Latest

ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4.

เรียน อาจารย์ครับ
สวัสดีครับอาจารย์ ผมตอนนี้เป็นนักศึกษาแพทย์กำลังเรียนชั้นปีที่ 4 อยู่ครับ ช่วงน้ำท่วมนี้ มหาวิทยาลัยหยุดให้ผมมา 1 สัปดาห์ ผมได้ใช้เวลาว่างมาถามตัวเองว่า ผมโตขึ้น ผมอยากเป็นหมอแบบไหน อยากทำอะไรให้คุณค่าแก่โลก แก่มนุษย์บ้าง ผมได้นั่งอ่านบทความทางการแพทย์ของอาจารย์ ใน blog ประทับใจมากครับ ได้ทวนความรู้ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ และวิธีในการอธิบายแก่ผู้ป่วยให้เข้าใจง่ายมากขึ้นครับ
จึงอยากขอคำแนะนำอาจารย์ดังนี้ครับ
1.อาจารย์เป็นอาจารย์แรกๆ ที่มีความรอบรู้ในศาสตร์ทางการแพทย์อื่นๆ อย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะศัลยศาสตร์ทรวงอกเท่านั้น อาจารย์พอจะมีวิธีแนะนำการเรียน อย่างไรครับ ที่จะทำให้สามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ ได้ เพราะ ผมเวลาเรียน เราอยู่ ward ไหน เราก็มีความรู้ตอนนั้น สอบจบความรู้เริ่มหาย พอไปอยู่ ward อื่น ความรู้เดิมก็เริ่มหายไป ครับ อาจจะพอมีความแม่นในเรื่องที่เราถนัดเท่านั้นครับ
2.ผมได้อ่าน บทสัมภาษณ์อาจารย์ เกี่ยวกับโครงการการลดต้นทุนในการผ่าตัดหัวใจ ครับ ผมได้มานั่งถามตัวเองว่า วันนี้ที่เราเรียน เรารักษาคนไข้นั้น เราก็เรียน ปฏิบัติตามที่ textbook บอก อาจารย์, แพทย์ประจำบ้านแนะนำ เรายังไม่เคยเริ่มคิดเลยว่า การรักษา/ระบบสาธารณสุขที่เป็นอยู่เช่นนี้ต้องมีการพัฒนาอะไรบ้าง อาจารย์พอมีคำแนะนำในขณะเรียนบ้างไหมครับว่า เราต้องเริ่มหัดคิดเช่นไร
3.อยากสอบถามอาจารย์เรื่องสุดท้ายว่า ในมุมมองอาจารย์ ในอนาคต แพทย์ควรมีคุณลักษณะอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับวิทยาการ สังคม และผู้ป่วยในอนาคตครับ และทักษะ คุณสมบัติเหล่านี้ แพทย์รุ่นใหม่ควรเริ่มพัฒนาตนเองอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ

…………………………………………………

ตอบครับ

1. ถามว่าจะเรียนอย่างไรให้รอบรู้ในวิชาแพทย์หลายๆสาขา ผมตอบให้คุณได้ แต่คุณเอาวิธีของผมไปใช้แล้วสอบตกผมไม่รับผิดชอบนะ เพราะการจะเรียนให้สอบได้ง่ายๆนั้นคุณต้องหัดจำข้อมูลก่อนเข้าห้องสอบให้ได้มากที่สุด แล้วรีบลืมไปให้เร็วที่สุดเมื่อเดินออกจากห้องสอบ เพื่อจะได้ล้าง RAM อันจำกัดจำเขี่ยไว้จำวิชาอื่นที่จะสอบวันต่อไป แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ผมใช้เรียน มาฟังวิธีเรียนของผมดีกว่านะ เรื่องมันยาว เริ่มจากที่มาที่ไปก่อน คือ

(1) ผมเป็นเด็กนิสัยเสียคือชอบ “ง่วน” คือทำอะไรแล้วจะง่วนอยู่นั่นแล้ว คนอื่นจะไปไหนจะเอาหัวเดินต่างตีนอย่างไรผมก็ยังง่วนอยู่นั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่นคืนหนึ่งเราเตรียมสอบวิชา microbiology กัน เพื่อนๆเขาก็ติวกันเป็นประเด็นๆหัวข้อสำคัญๆแต่ผมง่วนอ่านหนังสือตำราของ Davis แล้วไปเอะใจกับฟุตโน้ตเล็กๆอันหนึ่งความยาวสักสามบรรทัดได้ ซึ่งเล่าเรื่องการคำนวณปริมาตรของของเหลวที่อยู่ใต้หัวเลนส์ high power field (HPF) ของกล้องจุลทรรศน์ ว่าข้อมูลจำนวนเซลที่นับได้ต่อ HPF มันเชื่อมโยงไปถึงความแน่นของเซลต่อหน่วยปริมาตรของของเหลวใต้หัวเลนส์ HPF นั้นอย่างไร ผมใช้เวลาครึ่งคืนตีความตรงนี้จนเข้าใจกระจ่างและ “แล้วใจ” แต่คุณคิดว่าผลสอบวิชานี้ในวันรุ่งขึ้นของผมจะเป็นไง คงเดาออกใช่ไหมครับ ในการเรียนเตรียมแพทย์ จึงบางวิชาที่ผมไปง่วนผิดที่ (Old Physics) มีผมได้ F อยู่คนเดียว คนอื่นเขาผ่านไปหมด แต่ก็มีบางวิชาถ้าผมง่วนถูกที่ (biology) ก็จะมีผมได้ A อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้หายไปไหนหมด

(2) ผมเป็นเด็กหัวไม้ คือไม่ค่อยเชื่อครู ตอนเรียน preclinic ครูทำชีทภาษาไทยมาแจกผมอ่านแล้วไม่เชื่อ (ขอโทษนะครับคุณครู..แต่มันหมดอายุความแล้ว) ผมเห็นว่าเรื่องจริงมันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ผมจึงลงทุนไปอ่านตำราเอง แต่ว่าตำราภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเตรียมแพทย์มันอ่านง่ายซะเมื่อไร ผมต้องไปตั้งต้นสนามหลวงหัดอ่านภาษาอังกฤษใหม่ ผมเป็นนักเรียนเตรียมแพทย์คนเดียวที่สละเงินเดือนๆซึ่งได้แค่เดือนละ 400 บาทซื้อหนังสือ Time มาแกะอ่าน ซึ่งสมัยนั้นราคาตกเล่มละ 22 บาทแล้ว อ่านไปแต่ละหน้ามีศัพท์ไม่รู้แยะมากต้องเปิดดิกแล้วเขียนภาษาไทยกำกับไว้จนดำพรืดไปหมดทั้งหน้า ทนลำบากเพื่อจะได้รู้ภาษาอังกฤษแล้วอ่านตำราได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งคำแปลของครู เลยกลายเป็นคนมีนิสัยแบบว่าครูสอนไปทาง แต่ผมอ่านไปอีกทาง ครูตีความอย่างหนึ่ง แต่ผมตีความอีกอย่างหนึ่ง เป็นอย่างนี้อยู่ประจำ

(3) มีเหตุการณ์เล็กครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผมไปมาก คือตอนนั้นเราขึ้นเรียนคลินิกแล้ว อาจารย์ศัลยแพทย์ท่านหนึ่งอายุเกือบหกสิบแล้ว ท่านบินไปสอนวิชายูโรให้เรา (ผมเรียนที่หาดใหญ่) ผมจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าท่านรูปร่างสูงใหญ่แบบฝรั่งและเรียนจบแพทย์มาจากอังกฤษ ขณะพักระหว่างเรียนเราคุยกันถึงการคำนวณความเข้มข้นของแคลเซียมไอออนเป็นมิลลิโมลจากน้ำหนักของเกลือแคลเซียมคลอไรด์ที่จะฉีดให้คนไข้ ซึ่งต้องย้อนไปใช้วิชาของนักเรียนมัธยมปลายที่ตั้งต้นด้วยน้ำหนักอะตอมของแคลเซียมและคลอไรด์ ซึ่งผมลืมไปหมดแล้ว ผมจึงหันไปถามอาจารย์ยูโรแก้ขวยเพราะรู้อยู่แล้วว่านี่ไม่ใช่วิชาของท่าน ทั้งตัวท่านก็แก่เกินแกงที่จะมาคำนวณน้ำหนักโมเลกุลแล้ว แต่กลับปรากฏว่าอาจารย์อธิบายหลักการให้ผมได้เป็นฉากๆ แถมบอกน้ำหนักอะตอมของแคลเซียมและคลอไรด์จากสมองของท่านให้ผมอีกด้วย ผมตะลึง ตะหลึ่ง ตึ่ง ตึ้ง กลับมาหอพักคืนนั้นผมนอนตาค้างเลย การที่เราคิดว่าเราเป็นคนฉลาดเหลือเกิน เรียนแล้วเมื่อไม่ใช้ก็รีบลืมไปซะ แล้วเรียนของใหม่ไปเรื่อยๆ นั้นไม่ใช่เลย เราเป็นคนโง่ต่างหาก ความรู้ที่ขาดกระท่อนกระแท่นแบบนั้นในที่สุดจะเอาไปทำอะไรได้ คนที่ฉลาดตัวเป็นๆที่สามารถเชื่อมโยงและจดจำข้อมูลทุกวิชาและสานเข้าหากันได้นั้นมีให้เห็นแล้ว ก็อาจารย์ยูโรท่านนี่ไง ท่านอายุจะหกสิบแล้วยังคำนวณน้ำหนักโมเลกุลได้ไฟแล่บยังกะเด็กมัธยม ผมนี่มันโง่จีจีเลย

ด้วยแบ๊คกราวด์ทั้งสามข้อนี้ วิธีเรียนของผมจึงไม่เหมือนชาวบ้าน คือผมเรียนแบบ

(1) มุ่งเอาความรู้ที่จะเอาไปใช้งาน ไม่มุ่งเอาคะแนน ใครจะได้ที่หนึ่งหรือจะได้ A กี่ตัวผมไม่สน ถือเสียว่าถ้ามีความรู้ยังไงอย่างเบาะๆก็ได้ C แหงๆ ไม่ต่ำกว่านั้น แต่เชื่อไหมครับ วิธีนี้คะแนนผมดีขึ้นเรื่อยๆนะ จากที่โหล่ก็ค่อยๆตีตื้นขึ้นมา แม้ว่าตอนจบจะไม่ได้ที่หนึ่งแต่เทอมท้ายๆก็มียอดแหลมของตัว A โผล่มาให้เห็นเป็นตับ นี่ถ้าเขาต่อเวลาเรียนจาก 6 ปีไปเป็น 12 ปีผมว่าเผลอๆผมจะได้ที่หนึ่งเอานะเออ

(2) ผมเรียนจากปัญหาของคนไข้ที่เห็นในขณะนั้น ไม่สนใจว่าขณะนั้นกำลังเรียนวิชาอะไร ผมอยู่สูติแล้วคนไข้ของผมมีปัญหาหัวใจล้มเหลว ผมตื่นแต่เช้าไปดักพบพี่เด้นท์ Med แล้วซักถามเขาเรื่องหัวใจล้มเหลว คุยไปคุยมาจนพี่เขาเอะใจว่าคนไข้คนไหนว่ะที่เอ็งพูดถึง จึงได้รู้ว่าโธ่..ไอ้นี่ตอนนี้ไม่ได้ขึ้น Med ดอก อยู่ที่สูติโน่น แล้วเอ็งจะรีบมาเรียนเรื่องของ Med ไปทำไม เดี๋ยวก็สอบตกหรอก

(3) ผมไปเรียนที่สาขาไหนก็เลียนแบบหมอสาขานั้นและ “อิน” ไปกับเขาด้วย เข้าไปรู้เรื่องของเขาให้ลึกซึ้งและสนุกไปกับเขา เห็นพี่เด้นท์กำลังซึมหรือซีเรียสเรื่องคนไข้ผมไม่ละโอกาสที่จะเข้าไปใส่ไฟ อย่างนั้นดีไหมพี่ อย่างนี้ได้ไหมพี่ ไปอยู่แผนกกระดูกหน้าที่ของหมอน้อยต้องแบกขา ผมก็แบกมันอย่างตั้งใจราวกับอาชีพของผมจะต้องแบกขาคนไข้ไปตลอดชีวิต จนพี่แผนกกระดูกชวนผมให้เป็นหมอกระดูก ไปสาขาไหนผมก็พยายามลอกแบบครูในสาขานั้นทุกอย่างที่ลอกได้เลียนได้ เห็นครูกระดิกหูเราก็กระดิกหูไปด้วย (เพื่อนผมคนหนึ่งทำได้จริงๆ แต่ผมทำไม่ได้เพราะไม่มีเส้นบ้าที่กกหูอย่างเขา) การหัดคิดอย่างเขา หัดทำอย่างเขา ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นการทดลองเดินในรองเท้าของเขา มันทำให้เราเข้าใจเขาได้ลึกซึ้งขึ้น และพลอยเข้าใจสาขาวิชานั้นได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย

(4) ผมสร้างความโรแมนติกขึ้นมาผลักดันการเรียนรู้ของตัวเอง คือสมัยเป็นนักเรียนมัธยมผมเคยเป็นพระเอกลิเกนะครับ มันจึงอดจะโรม้านซ์ในทุกเรื่องที่ตัวเองทำไม่ได้ คือผมจะผูกสัมพันธ์กับคนไข้ สร้างไมตรีระหว่างกันขึ้นมา ความรู้สึกที่เราอยากจะช่วยเขาโดยไม่หวังอะไรตอบแทนจากเขา มันเป็นแรงผลักดันให้เสาะหาคำตอบและหาทางเรียนรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไม่รู้เหน็ดไม่รู้เหนื่อย ไม่รู้วันไม่รู้คืน และหลังจากนั้นมันก็จะกลายเป็นความทรงจำที่ดีมาก

2. ถามผมว่าควรจะหัดคิดเช่นไรเมื่อจบไปแล้วจึงจะพัฒนาวิชาชีพให้มันดียิ่งขึ้นไปได้ ไม่ใช่ทำได้แค่ที่เคยท่องจำมา ตอบว่าก็ต้องหัดเป็นหมอธรรมดา หรือ “หมอบ่าดาย” ให้ได้ก่อนสิครับ คุณสมบัติของหมอธรรมดาหรือหมอทั่วไป หรือหมอครอบครัว ก็คือคุณสมบัติพื้นฐานที่คนจะเป็นหมอทุกคนพึงต้องมีก่อน โดยยังไม่นับความชำนาญเฉพาะสาขาที่จะเอามาต่อยอดในภายหลัง ผมไม่ทราบว่าครูของคุณเขาสอนหลักพื้นฐานของเวชศาสตร์ครอบครัวไปบ้างหรือยัง หลักมันมีอยู่สิบอย่าง คือ

2.1 ดูแลให้ต่อเนื่อง (continuous care)
2.2 แบบคนกับคน (personal relation)
2.3 สนใจอัตวิสัย (subjective data) ตรงนี้หมายความว่าฟังเรื่องราว ความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง ของคนไข้บ้าง ไม่ใช่จะฟังหาแต่เสียเมอร์เมอร์อย่างเดียว
2.4 คนไข้เป็นศูนย์กลาง (patient center)
2.5 ส่งเสริม (health promotion)
2.6 ป้องกัน (disease prevention)
2.7 เจาะเฉพาะคน (individualization)
2.8 มุ่งพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (quality)
2.9 สร้างเครือข่าย (networking) หมายถึงเชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อคนไข้ให้มากที่สุด
2.10 ขยายช่องเข้าถึง (access to care) ตรงนี้หมายความว่าต้องหาทางให้คนไข้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายๆทุกรูปแบบที่ภาวะวิสัยเอื้อให้ทำได้

คุณจับหลักของการเป็นหมอธรรมดาสิบข้อนี้ไว้ให้ได้ ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมไหนคุณก็คิดอ่านทำการไปบนกรอบหลักสิบข้อนี้ รับรองว่าคุณจะได้ช่วยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดีขึ้นแน่นอนครับ

3. ถามผมว่าแพทย์ในอนาคตควรมีคุณลักษณะอย่างไรที่แตกต่างไปจากแพทย์ปัจจุบัน คุณถามความเห็นของผมนะ เป็นความเห็นเฉพาะตัว ไม่ใช่หลักวิชาใดๆ ผมตอบว่าตามความเห็นของผมแพทย์ไทยในอนาคตควรมีลักษณะต่อไปนี้ครับ

3.1 เป็นคน ผมไม่ได้หมายควายว่าแพทย์เราทุกวันนี้ไม่ใช่คนนะครับ แต่ความเป็นคนในที่นี้ผมหมายถึงความเป็นคนที่งดงาม (as a decent man) ผมหมายความว่าเป็นคนแบบอ่อนน้อมถ่อมตน โอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ความรัก ชอบให้อภัยคน ทำนองเนี้ยะ ถ้าแพทย์ในอนาคตมีแต่ประเภทที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับที่ว่ามานี้ ผมเชื่อว่าแพทย์เราจะโดนรุมตื๊บจนสูญพันธ์แน่นอน

3.2 พูดภาษาคนรู้เรื่อง คือทุกวันนี้อย่าว่าแต่แพทย์จะพูดกับคนไข้แล้วเขาไม่รู้เรื่องจนต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยครับ กับหมอด้วยกันที่รักษาคนไข้คนเดียวกันยังไม่พูดกันให้รู้เรื่องเลย ตัวเองคิดอะไรก็เขียนลงไปในชาร์ต แต่เจ้ากรรมลายมือนั้นไม่มีใครอ่านออก แม้แต่ตัวคนเขียนมาอ่านทีหลังบางทีก็อ่านไม่ออก คือผมหมายความว่าทักษะที่จะไปในระหว่างบุคคล (interpersonal skill) ของแพทย์ยุคปัจจุบันนี้แย่มาก แน่นอนละครับผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่แย่มากเหล่านั้น ดังนั้นแพทย์รุ่นใหม่จะต้องก้าวข้ามข้อด้อยนี้ไปให้ได้

3.3 มีจุดยืนมั่นคง หมายความว่ามีศรัทธาในวิชาชีพของตน คือวิชาชีพของเราเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แพทย์รุ่นใหม่จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเชื่อในวิทยาศาสตร์ การเป็นนักวิทยาศาสตร์หมายถึงการมีความสามารถที่จะประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆได้และสามารถเลิกวัตรปฏิบัติแบบเก่าๆที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ดีเสียได้ทันที ส่วนประเด็นความเชื่อในวิทยาศาสตร์นั้นพิสูจน์ได้จากการกระทำของเรา ตัวอย่างง่ายๆ คุณลองเหลียวมองไปรอบๆตัวคุณ ทั้งเพื่อนๆพี่ๆและครูอาจารย์ดูสิ ตื่นเช้าขึ้นมามีใครไปออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานตามที่หลักฐานวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าจำเป็นต่อการมีสุขภาพดีบ้าง ตามหลักการศึกษา ความเชื่อหรือการเรียนรู้แสดงให้เห็นในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าเราไม่ทำ แสดงว่าเราไม่เชื่อ นั่นหมายความว่าเราเป็นคนแบบเอาเรื่องที่เราไม่เชื่อไปสอนคนอื่นให้ทำเพียงเพื่อหาเงินมายังชีพเราเหมือนหมอผีรับจ้างท่องมนต์ซึ่งเขาเองไม่เคยเชื่อว่ามันจะไล่ผีได้ คุณว่าคนแบบนั้นจะใช้ได้แมะ

3.4 มีสติ คือแพทย์พันธุ์ปัจจุบันนี้เป็นพันธุ์ปรนัย คิดอะไรฟุ้งสร้าน ถ้าไม่มีข้อมูลมาให้เลือกจะตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่พอมีข้อมูลแยะก็คิดมาก สติแตก จับประเด็นไม่ได้ สรุปไม่ลง ย้ำคิด ย้ำทำ คิดแล้ว ก็กลับมาคิดอีก ชอบคิดเอาเรื่องขี้หมาขึ้นมาเป็นสาระสำคัญทำให้ทะเลาะกับคนไข้ได้ง่ายๆ คือเป็นคนพันธุ์ทุกข์ง่าย สุขยาก รุ่นน้องที่เป็นครูในโรงเรียนแพทย์ท่านหนึ่งบอกผมว่าเกิน 10% ของนักเรียนแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน อยู่ได้ด้วยยาต้านซึมเศร้า ถ้าเทียบกับแพทย์รุ่นครูของผม คือรุ่นอายุเจ็ดสิบขึ้น รุ่นนั้นเขาเป็นรุ่นจิตประสาทดี นิ่ง เนิบ ช้า เย็น แต่หนักแน่นมั่นคง ผมคิดว่าในประเด็นนี้เราต้องกลับไปเรียนรู้จากคนรุ่นเก่า

3.5 ปล่อยลงปลงได้ คือโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา คนไข้ของเราก็เปลี่ยนไปตามกระแสโลก สายตา วาจา การกระทำที่คนไข้มีต่อแพทย์ก็เปลี่ยนไป แต่แพทย์รุ่นปัจจุบันมีความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เคยมีเคยเป็น ไม่อาจปล่อยวางได้ ผลก็คือความขัดแย้งระหว่างเรากับคนไข้ที่จะถ่างให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกันออกไปทุกที กฎหมายชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ที่กำลังจะเข้าสภาเป็นรูปธรรมอันหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว การจะสมานความขัดแย้งนี้ได้ในอนาคต แพทย์รุ่นใหม่จะต้องมีธรรมะในหัวใจ ต้องเข้าใจ “โลกธรรม” ให้ลึกซึ้งเหมือนอย่างที่เราเข้าใจวิทยาศาสตร์

ส่วนที่ถามว่าแพทย์รุ่นใหม่ควรเริ่มพัฒนาตัวเองอย่างไรให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ เออ.. ผมก็ไม่เคยนั่งคิดเหมือนกันแฮะ คุณลองเอาไปคิดไปทำดูก่อนก็แล้วกัน ได้ผลอย่างไรแล้วเขียนมาบอกผมด้วย

อย่างไรก็ตาม กับอาชีพนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง แต่ผมบอกคุณได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าอาชีพแพทย์นี้เป็นอาชีพที่ดีมากอาชีพหนึ่ง การที่คุณได้มาเรียนแพทย์เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง หากเรามองว่าชีวิตที่ดี คือการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ และการได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและต่อโลก ขอให้คุณเดินหน้าต่อไปในอาชีพนี้อย่าได้ท้อถอย และขอให้คุณเรียนจบ อย่าไปทะเลาะกับครูจนสอบตกเสียก่อน จะได้มารับช่วงสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้วงการแพทย์ต่อจากรุ่นพี่ๆ ซึ่งใกล้วันปิดม่านลงหลังเวทีไปเต็มทีแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์