Latest

นพ.สันต์ให้สัมภาษณ์ไทยทีวี.เรื่องคนเป็นเบาหวานควรใช้ชีวิตอย่างไร

พิธีกร: ผู้ป่วยเบาหวานมีความเครียดอะไรต่างจากคนธรรมดาไหมคะ

นพ.สันต์: เป็นความเครียดจากความไม่รู้จริงมากกว่า นี่ก็ทานไม่ได้ นั่นก็ทำไม่ได้ เรียกว่าจะกินอะไรจะทำอะไรก็ดูจะทำให้ป่วยมากขึ้นไปเสียหมด ทั้งที่ถ้ารู้ความจริงในสามประเด็นหลักคือ (1) การออกกำลังกาย (2) โภชนาการ (3) การพักผ่อนและจัดการความเครียด คนเป็นเบาหวานก็จะมีชีวิตที่มีคุณภาพได้

พิธีกร: การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีอะไรเป็นพิเศษไหมคะ

นพ.สันต์: คือชีวิตที่จะมีคุณภาพ มันต้องมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มีกิจกรรมให้ร่างกายได้ออกแรง คือต้องออกกำลังกาย การออกกำลังกายนี่เป็นทั้งวัคซีนป้องกันโรคเบาหวาน และเป็นทั้งยารักษาโรคเบาหวานด้วย การออกกำลังกายสำหรับคนเป็นเบาหวานต้องเน้นการออกกำลังกายสองแบบควบกัน คือ

แบบที่หนึ่ง คือการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ หรือการเล่นกล้ามนั่นเอง ฟังแล้วอาจจะงงว่าทำไมจะให้คนเฒ่าคนเถิบมาเล่นกล้าม แต่งานวิจัยใหญ่ทุกงานล้วนให้ผลตรงกันว่าการเล่นกล้ามทำให้มีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เพราะกล้ามเนื้อเป็นอวัยวะหลักที่จะใช้น้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็นเบาหวานแฝง การเล่นกล้ามลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่ายาเบาหวานเสียอีก สมาคมเบาหวานอเมริกันถึงกับออกคำแนะนำให้คนเป็นเบาหวานทุกคนเล่นกล้ามด้วยการยกดัมเบลทุกวัน หลักการเล่นกล้ามก็คือว่าเราทำให้กล้ามเนื้อได้ออกกำลังกายหนักๆซ้ำๆจนล้า แล้วก็พักไปสักวันแล้วก็กลับมาให้ออกแรงหนักๆซ้ำจนล้าใหม่ อย่างเช่นถ้าจะยกดัมเบล ก็ต้องเลือกดัมเบลที่หนักได้ที่ เวลายกเนี่ยต้องให้หนักจนร่างกายแทบจะสั่นเทิ้มเลยละ ยกได้สักสิบครั้งก็แขนและไหล่ล้าหมดแรงพอดี ถ้ายกไปสักสิบครั้งก็ยังมีแรงยกอยู่แสดงว่าน้ำหนักหรือแรงต้านไม่พอ ต้องเพิ่มน้ำหนักดัมเบลให้หนักยิ่งขึ้นอีก การเล่นกล้ามนี่อาจไม่ใช้อุปกรณ์อะไรเลยก็ได้ เช่นผมใช้ท่านั่งยองๆแล้วค่อยๆลุกขึ้นโดยให้หลังตรงและตรงตามองเห็นเท้าตัวเองอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ค่อยๆขึ้นช้าๆ ลงช้าๆ อย่างนี้ ก็เป็นการเล่นกล้ามเนื้อขาที่ดีมาก ใหม่ๆอาจทำได้ครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ล้า แต่หัดไปบ่อยๆก็จะทำได้เป็นสิบๆครั้ง การเล่นกล้ามนี้ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งเป็นอย่างน้อย

การออกกำลังกายแบบที่สองซึ่งต้องทำควบไปกับการเล่นกล้ามก็คือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่าแบบแอโรบิก เช่นเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง จักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายแบบนี้มีประโยชน์กับระบบหัวและหลอดเลือดซึ่งเป็นระบบที่มักจะป่วยก่อนระบบอื่นและมักเป็นสาเหตุการตายของคนเป็นโรคเบาหวาน การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนี้มีประเด็นสำคัญอยู่สามประเด็น คือ

(1) ต้องให้ถึงระดับหนักพอควร ซึ่งนิยามว่าต้องเหนื่อยหอบจนร้องเพลงไม่ได้ ถ้าออกไปแล้วยังร้องเพลงได้นี่แสดงว่ายังไม่ถึงระดับหนักพอควร
(2) เมื่อหนักพอควรแล้ว ต้องให้หนักพอควรต่อเนื่องกันไป 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
(3) ต้องทำให้สม่ำเสมอ คือสัปดาห์หนึ่งต้องออกอย่างน้อย 5 ครั้ง ทำทุกวันได้ยิ่งดี

พิธีกร: การออกกำลังกายนี่ถึงขั้นรักษาโรคเบาหวานได้เลยไหมคะ

นพ.สันต์: ได้แน่นอนครับ มีงานวิจัยมากมายพิสูจน์ไว้แล้ว การออกกำลังกายเป็นวิธีรักษาโรคเบาหวานโดยตรงและเป็นวิธีที่ดีที่สุดด้วย เพื่อนผมซึ่งเป็นหมอฝรั่งเล่าให้ฟังว่าคนไข้ของเขาคนหนึ่งเป็นเบาหวานจนตามัวมองอะไรไม่ค่อยเห็น ต้องไปใช้บริการหมานำทางของมูลนิธิคนตาบอด เมื่อได้หมามาก็ต้องพาหมาไปออกกำลังกายเพราะเป็นข้อกำหนดของมูลนิธิว่าต้องดูแลหมาของเขาอย่างไร ปรากฏว่าการได้ออกกำลังกายกับหมาทุกวันทให้เบาหวานดีขึ้นๆจนเลิกยาได้ และในที่สุดการมองเห็นก็ดีพอจนไม่ต้องใช้หมา คราวนี้เลยไปซื้อหมาของตัวเองมาเลี้ยงเลย จะได้มีเพื่อนออกกำลังกายทุกวัน

พิธีกร: แล้วโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานละคะ

นพ.สันต์: งานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานคืองานวิจัยของฟินแลนด์ ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับกันไปทั่วโลกว่าโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานควรมี 3 ประเด็นคือ (1) ต้องลดแคลอรี่ลงจนลดน้ำหนักได้สัก 5% (2) ต้องจำกัดไขมัน (3) ต้องเพิ่มอาหารกาก

ในประเด็นแคลอรี่นี้ ความจริงถ้าพูดว่าควรรักษาดุลของแคลอรี่ให้เป็นลบไว้ตลอดจะเหมาะกว่า คือพลังงานหรือแคลอรี่นี้เข้ามาทางอาหาร แต่ก็ออกไปทางการเผาผลาญด้วยการออกกำลังกาย คนเป็นเบาหวานมีแคลอรี่เข้ามากกว่าแคลอรี่ออก จึงต้องรู้ว่าเราเผาผลาญแคลอรี่ได้วันละเท่าไร อย่างเช่นผู้หญิงไทยรูปร่างสวยขนาดคุณแอนนี้ หากเป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมอถึงขั้นหอบแฮ่กๆทุกวัน จะต้องการแคลอรี่เพียงแค่ 1,200 แคลอรี่ต่อวันเท่านั้นเอง ถ้าเป็นคนนั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าทีวีไม่ได้ออกแรงก็ยิ่งต้องการแคลอรี่น้อยกว่านี้อีก ขณะเดียวกันก็ควรรู้ด้วยว่าอาหารอะไรให้แคลอรี่เท่าไร อาหารไทยที่ทำขายกันเป็นอาหารที่ให้แคลอรี่สูงมาก เช่นเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหนึ่งจานให้ถึง 635 แคลอรี่ ดังนั้นการจะรักษาดุลของแคลอรี่ให้เป็นลบ คือเข้าน้อยกว่าออกได้นี้ ต้องหัดนับแคลอรี่ในอาหารด้วยจึงจะสำเร็จ

พิธีกร: จะให้นับแคลอรี่เลยเหรอ มันเป็นเรื่องยากเกินไปหรือเปล่าคะ หลายคนคงจะส่ายหัวว่าทำไม่ได้แน่ๆ

นพ.สันต์: ถ้าเห็นว่านับแคลอรี่มันยากหรือหยุมหยิมเกินไป ก็ใช้วิธีดูตาชั่งก็ได้ครับ คือในงานวิจัยฟินแลนด์นั้นเขามุ่งให้ปรับอาหารและออกกำลังกายจน้ำหนักลดได้ 5% ของน้ำหนักเดิม ถ้าไม่อยากนับแคลอรี่ให้ละเอียดก็ต้องขยันชั่งน้ำหนักตัวเองบ่อยๆแทน เป้าหมายคือเอาลง 5% ก็จะไปบรรลุที่ปลายทางเดียวกัน

พิธีกร: ในเรื่องไขมัน มันมีไขมันดี ไขมันเลว จะเลือกทานอย่างไรคะ

นพ.สันต์: เรื่องไขมันมีสองประเด็นนะ คือ (1) ไขมันในฐานะอาหารให้พลังงาน และ (2) ไขมันแบบไหนดีแบบไหนไม่ดี ในประเด็นแรก ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารไขมันก็ล้วนให้พลังงานมากทั้งสิ้นและต้องจำกัดปริมาณโดยรวม ไม่ว่าไขมันดีหรือไขมันไม่ดี คือคนไทยพอเป็นเบาหวานก็คิดว่าต้องเลิกทานของหวาน เพราะมันมีคำว่าหวานเหมือนกัน ทั้งๆที่ศัตรูคนเป็นเบาหวานที่แท้จริงคือแคลอรี่ ตัวที่ให้แคลอรี่สูงสุดคืออาหารไขมัน เพราะหนึ่งกรัมให้ถึง 9 แคลอรี่ ขณะที่น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตอื่นๆหนึ่งกรัมให้ 4 แคลอรี่เท่านั้น ดังนั้นอาหารไขมันจึงเป็นอะไรที่คนเป็นเบาหวานควรลดให้มากที่สุด ไม่ใช้ไปกลัวของหวานจนสติแตกเลยหันมาทานของมันแทน อย่างนี้ยิ่งแย่

ในประเด็นไขมันดีไขมันเลว ต้องแบ่งก่อนนะว่าเป็นสองเรื่อง คือเรื่องไขมันในเลือดเรื่องหนึ่ง เรื่องไขมันในอาหารอีกเรื่องหนึ่ง ไขมันในเลือด ไขมันดีหรือ HDL จะได้มาจากการออกกำลังกาย ส่วนไขมันเลวได้มาจากการทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันผงและไขมันอิ่มตัว เอาละทีนี้ตามมาดูไขมันในอาหาร พวกที่จัดว่าเลวก่อน ที่เลวที่สุดก็คือไขมันผง หรือ solid fat หรือภาษาวิชาการเรียกว่า trans fat ที่ใช้ทำอาหารสำเร็จรูป เช่นเนยเทียม ครีมเทียมใส่กาแฟหรือคอฟฟี่เมท เค้ก คุ้กกี้ ไอศครีม พวกนี้ใช้ trans fat หมด ซึ่งทานเข้าไปแล้วไปเพิ่ม LDL ในเลือด และไม่ดีมากๆ ที่ไม่ดีรองลงมาคือไขมันอิ่มตัว เช่นน้ำมันหมู น้ำมันปาลม์ เพราะเพิ่ม LDL ในเลือดเช่นกัน ดังนั้นหากแม้นเลือกได้ก็ต้องลด trans fat และไขมันอิ่มตัวในอาหารลง ไปใช้ไขมันไม่อิ่มตัวเช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันรำ น้ำมันถั่วเหลือง ในการเตรียมอาหารแทน

พิธีกร: แล้วอาหารกากนี่ หมายถึงธัญพืชหรือเปล่าคะ

นพ.สันต์: อาหารกากได้มาจากพืชเท่านั้น ทั้งธัญพืช ผัก และผลไม้ ถ้าเป็นธัญพืชก็ต้องเป็นธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่นข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น ผักและผลไม้ทุกชนิดมีกากมากน้อยต่างกันไป ดังนั้นคนเป็นเบาหวานต้องทานผักและผลไม้ให้มาก ต้องทานผักผลไม้ให้ได้ถึงวันละ 5 เสริฟวิ่ง อย่างผลไม้ลูกเขื่องๆเช่นแอปเปิลนี้ หนึ่งลูกเท่ากับหนึ่งเสริฟวิ่ง ผักสลัดสดหนึ่งจานนี้เท่ากับหนึ่งเสิรฟวิ่ง ต้องทานผักและผลไม้รวมกันให้ได้วันละ 5 เสริฟวิ่ง คือต้องทานกันเป็นวัวเลย ถ้ามันแยะเหลือเกินทานไม่ไหว เคี้ยวไม่ไหว โดยเฉพาะคนอายุมาก ก็ใช้เครื่องปั่นความเร็วสูงปั่นเป็นน้ำแล้วดื่มก็ได้ ต้องดื่มเข้าไปทั้งหมดรวมทั้งกากด้วยนะครับ ถ้าใช้เครื่องปั่นที่ความเร็วสูงเกินหมื่นรอบต่อนาทีขึ้นไป กากมันจะละเอียดจนดื่มได้โดยไม่สากคอ

พิธีกร: แต่คนเป็นเบาหวานก็กลัวผลไม้ที่รสหวาน ก็คงต้องเลือกทานด้วยใช่ไหมคะ

นพ.สันต์: อันนี้ต้องปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ คนเราอย่างไรเสียก็ต้องทานคาร์โบไฮเดรตจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว จะเป็นน้ำตาล เป็นแป้ง เป็นธัญพืชก็แล้วแต่ ประเด็นคือเราควรจะเลือกทานคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งใดดีที่สุด ในบรรดาอาหารที่ให้น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรต ผักและผลไม้จัดเป็นแหล่งที่มีคุณประโยชน์สูงสุด เพราะให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ และกาก ซึ่งจำเป็นต่อคนเป็นเบาหวาน ดังนั้นการทานคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลในผักและผลไม้ย่อมดีกว่าไปทานคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลที่ใส่เข้าไปในเครื่องดื่ม หรือที่เรียกว่า added sugar เพราะเมืองไทยนี้เครื่องดื่มทุกชนิดล้วนใส่น้ำตาลกันแบบเต็มแม็ก รวมทั้งเครื่องดื่มที่อ้างว่าเพื่อสุขภาพเช่นชาเขียว น้ำผลไม้ ก็ใส่น้ำตาลกันแบบนับสิบกรัมต่อแก้วขึ้นไป ดังนั้นจงกลัวน้ำตาลในเครื่องดื่ม ในขนมหวานที่ทำจากแป้งและธัญพืช แต่อย่ากลัวน้ำตาลในผักผลไม้ ให้ถือหลักว่าถ้าความหวานนั้นมาทางผักและผลไม้ก็ทานเข้าไปเถอะ อย่าไปตั้งข้อจำกัดว่านี่ทานได้นั่นทานไม่ได้เลย แต่ให้ไปจำกัดความหวานที่มาจากทางขนมหวานน้ำหวานหรือแม้กระทั่งข้าวและแป้งอย่างเข้มงวดแทน

พิธีกร: ในส่วนของการพักผ่อนและความเครียด คุณหมอมีอะไรจะพูดถึงไหมคะ

นพ.สันต์: คือเบาหวานเป็นโรคที่ต้องอาศัยกลไกการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะทำงานเพี้ยนไปถ้าร่างกายมีความเครียดหรือร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ เอาตั้งแต่การนอนก่อน ต้องมีเวลานอนให้พอ คือไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง นอกจากนั้นต้องจัดการความเครียดในชีวิตให้ดี ต้องเปิดโอกาสให้ร่างกายได้มีการสนองตอบแบบผ่อนคลาย คือชีวิตปกติร่างกายมีแต่โอกาสที่จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบเครียดหรือแบบสู้หรือหนีเป็นประจำ ทำให้ความดันขึ้น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เป็นต้น จึงต้องหาอะไรที่ให้ร่างกายได้มีโอกาสสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลายทำบ้าง ซึ่งจะทำให้ความดันลดลง หัวใจเต้นช้าลง หายใจช้าลง เช่นการนั่งสมาธิ การทำโยคะ การรำมวยจีน การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้ร่างกายมีการสนองตอบแบบผ่อนคลาย จึงควรทำบ่อยๆ หาเวลาทำทุกวันได้ยิ่งดี

พิธีกร: ในแง่ของการป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวานละคะ

นพ.สันต์: คนเป็นเบาหวานปกติก็ต้องไปหาหมอสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือบางทีหมอหรือระบบการดูแลเองมักจะไปมุ่งที่การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยาให้สำเร็จ จนเผลอลืมไปว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการรักษาเบาหวานไป เพราะคนเป็นเบาหวานไม่ได้เสียชีวิตหรือทุพลภาพเพราะเบาหวาน แต่เสียชีวิตและทุพลภาพเพราะภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือ
1. อวัยวะปลายทางที่มักได้รับผลเสียจากเบาหวานมีสี่อวัยวะหลักคือ ตา ไต หัวใจ และเท้า
2. ปัญหาการติดเชื้อง่าย

ดังนั้นคนเป็นเบาหวานต้องทำตารางประจำปีของตัวเองไว้เลย ว่าทุกปีต้องได้รับการประเมินอวัยวะทั้งสี่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง คือ

1. ทางด้านตาก็ต้องได้รับการส่องตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งสมัยนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องหยอดยาขยายม่านตาแล้วเมาหัววิงเวียนไปครึ่งค่อนวันเหมือนสมัยก่อน ถ้าพบรอยโรคเล็กๆน้อยก็จะได้ใช้เลเซอร์ยิงรักษาเสียก่อนที่มันจะลุกลามเป็นมาก

2. ทางด้านไตนั้นก็ต้องอาศัยการตรวจเลือดซึ่งหมอมักตรวจพร้อมกับการตรวจน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว ตัวผลเลือดที่ใช้บอกการทำงานของไตนี้เรียกว่า GFR ซึ่งแปลว่าอัตราที่เลือดไหลผ่านตัวกรองของไต ค่า GFR นี้จะทำให้เราบอกตัวเราเองได้ว่าไตยังดีอยู่ไหม ถ้าเริ่มเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วเป็นระยะไหน จาก 5 ระยะ ทุกปีเราต้องรู้ว่าค่า GFR ของเราได้กี่ซีซี. คนปกติจะได้มากเกิน 90 ซีซี. ถ้าได้น้อยกว่า 60 ซีซี.ก็แสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 แล้ว ต้องไปหาหมอไต ถ้าได้น้อยกว่า 30 ซีซี. ก็เป็นระยะที่สี่ ถ้าได้น้อยกว่า 15 ซีซี.ก็เป็นระยะที่ห้า คือต้องล้างไต มันเป็นธรรมชาติที่ค่า GFR จะลดลงทุกปี แต่ถ้าลงเร็วกว่าปีละ 5 ซี.ซี. ก็เรียกว่ามันลดลงเร็วเกินไป ทางสมาคมแพทย์โรคไตเขาแนะนำว่าต้องไปหารือกับหมอไตเพื่อดูว่ามันเป็นเพราะอะไร

3. ทางด้านหัวใจ เราเฝ้าระวังที่สามจุด

-จุดที่หนึ่งก็คือระดับไขมันในเลือด โดยเฉพาะไขมันเลว หรือ LDL ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปเขาอาจยอมให้ LDL สูงได้ถึง 190 โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ในคนเป็นเบาหวานนี้ถ้าสูงเกิน 100 แพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้ยาลดไขมันแล้ว ดังนั้นเราต้องทราบว่าไขมัน LDL ของเราอยู่ที่เท่าไร ต้องปรับโภชนาการอีกไหม ต้องทานยาลดไขมันหรือยัง

-จุดที่สองคือความดันเลือด ซึ่งต้องไม่ให้สูงเกิน 140/90 ต้องจำความดันเลือดของเราได้

-จุดที่สาม คือการประเมินตัวหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีสองวิธี วิธีที่ดีที่สุดที่ผมแนะนำมากคือการใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ดูปริมาณของแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจหรือ CAC วิธีนี้มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจดีมาก และให้ข้อมูลตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น คนเป็นเบาหวานทุกคนควรได้รับการประเมินหลอดเลือดหัวใจอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง วิธีประเมินที่ดีรองลงมาคือการวิ่งสายพานให้เหนื่อยแล้วดูว่าหัวใจมีอาการขาดเลือดหรือไม่ เรียกว่าทำ EST ซึ่งการประเมินแบบวิ่งสายพานนี้ ผมแนะนำว่าให้ออกกำลังกายอยู่ประจำ การออกกำลังกายนั่นแหละเป็นการทำ EST ถ้าออกกำลังกายได้หนักพอควรจนเหนื่อยแฮ่กๆได้โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ก็แสดงว่ายังไม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึงขั้นมีอาการ คือเท่ากับตรวจ EST ได้ผลลบอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตรวจ EST ที่โรงพยาบาลอีก

4. ทางด้านเท้า ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการฝึกสอนให้ดูแลเท้าตัวเองอย่างถูกวิธี ฝึกสติเวลาเดินไปมาและขึ้นลงบันไดเพื่อไม่ให้สะดุดอะไรจนเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เลือกรองเท้าที่นุ่มและพอดีเท้า และกรณีที่เป็นผู้สูงอายุที่หูตาชักจะฝ้าฟางแล้ว ควรได้รับการตรวจประเมินเท้าทุกปี

ส่วนปัญหาการติดเชื้อง่ายนั้น คนเป็นเบาหวานควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ให้ครบ เช่นทุกปีต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุกสิบปีต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบาดทะยักหนึ่งครั้ง และพออายุ 65 ปีก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมหนึ่งเข็ม ทั้งหมดนี้จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่ป้องกันได้

พิธีกร: ท่านผู้ชมคะ จะเห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานต้องพึ่งสามอ.เหมือนกันนะคะ คืออ.อออกกำลังกาย อ.อาหาร และอ.อารมณ์หรือการพักผ่อน ดิฉันต้องขอขอบคุณท่านวิทยากรของเราในวันนี้ นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นอย่างมากค่ะ ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

นพ.สันต์: คือเบาหวาน