Latest

อุลตร้าซาวด์รายงานว่าเด็กไม่ดิ้น (fetal movement negative)

คือว่าคุณหมอนัดหนูไปตรวจดาวน์สินโดมมา แล้วคุณหมออัลตร้าซาวนด์ต้นคอเด็กให้ พอซาวน์เสร็จก็ทำการตรวจเลือดต่อคุณหมอแจ้งว่าถ้าผลเป็น ลบ ก็โอเค แต่ถ้าเป็นบวกก็ต้องมาตรวจน้ำคร่ำกันต่อ พอคุณหมอซาวน์เสร็จก็เขียนในใบว่า fetal moverment(เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทารก) เป็นลบ ก็เลยสงสัยว่า เป็นลบหมายความว่าไงค่ะ ทารกไม่ดิ้นหรือปกติดีค่ะ พอดีลืมถามคุณหมอค่ะ ขอบพระคุณค่ะ(อายุครรรภ์ 13สัปดาห์ค่ะ)

เนม

…………………………….

ตอบครับ

เรื่องการดิ้นของเด็กในท้องนี้มี 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกกันคือ

1. การทำอุลตร้าซาวด์ในงานคลินิกที่ไม่ใช่ในงานวิจัย ก็เหมือนกับการเอาไฟฉายส่องเงาตะคุ่มๆในที่มืดแป๊บเดียว เหมือนคนมาเปิดห้องนอนคุณแล้วฉายไฟเข้าแป๊บหนึ่งแล้วพบคุณนอนนิ่งอยู่บนเตียง ข้อมูลแค่นี้จะเอาไปแปลผลเป็นตุเป็นตุว่าคุณดิ้นไม่ได้เสียแล้ว เป็นไปไม่ได้ฉันได้ ข้อมูลอุลตร้าซาวด์ที่ทำแป๊บเดียวแล้วไม่พบว่ามีการขยับตัวของทารก ก็เอาไปใช้ตีความอะไรไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นอย่าไปวิตกจริตกับใบรายงานที่เขียนว่า fetal movement negative (ไม่ดิ้น) เพราะมันใช้แปลความอะไรไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง อายุครรภ์ขนาดนี้ (13 สัปดาห์) ก็เร็วเกินไปที่จะบอกว่าถ้าเด็กไม่ดิ้นแล้วจะผิดปกติ เพราะเด็กบางคนไปเริ่มดิ้นเอาหลังจากนี้อีกหลายสัปดาห์

2. ข้อมูลวิจัยโดยวางอุลตร้าซาวด์เฝ้าดูเรื่องการขยับตัวของทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง พบว่าทารกมีการขยับตัวตั้งแต่อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ และเริ่มขยับแขนขาแยกจากกันอย่างอิสระตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 บิดขึ้เกียจและหาวได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 10 อ้าปากและดูดได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 11 กลืนน้ำคร่ำลงท้องได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 12 อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อมูลจากทารกที่ดิ้นก่อน การขยับดิ้นของทารกแต่ละคนไม่เท่ากัน และเริ่มช้าเร็วต่างกันได้มาก

3. การศึกษาในคุณแม่จำนวนมากพบว่าการรับรู้การดิ้นครั้งแรกของลูก (quickening) มีความแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคน ตำราทางสูติศาสตร์ส่วนใหญ่กำหนดช่วงที่คุณแม่ควรรับรู้การดิ้นครั้งแรกไว้เป็นช่วงเวลายาวตั้งแต่ 13-25 สัปดาห์นับจากประจำเดือนหมด ถ้าอายุครรภ์เกิน 25 สัปดาห์แล้วยังไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นเลย จึงค่อยไปให้หมอตรวจดูเพื่อความแน่ใจว่าเด็กยังอยู่ดีสบายหรือเปล่า

4. หลังจากที่รับรู้ว่าเด็กดิ้นครั้งแรกแล้ว การนับความถี่การดิ้นของเด็กทุกวันเพื่อตามดูว่าเด็กผิดปกติหรือเปล่าไม่จำเป็น เพราะการทบทวนงานวิจัยพบว่าการเฝ้านับการดิ้นของเด็กไม่ได้ลดอุบัติการณ์ของทารกตายในครรภ์ลงได้ เอาเพียงแค่ว่าช่วงไหนที่รู้สึกขึ้นมาว่าลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยผิดปกติ ค่อยไปหาหมอก็ถือว่าเป็นการเฝ้าระวังที่เพียงพอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Mangesi L, Hofmeyr GJ. Fetal movement counting for assessment of fetal wellbeing (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews 2007, Issue 1.