Latest

บ้านหมุนมา 13 ปี

สวัสดีคะคุณหมอ

ไมเกรนและน้ำในหูไม่เท่ากัน ทั้ง 2 โรคมีความแตกต่างอย่างไร และคนหนึ่งคนสามารถที่จะเป็นทั้ง สองอย่างนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อ 13 ปีก่อน ดิฉันเคยเวียนหัว หรือเรียกว่าบ้านหมุน อยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ไม่ได้หาหมอ เพราะว่าไม่สามารถเดินทางไปได้ พอหายก็ไปหาแต่หมอก็ไม่พบสาเหตุ ได้แต่ถามว่าประจำเดือนมาปกติหรือเปล่า (เพราะว่ามีอาการอาเจียนร่วมด้วย)ดิฉันก็ตอบว่ายังโสด คุณหมอก็บอกได้แค่ว่า อาจจะเป็นไมเกรน ไปหาหมอ รพ. 3 แห่งแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ถามคำถามเดียวกันตลอด ว่าประจำเดือนคุณมาปกติหรือเปล่า แล้วก็ไม่ตอบอะไรมากกว่า จ่ายยาเพียงอย่างเดียว ดิฉันก็เลยไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี ดิฉันก็จะปวดหัวมาตลอด (ไม่ใช่บ้านหมุน) แต่จะเป็น ๆ หาย ๆ แล้วก็จะง่วงนอนบ่อยทั้ง ๆ ที่นอนตื่นสายมาก แต่ก็ยังมีอาการง่วงนอนบ่อย ๆ จนกระทั่งผิดสังเกต ก็เลยไปพบหมอ(ต่างประเทศ) หมอก็สั่งตรวจเลือด จนพบว่าดิฉันเป็น ฮาชิโมโต แล้วตอนนี้ก็ทานยาอยู่ L-Thyroxin 50 ทุกวัน อาการก็ดีขึ้น ทานยาได้ประมาณ 3 ปี กว่าแล้ว ระยะหลังดิฉันมีอาการบ้านหมุนขึ้นอีกอย่างน้อยปีละครั้ง แต่มันก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ อาการมีดังนี้
1 อาการบ้านหมุนเมื่อจะลุกจากที่นอน ต้องนอนอยู่ในท่าหน้าตรง หลังจากนั้นจะมีอาการมือข้างขวาเริ่มชา และแขน ต่อไปยังมือและแขนข้างซ้าย
2 นอนตะแคงได้ข้างซ้ายเท่านั้นในตอนแรก เท่านั้น(ใน2ปีแรก) แต่ตอนนี้ เวลานอนถ้าตะแคงซ้ายก็ไม่สามารถนอนหน้าตรงหรือตะแคงขวาได้ แต่ถ้านอนหน้าตรงก็ไม่สามารถตะแคงซ้ายหรือขาวได้ หรือว่าถ้านอนตะแคงขวาก็ไม่สามารถนอนหน้าตรงหรือตะแคงซ้ายได้เลย ทั้งหมดจะสามารถตะแคงได้ก็ต่อเมื่อจะต้องลืมตาขึ้นมอง
3 เวลานอนจะรู้สึกได้เลยว่าเหมือนว่าศีรษะอยู่บนน้ำ เมื่ออาการดีขึ้น (หลังจากได้รับการฉีดยาให้หยุดอาเจียน)ไม่ทราบเหมือนกันว่าหมอฉีดยาอะไรไป
4 หลังจากหายอาการเวียนหัวแล้ว (ดีขึ้นแล้ว) ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ปกติ แต่ว่าจะมีอาการมึนงงตลอดเวลาเป็นอยู่ 3 อาทิตย์ ทานยาแก้วิงเวียนก็ไม่สามารถทำให้หายไปได้
5 ไม่สามารถถือของหนัก(ประมาณ 1-2 กก) ได้เป็นเวลานาน หรือแม้แต่สะพานกระเป๋าได้เป็นเวลานาน เพราะว่าจะทำให้เกิดอาการปวดหัวและเวียนหัวได้
6 อาการเวียนหัว ตอนที่เป็น จะไม่ชอบแสงสว่าง และเสียงที่ดังรบกวน จะทำให้มีอาการมากขึ้น
7 ตัวเย็น และอาเจียนไม่หยุด และมีอาการชาที่มือขวาตามที่ได้บอกข้างต้น
8 ขณะที่เป็นเวลาหลับตาจะรู้สึกได้ว่าตาของตนเองจะมองเห็นของระยะใกล้เป็นระยะไกล แต่พอลืมตาจะปกติ (แต่เมื่อก่อนเคยเห็นระยะใกล้เป็นไกล้ในเวลามองไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันและกลางคืน)
9 เมื่อ 2 ปีก่อนเคยทำการตรวจหู เพื่อสาเหตุอาการบ้านหมุน เพราะว่าคิดว่าน่าจะเป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ผลตรวจปกติดี
10 อาการที่บอกมาทั้งหมด จะมีอาการลมออกหู ในหูข้างซ้าย ได้ยินเสียงสัญญาณเหมือนคลื่นไฟฟ้าในหูข้างขวา แต่จะมีอาการก่อนหลายวันก่อนจะมีอาการบ้านหมุน หลังจากมีอาการแล้วก็ยังจะมีเสียงอยู่บ้านครั้งคราว แต่จะไม่มีลมออกหู
11 อาการที่บอกมาทั้งหมดเป็นมาร่วม 2 เดือน และก่อนหน้านี้ 3 วัน เวลาสระผม มือจับที่ศีรษะด้านซ้ายเพื่อจะสระผม จะเกิดอาการวิงเวียน ทำให้จะต้องก้มหน้าน้อย ๆ และพยายามสระผมให้เร็วที่สุด และต้องจับศีรษะด้านซ้ายให้เบามือที่สุด
เขียนมาซะยาวเลย ก็ต้องรบกวนคุณหมอช่วยให้ความรู้ด้วยนะคะ

……………………………

ตอบครับ

1. ไมเกรน (migraine) กับน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นคนละโรคกันครับ กล่าวคือ

1.1 ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะในกลุ่มไม่ทราบเหตุ ที่มีอาการเป็นเอกลักษณ์คือปวดหัวแบบตึ๊บๆ (vascular headache) ปวดครั้งหนึ่งกินเวลา 4-72 ชม. มักมีอาการนำ (aura) ที่เกิดจากการเสียการทำงานของระบบประสาทเป็นการชั่วคราวเช่นเห็นแสงสีวูบวาบ มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มักเป็นข้างเดียว มักเป็นกรรมพันธุ์ มักมีอาการแพ้แสง นอนไม่หลับ และซึมเศร้า ร่วมด้วย

1.2 น้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière disease) เป็นโรคความผิดปกติของหูชั้นใน ที่อยู่ๆน้ำในหู (endolypmphatic system) ก็เกิดมีความดันสูงขึ้น น้ำในหูนี้ร่างกายขังไว้ในช่องจำกัดมีรูเลี้ยวต่อไปมาหากันได้เพื่อใช้วัดทิศทางการเคลื่อนไหว เมื่อมีเหตุอะไรก็ตามทำให้ความดันน้ำนี้สูงขึ้น ก็จะมีอาการหูตึง เวียนหัวบ้านหมุนเป็นๆหายๆ มีเสียงวิ๊งๆในหู และแน่นหู สาเหตุที่ความดันน้ำในหูสูงขึ้นอาจเกิดจากการบาดเจ็บ จากยา จากการติดเชื้อ จากโรคพยาธิ จากไขมันในเลือดสูง จากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง การเสียดุลสารเกลือแร่ จากฮอร์โมน ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาโดยหาสาเหตุไม่พบ

1.3 ยังมีอีกโรคหนึ่งที่คุณควรทราบไว้ เรียกว่า โรคเวียนหัวชั่วคราวเพราะท่าร่าง หรือ BPPV ซึ่งย่อมาจาก benign paroxysmal positional vertigo – BPPV คือมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนประเดี๋ยวประด๋าวตอนหันคอหรือเปลี่ยนท่าร่าง พอพักสักครู่ก็หายไป หรือหันหน้าเร็วๆแล้วเป็น บางทีหมอบางคนก็เรียกง่ายๆว่าโรคมีก้อนนิ่วที่น้ำในหู

2. คนหนึ่งเป็นสองโรคก็ได้ครับ แต่มีคนดวงซวยขนาดนั้นไม่มาก

3. อาการที่คุณเล่ามามีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดสองอย่างคือ (1) ไฮโปไทรอยด์จาก Hashimoto thyroiditis ซึ่งยังไม่หายดี (2) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

4. ผมแนะนำให้คุณทำเป็นลำดับดังนี้

4.1 กลับไปหาหมอที่รักษาไทรอยด์ให้คุณก่อน ตรวจประเมินให้แน่ใจว่าฮอร์โมนไทรอยด์กลับมาปกติแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ว่าได้ลดระดับมาปกติหรือยัง ถ้ายังก็ต้องรักษาให้เข้มข้นให้ปกติก่อน เพราะตราบใดที่ฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ปกติ จะประเมินอาการเวียนหัวว่าเกิดจากอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลย

4.2 เมื่อไทรอยด์ (TSH, FT4) ปกติแล้ว ค่อยไปหาหมอหูคอจมูก เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือเปล่า วิธีตรวจที่ให้คำตอบสุดท้ายเรียกว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหูชั้นใน (electrochochleography – ECOG) ต้องได้ตรวจชนิดนี้เรื่องจึงจะจบว่าใช่หรือไม่ใช่

4.3 ถ้าผลการตรวจสรุปว่าไม่ใช่โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คราวนี้ก็ตัวใครตัวมันละครับ เพราะจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ได้ ต้องตรวจเพื่อแยกโรคไปที่ละรายการดังนี้

4.3.1 ตรวจเลือด CBC เพื่อวินิจฉัยแยกโลหิตจางและมะเร็งเม็ดเลือดซึ่งทำให้บ้านหมุนได้

4.3.2 ตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อแยกโรคเบาหวานซึ่งทำให้เกิดอาการแบบนี้ได้

4.3.3 ตรวจเลือดดู ESR (erythrocyte sedimentation rate) และ ANA (antinuclear antibody) เพื่อแยกโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเช่น SLE, รูมาตอยด์ เป็นต้น

4.3.4 ตรวจเลือดดู VDRL เพื่อวินิจฉัยแยกโรคซิฟิลิสกินเส้นประสาท

4.3.5 ตรวจ CT หรือ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยแยกเนื้องอกในสมอง โดยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องหู (acoustic tumor) และภาวะอัมพาต อัมพฤกษ์

5. กระบวนการตรวจทั้งหมดนี้จะยืดเยื้อเรื้อรังแน่นอน ในระหว่างนี้ให้คุณดูแลตัวเองดังนี้

5.1 ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอถึงระดับหนักพอควรทุกวัน

5.2 ระวังอย่าพาตัวเองไปอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งความสามารถในการทรงตัวเป็นอย่างสูง เช่นปีนเขา เพราะไม่รู้ว่าอาการบ้านหมุนมันจะมาเมื่อไร

5.3 หลีกเลี่ยงอาหารหรือสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเช่น เกลือ กาแฟ บุหรี่ ชอกโกแลต แอลกอฮอล์ บริเวณที่มีเสียงดัง หรือสถานะการณ์ที่เครียด

5.4 ลดอาหารไขมันและคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะของหวาน ซึ่งจะเป็นต้นเหตุให้ไขมันในเลือดสูง

5.5 ฝึกหัดการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย รายละเอียดผมเคยเขียนไปในบล็อกนี้แล้วหลายครั้ง คุณหาอ่านเอาเองได้

5.6 ในกรณีที่ใช้ยากดอาการเวียนหัว (vestibulosuppressants) ควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการและใช้เป็นช่วงสั้นๆ ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้ร่างกายเสียทักษะที่จะชดเชยความบกพร่องของหูชั้นใน ยาพวกนี้ก็เช่น diazepam [Valium], lorazepam [Ativan], alprazolam [Xanax], Betahistine (Serc) เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Sajjadi H, Paparella MM. Meniere’s disease. Lancet. Aug 2 2008;372(9636):406-14.