Latest

Multiple Myeloma มะเร็งพลาสมาเซล

สวัสดีคับอาจารย์

ผม …. อยู่กระบี่ อยากปรึกษาสักหน่อย แม่ผมเป็นมะเร็ง MM ให้คีโมแล้วหนึ่งคอร์ด เมือวันที่ 23 พค ส่งผลเลือดไปตรวจ ผลออกมา immunofixation electrphoresis TFE igG lambda Negative หมายความว่าอย่างไร และคุณหมอที่นครศรีฯ ให้คีโมตัวใหม่ โบดิโซมิบ คุณหมอช่วยให้คำปรึกษาหน่อยคับ

ขอบคุณคับ

…………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนอื่นผมขอเล่าโรคของคุณแม่ของคุณให้ผู้อ่านท่านอื่นได้ทราบปูมหลังก่อนนะ โรคนี้เรียกเต็มยศว่า Multiple Myeloma แปลว่ามะเร็งของเซลเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซล (plasma cell) ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่แบบเบาสุดที่เรียกว่า monoclonal gammopathy of unknown significance หรือ MGUS ไปจนถึงหนักสุดก็มือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด plasma cell leukemia โรคนี้นอกจากจะมีการแบ่งตัวของพลาสมาเซลแบบระเบิดเถิดเทิงจนไปเบียดให้เม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง เกร็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย และตัวเซลอาจจับกันเป็นก้อนเรียกว่า plasmacytomas ทำให้เห็นเป็นโพรงเนื้ออ่อนอยู่ในกระดูกและปวดกระดูก นอกจากนี้แล้ว ปกติพลาสมาเซลมีหน้าที่ผลิตโมเลกุลภูมิคุ้มกัน พอตัวมันเป็นมะเร็งมันก็ผลิตเปะปะแทนที่จะเป็นโมเลกุลภูมิต้านทานดีๆแต่กลายเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ M-protein ออกมาในเลือดมากมาย ทำให้ใช้เป็นตัววินิจฉัยโรคได้ การผลิตภูมิคุ้มกันแบบไม่สมบูรณ์ออกมานี้ทำให้ร่างกายไม่มีแรงสู้เชื้อโรค ทำให้ติดเชื้อง่าย ทำให้เลือดข้น และไตพัง โรคนี้บรรเทาอาการได้ แต่รักษาให้หายไม่ได้ครับ

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. Immunofixation electrphoresis แปลว่าการตรวจเลือดด้วยวิธีเอาไฟฟ้าผ่านเลือดเพื่อให้โมเลกุลโปรตีนชนิดต่างๆซึ่งวิ่งตามกระแสไฟฟ้าไม่เท่ากันแยกตัวออกจากกัน ในโรคนี้เขาตรวจหาโมเลกุลภูมิต้านทานชนิด IgG ซึ่งวิ่งเกาะกลุ่มแยกเป็นพวกต่างหากเรียกว่ากลุ่ม lambda โมเลกุลพวกนี้ผลิตออกมาโดยเซลมะเร็งพลาสมาเซล กรณีของคุณแม่คุณเขารายงานว่าตรวจแล้วไม่พบ (negative) ก็หมายความว่าโรคสนองตอบต่อยาเคมีบำบัดที่ให้ไปเป็นอย่างดีมากๆ

2. ในแง่ของการใช้เคมีบำบัด โรคนี้ต้องคอยให้เคมีบำบัดน็อคมะเร็งมันเรื่อยไป มียาให้เลือกใช้แยะมาก ยา bortezomib ที่คุณเล่าให้ฟังนั้น ปกติหมอเขาจะใช้เป็นไม้สุดท้าย โดยใช้ควบกับยาทาลิโดไมด์ (thalidomide) ซึ่งงานวิจัยใหม่ๆพบว่าสูตรนี้ได้ผลแม้ยาเก่าอื่นๆจะไม่ได้ผลแล้ว นอกจากเคมีบำบัดแล้ว ในภาพรวม การรักษายังมีทางเลือกอื่นให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอายุไม่มาก ทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่งคือการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ซึ่งทางเลือกนี้อาจไม่เหมาะกับคุณแม่ของคุณเพราะท่านอายุมากแล้ว

3. ผมแนะนำว่าสิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมกรณีคุณแม่ของคุณคือ

3.1 ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

3.2 ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวม IPD

3.3 ดื่มน้ำให้มากเข้าไว้ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะจะทำให้ไตพังได้ง่ายๆ

3.4 ถนอมไตให้ถึงที่สุด อย่าใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAID) เปะปะเพราะยานี้อันตรายต่อไต อย่าให้หมอฉีดสารทึบรังสีเพื่อการวินิจฉัยใดๆเพราะทำให้ไตพังได้ชะงัดนัก โรคนี้ถ้าไตพังก็คือเดี้ยงและลำบากมาก ไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้มา

3.5 ป้องกันกระดูกหักสุดชีวิต ให้ท่านขยันเดินออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงทุกวัน ปรับปรุงทางเดินในบ้านให้ดี เอาของเกะกะออกไป ติดไฟให้สว่างพอเพียง เอาพรมปูพื้นที่มีขอบให้สะดุดออกไปให้พ้นทางเดิน มีราวให้จับในตำแหน่งที่ควรมี และปรึกษาหมอว่าการใช้ยา bisphosponate ป้องกันกระดูกหักในกรณีของคุณแม่จะมีประโยชน์ไหม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์