Latest

อยากจบเคสถุงยากแตก จะได้มีความสุขเสียที

คือผมอ่านบทความที่คุณหมอตอบผมมาครับ เลยมีคำถามว่าในเมื่อการตรวจแบบ ECILA มีความไวสูงมากและสามารถตรวจได้ตั้งแต่ 1 เดือนถึง 6 สัปดาห์ ผมตรวจตอน 95 วันประมาณ 3 เดือน หลังเสี่ยง ผลสามารถยืนยันได้มัยคับว่าปลอดภัยแล้ว ในกรณีทานยาต้านฉุกเฉิน (PEP) หริอว่าอย่างไงก็ต้องรอ 6 เดือนอยู่ดีครับ เพราะมันทำให้ผมเกิดความกังวลใจมากเลยครับ ผมอยากจะจบเคสนี้เร็วๆ ครับแล้วกลับมามีความสุขสักที ขอบคุณครับ
ขอถามอีกข้อหนึ่งคือครับว่า การตรวจแบบ NAT ที่ 70 วัน และ 95 วัน ผ่านนั้น สามารถตัดเรื่อง windows period 6 เดือนของ ยาต้าน (PEP) ได้มัยครับ เพราะตั้งแต่เสี่ยงมา ผมกังวลกับเรื่องการติดเชื้อมากครับ

moo
……………………………………………..

ตอบครับ

1. ตรวจหาเอดส์ทั้งแบบ 4th generation ECILA ด้วย แบบ NAT ด้วย เมื่อ 95 วันหลังเสี่ยง แล้วคู่นอนก็เป็น seronegative คือเลือดเป็นลบด้วย ถามว่ายืนยันได้ไหมว่าปลอดภัยแล้ว ผมตอบแบบนั่งยัน นอนยัน ยืนยันว่ามั่นใจได้สูงมากทีเดียว (very assuring) เป็นจิ๊กโก๋ก็ต้องพูดว่าชัวร์ป๊าด ว่าปลอดภัยแล้วครับ ขอให้หายบ้าได้

2. สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ผมขอเล่าภาพรวมในประเด็น window period หรือระยะที่อาจติดเชื้อได้แม้จะตรวจเลือดได้ผลลบของโรคเอดส์นี้ให้ฟัง คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเราจะบอกว่าพ้น window period แล้วก็ต่อเมื่อกลุ่มตัวอย่างของข้อมูลอยู่ในเขตความเชื่อมั่นทางสถิติใกล้ 100% ปัจจุบันนี้วงการแพทย์มีตัวเลขนี้อยู่สองชุด คือ

2.1 ชุดแรกเป็นตัวเลขดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 ได้มาจากการเอาประวัติว่าผู้ป่วยสัมผัสโรค (มีเซ็กซ์) เมื่อใด และเริ่มตรวจเลือดได้ผลบวกเมื่อใดมาคำนวณ แล้วสรุปว่าค่า window period อยู่ที่ 6 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากความไม่แน่นอนของการให้ประวัติจากคนไข้ บวกกับเทคนิคทางห้องแล็บแบบโบราณ (1st genteration ELIZA)

2.2 ตัวเลขอีกชุดหนึ่ง ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เลือดที่บริจาคธนาคารเลือดจำนวนมากเป็นหลักแสนตัวอย่างขึ้นไป รู้วันแน่นอนว่าเจาะเลือดมาเมื่อไร คนไข้รับเลือดไปเมื่อไร เริ่มตรวจได้ผลบวกครั้งแรกเมื่อไร บวกกับเทคนิคทางแล็บที่ดีขึ้นกว่าสมัยเก่ามาก (4th generation ECILA) ตัวเลขชุดหลังนี้บ่งชี้ว่า window period ของโรคนี้อยู่ที่ 4-6 สัปดาห์

ตัวเลขทั้งสองชุดนี้มีคนชอบหยิบเอาไปเล่นทั้งคู่ ถามผมว่าผมเชื่อถือตัวเลขชุดไหนมากกว่ากัน ผมตอบได้ทันทีโดยไม่ลังเลว่าผมเชื่อตัวเลข 4-6 สัปดาห์ของ 4th generation มากกว่า เพราะผมสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของตัวเลขได้อย่างแจ่มแจ้งไม่มั่วซั่วเหมือนตัวเลขชุด 6 เดือนซึ่งพลิกอ่านเจอร์นาลจนตาแฉะก็ยังไม่เคลียร์อยู่ดี

3. ประเด็นที่ว่าการทานยาต้านเอดส์แบบป้องกันล่วงหน้า (pre-exposure prophylaxis) มีผลทำให้ window period ต้องขยายออกไปไหม ขยายออกไปนานเท่าไร ประเด็นนี้ไม่มีใครทราบ ได้แต่เดากันไปคนละทาง หลักฐานจะจะก็ไม่มี มีกรณีที่รายงานว่าได้ยา PEP แล้ว window period ยาวขึ้นอยู่รายเดียว ซึ่งก็บังเอิญเป็นไวรัสตับอักเสบซี.ด้วย ทางการแพทย์เรียกว่ามีปัจจัยกวน จึงใช้เป็นหลักฐานอะไรไม่ได้ ดังนั้นประเด็นนี้ทิ้งไปดีกว่าครับ อย่าเก็บเอามาคิดให้ปวดหัวเลย

4. คุณบอกว่า “อยากจะจบเคสนี้เร็วๆ ครับแล้วกลับมามีความสุขสักที” ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่าเคยได้ฟังใครสักคนพูดน้า อาจจะเป็นครูของผมสมัยผมอยู่เมืองนอก หรือเป็นหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่เคยอ่านก็ไม่แน่ใจแล้ว เขาบอกว่า “If you want to be happy, be.” แปลว่า “ถ้าคุณอยากจะมีความสุข..ก็มีเสียสิ” แปลไทยให้เป็นไทยก็คือว่าการจะมีหรือไม่มีความสุข มันอยู่ที่เราเลือกจะมีหรือเลือกที่จะไม่มี เพราะความสุขก็คือสถานะทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการที่เราสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอกอย่างไร สิ่งเร้าภายนอกในที่นี้ก็คือคุณเที่ยวมาแล้วถุงยางแตก คุณเลือกสนองตอบได้สองอย่าง ถ้าอยากจะมีความสุขคุณก็สนองตอบแบบว่า ฮ้า.. หมอสันต์บอกว่าปลอดภัยใกล้ 100% ชัวร์ป๊าด สบายใจละ ไปฉลองกันดีกว่า (คราวนี้ขอถุงสองชั้นนะ..พูดเล่น) แต่ถ้าคุณไม่อยากมีความสุขคุณก็สนองตอบแบบว่า ยังมีโอกาสเป็นไปได้อยู่อีกตั้ง 0.01% นะ เราจะแจ๊คพอตไหมเนี่ย แล้วถ้าเราแจ๊คพอตมันจะ…ฯลฯ แล้วก็คิด คิด คิด ฟุ้งสร้านสติแตก คุณจะเลือกสนองตอบแบบไหนละ คุณเลือกเองนะครับ ผมเปล่ายุ่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………….

ขอบคุณมากครับ คุณหมอ ผมอ่านแล้วผมมั่นใจและสบายใจขึ้นเยอะมากเลยครับ ผมคงไม่ไปทำอะไรเสี่ยงๆ แบบนี้อีกแล้วครับ

moo