Latest

อายุ 21 ปีไม่มีประจำเดือน

เรียน น.พ.สันต์ ที่เคารพ ค่ะ
ดิฉันมีหลานสาวเธออายุ 21 ปีแล้วยังไม่มีประจำเดือนเลย มีข้อมูลดังนี้ค่ะ
1. เพศหญิง อายุ 21 ปี
2. ส่วนสูง 160 ซ.ม.
3. น.น. 105 ก.ก.
4. ความดันโลหิต ประมาณ 90-100
5. เคยไปพบแพทย์โดยตรวจอัลตราซาวด์และตรวจภายในเมื่อประมาณ4ปีที่แล้ว แพทย์ไม่พบสาเหตุและแนะนำให้ไปตรวจที่กรุงเทพ แต่น้องเขาไม่ไปแล้ว คงจะเข็ดหลาบเพราะน้องเขาไม่เคยตรวจแบบนั้น เป็นคนขี้อายมากด้วย
6. มารดาเสียชีวิตอายุ 48 ปี ด้วยโรคเบาหวาน , โรคไต
มีคำถามดังนี้ค่ะ
1. รบกวนทราบรายละเอียดและขอคำแนะนำจากคุณหมอค่ะ
2. ถ้าปล่อยไว้แบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น มีโอกาสที่จะมีประจำเดือนตามธรรมชาติไหมค่ะ
3. จากรายการ the symptom วันที่ 2 ต.ค.2554 ตอนมะเร็งเต้านม มีคำถามเพิ่มเติมค่ะ ว่าระหว่างเต้านมเล็กกับใหญ่
มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเท่ากันหรือไม่ค่ะ
ขอขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงที่เสียสละเวลาตอบ ซึ่งคำตอบของคุณหมอมีความแตกต่างจากท่านอื่นๆคือ ตอบได้ครอบคลุมทุกสาเหตุ เพราะการเกิดโรคไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว บางครั้งผู้ถามให้ข้อมูลไม่ละเอียดพอ คุณหมอก็ตอบให้ทุกสาเหตุเลย ผู้ถามก็สามารถเลือกนำไปใช้ประโยชน์ได้
ด้วยความเคารพอย่างสูง
……………………………………………………..

ตอบครับ

1. สูง 160 ซม. นน. 105 กม. คำนวณดัชนีมวลกายได้ 41 ก็จัดว่าเป็นโรคอ้วนร้ายแรง (morbid obesity) แล้วนะครับ เรียกว่ายังไม่ทันสอบถามอาการก็ได้มาหนึ่งโรคแล้ว

2. อายุ 21 ประจำเดือนไม่เคยมาเลยตั้งแต่เกิด เรียกว่า primary amenorrhea มีสาเหตุที่เป็นไปได้ดังนี้

2.1 เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยการเจาะเลือดดูฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทรอยด์ (FT4)

2.2 เป็นโรคฮอร์โมนเพศชายมากเกิน ซึ่งอาจถูกผลิตมาจากหลายแห่ง เช่น

2.2.1 โรคถุงน้ำหลายใบที่รังไข่ (polycystic ovarian syndrome – PCOS) พิสูจน์ได้จากการทำอุลตร้าซาวด์ดูรังไข่ กรณีของหลานสาวคุณนี้เคยทำอุลตร้าซาวด์มาแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ ก็ไม่น่าจะใช่โรคนี้

2.2.2 เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งตั้งหน้าผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมา

2.2.3 เนื้องอกแบบก้อนตันที่รังไข่ (ovarian tumor)

2.3 เกิดจากสะเตียรอยด์มากเกิน (Cushing syndrome) ซึ่งอาจได้จากกินเข้าไปในรูปของยา โดยเฉพาะยาสมุนไพรหรือยาลูกกลอน หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตที่ตั้งหน้าตั้งตาผลิตสะเตียรอยด์ ซึ่งพิสูจน์ได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนสะเตียรอยด์ในน้ำลายตอนดึก หรือในเลือด หรือในปัสสาวะที่เก็บตลอดวัน

2.4 โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary adenoma) ซึ่งมักผลิตฮอร์โมนหลายตัวไปรบกวนการทำงานของร่างกายทั่วไปหมด เช่นผลิตฮอร์โมนโปรแล็คตินไปกระตุ้นต่อมน้ำนมทำให้น้ำนมไหลโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หรือผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (ACTH) ไปทำให้ต่อมหมวกไตผลิตสะเตียรอยด์มากขึ้น ซึ่งถ้าเจาะเลือดแล้วมีโปรแล็คตินหรือ ACTH สูงหมอก็จะสงสัยโรคนี้และจะตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อพิสูจน์

2.5 โรครังไข่ไม่ทำงาน (ovarian failure) ซึ่งอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือมีพันธุกรรมที่ทำให้รังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมน เช่นโรค Turner syndrome

3. ปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ดีไหม จะเกิดอะไรขึ้น ตอบว่าไม่ดีครับ ถ้าคุณดูสาเหตุ ส่วนใหญ่หากปล่อยไว้ก็มีแต่จะเป็นมากขึ้น (เช่นเนื้องอกต่างๆ) อย่างน้อยโรคอ้วนระดับนี้ ถ้าปล่อยไว้รับประกัน..อยู่ได้ไม่นาน ควรได้รับการแก้ไข

4. ปล่อยทิ้งไว้ประจำเดือนจะมาไหม ตอบว่ายากส์ เพราะเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มายังอยู่

5. ถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ต้องกลับไปหาหมอละสิครับ เป็นคนไข้มัวอายหมอก็ลำบากแล้ว ไปหาหมอคนเดิม ที่เดิมนั่นแหละ จะได้ไม่ต้องไปตรวจสิ่งที่ตรวจไปแล้วซ้ำสองอีก ไปต่อยอดบนเรื่องเก่าเลย ว่าที่คุณหมอว่าจะส่งไปรักษาที่อื่นนะ ตอนนี้พร้อมแล้วคะ จะให้ไปไหนดีคะ แล้วไหนละคะจดหมายส่งตัว ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกส่งไปไกลถึงกรุงเทพ โรคแบบนี้โรงพยาบาลศูนย์ใกล้บ้านก็รักษาได้สบายมาก

6. เรื่องนมใหญ่นมเล็กคุณจะรู้ไปทำไมครับ เพราะใหญ่หรือเล็กก็ต้องป้องกันมะเร็งเหมือนกันอยู่ดี แต่เอาเถอะ เมื่อถามมาก็ตอบให้ได้ ข้อมูลที่วงการแพทย์มีชัดเจนคือหญิงอ้วนเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าหญิงไม่อ้วน งานวิจัยติดตามผู้หญิงแปดหมื่นกว่าคนโดยสำรวจเบอร์บราเซีย (bra cup size) ไว้ตั้งแต่ตอนเป็นสาว พบว่าในบรรดาหญิงอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 25) ด้วยกัน ขนาดของเบอร์บราเซียใหญ่เล็กไม่มีผลต่ออัตราเป็นมะเร็งเต้านม แต่ในบรรดาหญิงที่ไม่อ้วน พบว่าคนที่ใช้บราเซียขนาดใหญ่มาก (size D ขึ้นไป) มีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนที่ใช้บราเซียขนาดเล็กมาก (size A ลงมา)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kusano AS, Trichopoulos D, Terry KL, Chen WY, Willett WC, Michels KB. A prospective study of breast size and premenopausal breast cancer incidence. Int J Cancer. 2006 Apr 15;118(8):2031-4.