Latest

บริจาคเลือดแล้วพบว่าเป็นพาหะไวรัสบี. หมอว่าไม่เป็นไร

1.ทราบว่าตนเองเป็นพาหะ HBsAG จากการบริจาคเลือดเมื่อ ธ.ค.2553 แต่ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แจ้งว่าหากไม่มีอการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา + มีภาวะโลหิตจาง (ธรรมดา) + ภูมิแพ้
2.หนูมีปัญหา คือ มาจัดฟันที่พญาไท 2 2.5 ปี จนเกือบจะได้รับการผ่าตัดขากรรไกร.และทราบจากเพื่อนที่ผ่านการผ่าตัดว่าต้องมีการใช้เลือด ซึ่งอาจจะมาจากการจองเลือดผู้อื่น หรือใช้เลือดจากการเก็บเลือดของตนเอง.. ในเคสนี้หนูจะใช้เลือดตัวเองได้ไหม ถ้าไม่ได้หนูจะหาทางรักษาพาหะดังกล่าวทันการผ่าตัดไหม
3. การผ่าตัดขากรรไกร..จำเป็นต้องใช้เลือดจริงๆ หรือเปล่า เพราะหากมองผิวเผินการผ่าตัดเคสนี้..ไม่น่าจะต้องใช้น่ะค่ะ
*กราบขอบคุณนะคะ..โดยส่วนตัวไม่ค่อยกล้าที่จะคุยเจาะจงกับคุณหมอผ่าตัด..เพราะเคยพอกันก่อนหน้าการจัดฟันค่ะ

จจ.
……………………………………….

ตอบครับ

1. การเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี. สามารถถ่ายเลือดให้ตัวเอง (autotransfusion) ได้ครับ ดีกว่าการรับเลือดจากคนอื่น เพราะการรับเลือดจากคนอื่นมีความเสี่ยงที่จะได้ไวรัสตับอักเสบซี.แถมมา อย่างไรก็ตามถ้าจำเป็นคุณก็สามารถรับเลือดจากคนอื่นก็ได้ ดังนั้นการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี.จึงไม่ต้องเลื่อนแผนการผ่าตัดของคุณ

2. การผ่าตัดขากรรไกรล่าง ปกติไม่ต้องใช้เลือด แต่โดยหลักความปลอดภัย หมอต้องเตรียมเลือดไว้ให้พร้อม เผื่อมีเหตุการณ์นอกเหนือปกติที่ทำให้เลือดออกมาก การเตรียมการเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา

3. การที่คุณไปบริจาคเลือดแล้ว blood bank ตรวจพบ HBsAg ได้ผลบวก แล้วแนะนำว่าถ้าไม่มีอาการอ่อนเพลียตัวเหลืองตาเหลืองไม่ต้องรักษา เป็นการให้ข้อมูลที่ผมคิดว่าสั้นเกินไป ถ้าคุณอยากทราบตื้นลึกหนาบางเรื่องนี้อย่างละเอียด ผมจะเล่าให้ฟัง คุณต้องตั้งใจอ่านอย่างมากนะ

การตรวจพบ HBsAg ได้ผลบวก แปลว่าคุณมีเชื้อไวรัสบี.อยู่ในตัว แปลว่าคุณเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี. ซึ่งมีประเด็นที่คุณควรทราบดังนี้

ประเด็นที่ 1. ระยะของโรค คือโรคนี้มี 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1. ระยะยังไม่รู้จักกัน (immune tolerance phase) หมายความว่าร่างกายยังไม่รู้จักเชื้อ ไม่รู้ว่านี่คือศัตรู จึงปล่อยให้อาศัยอยู่ได้อิสระ

ระยะที่ 2. รู้จักกันและเริ่มทำสงคราม (immune active หรือ immune clearance phase) เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มรู้จักไวรัส และเม็ดเลือดขาวจับกินไวรัส ขณะเดียวกันไวรัสส่วนหนึ่งก็อาศัยเม็ดเลือดขาวเป็นสถานที่ก๊อปปี้เพิ่มจำนวนตัวเอง เป็นการสู้กัน มีความเสียหายต่อเซลตับ มีการอักเสบ มีอ่อนเพลียตัวเหลืองตาเหลือง

ระยะที่ 3. สงบศึกและยอมให้ไวรัสอยู่ (inactive chronic carrier phase) คือสู้กันไม่รู้แพ้ชนะ แต่พออยู่กันอย่างสงบได้ ไวรัสลดจำนวนลงไปมาก แต่ยังมีอยู่ในตัว ร่างกายก็ไม่ได้โถมปราบปรามแล้ว

ประเด็นที่ 2. คุณควรทำอย่างไรต่อไปดี คือเป้าหมายของการรักษาโรคนี้คือการป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งตับ เนื่องจากมะเร็งตับเป็นผลสืบเนื่องจากตับแข็ง ตับแข็งเป็นผลสืบเนื่องจากพังผืดแทรกตับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเซลตับเสียหาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดตับอักเสบตัวเหลืองตาเหลือง การป้องกันมะเร็งตับจึงมุ่งที่พยายามไม่ให้เกิดตับอักเสบขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นคนที่เป็นโรคแน่นอนแล้วอย่างคุณนี้ ต้องไปหาหมอโรคตับ เพื่อเจาะเลือดอย่างละเอียดแล้วสรุปให้ได้ว่าโรคอยู่ในระยะไหน เพราะแต่ละระยะก็มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดตับอักเสบแตกต่างกันไป แต่ถ้ารอให้มีตัวเหลืองตาเหลืองก่อนค่อยไปหาหมอ นั่นก็หมายความว่าตับอักเสบเกิดขึ้นแล้ว ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่นำไปสู่มะเร็งตับก็ยั้งไม่อยู่แล้ว พูดง่ายๆว่ารอไปหาหมอตอนโน้นก็สายเกินไป
ผมเดาว่าวัยคุณยังไม่มาก (จากการที่คุณจะไปเหลากรามอะไรนั่น) จึงมีความเป็นไปได้ที่โรคของคุณจะอยู่ในระยะที่ร่างกายยังไม่รู้จักเชื้อ (immune tolerance) เพราะหากคุณติดมาจากแม่ตั้งแต่สมัยคุณอยู่ในท้อง ร่างกายจะนึกว่าไวรัสนี่ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม นึกว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงอยู่กันมาได้ตั้งนานหลายสิบปีโดยไม่ได้กำจัด และปล่อยให้ไวรัสแบ่งตัวเพ่นพ่านเต็มไปหมด แต่โดยพฤติกรรมของไวรัส วันหนึ่งร่างกายต้องรู้จักว่านี่เป็นสิ่งแปลกปลอม และวันนั้นสงครามต้องเกิดขึ้น ซึ่งสงครามเกิดเมื่อไร ตับก็พังเมื่อนั้น รอแต่ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่หมอจะป้องกันได้ด้วยการเลือกจังหวะใช้ยาต้านไวรัสและใช้ยาช่วยลดการอักเสบเสียหายที่ตับ ดังนั้นคำแนะนำก็คือคุณควรไปติดตามการรักษากับหมอโรคตับอย่างต่อเนื่อง ต้องเป็นหมอโรคตับ (hepatologist) นะ จึงจะพูดกันรู้เรื่อง เพราะบ่อยครั้งที่อย่าว่าแต่หมออายุรกรรม (intertnist) เลย แม้แต่หมอโรคทางเดินอาหาร (gastroenterologist) บางท่านก็ยังตามเรื่องวิธีรักษาไวรัสตับอักเสบบีไม่ทัน เพราะโรคไวรัสตับอักเสบบี.แบบเรื้อรังเป็นโรคทันสมัย มีข้อมูลใหม่ออกมาตลอดเวลา

ประเด็นที่ 3. ถ้าคุณไปหาหมอโรคตับ เขาจะทำอะไรกับคุณบ้าง เขาจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเพียบ เช่นเจาะเลือดดู

-HBeAg (โปรตีนจากตัวไวรัสที่กำลังแบ่งตัว) เพื่อดูว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างระเบิดเถิดเทิงอยู่ในตัวคุณหรือเปล่า ถ้ามีก็แย่หน่อย

-Anti HBe (ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อไวรัสที่กำลังแบ่งตัว) เพื่อดูว่าร่างกายเริ่มรู้สึกรู้สมหรือยังว่ามีไวรัสเข้ามานะ ถ้าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อยีนไวรัสแล้ว ก็จะเบาใจได้ว่าปลายทางสงครามนี้ร่างกายน่าจะเป็นฝ่ายชนะ

-Anti HAV (ภูมิคุ้มกันตับอักเสบเอ.) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไวรัสบี. ไม่ได้เป็นญาติกันด้วย แต่ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญว่าควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอ.ก่อนไหม ดีกว่ารอให้ไวรัสสองชนิดสองแรงแข็งขันรุมยำตับเราให้เละ

-Anti HCV (ภูมิคุ้มกันเชื้อตับอักเสบซี) เพื่อให้แน่ใจว่างานนี้เป็นงานของบี. อย่างเดียว ซีไม่เกี่ยว ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสซี. แต่ความรู้นี้ก็ช่วยให้เราระวังไม่รับการถ่ายเลือดซี้ซั้วเพื่อป้องกันไวรัสซี.ที่จะมากับการถ่ายเลือดได้

-HBV-DNA (คือตัวไวรัสตัวเป็นๆ) ว่ามีอยู่ในตัวกี่แสนกี่ล้านก๊อปปี้ ถ้ามีมากก็ปราบยากหน่อย

-SGOT/SGPT (คือเอ็นไซม์ของตับ) เพื่อดูว่ามีภาวะตับอักเสบอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าตับอักเสบไม่มาก ดูภายนอกไม่มีอาการ แต่มีเอ็นไซม์ของตับออกมาในเลือดแล้ว แสดงว่าสงครามเกิดแล้ว หมอจะได้เข้าไปแทรกแซงได้ทัน

-Liver biopsy (คือการเอาเข็มจิ้มตับเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ) ปกติหมอจะไม่ทำ ยกเว้นข้อมูลอื่นๆชวนให้สงสัยว่าตับอักเสบเกิดขึ้นแล้วแต่พิสูจน์ไม่ได้ จึงจะทำ

ประเด็นที่ 4. การป้องกันโรคนี้ในหมู่คนใกล้ชิดคุณ คุณต้องเอาสามีและลูก (ถ้ามี) มาตรวจเลือดดูสถานะของโรคนี้ให้หมดทุกคน คือตรวจ HBsAg (ตัวเชื้อไวรัสบี) และ HBsAb (ภูมิคุ้มกันไวรัสบี) ถ้าไม่มีเชื้อ และยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็จับฉีดวัคซีนให้หมด ถ้ามีเชื้อแต่ไม่มีภูมิก็เหมือนคุณ ควรพาไปหาหมอพร้อมกับคุณเสียเลย

ประเด็นที่ 5. คุณควรเตรียมพร้อมฟูมฟักภูมิต้านทานของร่างกายคุณไว้ให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายให้หนักพอและสม่ำเสมอ กินอาหารถูกส่วนซึ่งต้องหนักไปทางผักและผลไม้ และจัดการความเครียดทางใจให้ดี เพราะเมื่อวันทำสงครามที่สมรภูมิตับมาถึง ไม่มีอะไรช่วยคุณได้มากเท่าภูมิต้านทานของร่างกายตามธรรมชาติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Keeffe EB, Dieterich DT, Han SH, et al. A treatment algorithm for the management of chronic hepatitis B virus infection in the United States: an update. Clin Gastroenterol Hepatol. Aug 2006;4(8):936-62.