Latest

กระเทียมกับโคเลสเตอรอล..อย่าให้เขาหลอก

ดิฉันไปตรวจสุขภาพมา ผลคือ คอเลสเตอรอลสูงถึง 220 ค่ะ ได้ยินเพื่อนพูดกันว่า ถ้าทานน้ำมันกระเทียมจะทำให้ลดลงได้ จริงหรือไม่คะ ขอคำยืนยันก่อนจะเริ่มกินน่ะค่ะ

…………………………….

ตอบครับ

1. เอาประเด็นโคเลสเตอรอลก่อนนะ มาถึงสมัยนี้แล้ว ถ้ามีข้อมูลเพียงแต่ว่าโคเลสเตอรอล 220 ถือว่าเป็นข้อมูลที่น้อยเกินไป เพราะค่าโคเลสเตอรอลเป็นผลบวกของไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าส่วนของไตรกลีเซอไรด์ สมมุติว่าคุณเป็นยอดหญิงนักกีฬาซึ่งตรวจเลือดพบว่า

Cholesterol 220 mg/dl
HDL 95 mg/dl
LDL 99 mg/dl
Triglyceride 130 mg/dl

นี่แสดงว่าสุขภาพของคุณดีวิเศษมากเลยนะ ทั้งๆที่โคเลสเตอรอล 220 mg/dl เนี่ยถ้าเรามองตรงค่านี้อย่างเดียวก็นึกว่าสูงเกินพอดี ดังนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพอย่าโดนคณิตศาสตร์ของไขมันมันหลอกเอา ให้มุ่งไปที่ไขมัน LDL คุณเท่าไร มากกว่าที่จะมุ่งไปที่ค่าโคเลสเตอรอลรวมคุณเท่าไร จะดีกว่า

2. ทีนี้มาประเด็นที่ว่ากระเทียมลดโคเลสเตอรอลได้จริงหรือไม่ การจะไม่ถูกใครเขาต้มเอาเงินคุณในเรื่องนี้คุณต้องเข้าใจว่าความรู้เรื่องนี้มีพัฒนาการมาสองยุค

2.1 ยุคแรก เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1993 คือสิบแปดปีมาแล้ว ในยุคนั้นการวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนมาเปรียบเทียบกันโดยไม่ได้สุ่มตัวอย่าง พบว่าการกินกระเทียมอัดเม็ดขนาดเทียบเท่ากระเทียมสด 1.5 – 3 กรัมต่อวัน มีผลลดไขมัน LDL ในเลือดได้ประมาณ 9%

2.2 ยุคหลัง คือประมาณปี ค.ศ. 1998 คือสิบสามปีมาแล้ว ได้มีการทำวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนกินกระเทียมอัดเม็ดกับไม่กินแล้วเอาผลมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งเป็นหลักฐานการวิจัยที่ดีกว่ายุคแรก พบว่าการรับประทานกระเทียมเสริมดังกล่าวไม่มีผลต่อระดับโคเลสเตอรอล

ผู้คนต่างก็เลือกเอาผลวิจัยทั้งสองยุคนี้ไปหากินเพื่อผลประโยชน์ของตน พวกทำกระเทียมอัดแคปซูลขายก็จะพูดถึงแต่ผลวิจัยยุคแรกลูกเดียว ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้นต้องเชื่อตามผลวิจัยยุคหลังเพราะเป็นหลักฐานที่ดีกว่า ดังนั้นสรุปคำแนะนำของผมก็คืออย่าไปเสียเงินซื้อน้ำมันกระเทียมหรือกระเทียมอัดเม็ดทานเลยครับ จะถูกเขาหลอกเอาเงินเปล่าๆ เอาแค่กระเทียมในส้มตำและอาหารไทยๆก็พอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Warshafsky S, Kamer RS, Sivak SL. Effect of garlic on total serum cholesterol: a meta-analysis. Ann Intern Med. 1993;119: 599-605.
2. Jaini AK, Vargas R, Gotzkowsky S, et al. Can garlic reduce level of serum lipids? A controlled clinical study. Am J Med 1993;94:632-5.
3. Silagy C, Neil A. Garlic as a lipid lowering agent – a meta-analysis. J R Coll Physician London 1994;28:39-45.
4. Isaacsohn JL, Moser M, Stein EA, et al. Garlic powder and plasma lipids and lipoproteins. A multicenter, randomized, placebo-controlled trial. Arch Intern Med 1998;158:1189-94.
5. Berthold HK, Sudhop T, von Bergman K. Effect of garlic oil preparation on serum lipoproteins and cholesterol metabolism. JAMA 1998;279:1900-2.