Latest

การดูแลตนเองเมื่อปวดหลัง

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ

ดิฉันชื่อ …..อายุ 40ปี มีบุตร 3 คนทุกคนผ่าออกค่ะ และเมื่อประมาณสิบปีก่อนดิฉันได้รับอุบัติเหตุตกจากรถมอร์เตอร์ไซด์ และศีรษะกระแทกพื้นหลับไปประมาณ 3 วันและหลังจากฟื้นขึ้นมาสูญเสียความทรงจำคือไม่เป็นตัวเองไม่รู้จักตัวเองไม่รู้จักทุกคนรอบตัวอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ และหลังจากนั้นก็กลับมาเป็นคนเก่าปกติค่ะ คุณหมอวินิจฉัยว่าดิฉันเป็นปลายประสาทอักเสบสามทางคือ ทางการทรงตัว กลิ่น รส ดิฉันอยู่โรงพยาบาลประมาณหนึ่งเดือนเต็ม และกลับมาพักฟื้นที่บ้านอีกสองเดือนกว่าก็เริ่มเดินได้ปกติ(ไม่สั่น) แต่กลิ่นและรสก็ยังมีเพี้ยนอยู่บ้าง และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ดิฉันไม่ได้ทานยาเกี่ยวกับที่เป็นอีกเลย ไม่เคยไปเช็ค เพราะไม่เคยรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อช่วงอายุเกือบสี่สิบนี้ เริ่มมีการปวดหลังครั้งแรกเมื่อปีก่อน เกิดอาการปวดหลังมาก เดินเกือบไม่ได้มันปวดร้าวบริเวณเอวด้านหลังไปจนถึงก้นกบ ก็ทานยาคลายเส้น+แก้ปวดอยู่สองสัปดาห์ เลิกใส่รองเท้าส้นสูง เลิกสะพายกระเป๋าหนัก(ซึ่งทำมาตลอดก่อนจะปวดหลัง) ก็หายจนมาถึงขณะนี้ดิฉันมีอาการปวดขาปวดตั้งแต่ก้นกบข้างซ้ายมาจนถึงข้อเท้า เริ่มจากมันตึงมากจนกระทั่งปวด ยันเท้าลงพื้นไม่ได้เต็มที่มันจะเจ็บมากบริเวณต้นขาด้านหลังกับน่องด้านหลัง และบางครั้งเอามือกดลงไปไม่ได้แรงมากนัก ก็เจ็บด้วยค่ะ ตอนนี้ทานยา นอร์จิสิก กับ เซเรเบร็กซ์ คู่กัน สองสับดาห์แรกทาน นอร์จิสิกกับนิดอลวันละสองมื้อ ทานยามาเข้าสัปดาห์ที่สามแล้ว ยังไม่หายค่ะ คุณหมอมีความคิดเห็นหรือข้อแนะนำอย่างไรบ้างคะ อีกอย่างค่ะดิฉันเป็นเส้นเลือดขอดที่ขาด้วย แต่เป็นเส้นเลือดเล็ก ๆ นะคะขึ้นเป็นกลุ่มก้อน และเป็นริดสีดวงด้วยค่ะ ไม่ทราบว่าสาเหตุมาจากอะไรแน่ และงานของดิฉันต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ค่อนข้างนานในแต่ละวันค่ะ

ขอขอบพระคุณมากนะคะ

…………………………………………

ตอบครับ

เอาเรื่องปวดหลังอย่างเดียวก่อนนะครับ ส่วนริดสีดวงและเส้นเลือดขอดขอเป็นโอกาสหน้าก็แล้วกันนะ

1. อาการปวดหลังร้าวจากเอวไปก้นกบ และปวดตั้งแต่ก้นกบไปจนถึงข้อเท้า เป็นอาการยอดนิยมที่เรียกกันว่าปวดหลังส่วนล่างหรือ low back pain ไม่เกี่ยวอะไรกับที่คุณประสบอุบัติเหตุจนสูญเสียรูปรสกลิ่นเสียงเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่อาการปวดหลังส่วนล่างนี้มีสาเหตุได้แยะมาก แบ่งได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่คือ

a. กล้ามเนื้อและเอ็น (fibromuscular) เช่นท่าร่างไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้ออยู่ในท่าตึงหรือล้านานเกินไป มีอาการปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก

b. โคนเส้นประสาทโดนกด (radiculopathy) ซึ่งอาจโดนกดโดยหมอนรองกระดูก หรือเงี่ยงกระดูกก็ได้ หรือโดยกล้ามเนื้อกด (เช่นกรณี piriformis syndrome) มีอาการปวดร้าว แปล๊บๆ หรือชา หรือปลายมือเท้าอ่อนแรงร่วมดัวย

c. แกนประสาทสันหลังโดนกด (myelopathy) มีอาการกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ร่วมด้วย

d. การอักเสบหรือเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง หรือกระดูกกระเบนเหน็บ ด้วยสาเหตุต่างๆเช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

e. โรคจับฉ่าย ซึ่งเป็นที่อื่นไม่เกี่ยวกับระบบกระดูกสันหลัง เช่นมะเร็งแพร่กระจายมา เป็นฝีวัณโรคแถวกระดูกหลัง อักเสบติดเชื้อ เป็นต้น

จะเห็นว่าสาเหตุมันเยอะแยะแป๊ะตราไก่ สุดปัญญาที่ผมจะวินิจฉัยคุณทางอากาศได้ ถ้าทำอย่างไรก็ไม่หาย ผมว่าไปหาหมอกระดูกหรือหมอกายภาพบำบัดน่าจะดีกว่านะครับ

2. ผมแนะนำขั้นตอนแก้ปัญหาให้คุณดังนี้

2.1 ฝึกท่าร่างใหม่ แขม่วพุง หลังตรง ยืดอก ตลอดเวลา การทำเช่นนี้เป็นการฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้ช่วยพยุงกระดูกสันหลัง จะทำให้หายปวดได้

2.2 ออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและกล้าเนื้อหน้าท้อง หรือพูดง่ายว่าเล่นกล้าม (strength training) วิธีง่ายๆคือหัดรำกระบองตามป้าบุญมี ซึ่งผมลอกวิธีของคุณป้าเขามาไว้ในบล็อกนี้แล้ว คุณหาอ่านเอาเอง หรือถ้าคุณมีเงินมากอาจไปโรงยิมและจ้าง trainer ให้ฝึกการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้คุณก็ได้

2.3 ไม่ต้องใช้ยา เพราะเกือบทั้งหมดมันเป็นเองหายเอง

2.4 อย่านอน ให้ฝืนทำกิจกรรมโดยไม่ต้องสนใจอาการ ถ้าไปจำกัดกิจกรรมเพราะกลัวมีอาการ จะทำให้จบลงด้วยการมีโอกาสเป็นปวดหลังเรื้อรังมากกว่า กฎสำหรับคนปวดหลังคือห้ามอ้างปวดหลังแล้วนอนพักเกิน 48 ชั่วโมง

2.5 การประคบร้อนหรือประคบเย็นช่วยบรรเทาปวดและตึงได้

2.6 การบีบนวดช่วยบรรเทาอาการได้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และดีเทียบเท่าการรักษามาตรฐาน (มาตรฐาน หมายถึงไปหาหมอ กินยา ทำกายภาพ)

2.7 ในแง่การใช้ยา ยา Cerebrex (celecoxib) และยา Nidol (nimesulide) ต่างก็เป็นยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ระงับเฉพาะเอ็นไซม์ COX-2 ที่ก่อการอักเสบ แม้ว่าจะกัดกระเพาะน้อยกว่ายารุ่นเก่าแต่ก็กัดอยู่ และจัดเป็นยาที่มีพิษต่อไตและต่อหัวใจสูง ไม่ควรใช้ต่อเนื่องหลายวัน ควรใช้บรรเทาอาการเฉพาะวันที่อาการมีอาการมากจนทนไม่ไหวเท่านั้น

2.8 ให้เวลารักษาตัวเองสัก 3-6 เดือน ถ้าไม่ดีขึ้น ก็ต้องไปหาหมอแล้วละครับ

นพ.สันต์ .ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Straus WL, Ofman JJ. Gastrointestinal toxicity associated with NSAIDs : epidemiology and economic issues. Gastroenterol Clin N Am 2001; 30:895-919.

2. Vane JR, Botting RM. Mechanism of action of NSAIDs. Am J Med 1998;104(3A):2S-8S.

3. Silverstein FE, Faich G, Goldstein J, et al. Gastrointestinal toxicity with celecoxib vs NSAIDs for osteoarthritis and rheumatoid arthritis;the Class study. A randomized controlled trial-Celecoxib Long-term Arthritis Safety Study. JAMA 2000; 284:1247-55.