ มะเขือยาว มะละกอดิบ ถั่วแขก หอมใหญ่ กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม พริกหวาน พริกหยวก หรือผลไม้ต่างๆเช่น สับปะรด แตงโม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ชมพู่ พุทรา มังคุด ลองกอง องุ่นเขียว เงาะ แอปเปิ้ล ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปตัสเซียมสูง อันได้แก่ เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท แขนงกะหล่ำ ผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ยอดฟักแม้ว ใบแค ใบคื่นช่าย ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง อโวคาโด และน้ำผลไม้และผลไม้ต่างๆเช่น น้ำแครอท น้ำมะเขือเทศ กระเจี๊ยบ น้ำผัก ผักแว่น ผักหวาน สะเดา หัวปลี กล้วย กล้วยหอม กล้วยตากฝรั่ง ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า กระท้อน ลำไย ลูกพลับ ลูกพรุน ลูกเกด มะม่วง มะเฟือง มะปราง มะขามหวาน แคนตาลูป น้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว
ย้ำอีกทีว่าการระวังอาหารโปตัสเซียมสูงนี้เป็นเรื่องของคนเป็นโรคระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตแล้วเท่านั้นนะ ไม่ใช่เป็นโรคระยะ 3 อย่างคุณก็ดันไปคุมโปตัสเซียมกับเขาด้วย ไม่ใช่นะ อย่าทำผิด

4 อย่าให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด เรื่องนี้สำคัญที่สุด ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตรขึ้นไป ยกเว้นเมื่อเข้าระยะปลายๆของโรคซึ่งมีอาการบวมแล้ว จึงค่อยจำกัดน้ำตามที่แพทย์บอก ตอนนี้ยังไม่บวม อย่าพาซื่อว่าเป็นโรคไตต้องจำกัดน้ำ ถ้าทำอย่างนั้นไตพังแน่นอน

5 ต้องป้องกันโรคที่ป้องกันได้ให้หมด ไปตรวจเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือมีภูมิคุ้มกันตับอักเสบบีหรือไม่ หากไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ฉีดวัคซีนเสีย จะให้ดีควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีทุกปีด้วย

6 ต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เรื่องที่ต้องบอกหมอให้เฝ้าระวังคือการขาดวิตามินดี และการเกิดโลหิตจาง (ฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10%) ซึ่งเมื่อเกิดต้องให้หมอรักษา

ทำทั้งหมดที่ผมบอกนี้ แล้วผมรับประกันว่าโรคไตของคุณจะไม่เสื่อมลงไปถึงระยะ 5 ซึ่งต้องล้างไตอย่างแน่นอน ผมมีคนไข้โรคไตระยะ 3 และ 4 หลายคน ที่พอทำตัวดีแล้วการทำงานของไตก็ดีขึ้น คุณก็ต้องดีขึ้นสิ โชคดีนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์