Latest

สวัสดีปีใหม่และผลตรวจสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่

เรียน คุณหมอ ที่เคารพ

ในวาระปีใหม่นี้ ขอให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก ดลบันดาลให้คุณหมอพบกับความสุขและสิ่งที่ดีตลอดไปนะค่ะ
คุณพ่อและคุณแม่ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง ผลตรวจสุขภาพประจำปีของคุณพ่อ คุณแม่ ตามรายงานของแผนกตรวจสุขภาพ ออกมาแล้ว ดิฉันรบกวนปรึกษาคุณหมอ ดังนี้
1. คุณพ่อ อายุ 70 ปี น้ำหนัก 69 ก.ก.สูง 159 ซ.ม.
ผลตรวจไต ค่า bun = 29 ค่า critinin = 1.4 และผลตรวจอุลตร้าซาวน์พบซีสต์ที่ไตขวา 1.7 ซ.ม. คุณพ่อมีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม เรียนถามว่ามีภาวะโรคไตประเภทใด ถ้ามีอยู่ในระยะใด(ดิฉันเคยทราบว่าโรคไตมี 5 ระยะ คุณพ่ออยู่ในระยะที่เป็นอันตรายมากไหมค่ะ ) คุณพ่อจำเป็นต้องไปตรวจละเอียดเพิ่มเติมไหมค่ะ เดิมคุณพ่อทานยา nsiad มานานแล้ว คุณหมอได้ให้เปลี่ยนยาที่เคยทานบางตัว โดยสรุป ภายหลังตรวจสุขภาพแล้วคุณหมอจัดยาให้คุณพ่อ ดังนี้
1. plavix
2. lipitor
3. diavan
4. hydro( HCTZ ) ยาขับปัสสาวะ (1/4 เม็ด)
5. ezetrol
6. concor (1/2 เม็ด)
ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยค่ะว่า ยาแต่ละรายการทั้ง 6 รายการดังกล่าว ช่วยรักษาบรรเทาอาการอะไร และต้องรับประทานยา ตลอดไป หรือไม่ สามารถหยุดรับประทานยารายการไหนได้บ้างไหมค่ะ

2. คุณแม่ อายุ 67 ปี น้ำหนัก 63 ก.ก. ส่วนสูง 155 ซ.ม. ผลตรวจพบว่า
2.1หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจมีแคลเซียมสูงมาก ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคุณแม่ทานยา อาหารเสริม หรืออาหาร เครื่องดื่ม ประเภทใดมากเกินไปหรือไม่ค่ะและการมีแคลเซียมที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจมากเกินไป จะมีอันตรายอย่างไรค่ะ(เดิมก่อนหน้านี้หลายปีคุณหมอท่านหนึ่งบอกว่าคุณแม่มีภาวะหัวใจโต แต่ต่อมาบางครั้งก็ตรวจไม่พบภาวะหัวใจโต และที่ผ่านมาคุณแม่ไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จึงทานแคลเซียมเสริมมาโดยตลอด ควรหยุดไหมค่ะ)
2.2 ผล stool accult blood เป็น positive แต่เนื่องจากคุณแม่ทานยาบำรุงเลือดมาก่อนตรวจ 2-3 เดือนและทานตลอดมาจนถึงวันที่ตรวจก็ไม่ได้หยุดทาน ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับการมีเลือดในอุจจาระหรือไม่ค่ะ(ปกติคุณแม่ขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอทุกวันและไม่ค่อยมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด)
2.3 ผลตรวจอัลตร้าซาวน์พบว่า มดลูก มีซีสต์ขนาด 0.9 ซ.ม. ไม่ทราบว่าซีสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยปกติ หรือเป็นเนื้องอกที่เป็นอันตรายอย่างไรหรือไม่ค่ะ และควรต้องไปผ่าซีสต์ออกหรือตรวจละเอียดต่อไปอย่างไร ไหมค่ะ
จากผลตรวจสุขภาพที่กล่าวมา คุณหมอเห็นว่าคุณพ่อ และคุณแม่ ควรเพิ่มความถี่ในการตรวจสุขภาพ เป็น 6 เดือน ต่อครั้ง หรือ 3 เดือน ต่อครั้ง หรือไม่ค่ะและคุณพ่อ คุณแม่ของดิฉัน ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยละเอียดเพิ่มเติมโดยเครื่องมือ หรือวิธีการที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไรบ้างไหมค่ะ หรือมีอวัยวะและการทำงานของระบบในร่างกายส่วนใดที่ควรจะไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมบ้างไหมค่ะ
รบกวนคุณหมอแนะนำการปฏิบัติตัวและการรับประทานอาหารของคุณพ่อและคุณแม่ ด้วยนะค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง

……………………………

ตอบครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

1. คุณพ่อ อายุ 70 ปี น้ำหนัก 69 ก.ก.สูง 159 ซ.ม. ตรวจเลือดได้ Cr 1.4 mg% เท่ากับ eGFR = 51 ml/min/sqm เท่ากับเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 จาก 5 ระยะครับ ยังไม่ได้เป็นระยะที่อันตราย แต่ข้อมูลนี้มีประโยชน์ที่จะทำให้ต้องป้องกันไตให้จริงจังยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องล้างไตในชีวิตที่เหลืออยู่อีกประมาณ 10-20 ปี ไม่จำเป็นต้องไปตรวจเลือดเพิ่มเติมหรือตรวจให้ถี่ขึ้น แต่ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไตดังนี้

1.1 รักษาความดันสูงอย่างเอาใจใส่จดจ่อ ระวังไม่ให้ความดันเลือดสูงเกิน 130/80 ถ้าเกิน ต้องคุยกับหมอ เพราะความดันสูงเมื่อไร ไตไปเมื่อนั้น

1.2 เลิกยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAID) เด็ดขาด แก้ปัญหาปวดเมื่อยด้วยการออกกำลังกาย และกายภาพบำบัดแทน

1.3 งดสมุนไพรต่างๆโดยเฉพาะสมุนไพรจีน

1.4 งดการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจพิเศษทางเอ็กซเรย์ต่างๆทุกชนิด

1.5 เลิกทานอาหารเค็ม ต้องทานอาหารให้ได้ แคลอรี่มากพอ(30-35 แคลอรี่ต่อกก.ต่อวัน) และได้โปรตีนพอดี (0.6-0.8 กรัมต่อกก.ต่อวัน) ไม่มากไม่น้อย ถ้าโปรตีนมากเกินไปไตก็เสื่อมเร็ว แต่ถ้าน้อยเกินไปก็ขาดอาหาร

1.6 ดื่มน้ำวันละไม่น้อยกว่าสองลิตร ถ้าร่ายกายขาดน้ำ ไตจะเสื่อมเร็ว

1.7 ดูแลสุขภาพทั่วไปแบบผู้สูงอายุอื่นๆ ตามที่ผมเขียนไว้ข้างท้ายนี้

2. ยาของคุณพ่อที่หมอให้มา แต่ละตัวมีประเด็นที่ควรรู้ดังนี้

2.1 Plavix (clopidogrel) เป็นยาต้านเกล็ดเลือดจับกันเป็นกลุ่ม เพื่อไม่ให้เลือดเป็นลิ่มไปอุดหลอดเลือด ยานี้ห้ามกินควบกับยา NSAID ที่คุณพ่อคุณเคยได้เด็ดขาดเพราะจะทำให้เลือดออกในท้อง ยานี้นิยมใช้ป้องกันหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและอัมพาตในคนเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งระยะมีความเสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป การจะใช้ยานี้ตลอดไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการจัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆลงได้สำเร็จ ก็เลิกใช้ยาได้ เพราะเป็นยาป้องกัน ไม่ใช่ยารักษา

2.2 Lipitor (atorvastatin) เป็นยาลดไขมัน ยานี้ทำให้ปวดเมื่อยตามตัวและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยไปเสาะหายา NSAID มาทานแก้ แล้วทำให้ไตพังจากยา NSAID แม้ว่ายาลดไขมันจะใช้เพื่อป้องกันโรค แต่หมอมักจ่ายยาแบบตลอดชีพ โดยเฉพาะถ้าคนเป็นโรคไตเรื้อรัง เพราะคนเป็นโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตทั่วโลกแนะนำให้รักษาระดับไขมันเลว (LDL) ไว้ต่ำกว่า 100 mg% ตลอดไป ซึ่งการจะให้ไขมันต่ำอยู่ที่ระดับนี้ มาตรการอาหารและการออกกำลังกายอย่างเดียวทำได้ยาก มักจำเป็นต้องใช้ยาช่วย

2.3 Diavan (valdsartan) เป็นยาลดความดันที่มีผลดีต่อไต ยาลดความดันจัดว่าเป็นยารักษาโรค คงจะต้องใช้ตลอดไป เพียงแต่หมออาจจะเปลี่ยนจากตัวโน้นไปหาตัวนี้บ้าง

2.4 hydro (HCTZ ) เป็นยาขับปัสสาวะซึ่งใช้รักษาความดันเลือดสูง คงต้องใช้ตลอดไปเช่นกัน

2.5 ezetrol (ezetimibe) เป็นยาลดไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ควบกับ Lipitor คงต้องให้ไปตลอดด้วยเหตุผลเดียวกับ Lipitor เว้นเสียแต่ว่ายานี้จะทำให้ตับพังเสียก่อน ซึ่งกรณีเช่นนั้นก็ต้องหยุดยา

2.6 concor (bisoprolol) เป็นยากั้นเบต้า ใช้รักษาความดันเลือดสูงและหัวใจขาดเลือด เป็นยาที่ดีและปลอดภัยมาก คงต้องใช้ตลอดไปเช่นกัน แต่การใช้ในคนแก่นานๆต้องระวังภาวะซึมเศร้าจากยา

ในภาพรวม คนที่มีปัญหาความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง การจะดูแลสุขภาพในเชิงการส่งเสริมสุขภาพ (โภชนาการ ออกกำลังกาย) จนเลิกยาได้หมดนั้น แม้ว่าจะเป็นไปได้ในกรณีของคนทั่วไป แต่กรณีคนเป็นโรคไตเรื้อรังนั้นอาจจะยากสักหน่อย แต่ก็ควรทำ อย่างน้อยก็จะได้ไม่ต้องใช้ยามาก

3. กรณีคุณแม่ อายุ 67 ปี น้ำหนัก 63 ก.ก. ส่วนสูง 155 ซ.ม. เท่ากับมีดัชนีมวลกาย 26 หรือน้ำหนักเกินอยู่ การตรวจพบแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจมาก ผมไม่รู้ว่ามากแค่ไหน ทีหลังให้บอกมาเป็น Agatston score จะดีกว่า สมมุติว่ามากกว่า 400 score ก็แล้วกัน ก็แสดงว่าหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งแล้ว หมายความว่ามีโอกาสที่โรคจะลุกลามไปถึงระดับหลอดเลือดหัวใจอุดต้นหรือหัวใจวายมีมากกว่าคนที่มีแคลเซียมน้อย

4. การทานแคลเซี่ยมเสริม ทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ข้อมูลงานวิจัยแบบเมตาอานาไลสีสซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMJ พบว่าแคลเซียมเสริมในสภาวะที่ไม่ได้เสริมวิตามินดีด้วย ทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น จากข้อมูลนี้ทำให้กลุ่มผู้นิยมทานแคลเซียมเสริมต้องชะงักไปพอควร คำแนะนำของผมก็คือควรหยุดท่านแคลเซียมเสริมแต่หันมาทานแคลเซียมจากแหล่งอาหารธรรมชาติแทน ถ้าจะใช้แคลเซียมเสริมควรเป็นชนิดที่เสริมวิตามินดีด้วย

5. การทานยาบำรุงเลือดจะทำให้ผลตรวจ stool accult blood เป็นผลบวกปลอมแน่นอน ผลตรวจนั้นจะนำมาตีความหายใดๆไม่ได้ครับ

6. ผลตรวจอัลตร้าซาวน์พบว่า มดลูก มีซีสต์ขนาด 0.9 ซ.ม. ไม่มีนัยสำคัญอะไรเลยครับ ไม่ต้องไปผ่าออก หรือไปตรวจละเอียดอะไรอีก คือมันเป็นธรรมชาติว่าเมื่อเราไปตรวจอุลตร้าซาวด์หมอก็ต้องอ่านว่าเห็นโน่นเห็นนี่เป็นธรรมดา แต่สิ่งที่เห็นเหล่านั้นไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรในแง่การคัดกรองโรคร้ายครับ

7. การตรวจสุขภาพเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ทำปีละครั้งก็มากพอแล้วครับ อย่าขยันไปตรวจมากกว่านั้นเลย ยกเว้นการรักษาโรคความดันและไขมันในเลือดสูงซึ่งหมออาจนัดตรวจเลือดเพื่อติดตามดูพิษของยาตามความจำเป็น ถ้าจะขยัน ขอให้ขยันลงมือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ในห้าประเด็น ซึ่งใช้ได้กับผู้สูงอายุทุกคน ดังนี้

7.1 ออกกำลังกายทุกวัน ยิ่งสูงอายุ ยิ่งต้องออกกำลังกายมาก โดยมีประเด็นสำคัญคือ (1) ผู้สูงอายุต้องออกกำลังกายให้ได้ทั้ง 3 แบบ คือแบบแอโรบิก แบบเล่นกล้าม และแบบยืดหยุ่นหรือเสริมการทรงตัว (2) การออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ทำจนถึงระดับเหนื่อยพอควร (เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ติดต่อกันไปอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง (3) การออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม ให้ทำสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำแต่ละครั้งต้องให้กล้ามเนื้อกลุ่มที่ให้ออกแรงได้ออกแรงซ้ำๆกันจนล้า

7.2 ปรับโภชนาการเพื่อ (1) ลดเกลือ จนเหลือระดับจืดสนิท (2) ลดแคลอรี่ส่วนเกินลง ด้วยการลดอาหารหวานแป้ง ข้าว ขนมปัง และอาหารมัน (3) เพิ่มผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 เสริฟวิ่ง (ผลไม้หนึ่งเสริฟวิ่งเทียบเท่าแอปเปิลหนึ่งลูก ผักหนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผักสลัดหนึ่งจาน)

7.3 จัดการความเครียดให้ดี นอนให้พอ ฝึกตามความคิดตัวเองให้ทันเพื่อดับความคิดที่เป็นลบไม่ให้ครอบครองจิตใจเรา ฝึกให้ร่างกายสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย ด้วยการฝึกสมาธิ มวยจีน โยคะ เป็นต้น

7.4 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ควรฉีดให้ครับ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี.ถ้ายังไม่มีภูมิ ถ้าอายุเกิน 65 ปีก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมเสียด้วย และทุกสิบปีควรฉีดวัคซีนกระตุ้นบาดทะยักหนึ่งครั้ง

7.5 ไปตรวจสุขภาพประจำปี ปีละครั้ง เมื่อตรวจแล้วต้องถามหมอจนได้ข้อสรุปว่ามีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอะไรบ้าง (individual health risk) และในปีนั้น ควรมีแผนจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนตัวอย่างไร (individual health plan)

ทำทั้งห้าอย่างนี้ได้ ก็จะมีสุขภาพดีมีอายุยืนแน่นอนครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010; DOI:10.1136/bmj.c3691.