Latest

5 สัญญาณร้ายของอาการปวดหัว

คือมีปัญหา ปวดหัวบ่อย ปวดบริเวณด้านหน้าศรีษะ ไม่ทราบเพราะเหตุใด แต่จะแจ้งให้หมอทราบว่า ระดับ แคลลอรี่สูงถึง 300 เลยค่ะ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหัวหรือป่าว เคยได้ยินมาว่า เส้นเลือดอาจอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
รบกวนคุณหมอแนะนำด้วยค่ะ และถ้าจะเข้าไปตรวจ ที่ รพ. ต้องเช็คที่แผนกไหนหรือป่าวค่ะ

…………………………………

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. ที่ว่าสูง 300 นั้นผมเข้าใจว่าโคเลสเตอรอลสูงใช่ไหมครับ ไม่ใช่แคลอรี่ ไม่เป็นไรพูดผิดพูดใหม่ได้ ถ้าโคเลสเตอรอลรวมสูง 300 (mg/dl) ต้องรีบไปตรวจดูไขมันย่อยเป็นรายตัวว่ามันสูงจากตัวไหน ถ้าสูงจากไขมันตัวดี (HDL) ก็แล้วไป แต่ถ้าสูงจากไขมันตัวเลว (LDL) หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ ก็ต้องแก้ไขด้วยการปรับโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยาถ้าจำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องปวดหัวครับ

ประเด็นที่ 2. อาการปวดหัวมีหลายชนิด ทั้งชนิดหาสาเหตุและหาสาเหตุไม่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งก็ยังแยกย่อยไปเป็น

1. ปวดหัวแบบกล้ามเนื้อตึง (tension headache) มักปวดระดับน้อยถึงปานกลาง ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีอาการของระบบประสาท ไม่เกี่ยวกับการออกแรงหรือเคลื่อนไหว มักสัมพันธ์กับความเครียด อดนอน หิว ใช้ตามาก หรือเมื่อตำแหน่งศีรษะอยู่ผิดที่ การรักษาคือนอนให้พอ ลดการใช้สายตาลง ออกกำลังกายให้หายเครียด ถ้าปวดเมื่อยแถวคอ สาหลังหูก็บีบๆนวด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ใช้แค่พาราเซ็ตตามอลครั้งละ 500-1000 มก. หรือแอสไพรินครั้งละ 300-600 มก. ก็พอ

2. ปวดหัวแบบไมเกรน (Migraine) เป็นการปวดแบบตึ๊บๆ (vascular headache) ปวดครั้งหนึ่งกินเวลา 4-72 ชม. ถ้ามีอาการนำ (aura) ที่เกิดจากการเสียการทำงานของระบบประสาทเป็นการชั่วคราวเช่นเห็นแสงสีวูบวาบ เรียกว่า classic migraine ถ้าไม่มีอาการนำเรียกว่า common migraine มักคลื่นไส้อาเจียน มักเป็นข้างเดียว มักเป็นกรรมพันธุ์ มักมีอาการแพ้แสง นอนไม่หลับ และซึมเศร้า ร่วมด้วย

3. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache) เป็นการปวดรุนแรงเฉพาะบริเวณที่เลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ห้า (trigeminal nerve) มักเป็นที่หลังลูกตาหรือที่เบ้าตา ร่วมกับมีอาการจากการทำงานของเส้นประสาทอัตโนมัติเช่นน้ำมูกน้ำตาไหล หรือเหงื่อหน้าออก หรือตาแดง หรือหนังตาบวม หรือหนังตาตก โดยที่เป็นอยู่ซีกเดียว มักเป็นมากจนลุกลี้ลุกลน อยู่ไม่สุข

ส่วนพวกปวดหัวกลุ่มที่มีสาเหตุ ยังแยกย่อยออกเป็นสองพวกคือ พวกสาเหตุอยู่นอกสมอง เช่นตา หู โพรงไซนัส เป็นต้น และพวกสาเหตุอยู่ในสมอง เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดแตก ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด เนื้องอกสมอง เป็นต้น

ประเด็นที่ 3. วิธีวินิจฉัยด้วยตัวเองว่าการปวดหัวครั้งนี้ซีเรียสหรือเปล่า ก็เช็คง่ายๆก่อนว่ามี “สัญญาณร้าย” อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้หรือเปล่า

1. ปวดแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap) เร็ว แรง ทันที ถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 5 นาที หรือปวดจนปลุกให้ตื่นขึ้น หรือปวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

2. ปวดศีรษะครั้งแรกในคนไข้อายุมากเกิน 50 ปี หรือคนไข้เอดส์ หรือคนไข้มะเร็ง

3. ลักษณะการปวดปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น รวมถึงความถี่ และอาการร่วม

4. มีอาการและอาการแสดงของระบบประสาทร่วม รวมถึง การมองเห็นผิดปกติ หรือคอแข็ง หรืออาการไม่เฉพาะที่ (non-focal) เช่น เสียความจำ

5. มีข้อมูลส่อว่าเป็นโรคระดับทั่วร่างกาย (systemic disease) เช่น เป็นไข้ ความดันเลือดสูง น้ำหนักลด เป็นต้น

ถ้ามีสัญญาณร้ายเหล่านี้ ก็แจ้นไปหาหมอได้ เพราะถ้าช้าอาจตายได้

ประเด็นที่ 4.
ถ้าจะไปรพ. ไปแผนกไหนดี กรณีของคุณดูท่าจะมีปัญหาสุขภาพโดยรวมหลายเรื่องนับตั้งแต่เรื่องหญ้าปากคอกเช่นอาหารการกินและการออกกำลังกาย ผมแนะนำให้ไปตรวจที่ศูนย์ตรวจสุขภาพหรือศูนย์ check up ก่อนจะดีที่สุด สำหรับท่านอื่นที่มีอาการปวดหัวซ้ำซากโดยไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นก็แนะนำให้ไปตรวจที่คลินิกประสาทวิทยา (neurology clinic) ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์