Latest

ปวดน่องในผู้สูงอายุ

กราบเรียน นพ. สันต์

ดิฉันอยากจะเรียนปรึกษาเนื่องจาก สามี อายุ 68 ปี ตอนนี้มีอาการน่องและเท้า บวม และ ปวดที่น่องเวลาเดิน
สามีเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายด้วยการเดิน ซึ่งจะเดินทุกวันๆละ 7 กิโลเมตร สามีมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ เคยหัวใจวายเมื่อสามปีก่อน แต่ตอนนี้ก็พบคุณหมอเป็นประจำ คุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการเดิน ผลการตรวจหัวใจเมื่อสามเดือนที่แล้วทุกอย่างเป็นปกติ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเลยค่ะ แต่เมื่อกลางปีที่แล้ว สามีปวดเข่าข้างขวา ไปเช็คพบว่าน้ำในข้อน้อย แต่ไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่เมื่ออาทิตย์ก่อน วันนึงสามีตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเจ็บน่อง แต่ไม่มากเลยตัดสินใจไปเดินออกกำลังการตามปกติ ซึ่งพอกลับมาจากเดิน แล้วอาบน้ำ น่องก็เริ่มบวมและเป้นก้อนแข็ง เวลาเดินจะเจ็บ พอพักและประคบด้วยน้ำแข็งอาการก็ดีขึ้นนิดหน่อย แต่วันรุ่งขึ้นเค้าก็ไปเดินขึ้นบันไดทางหนีไฟ ระยะทางประมาณสองชั้น วันรุ่งขึ้นขาเลยบวมเป่งเลยค่ะ เดินก็เจ็บ เราเลยไปพบหมอกระดูกและข้อและได้ทำการตรวจดูหลอดเลือดก็ไม่พบการอุดตันใดๆเลยค่ะ อยากทราบกว่าอากาดปวด บวมของน่องน่าจะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้างคะ

ขอบคุณมากค่ะ

…………………………………………..

ตอบครับ

ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปนี้จะช่วยได้มากนะครับ

1. ตอนที่ปวดอุณหภูมิของน่องเป็นอย่างไร ถ้าร้อนจี๋ก็แสดงว่ามีการอักเสบโดยที่หลอดเลือดแดงยังดีอยู่ ถ้าเย็นชืดก็แสดงว่าหลอดเลือดแดงคงจะอุดตันจนเลือดมาเลี้ยงไม่ได้
2. สีของผิวหนังบริเวณที่ปวดเป็นอย่างไร ถ้าซีดแหงแก๋ก็น่าจะเกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน ถ้าสีคล้ำและบวมก็น่าจะเป็นการอุดตันของหลอดเลือดดำ ถ้าแดงแจ๋ก็น่าจะมีการอักเสบจากสาเหตุพิเศษอื่นๆ
3. ลองบีบลงไปบนกล้ามเนื้อน่อง หรือยืดกล้ามเนื้อน่องโดยวิธีกระดกเท้าดู ถ้าบีบแล้วไม่รู้สึกรู้สมอะไรก็แสดงว่าปัญหาไม่ใช่ที่ตัวกล้ามเนื้อ แต่ถ้าบีบแล้วร้องจ๊ากก็แสดงว่าตัวกล้ามเนื้อนั่นแหละที่อักเสบและมีปัญหาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมเดาแอ็กเอาตามข้อมูลเท่าที่คุณให้มา อาการปวดน่องของสามีคุณ มีโอกาสเกิดจากสาเหตุต่างๆมากน้อยตามลำดับดังนี้ครับ

1. ภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาลดไขมัน มีโอกาสเกิดประมาณ 1 ใน 3000 คนที่ใช้ยาลดไขมัน ดังนั้นให้ตรวจสอบกรุยาที่สามีคุณทานอยู่ประจำว่ามียาลดไขมันอยู่ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีให้หยุดทานยาลดไขมัน ไม่ต้องกลัวไขมันจะสูง เพราะไขมันสูงไม่อันตรายเท่ากล้ามเนื้อสลายตัว ส่วนการจะพิสูจน์ว่าเป็นกล้ามเนื้อสลายตัวจริงหรือไม่ต้องไปรพ.แล้วเจาะเลือดดูค่าเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อในเลือด (CPK) ตอนที่ยังปวดๆอยู่

2. หลอดเลือดดำส่วนผิวมีลิ่มเลือดอุดตันและอักเสบ (superficial thrombophlebitis)

3. หลอดเลือดดำที่ขาส่วนลึกมีลิ่มเลือดอุดตันและอักเสบ (deep vein thrombosis) กรณีนี้จะปวดไปทั้งขาและอาการจะรุนแรงมากและตรวจพบการอุดตันได้ด้วยอุลตร้าซาวด์ แต่หมอของคุณตรวจแล้วไม่พบ จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อย

4. โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งแล้วเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ (arterial insufficiency) จะมีอาการที่เป็นเอกลักษณ์คือปวดน่องตอนกำลังเดิน (ไม่ใช่กลับมาปวดที่บ้าน) ซึ่งกรณีสามีของคุณไม่ได้เป็นแบบนี้ จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อย การจะพิสูจน์ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดแดงแล้วถ่ายเอ็กซเรย์ไว้เป็นภาพยนตร์เพื่อดูว่าเลือดวิ่งไปในขาดีไหม ไปติดตรงรอยตีบที่ไหนหรือเปล่า

5. กล้ามเนื้อเป็นตะคริว (muscle cramp) โดยไม่ทราบสาเหตุ มักเป็นบ่อยๆ เวลาเป็นปวดมากจนน่องแข็งและแทบขยับไม่ได้ แต่ไม่มีอาการบวม กรณีสามีคุณมีบวมด้วย จึงมีโอกาสเป็นตะคริวน้อย

6. ปวดกล้ามเนื้อแบบปวดเมื่อยจากการใช้งาน (muscle strain) ซึ่งเกิดเป็นปกติในคนทั่วไปหลังการเดินมากๆ แต่น่องไม่ควรจะบวม กรณีสามีคุณมีน่องบวมด้วย จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุนี้

ผมแนะนำให้หยุดยาลดไขมันแล้วสังเกตอาการไปประมาณ 7 วัน ถ้าอาการปวดน่องไม่หายแสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับยาลดไขมัน ให้กลับไปหาหมอใหม่เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นอะไรแน่ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์