Latest

ลูกติดเกม จะเป็นโรคจิตไหม

ลูกชายดิฉันอายุ 20 ปี เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ตั้งแต่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็เอาแต่เล่นเกมส์ มีเครื่องอยู่ในห้อง ไม่หลับไม่นอน ไปเรียนหนังสือก็หลับในห้อง การเรียนกตกจนต้องซ้ำหลายวิชาและดูท่าคงจะเรียนไม่จบ ดิฉันไม่ได้เป็นทุก๘ข์กับเรื่องที่เขาจะเรียนไม่จบ หรือจะไม่มีปริญญา แต่เป็นทุกข์กับการที่เขาติดเกมส์แล้วกลายเป็นเด็กเครียด หงุดหงิด โมโหง่าย การติดเกมส์ทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตได้ไหม และควรทำอย่างไรดี

แจง

…………………….

ตอบครับ

เรื่องเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์นี้ วงการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นโรค แม้ในมาตรฐานการจำแนกโรคฉบับใหม่ (DSM-V) ที่กำลังจะนำออกมาใช้ ก็ไม่บรรจุเด็กติดเกมเป็นโรค ผมจึงยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐานมาบอกเล่า

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง วารสารกุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งติดตามดูเด็กติดเกมระดับประถมและมัธยมจำนวนสามพันกว่าคนในอเมริกา ฮ่องกง และสิงค์โปร์ โดยตามดูนาน 2 ปี พบว่าการติดเกมทำให้เด็ก (1) สูญเสียทักษะทางสังคม (2) การเรียนแย่ลง (3) เป็นโรคซึมเศร้าง่ายขึ้น ยิ่งติดเกมมาก ยิ่งมีสามปัญหานี้มาก

งานวิจัยนี้จัดว่าเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกว่าการที่เด็กติดเกม เป็นปัญหาสุขภาพเหมือนเป็นโรคๆหนึ่ง ซึ่งเพิ่งออกมาหมาดๆ การจะมีข้อมูลว่าโรคนี้จะรักษายังไงยังต้องรอการวิจัยอีกนาน ในระหว่างนี้คุณรับฟังคำแนะนำแบบมวยวัดของผมไปก่อนก็แล้วกัน

คือผมเป็นหมอประจำครอบครัว จึงมองปัญหาเด็กติดเกมว่าเป็นปัญหาของทั้งครอบครัว จึงเดาสุ่มคิดวิธีการรักษานี้ขึ้นมาโดยไม่มีงานวิจัยรองรับว่ามันได้ผลหรือไม่ วิธีของผมคือ

1. เครื่องมือหลักที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องใช้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณลูก คือ “การรู้จักวิธีใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วยวิธีง่ายๆ” อันได้แก่ ซึ่งสร้างขึ้นจากองค์ประกอบสามอย่างคือ (1) การฝึกสมาธิ (meditation) เพื่อให้จิตใจสงบสุขด้วยวิธีเช่นการตามรู้ลมหายใจ (2) การฝึกตามดูหรือฝึกระลึกรู้ (recall) ความคิดของตัวเองว่าเมื่อตะกี้ตัวเองเผลอคิดอะไร พูดง่ายๆว่าฝึกสติ (3) การฝึกตัวเองให้หัดรู้สภาวะจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ (self awareness) ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหานี้ ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่ และฝ่ายลูก

2. เริ่มต้นการแก้ปัญหาโดยให้พ่อแม่สร้างวินัยต่อตัวเองของตัวพ่อแม่เองก่อน โดย

2.1 ฝึกตามความคิดและอารมณ์ของตัวเองให้ทัน ทำตัวเองให้เป็นคนที่มีจิตใจโปร่งโล่งสบาย ไม่ซึมเศร้า หรือโมโห หงุดหงิด ดุด่า หรือพร่ำบ่นเพื่อระบายอารมณ์ เรียกว่าจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน

2.2 ทำทุกสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ดีมีวินัยคนหนึ่งพึงทำต่อตนเอง ได้แก่ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์อยู่ควรเลิก ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอควรลงมือออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าการรับประทานอาหารเป็นไปอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการควรปรับเปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ถ้าเป็นคนนอนน้อย พักผ่อนไม่พอ ควรจัดเวลานอนและเวลาพักผ่อนแต่ตัวเองให้พอ เป็นต้น

2.3 จัดการงานของตนเองให้ดี เป็นระเบียบ ไม่คั่งค้างพอกหางหมู รวมไปถึงจัดการเรื่องการเงินของตนเองให้พอดี มีรายจ่ายไม่เกินรายรับ

3. เมื่อพ่อแม่ได้สร้างวินัยต่อตนเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว จึงนำความสำเร็จของการสร้างวินัยต่อตนเองนี้ไปสร้างบรรยากาศของครอบครัวที่อบอุ่นสำหรับลูกๆขึ้นมา คู่ขนานไปกับฝึกสอนให้ลูกๆสร้างวินัยต่อตัวเองของลูกๆ ดังนี้

3.1 สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวขึ้นมา มีสติตลอดว่าเวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปดูแลลูก สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ขึ้นในบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส จัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน

3.2. ให้ความเข้าใจแก่ลูก เวลาลูกพูดอะไรให้ตั้งใจฟัง ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าลูกต้องการสื่อความคิดหรือความรู้สึกอะไรแก่เรา สรุปความเข้าใจของเราให้เขาตรวจสอบว่าเราเข้าใจเขาถูกหรือไม่ ถ้าเขาบอกว่าเราเข้าใจเขาผิดก็ต้องฟังเขาใหม่ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจเขาจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะโต้ตอบหรือสั่งสอน

3.3. พูดกับลูกดีๆ พูดในลักษณะเป็นการตกลงกติกา ไม่ใช่การออกคำสั่ง กำหนดกติกาให้ชัดเจนร่วมกันว่าจะค่อยๆลดเวลาเล่นเกมลงอย่างไร

3.4. สนองต่อพฤติกรรมขบถ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟังของลูกด้วยท่าทีไม่ใช้อารมณ์ ใช้ท่าทีที่ธรรมดาแต่มั่นคง ไม่ท้อถอยหรือประชดประชัน บอกเพียงแต่ว่าเราตกลงกันแล้วต้องทำตามที่ตกลง พ่อแม่พึงหนักแน่นในกฎระเบียบ นุ่มนวลในท่าที อย่าทำแบบบัดเดี๋ยวแข็ง ตวาด ด่า ถอดปลั๊ก บัดเดี๋ยวอ่อนพอลูกขอเล่นอีกหน่อยก็ยอม ต้องใช้ท่าทีอ่อนนอกแข็งใน ตกลงกันแล้ว 2 ชั่วโมงครบสองชั่วโมงแล้วขอให้ลูกหยุด ทำกิจกรรมอย่างอื่นดีมั้ยลูก เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องทำโทษก็ทำด้วยความรัก ไม่ทำเพราะเผลอโมโห

3.5. สร้างวัฒนธรรมการแสดงออกถึงความรักและหวังดีต่อกันแบบทำอย่างเปิด ทำบ่อยๆ ทำทั้งด้วยวาจา เช่นพูดออกมาบ่อยๆว่า “พ่อรักแม่นะครับ” “แม่รักลูกค่ะ” และทำทั้งการใช้ภาษากาย เช่นการสัมผัสบีบมือ โอบกอด ตบหลังตบไหล่

3.6. กำหนดกิจกรรมร่วมกันขึ้นมา อย่างน้อยสักหนึ่งอย่างในหนึ่งสัปดาห์ที่พ่อแม่ลูกทุกคนต้องมาร่วมกันทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องจัดเวลาของตัวเองมาทำสิ่งนี้ให้ได้ เช่นวันอาทิตย์ อาจเป็นการให้ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติ เพื่อแย่งเวลาที่ใช้เล่นเกมมาใช้เวลาเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์อื่นๆอีกมาก

3.7. วางแผนการใช้เวลาบางส่วนของลูกแบบ “ภาคกึ่งบังคับ” เช่น วันเสาร์ให้เข้าคอร์ส เรียนดนตรี ศิลปะ เต้นรำ กีฬา ภาษา หากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขาได้ลอง ได้รู้จัก ได้เลือกเองว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ผลพลอยได้นอกจากทักษะด้านต่างๆก็คือลูกจะได้มีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้นสร้างบรรยากาศ ทำให้เด็กค้นพบความสุข ความสนุกหลายๆ ด้าน

3.8. ลงทุนลงแรงสอนลูกให้มีความรับผิดชอบเป็นขั้นเป็นตอน มอบความรับผิดชอบให้เด็กทำตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักมีความรับผิดชอบ ต้องทำอะไรบางอย่างถึงแม้จะเบื่อทำขี้เกียจทำแต่ต้องทำ เป็นการสร้างวินัยให้เด็ก เพื่อจะให้เด็กสร้างวินัยให้ตัวเองในอนาคตได้ อย่าเลี้ยงลูกแบบ over protected ไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้ตัดสินใจอะไรเองเลย

3.9 กำหนดมาตรการทางการเงิน สอนให้ลูกบริหารจัดการเงินรายรับ-รายจ่ายของตนให้ได้

3.10. ชื่นชมให้กำลังใจ มองหาข้อดีในตัวลูก แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องดีก็ควรชม ให้เขาได้เกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ให้เขาได้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองข้ามข้อตำหนิเล็กๆน้อยๆของเขาไปเสียบ้าง

3.11. หมั่นสังเกตว่าลูกอาจอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ โดยตัวชี้วัดสำคัญก็คือผลการเรียน สุขภาพ พฤติกรรม และการใช้จ่ายเงิน เมื่อเห็นว่ามีปัญหา ต้องรีบเข้าไปช่วยเขาแก้ปัญหา ชี้ให้เขาเห็นด้านดีอื่นๆที่เขามี ชวนเขาหาความสุขความสำเร็จจากเรื่องอื่นๆ

3.12 การส่งลูกไปเข้าค่ายตอนปิดเทอมก็เป็นวิธีที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายแก้ไขเด็กติดเกม ค่ายเด็กอ้วน ค่ายพ่อแม่ลูกผูกพันป้องกันปัญหายุคไซเบอร์ เป็นต้น

3.12 ถึงจุดหนึ่ง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจาะลึกลงไปถึงรากของความสำเร็จในการสร้างวินัยต่อตนเอง นั่นคือการสอนให้ลูกรู้จักร้องเตือนตัวเอง (recall) เมื่อความคิดหรือความรู้สึกลบเกิดขึ้นในใจ ควบไปกับการฝึกให้มี “ความรู้ตัว (awareness)” ว่าขณะนี้ตัวเองกำลังเฝ้ามองความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองอยู่ รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกมีอารมณ์อย่างไร และฝึกสมาธิ ให้รู้วิธีเอาใจไปจดจ่อไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นลมหายใจของตนเอง เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีพากันไปวัด ที่มีการฝึกสอนการฝึกสติสัมปชัญญะและสมาธิโดยตรง

3.13 ถ้าพยายามทำทั้งหมดนี้แล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าสิ้นหวัง รู้สึกว่าไม่มีหนทางช่วยเหลือลูกได้ ควรหาทางขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ถ้าไม่รู้จะไปหาที่ไหน เท่าที่ผมทราบ มีหน่วยงานที่มีหน้าที่นี้โดยตรงอยู่หน่วยหนึ่งชื่อศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โทร. 02-3548305-7 หรือ http://cgap.icamtalk.com/index.php ผมไม่ทราบว่าเขาจะมีน้ำยาแค่ไหนเพียงใดนะครับ แต่ถ้าคุณสิ้นหวังแล้วไปหาเขาก็ไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้แหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Gentile, Douglas A., Choo, Hyekyung, Liau, Albert, Sim, Timothy, Li, Dongdong, Fung, Daniel, Khoo, Angeline. Pathological Video Game Use Among Youths: A Two-Year Longitudinal Study. Pediatrics 2011;0: peds.2010-1353