Latest

สมองเสื่อมขี้หลงขี้ลืม

คุณหมอสันต์คะ

ได้อ่านบทความเรื่องการเป็นผู้ดูแลคนป่วยเรื้อรังของคุณหมอแล้วถูกใจมาก ตัวเองก็อยู่ในฐานะผู้ดูแลคุณแม่อยู่ ได้เห็นความทุกข์ของคุณแม่จากการที่ท่านขี้หลงขี้ลืมอย่างหนักแล้วก็อดเป็นห่วงตัวเองเมื่ออายุมากขึ้นไม่ได้ อยากถามคุณหมอว่ามีวิธีใดที่เชื่อถือได้ว่าจะป้องกันสมองเสื่อมในวัยสูงอายุได้บ้างคะ

ขอบคุณมากค่ะ

…………………………………………

ตอบครับ

อย่าว่าแต่คุณเลยครับ ผมก็กลัวเป็นคนขี้หลงขี้ลืมเหมือนกัน ตอนหนุ่มทำงานยุ่งๆขับรถไปซื้อของแล้วเคยลืมเมียไว้ที่ร้านขายของแต่เมียก็ให้อภัยว่าสามีทำงานหลายอย่าง (multitasking) จึงกลายเป็นตลกที่ได้คะแนนไป แต่พอแก่ตัวแล้วนี่ ทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างเหมือนตอนหนุ่มๆเลย มันกลับลืมอะไรง่ายมาก ต้องคอยจดคอยท่องไว้จึงจะเอาตัวรอดได้ แต่ผมก็ยังดีกว่าพยาบาลของผมคนหนึ่งนะครับ ลูกเธอไม่สบาย เธอไปเปิดตู้เย็นจะเอายาพาราเซ็ตตามอลให้ลูกทาน พอหยิบยาได้เธอก็ทานมันเองซะเลย แล้วดื่มน้ำตามเสร็จเรียบร้อย.. ท่าทางเธอจะอาการหนักกว่าผมแยะแฮะ

ถามว่ามีอะไรป้องกันสมองเสื่อมได้จะๆเจ๋งๆไหม ตอบว่า หลักฐานเท่าที่วงการแพทย์พอมี มีดังนี้ครับ

1. การให้ร่างกายได้รับวิตามินบี. 12 และกรดโฟลิก ให้พอเพียง เพราะทั้งสองตัวนี้เป็นปัจจัยคุมไม่ให้ระดับของกรดอามิโนซึ่งมีพิษต่อเซลประสาทตัวหนึ่งชื่อโฮโมซีสเตอีน (homocysteine) สูงเกินไป เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าถ้าโฮโมซีสเตอีนสูง ก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มาก งานวิจัยทำที่แคนาดาพบว่าผู้สูงอายุที่ได้กรดโฟลิกจากอาหารหรืออาหารเสริมพอเพียงจะเป็นอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ งานวิจัยสุ่มตัวอย่างให้ผู้สูงอายุทานกรดโฟลิกเสริมวันละ 800 mcg เทียบกับยาหลอกนานสามปีพบว่ากลุ่มที่ทานกรดโฟลิกเสริมมีความจำดีเทียบได้กับคนที่หนุ่มสาวกว่าตน 5.5 ปี อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่ออกซ์ฟอร์ดใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ตามดูคนที่สมองเสื่อมสองกลุ่มคือกลุ่มที่ให้ทานกรดโฟลิก วิตามินบี.6 และวิตามินบี.12 กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ให้วิตามินมีอัตราการหดตัวของเนื้อสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก สำหรับคนไม่ชอบทานวิตามินเป็นเม็ด วิตามินบี.12 มีมากในอาหารหมักหมักๆเหม็นๆเช่นกะปิ น้ำปลา ปลาร้า พืชผัก และถั่วต่างๆซึ่งเมื่อทานเข้าไปแล้วจะถูกบักเตรีในลำไส้ย่อยเป็นวิตามินบี.12 ส่วนกรดโฟลิกก็มีมากในถั่วต่างๆ ผักต่างๆเช่นคะน้า กะหล่ำ ผักโขม ผักกาด และผลไม้เช่นส้ม สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ

2. การให้ร่างกายได้รับไขมันโอเมก้า 3 มากพอ งานวิจัยที่ชิคาโกซึ่งติดตามดูผู้สูงอายุ 7 ปีพบว่าคนที่ทานปลามากหรือทานน้ำมันปลาเสริมมีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ทานปลาน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสมองเสื่อมไปแล้วน้ำมันปลาก็อาจจะช่วยไม่ได้ เพราะอีกงานวิจัยหนึ่งใช้วิธีสุ่มตัวอย่างคนที่เป็นอัลไซเมอร์แล้ว แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทานน้ำมันปลาเสริมเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งให้ทานยาหลอก พบว่าอัตราเพิ่มความรุนแรงของสมองเสื่อมไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการทานปลา หรือน้ำมันปลา จึงมีผลช่วยป้องกันมากกว่ารักษาสมองเสื่อม

3. ให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียง สมองเสื่อมเกิดจากการอักเสบของเซล เมื่อใดก็ตามที่มีการอักเสบ เมื่อนั้นจะเกิดอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนท์ สารต้านอนุมูลอิสระอันได้แก่วิตามินเช่นวิตามินเอ. เบต้าแคโรทีน วิตามินซี. วิตามินอี. และสารอื่นเช่นซีสเตอีน กลูต้าไทโอน กรดไลโปอิค แอนโทไซยานิดินส์ โคเอ็นไซม์คิวเทน และเมลาโทนิน จึงอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกันสมองเสื่อม เช่น งานวิจัยที่ยูท่าซึ่งทำให้คนสูงอายุ 4740 คนพบว่าการให้ทานวิตามินอี. 1000 mcg ควบกับวิตามินซี. 1000 mcg มีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมน้อยลง สำหรับคนที่ไม่ชอบทานวิตามินเป็นเม็ด สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านนี้มีมากในผักและผลไม้ ถ้าอยากได้ต้องทานผักผลไม้มากๆอย่างน้อยวันละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป

4. ความเครียดทำให้สมองเสื่อมเร็ว งานวิจัยในสัตว์พบว่าคอร์ติซอล (สะเตียรอยด์) ที่เพิ่มขึ้นเพราะความเครียดไปทำให้เซลสมองเสื่อม การพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้ดี จึงเป็นวิธีป้องกันสมองเสื่อมอย่างหนึ่ง

5. การออกกำลังกายทำให้สมองเสื่อมช้าลงแน่นอน มีงายวิจัยสนับสนุนมาก เช่น งานวิจัยหนึ่งสุ่มตัวอย่างศึกษาเปรียบเทียบพบว่าผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรอย่างสม่ำเสมอนาน 1 ปี จะมีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสโตขึ้นและความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่เพียงแค่ออกกำลังกายแบบยืดเส้นยืดสายที่ไม่ถึงระดับหนักพอควร

6. การฝึกสมองประลองเชาว์ก็ช่วยได้ การศึกษาเชิงระบาดวิทยาทำให้เราทราบว่าคนที่เรียนหนังสือมากหรือนานหลายปี จะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนเรียนน้อย เด็กที่มีไอคิวสูง โตขึ้นจะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าเด็กที่ไอคิวต่ำ คนที่มีงานอดิเรกมาก โดยเฉพาะงานอดิเรกที่กระตุ้นการใช้ปัญญา จะเป็นสมองเสื่อมน้อย หลักฐานเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อว่าการลงทุนสร้าง “ปัญญาสำรอง” หรือ cognitive reserve ไว้ด้วยการฝึกสมองประลองเชาว์บ่อยๆ ทำให้เป็นสมองเสื่อมน้อยลง

7. งานวิจัยพบว่าคนขี้หลงขี้ลืมหรือเป็นอัลไซเมอร์มีสารเคมีซึ่งเป็นตัวรับส่งสัญญาณที่ปลายประสาทชื่ออะเซติลโคลีน (acetylcholine) ต่ำกว่าปกติ ยารักษาอัลไซเมอร์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในปัจจุบันนี้จึงล้วนเป็นยาในกลุ่มยาต้านตัวทำลายอะเซติลโคลีน เพื่อหวังผลให้มีอะเซติลโคลีนใช้ในสมองมากขึ้น ปัจจุบัน FDA อนุมัติให้ใช้ยากลุ่มนี้แล้วสี่ตัวคือ tacrine (Cognex), donepezil (Aricept), rivastigmine (Exelon), and galantamine (Razadyne)ซึ่งหมอมักให้คนเป็นสมองเสื่อมทานกันเกือบทุกคน

ทั้งเจ็ดประเด็นคือหลักฐานเท่าที่วงการแพทย์มีว่าอะไรจะป้องกันหรือทำให้สมองเสื่อมช้าลงได้บ้าง ซึ่งคุณเลือกเอาไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. S. Seshadri et al.. Plasma homocysteine as a risk factor for dementia and AD. N Engl J Med, vol 346(7), pp. 476-483. (2002)
2. van Dam F, van Gool, WA;HyperHomocysteinemia and Alzheimer’s disease: A systematic review. Archives of Gerentology and Geratrics, 2009: 48: 425-430.
3. Smith AD, Refsum H; Vitamin B-12 and cognition in the elderly. Am J Clin Nutr, 2009: 89(2):707S–11S; Tangney C et al., Biochemical indicators of vitamin B12 and folate insufficiency and cognitive decline. Neurology, 2009;72(4):361–7.
4. Durga J, van Boxtel MP, Schouten EG et al; The effect of 3-year folic acid supplementation on cognitive function in older adults in the FACIT trial: a randomized, double blind, controlled trial. Lancet, 2007; 369(1):208-216.
5. Aisen PS, Schneider LS, Sano M, Diaz-Arrastia R et al; High-dose B vitamin supplementation and cognitive decline in Alzheimer disease. JAMA, 2008; 300(15):1774–83
6. Quinn JF, Raman R, Thomas RG, et al; Docosahexaenoic acid supplementation and cognitive decline in Alzheimer disease: a randomized trial. JAMA, 2010; Nov 3;304(17):1903-11.
7. Birks J. and Grimley Evans J. ‘Ginkgo biloba for cognitive impairment and
dementia’, Cochrane Database Syst Rev, (2):CD003120 (2007).
8. Gottlieb S. Mental activity may help prevent dementia. BMJ. 2003; 28; 326(7404): 1418.
9. Ott A, van Rossum CT, van Harskamp F, van de Mheen H, Hofman A, et al. Education and the incidence of dementia in a large population-based study: The Rotterdam Study. Neurology. 1999;52:663–666.
10. Whalley LJ, Starr JM, Erickson KI, Voss MW, Prakash RS, Basak C, Szabo A, Chaddock L, Kim JS, Heo S, Alves H et al. “Exercise training increases size of hippocampus and improves memory.” PNAS, 2011.DOI:10.1073/pnas.1015950108
11. Athawes R, Hunter D, Pattie A, et al. Childhood mental ability and dementia. Neurology. 2000;55:1455–1459.
12. Verghese J, Lipton RB, Katz MJ, Hall CB, Derby CA, et al. Leisure activities and the risk of dementia in the elderly. N Engl J Med. 2003;348:2508–2516.
13. Stern Y. What is cognitive reserve? Theory and research application of the reserve concept. J Int Neuropsychol Soc. 2002;8:448–460.