Latest

โปรไบโอติกส์ (Probiotics)

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ขอถามเกี่ยวกับพวกอาหารเสริมที่มีคนมาชักชวนให้ทานคือ Probiotics ในโบรชัวร์แจ้งว่า มี จุลินทรีย์ดังนี้ Lactobacillus acidaphilus, Lactobacillus Casei, Bifidobacterium bifidus, Bifidobacterium infantis, Bifidobacterium longum, Lactococcus lactis เป็นแบบผงละลายน้ำเย็น หนูลองทานดูแล้วพบว่าช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น คือ ถ่ายเป็นเวลาทุกวัน อุจจาระเป็นเส้นยาวแบบไม่เคยเป็น แต่หนูสงสัยว่าถ้าทานพวกนี้ทุกวัน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างจุลินทรีย์ ดีๆ ได้เองมั๊ยคะ สาเหตุที่ไม่ทานยาคูลย์ที่อร่อยกว่าและประหยัดตังค์กว่าเยอะ คือ ไม่ต้องการทานน้ำตาล และ รู้สึกว่าร่างกายย่อยนมได้ไม่ดี

…………………………………………………………….

ตอบครับ

1. โปรไบโอติกส์ (probiotics) แปลตรงๆก็คือจุลินทรีย์ที่ช่วยเรา โดยคำนิยามที่เป็นที่ตกลงกันในทางอนามัยและและทางอาหารและการเกษตร (WHO & FAO) คำว่าโปรไบโอติกหมายถึงจุลินทรีย์ที่หากกินเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย นอกจากนมเปรี้ยวที่รู้จักกันดีแล้ว โปรไบโอติกนี้มีในอาหารของคนทุกชาติทุกภาษา โดยเฉพาะอาหารหมักๆเหม็นๆ เช่น “ถั่วเน่า” ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของคนเหนือ เป็นต้น

2. ถามว่าทานโปรไบโอติกส์ชนิดแคปซูลทุกวันจะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ตอบว่าหลักฐานทางการแพทย์ปัจจุบันยังมีไม่มากพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ครับ แต่ความรู้สึกทั่วๆไปในวงการแพทย์รู้สึกว่าจุลินทรีย์ในกลุ่ม lactobacilli และ bifidobacteria นั้นค่อนข้างปลอดภัย จริงอยู่เคยมีรายงานคนไข้ที่ทานโปรไบโอติกแล้วเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากเชื้อบาซิลลัสบ้าง ติดเชื้อบาซิลลัสในกระแสเลือดบ้าง ติดเชื้อท่อน้ำดีอักเสบบ้าง แต่นั่นก็เป็นรายงานที่น้อยมากจนน่าจะสรุปเบื้องต้นว่าเป็นสองเรื่องมาเกิดพร้อมกันมากกว่าที่จะเป็นเพราะกินโปรไบโอติกส์แล้วทำให้เกิดโรค

3. ถามว่าควรจะซื้อโปรไบโอติกส์ที่เขาเอามาเชียร์ขายทานประจำไหม อันนี้ตัวใครตัวมันแล้วครับ ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์มากพอที่จะแนะนำให้เด็ดขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งว่่าควรหรือไม่ควร คุณใช้ดุลพินิจของคุณเองก็แล้วกันนะครับ

4. ผมขออนุญาตแทรกความเห็นของผมเองนะครับ ปัจจุบันนี้มีสารพัดของขายซึ่งจะนิยามว่าเป็นยาก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอาหารก็ไม่เชิง เช่นพวกวิตามินและอาหารเสริมต่างๆรวมทั้งโปรไบโอติกส์นี้ด้วย มีคนพยายามตั้งชื่อของพวกนี้ว่าเป็น “ลูกครึ่งอาหารและยา” (nutraceuticals) ความที่เป็นลูกครึ่งจึงเล็ดลอดการควบคุมเชิงกฎหมายไปได้อย่างสบายๆไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไทยหรือเมืองฝรั่ง คำถามของคุณกังวลในประเด็นความปลอดภัย (safety) ซึ่งเป็นประเด็นที่วงการแพทย์ไม่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญนักเพราะในภาพรวมสารลูกครึ่งอาหารและยาเหล่านี้ตัวมันเองมีความปลอดภัยดีพอควร สิ่งที่วงการแพทย์สนใจคือประเด็นที่ว่ามันได้ผลหรือเปล่า (efficacy) เพราะจนถึงปัจจุบันสารเหล่านี้ยังไม่เคยมีตัวไหนได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลดีต่อสุขภาพจริงตามคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ (health claim) ทั้งนี้ไม่นับการทำวิจัยอะล็อกก๊อกแก๊กในคนร้อยสองร้อยคนที่ผู้ผลิตจ้างให้ทำเพื่อสนับสนุนงานขายซึ่งวงการแพทย์ถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำ เมื่อแพทย์ไม่รู้ว่าดีจริงหรือไม่ ภาระการใช้ดุลพินิจจึงตกไปอยู่กับผู้บริโภคว่าจะ “เก็ท” คำโฆษณาสักแค่ไหน พวกสารลูกครึ่งอาหารและยานี้เป็นผลประโยชน์ทางการค้าระดับมหึมา และเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ทำอาชีพขายตรงซึ่งอาจจะเป็นคนทำงานต้องการรายได้เสริม คนตกงาน แม่บ้าน ฯลฯ ผู้ขายสารเหล่านี้มักจะเดินหน้าขายลุยถั่วกันจนสุดโต่ง ตัวอย่างเช่นนายจอห์น คล็อด คอลัมนิสต์ของนิตยสารไทม์ได้เขียนเล่าไว้ในไทม์ฉบับวันที่ 10 ตค. 54 ว่าเขาไปเข้าตรวจสุขภาพเพื่อรับวิตามินและอาหารเสริมแบบเจาะจงเฉพาะคนที่สถาบันสุขภาพอูซานาที่ซอลท์เลคซิตี้ หลังจากตรวจเลือดตรวจร่างกายแล้วเขาได้รับวิตามินและอาหารเสริมต่างๆมาให้ทานวันละ 22 เม็ด เช้า 8 เม็ด กลางวัน 6 เม็ด เย็น 8 เม็ด และเมื่อผ่านไปได้ 6 เดือนเขาทานไปแล้วมากกว่า 3,000 เม็ด และจ่ายค่าวิตามินและอาหารเสริมเหล่านี้ไปถึง 1,200 เหรียญสหรัฐหรือ 37,200 บาท โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าทั้งหมดนี้จะทำให้เขาสุขภาพดีขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้นสำหรับผู้บริโภคที่ชอบ “เล่น” กับสารลูกครึ่งอาหารและยาก็ควรจะระวังว่าควรเล่นกันแต่พอดี ไม่ใช่เล่นกันแบบไม่รู้จะไปจบที่ไหน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Adams MR, Marteau P : On the safety of lactic acid bacteria. Int J Food Micro 1995;27: 263-264.
2. Mackay AD, Taylor MB, Kibbler CC, Hamilton-Miller JMT. Lactobacillus endocarditis caused by a probiotic organism. Clin Microbiol Infect 1999; 5: 290-292.
3. Richard V, Auwera P, Snoeck R, Daneau D, Meunier F. Nosocomial bacteremia caused by Bacillus species. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 1988; 7: 783-785.
4. Spinosa MR, Wallet F, Courcol RJ, Oggioni MR. The trouble in tracing opportunistic pathogens: cholangitis due to Bacillus in a French hospital caused by a strain related to an Italian probiotic? Microb Ecol Health Dis 2000; 12: 99-101.