Latest

เรียนมหา’ลัย ไปทำไม

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันเรียนม.6 เป็นแฟนคุณหมอทาง The Symptom ด้วย และเป็นแฟนบล็อกคุณหมอด้วย หันมาสนใจวิชาแพทย์ ทั้งๆที่เดิมตั้งใจจะเรียนวิศวะเพราะชอบคณิตศาสตร์และการคิดคำนวณที่แม่นยำ ดิฉันจับใจความได้จากการตอบคำถามของคุณหมอหลายๆครั้งว่าสาระหลักของวิชาแพทย์อันที่จริงก็เป็นการเอาสถิติที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วมารักษาโรค ดิฉันสรุปถูกต้องหรือเปล่าคะ ถ้าเป็นเช่นนั้น สาระหลักของวิชาแพทย์ก็เหมือนวิชาหมอดูใช่ไหมคะ เพราะหมอดูก็เป็นการเอาสถิติเก่ามาทำนายอนาคต เพียงแต่ว่าแพทย์ใช้วิชาสถิติ แต่หมอดูใช้สถิติแบบไม่เกี่ยวกับวิชาสถิติ

ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าคะ ถ้าดิฉันเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็จะได้กลับไปหาวิศวะเหมือนเดิม

…………………………………………….

ตอบครับ

วิชาแพทย์มีองค์ประกอบสามส่วนใหญ่ๆ คือ

ส่วนที่ 1. คือองค์ความรู้เรื่องกลไกการทำงาน (สรีรวิทยา) ของร่างกายที่ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ หกสิบกว่าอวัยวะ ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นระบบ 12 ระบบ เหมือนกับองค์ความรู้ของช่างเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์ ความรู้เรื่องราวการทำงานของร่างกายนี้เป็นอะไรที่พิสดาร น่าทึ่ง สนุกสนานในการเรียนรู้มาก และมีข้อมูลสั่งสมมามากจนตั้งเป็นทฤษฏีหรือหลักวิธีทำงานของร่างกายได้อย่างแม่นยำ ทฤษฎีเหล่านี้มีพื้นฐานอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักด้านเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ความที่ทฤษฏีเหล่านี้ถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจึงมีความอยู่ตัวและเชื่อถือได้และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยสถิติในอดีต แต่น่าเสียดายที่ความรู้ในส่วนนี้ครอบคลุมเพียงประมาณ 20% ของสิ่งที่เราอยากรู้เท่านั้นเอง สิ่งสำคัญที่เราอยากรู้เช่นทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วยไม่แก่ไม่ตาย ความรู้ส่วนนี้ยังไม่ครอบคลุม

ส่วนที่ 2. คือข้อมูลสถิติจากการทดลองรักษาแบบต่างๆในอดีต คือปัญหาใดที่อาศัยทฤษฎีในส่วนที่ 1 มาตัดสินไม่ได้ เพราะทฤษฏีไม่ครอบคลุม ก็ต้องอาศัยข้อมูลสถิติในอดีตมาช่วยตัดสินใจแทน แต่ก็ใช่ว่าเราจะมีข้อมูลสถิติครบถ้วนทุกประเด็น เพราะหลักสถิติทางการแพทย์เข้มงวดกับการจัดชั้นความเชื่อถือได้ของข้อมูล ต้องเป็นบันทึกผลการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบสองกลุ่มจึงจะถือว่าเป็นสถิติที่เชื่อถือได้ ทำให้สถิติที่เรามีครอบคลุมไม่ถึง 20% ของสถิติที่เราอยากมีทั้งหมด ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆอย่างเช่นกินวิตามินเสริมกับไม่กินอย่างไหนดีกว่ากัน แค่นี้สถิติที่เชื่อถือได้เราก็ไม่มีแล้ว

ส่วนที่ 3. คือส่วนที่เรียกว่าเป็น “ศิลปะ” อันหมายความรวมถึง จริยธรรม คุณธรรม เมตตาธรรม ความสามารถในการใช้ดุลพินิจ ความสามารถในการสื่อสาร ความเชื่อส่วนตัวของหมอ อคติส่วนตัวของหมอ ฯลฯ จะเห็นว่าเมื่อหักเรื่องที่มีทฤษฏีบอกชัดราว 20% ออกไปแล้ว และหักเรื่องที่มีสถิติบอกชัดอีกราว 20% ออกไป ก็ยังเหลือเรื่องที่ไม่มีอะไรบอกว่าควรทำอย่างไรหรือควรไปทางไหนอยู่ตั้ง 60% (เปอร์เซ็นต์ทั้งหลายเนี่ยผมเดาเอาเองนะ ไม่ใช่สถิติจริงๆ) 60% หลังนี่แหละครับ ที่ต้องมาอยู่ภายใต้ส่วนที่เป็น “ศิลปะ” ทั้งหมด แบบว่า..พูดอะไรให้ฟังดูดีไว้ก่อน แล้วรอเวลาให้ดวงพาไปเอง ทำนองนั้น

อนึ่ง การจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จะเรียนวิศวะ เรียนแพทย์ หรือเรียนสาขาอะไรไม่สำคัญหรอกครับ มันสำคัญที่เรารู้ก่อนว่าเราเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร เมื่อผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ พี่เขยของผมซึ่งมีอายุมากกว่าผมราวสองรอบได้พูดกับผมว่า

“รู้ไหมว่าคนเราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่ออะไร” ผมตอบว่า

“ก็เพื่อให้มีวิชาชีพติดตัวไปหากินไงครับ” เขาตอบว่า

“ไม่ใช่ ใครๆก็หากินได้โดยไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย แต่เราเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ว่าเราจะใช้ชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไร”

จนผมจบมาแล้วหลายปีผมก็ยังไม่เข้าใจที่พี่เขยพูด จนผมแก่ตัวลงผมจึงเข้าใจ และเดี๋ยวนี้ผมก็เห็นคนหนุ่มคนสาวจำนวนมากที่ซ้ำรอยเดิมๆเดียวกับผม คือเข้าเรียนและจบออกจากมหาวิทยาลัยมาโดยไม่มีไอเดียเลยว่าชีวิตนี้จะใช้มันอย่างไรให้มีความสุข ผมว่าคุณเอาตรงนี้ให้อยู่ก่อน ส่วนจะเลือกเรียนแพทย์หรือเรียนวิศวะนั้นเรื่องเล็กครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์