Latest

Celebrex ก็แพ้ Voltaren ก็ไม่ได้ผล Arcoxia ดีไหม

คุณหมอสันต์ครับ

คุณแม่ เจ็บกล้ามเนื้อช่วงน่องอาการเส้นเอ็นตึงๆ ปัญหาคือว่าไม่สามารถกินยาคล้ายกล้ามเนื้อจำพวก celebrex กินแล้วจะเกิดอาการแพ้ แต่สามารถกินยา Voltaren ได้ อาการก็ยังไม่ดีขึ้น เลยอฮนยากรบกวนถามคุณหมอว่า celebrex กับ Arcoxia เป็นยาตระกูลเดียวกันหรือเปล่าครับ? อยากจะให้คุณแม่ลองกิน ครับ จะมีอาการแพ้หรือเปล่าครับ?
หรือว่าให้กินยาตัว Voltaren ต่อครับ?

ขอบคุณครับ

…………………..

ตอบครับ

ผมไม่แน่ใจว่าตอบจดหมายของคุณมาแล้วหรือยัง เพราะเมลมันมั่วๆอยู่ แต่ตอบแล้วตอบอีกก็ดีกว่าไม่ได้ตอบ

1. ยา Celebrex (Celecoxib), Arcoxia (Etoricoxib), Voltaren (Diclofenac) เป็นยาตระกูลเดียวกัน คือกลุ่ม NSAID หรือ non steroid anti-inflamatory drug มีพิษเหมือนกันเกือบทุกประการ เกือบนะครับ ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ผลข้างเคียงที่สาหัสเช่นพิษต่อไต พิษต่อหัวใจ ล้วนแรงพอๆกัน

2. กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มนี้คือไประงับการสร้างสารก่อการอักเสบชื่อ prostaglandin โดยวิธีไประงับเอ็นไซม์ชื่อ cyclooxygenase (COX) ซึ่ง COX นี้ก็มีอยู่สองแบบคือ COX-1 ซึ่งช่วยผลิต prostaglandin ที่กระเพาะอาหารซึ่งถ้าไประงับมันจะมีผลเสียคือจะไปลดเมือกเคลือบกระเพาะอาหารด้วย ทำให้เลือดออกในกระเพาะง่าย กับ COX-2 ซึ่งช่วยผลิต prostaglandin ที่อื่นทั่วร่างกายรวมทั้งตามข้อด้วย ถ้าไประงับมันก็จะเป็นการระงับการอักเสบของข้อซึ่งตรงวัตถุประสงค์ ยากลุ่มนี้รุ่นแรกๆที่ออกมาเช่น Voltaren (Diclofenac) Iprobufen, Aspirin ล้วนมีฤทธิ์ระงับ COX แบบรูดมหาราชทั้ง COX1 และ COX2 ทำให้กัดกระเพาะและเลือดออกในกระเพาะง่าย ต่อมีจึงมีผู้ผลิตยารุ่นใหม่เช่น Celebrex (Celecoxib)และ Arcoxia (Etoricoxib) ซึ่งมีฤทธิ์ที่ระงับเฉพาะ COX-2 ไม่ระงับ COX-1 จึงไม่ค่อยกัดกระเพาะเท่าไร หรือจะพูดให้ถูกต้องพูดว่ากัดเหมือนกันแต่กัดน้อยกว่า แต่ก็มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อหัวใจที่โดดเด่นคือทำให้ตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น จนยาในกลุ่มระงับ COX-2 ที่มีชื่อเสียงมากตัวหนึ่งคือ Viox ต้องถอนตัวออกจากตลาดไปอย่างเงียบๆเพราะมีรายงานทางการแพทย์ว่าทำให้คนกินตายจากอุบัติการณ์ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดและหัวใจขาดเลือดมากขึ้น

3. ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม NSAID เป็นดาบสองคม สมัยก่อนที่คนเรายังโง่อยู่ เรากินยาพวกนี้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนชาวไร่ชาวนากิน “ยาขยัน” กินกันวันละสามเวลาหลังอาหาร กินกันตลอดชีพ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่ายากลุ่มนี้ทำให้ไตพัง ทำให้หัวใจล้มเหลว แพทย์จึงจ่ายยาแบบ PRN คือให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการมากเท่านั้น พออาการทุเลาแล้วก็หยุด แต่คนไข้หรือประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ยังซื้อกินกันสามเวลาหลังอาหารอยู่เหมือนเดิม ทั้งๆที่มันเป็นยาต้องให้แพทย์สั่ง แต่เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา ใครใคร่กินยา..กิน ถือหลักว่าไตของใครก็ไตของมัน ทุกคนมีสิทธิทำไตของตัวเองพังแล้วไปเบิกค่าล้างไตเอาทีหลังได้ คนอื่นไม่เกี่ยว.. อามิตตาพุทธ

4. ผมพล่ามเสียจนลืมคำถามของคุณไปละ อ้อ.ถามว่าจะกิน Arcoxia แทน Celebrex ได้หรือเปล่าผมตอบไปแล้วนะครับว่าเป็นยากลุ่มเดียวกัน แพ้ตัวหนึ่งก็แพ้อีกตัวหนึ่งได้ครับ

5. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมขอ ส. ใส่รองเท้านะครับ การเจ็บกล้ามเนื้อที่น่องและเส้นเอ็นตึง เป็นธรรมดาของคนสูงอายุที่ท่าร่างของร่างกายเปลี่ยนไปแต่ไม่ได้ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อและเอ็นแข็งแรงและยืดหยุ่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ต้องไปทานยาอะไรหรอกครับ เป็นการหาโรคใหม่ใส่ตัวเพิ่มเติมเปล่า สิ่งที่ควรทำก็คือต้องออกกำลังกายให้ครบตามมาตรฐานสำหรับคนสูงอายุ ซึ่งตามคำแนะนำของ ACSM/AHA คนที่อายุเกิน 65 ปี ต้องออกกำลังกายให้ครบสามแบบคือ (1) ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิก ให้ถึงระดับหนักพอควร คือเหนื่อยหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง (2) เล่นกล้าม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งทำอย่างน้อย 10-15 ท่า แต่ละท่าทำซ้ำอย่างน้อย 10-15 ครั้ง (3) ออกกำลังกายเพื่อการยืดหยุ่นและทรงตัว เช่นโยคะ เต้นรำ ด้วย ทำครบสามอย่างนี้แล้วหายเอง รายละเอียดของการออกกำลังกายรวมทั้งการเล่นกล้ามสำหรับผู้สูงอายุ ผมเคยเขียนไว้ในเว็บนี้หลายครั้งแล้ว คุณย้อนหาอ่านเอาได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์