ปรึกษาหมอ

นอนไม่หลับอย่างแรง ทั้งๆที่อายุ 29 ปีเอง

สวัสดีครับคุณหมอสันต์

ผมอายุ 29 ปี ครับ เป็นโรคนอนไม่หลับมานาน เคยทานยานอนหลับรวดเดียว 10 เม็ด ก็ไม่หลับ ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ได้มีเรื่องเครียดอะไร ไม่รู้ทำไม ปรึกษาจิตแพทย์แล้วก็ไม่หาย ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดี ทำงานหนักก็ไม่หลับ จนเหมือนสมองผมจะระเบิดแล้ว ผมอยากนอนหลับสนิทเหมือนชาวบ้านเค้าบ้าง ไม่รู้เวรกรรมอะไร แต่ที่แน่ๆ ผมอยากจะหาย อยากนอนได้เหมือนคนปกติทั่วๆ ไป

…………………………
ตอบครับ

คุณเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ทั้งๆที่มีอายุเพียง 29 ปี และไปหาจิตแพทย์มาแล้วปัญหาก็ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้อง step up ขึ้นไปแก้ปัญหาระดับที่มันละเอียดซับซ้อนขึ้นไปกว่าเดิมแล้วละครับ ผมแนะนำให้คุณแก้ปัญหาเป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นที่ 1. สืบค้นข้อมูลพื้นฐาน ที่จำเป็นให้ครบก่อนแล้วแก้ปัญหาที่เห็นได้ชัดๆไปก่อน คือ

1. คุณมีโรคทางกายอะไรหรือเปล่าที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง เป็นต้น
2. คุณทานยาอะไรประจำหรือเปล่า เพราะยาจำนวนมากทำให้นอนไม่หลับ เช่น ยากระตุ้นเบต้ารักษาหอบหืด ยาสะเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น
3. คุณใช้สารกระตุ้นหรือสารเสพย์ติดอะไรหรือเปล่า เช่น แอมเฟตามีน นิโคติน (สูบบุหรี่) แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งกาแฟอีน เพราะสารเหล่านี้ล้วนทำให้นอนไม่หลับ
4. ไลฟ์สไตล์ของคุณเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตของคุณมันไม่ถูกสุขศาสตร์ของการนอนหลับ (sleep hygiene) หรือเปล่า เช่น ไม่ออกกำลังกายเลย เข้านอนไม่เป็นเวลา งีบกลางวันบ่อย ตื่นนอนไม่เป็นเวลา ชอบนอนแช่อยู่บนเตียงนานเกินไป สิ่งแวดล้อมของที่นอนไม่เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น แสงมาก เสียงดัง อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป หรือชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นก่อนนอน หรือทานอาหารมื้อเย็นมากเกินไป หรือชอบทำกิจกรรมเช่นทำงาน ดูทีวี อ่านหนังสือ ในที่นอน เป็นต้น เพราะแนวทางการใช้ชีวิตแบบที่ว่ามานี้ล้วนเป็นเหตุให้นอนไม่หลับได้ทั้งสิ้น

ขั้นที่ 2. สอนร่างกายและจิตใจให้รู้จักสนองตอบแบบผ่อนคลาย และฝึกปฏิบัติบ่อยๆทุกวัน จะด้วยวิธีเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อต่างๆไปทีจะกลุ่มกล้ามเนื้อ หรือด้วยวิธีอื่นๆเช่นฝึกสมาธิ (meditation) ให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว (เช่นลมหายใจ) แทนที่จะคิดฟุ้งสร้าน หรืออาจใช้วิธีรำมวยจีน หรือเล่นโยคะ ก็ได้

ขั้นที่ 3. ใช้มาตรการจำกัดเวลานอน โดยลดเวลานอนลงเหลือเท่าที่นอนหลับจริงๆ แล้วค่อยๆกลับเพิ่มขึ้นใหม่สัปดาห์ละ 20 นาทีเมื่อระยะเวลานอนโดยไม่หลับเหลือไม่ถึง 15% ของเวลาเข้านอนทั้งหมด

ขั้นที่ 4. ก็คือไปหาจิตแพทย์ ก่อนไปต้องจดประวัติการนอนหลับย้อนหลังสัก 2 สัปดาห์พร้อมระบุกิจกรรม ยา และสารกระตุ้นที่เกี่ยวข้อง ไปด้วย เรียกว่าทำ sleep diary เพื่อให้หมอวินิจฉัยสาเหตุของโรคได้แม่นยำและให้การรักษาได้ตรงจุดที่สุด ถ้าหมอคนแรกรักษาไปสักพักแล้วไม่เวอร์ค ก็อาจหาความเห็นของหมอคนที่สอง การไปหาหมอนี้ก็ต้องทำใจว่าอาจจะมีการใช้ยา ตัวที่หนึ่งไม่ได้ผล ก็อาจใช้ยาตัวที่สอง ที่สาม และอาจต้องมีการตรวจพิเศษ เช่นเข้า sleep lab เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์