Latest

กรดยูริกสูงโดยไม่มีอาการ (asymptomatic hyperuricemia)

เรียน อาจารย์สันต์ค่ะ

หนูชื่อ…เป็นนักเทคนิคการแพทย์ ทำงานอยู่ …. มีปัญหาสุขภาพจะขออนุญาตเรียนปรึกษาอาจารย์ค่ะ ตอนนี้หนูอายุ33ปี แต่ตรวจสุขภาพประจำปี2554นี้ พบ มีuric สูงถึง 19.8 mg/dl ซึ่งเมื่อปี 2553 พบuric 12.7 mg/dl,ปี2552 พบ uric 11.9 mg/dl ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีอาการปวดข้อแต่อย่างใด แต่ในปี2554 นี้รู้สึกปวดเมื่อยๆกระดูกนิ้วมือและหัวเข่า และตอนนี้หนูยังให้นมลูกอยู่ หนูควรจะรับประทานยาลดยูริกไหมคะ และหนูควรไปตรวจเพิ่มเติมไหมคะ รบกวนขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………..

ตอบครับ

ดีที่คุณบอกเพศ อายุ และการให้นมลูกมา แต่ข้อมูลที่ผมอยากได้เพิ่มอีกคือน้ำหนักตัวกี่กก. สูงกี่ซม. เพราะข้อมูลสองตัวนี้เป็นตัวบอกดัชนีมวลกาย ซึ่งจะไขไปสู่อะไรอีกหลาย แต่เอาเถอะ ผมจะตอบไปตามข้อมูลเท่าที่คุณให้มานะครับ

1.  อาการที่บอกว่ารู้สึกปวดๆเมื่อยๆกระดูกนิ้วมือและหัวเข่านั้น ดูจะไม่ใช่อาการของเก้าท์ เพราะอาการของเก้าท์มักจะเป็นอาการแบบปวดข้อเดี่ยว (ส่วนใหญ่เป็นข้อหัวแม่เท้า) ปวดขึ้นมาแบบทันทีทันได และปวดแบบมากขึ้นๆ แบบโอ๊ย.ย..ย..ย…ย ชนิดที่ลงน้ำหนักไม่ได้เลยและแม้แต่จะเอาผ้าห่มคลุมก็ยังไม่ได้

2.  คนที่มีระดับกรดยูริกสูงกว่า 7 มก/ดล. แต่ไม่มีอาการข้ออักเสบและไม่เป็นนิ่วในไตอย่างคุณนี้ ภาษาหมอเรียกว่า asymptomatic hyperuricemia งานวิจัยติดตามคนแบบนี้ไปห้าปีพบว่าคนที่กรดยูริกอยู่ระดับไม่เกิน 8.0 มก.เป็นเก้าท์ 2.0% คนที่กรดยูริกอยู่ระดับ 9.0-10.0 เป็นเก้าท์ 19.8% คนที่กรดยูริกอยู่ระดับสูงกว่า 10.0 มก. ซึ่งเหมือนตัวคุณนี้ เป็นเก้าท์ 30.0%

3.  คนที่เป็น asymptomatic hyperuricemia แบบคุณนี้ แม้ว่าจะเป็นเก้าท์ง่ายกว่าคนธรรมดาและเป็นนิ่วในไตง่ายด้วย แต่ก็ยังไม่ควรเริ่มต้นกินยารักษาเก้าท์ เพราะประโยชน์ที่ได้จากการลงมือรักษาก็ยังไม่คุ้มกับพิษของยา

4.  สิ่งที่คนเป็น asymptomatic hyperuricemia พึงทำคือ

4.1.  ปรับโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนมาก เช่น ตับ ไต ปลาซาร์ดีน ไก่งวง ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อไก่ ปู เป็ด ถั่ว เห็น กุ้ง หมู นั้นก็ควรทานแต่พอควร ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนน้อยเช่น ผลไม้ ธัญพืช ไข่ นม มะเขือเทศ ผักใบเขียวนั้น ทานได้ไม่จำกัด

4.2. งานวิจัยบางรายบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลฟรุคโต๊สในเครื่องดื่มกับการเป็นโรคเก้าท์มากขึ้น แต่งานวิจัยบางรายพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลก็ไม่มีประโยชน์อะไรอยู่แล้ว จึงควรเลิกเสีย

4.3.  ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและปรับโภชนาการ เพราะยิ่งอ้วน ยิ่งเป็นเก้าท์มากขึ้น

4.4.  ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิก เพราะแอลกอฮอล์ทั้งเป็นตัวให้พิวรีนซึ่งจะกลายเป็นกรดยูริกมากขึ้น ทั้งทำให้ไตขับกรดยูริกทิ้งได้น้อยลง

4.5. ถ้าทานยาที่ทำให้เป็นเก้าท์ง่าย ต้องเปลี่ยน เช่นยาขับปัสสาวะทั้งกลุ่ม thiazide, furosemide ยาวัณโรคเช่น ethambutol (Myambutol), pyrazinamide ยาแก้ปวดแอสไพริน ยา levodopa ยาลดไขมัน nicotinic acid เป็นต้น

4.6. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพราะสาเหตุหนึ่งที่คนกรดยูริกสูงจะไตพังเร็วคือมีน้ำไหลเวียนในร่างกายไม่เพียงพอ

4.7. ในการตรวจสุขภาพประจำปีครั้งใหม่นี้ จะต้องคุยกับหมออย่างดุเดือด จนได้คำตอบในประเด็นต่อไปนี้อย่างครบถ้วน คือ

4.7.1. สถานการณ์ทำงานของไตเป็นอย่างไร โดยต้องทราบค่า GFR เพื่อบอกให้ได้ว่าไตเสียการทำงานหรือเปล่า ถ้ามีอยู่ในระยะไหนของโรคไตวายเรื้อรัง 5 ระยะง

4.7.2. มีนิ่วที่ไตหรือเปล่า (อย่างน้อยต้องตรวจอุลตราซาวด์ดูไต)

4.7.3. สถานะของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์เป็นอย่างไร เพราะสาเหตุสองอย่างของเก้าท์คือโรคไฮโปไทรอยด์ และโรคไฮเปอร์พาราไทรอยด์ โดยอย่างน้อยต้องเจาะเลือดดูฮอร์โมนสองตัวนี้

4.7.4. เป็นเบาหวานหรือเปล่า ถ้าเป็นสถานะของโรคอยู่ระดับไหน เพราะภาวะคีโตนคั่งจากเบาหวานเป็นสาเหตุหนึ่งของเก้าท์

4.7.5. มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีต้องรีบลงมือรีดไขมัน เพราะไขมันในเลือดผิดปกติทำให้เป็นเก้าท์มากขึ้น

4.7.6. ดัชนีมวลกายเท่าไร อ้วนไหม ถ้าอ้วน ต้องรีบลดความอ้วนอย่างเอาเป็นเอาตาย

4.7.7. ความดันเลือดสูงหรือเปล่า ถ้าสูงเกิน 140/90 ก็ต้องรีบรักษา โดยต้องระวังไม่ใช่ยาที่ไปเพิ่มกรดยูริกด้วย

5. ตอนนี้ยังไม่ต้องฝันไกลไปถึงการกินยารักษาโรคเก้าท์ เพราะยารักษาเก้าท์เป็นยามีพิษมาก ถ้าแพ้ก็ถึงตาย หมอจะยอมให้ยารักษาก็ต่อเมื่อได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเก้าท์แน่นอนแล้วเท่านั้น ด้วยการเจาะเอาน้ำในข้อที่อักเสบมาส่องกล้องจุลทรรศน์ที่มีแผ่นโพลาไรซ์เพื่อดูผลึกรูปเข็ม (monosodium urate) ให้เห็นจะจะคาตาก่อน จะรีบร้อนลงมือรักษาโดยวินิจฉัยเอาจากอาการและการสนองตอบต่อยาแก้ข้ออักเสบแค่นั้นไม่ได้เพราะจะผิดพลาดง่าย เพราะบางคนมีกรดยูริกสูงด้วยเป็นข้อเสื่อมด้วยในคนคนเดียวกัน ซึ่งกรณีเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาเก้าท์เพราะยังไม่ใช่โรคเก้าท์ นอกจากนี้บางคนยังมีอาการคล้ายเก้าท์แต่เกิดจากผลึกแคลเซียม เรียกว่าโรคเก้าท์เทียม (pseudogout) หากสุ่มสี่สุ่มห้ารักษาแบบเก้าท์ไปก็ไม่หาย แต่การเจาะน้ำในข้อมาตรวจจะช่วยวินิจฉัยแยกโรคเก้าท์เทียมได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kelley W, Schumacher HR. Crystal-associated synovitis. Gout. In: Kelley WN, ed. Textbook of rheumatology. 4th ed. Philadelphia: Saunders, 1993:1291-336.

2. Choi HK, Curhan G. Soft drinks, fructose consumption, and the risk of gout in men: prospective cohort study. BMJ2008; 336 : 309 doi: 10.1136/bmj.39449.819271.BE