Latest

ใช้คอมพิวเตอร์แล้วชานิ้วก้อย

ตอนนี้อายุ35ปี ค่ะ ทำงานพิมพ์คอมมากในช่วงอายุ 28-30 แต่พอมาประมาณอายุ 32-35 นี้รู้สึก
1.นิ้วก้อยด้านซ้ายเหมือนจะนิ้วล็อค ชา และ เคยเป็นไข้และจามปวดบริเวณกล้ามเนื้อซีกซ้ายแถวเอว-ก้นกบมากจนลุกไม่ได้ไปหลายวัน
2.ล่าสุดปัจจุบันยกของหนักไม่ได้เลย ก้มตัวก็รู้สึกปวดกล้ามเนื้อด้านในซีกซ้ายอย่างเดียว คุณหมอค่ะช่วยวินิจฉัยให้ด้วยเถอะค่ะ หนูอยากรู้มากเลยค่ะ
ขอบพระคุณมากเลยค่ะ

………………………………….

ตอบครับ

คงต้องแยกเป็นสองเรื่องนะครับ

เรื่องที่ 1. อาการชาที่นิ้วก้อยข้างซ้าย เป็นอาการเกิดจากเส้นประสาทอัลนาร์ถูกหนีบ (ulnar nerve entrapment) ซึ่งอาจจะถูกหนีบโดยกระดูกระดับข้อศอก หรือโดยซีสต์ที่เบียดเส้นประสาท หรือโดยกระดูกงอกหรือหมอนรองกระดูกเลื่อนที่ระดับคอ เป็นต้น ในกรณีของคุณซึ่งยังไม่ถึงกับกล้ามเนื้อนิ้วลีบ ถือว่าอาการยังไม่มาก การแก้ปัญหาควรเป็นการแก้ไขด้วยวิธีที่ไม่ใช้การผ่าตัดไปก่อน ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการใช้แขนซ้ำซากในท่างอข้อศอก

2. ถ้าใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ ต้องแน่ใจว่าเก้าอี้ไม่ต่ำเกินไป หรือผิวโต๊ะที่วางแป้นพิมพ์ไม่ได้สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้ต้องพักข้อศอกบนพื้นโต๊ะ อันเป็นเหตุให้มีอาการมากขึ้น

3. หลีกเลี่ยงการเอาข้อศอกด้านในเท้าพื้นในการทำงาน เช่นขับรถโดยเปิดกระจกเอาข้อศอกพาดหน้าต่าง เป็นต้น

4. เวลานอนกลางคืนต้องให้แขนมีโอกาสได้เหยียดเต็มที่ตามสบาย ถ้าจำเป็นอาจจะต้องบังคับแขนให้เหยียดด้วยอุปกรณ์พันหรือตรึงแขน

เรื่องที่ 2. คืออาการปวดกล้ามเนื้อซีกซ้ายแถวเอว และก้นกบ และขาด้านใน เวลาไอจามแรงๆก็ดี เวลายกของหนักๆก็ดี ซึ่งบางทีก็แปลบลงไปส่วนล่างของร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง อาการแบบนี้ทางการแพทย์เรียกว่า sciatica หรือบางทีก็เรียกว่าอาการที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท (radiculopathy) ตัวที่เป็นต้นเหตุกดเส้นประสาทก็เป็นได้ตั้งแต่หมอนรองกระดูกที่เอวเลื่อนมากดโคนเส้นประสาท หรือเงี่ยงกระดูกงอกกดโคนเส้นประสาท หรือแคลเซียมที่พอกกระดูกซึ่งเสื่อมไปตามวัยกดทับเส้นประสาท ก็ได้

การรักษาก็แบ่งเป็นสองระยะเหมือนกับปัญหาที่นิ้วมือเช่นกัน คือในระยะที่อาการยังไม่มาก การรักษามุ่งเน้นใช้วิธีไม่ผ่าตัด นั่นก็คือการทำกายภาพบำบัดหรือการพยายามฝืนใช้งานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นั่นเอง การผ่าตัดจะเก็บไว้เป็นมาตรการสุดท้าย เพราะการผ่าตัดเองก็ไม่ใช่วิธีที่จะแก้ปัญหาได้เด็ดขาด เพราะการรวบรวมข้อมูลวิจัยพบว่าการแก้ปัญหาด้วยการผ่าตัดจะบรรเทาอาการได้ดีกว่าการไม่ผ่าตัดก็เฉพาะในหนึ่งปีแรกหลังการผ่าตัด แต่หลังจากนั้นอัตราการมีอาการก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ใช้วิธีไม่ผ่าตัด

การมีอาการ sciatica ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ไม่ใช่เรื่องใหญ่คอขาดบาดตาย ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้กลายเป็นอัมพาตหรือพิกลพิการ หลักการรักษาที่สำคัญคือการฝืนใช้งานเข้าไว้ งานวิจัยพบว่าผู้มีอาการปวดหลังปวดเอวที่รักษาด้วยการนอนพัก พยายามหลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้เกิดอาการมากขึ้น กลับมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนปวดหลังปวดเอวเรื้อรังมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยวิธีฝืนมีกิจกรรมทั้งๆที่มีอาการปวด คุณลองเอาแนวทางฝืนใช้งานนี่ไปรักษาตัวเองดูนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Fouyas IP, Statham PF, Sandercock PA. Cochrane review on the role of surgery in cervical spondylotic radiculomyelopathy. Spine (Phila Pa 1976). Apr 1 2002;27(7):736-47.
2. Chagas H, Domingues F, Aversa A, Vidal Fonseca AL, de Souza JM. Cervical spondylotic myelopathy: 10 years of prospective outcome analysis of anterior decompression and fusion. Surg Neurol. 2005;64 Suppl 1:S1:30-5; discussion S1:35-6.