Latest

กลิ่นปากและลมหายใจเหม็น

 สวัสดีค่ะ 
หนูอายุ 14 ปี หนูเคยสูบบุหรี่มาประมาณ 2-3 ปีแล้วค่ะ อย่าหาว่าหนูเป็นเด็กไม่ดีนะ เพราะสังคมรอบตัวหนูมันเป็นอย่างนี้ หนูสูบเฉลี่ยวันละครึ่งซอง (สิบมวน) แต่ตอนนี้เลิกแล้วค่ะ คือหนูอยากรู้ค่ะว่าตั้งแต่หนูสูบบุหรี่มา มันก็เริ่มมีเหมือนเสมหะติดคอตลอดค่ะ จนปัจจุบันมันก็ยังมีอยู่ ทั้งๆที่หนูไม่ได้ยุ่งกับบุหรี่แล้วนะคะ ลักษณะมันเหนียวๆ สีขาวขุ่นๆ แล้วหนูก็รู้สึกว่ามันทำให้ปากหนูเหม็นค่ะ ควรทำอย่างไรคะ แล้วมันจะหายมั้ย? ส่วนเรื่องลมหายใจเหม็น หนูเป็นมาหลายเดือนแล้วค่ะ หนูรู้สึกว่าเวลาหายใจมันเหม็นคาว บางทีก็เหม็นเหมือนหนองค่ะ หนูเคยส่องดูในจมูกนะ มันมีตุ่มสีขาวๆ หนูก็ลองแคะดู มันมีกลิ่นเหม็นมากค่ะ เวลาอากาศเย็น ก็จะรู้สึกแสบจมูก อยากรู้มันคืออะไร? แล้วจะรักษายังไง ? แล้วมันจะหายมั้ยคะ?

………………………………………………
        ตอบครับ

        ผมยังไม่ทันพูดอะไร คุณก็ออกตัวว่าไว้เสียแล้วว่าคุณเป็นเด็กไม่ดีเพราะสังคมรอบตัว อย่างนี้นี่เป็นไปตามภาษิตอินเดียโบราณในหนังสือหิโตปเทศ ที่ว่า
        “..คนได้รับความไร้สุขก็ลงเอาเคราะห์
        ผู้โง่เขลาไม่รู้จักโทษการกระทำของตัวเอง”
        ปล๊าว.. ผมไม่ได้ตั้งใจจะเอะอะเอ็ดตะโรอะไรคุณ แต่ จะสอนให้เข้าใจชีวิตว่าชีวิตของคนเราจะสุขหรือทุกข์อย่างไร มันอยู่ที่เราจะสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ย้ำอีกที มันอยู่ที่เรา อยู่ที่ตัว “เรา” ไม่ได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อมข้างนอก ถ้าคุณคิดว่าชีวิตขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมข้างนอก ชีวิตของคุณก็เดี้ยงหรือ “เส็ง” ตั้งแต่บัดนี้และต่อเนื่องไปตลอดกาล ไม่มีวันจะไปบงการกะเกณฑ์ให้อะไรมันดีขึ้นได้เลย เพราะสิ่งที่คุณคุมได้ คือการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของคุณเอง ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมข้างนอก นี่เป็นปรัชญาชีวิตระดับสูงเลยนะเนี่ยจะบอกให้ เหลือแต่ว่าคุณจะเก็ทหรือไม่เก็ทเท่านั้นแหละ ซึ่งส่วนนั้นเป็นเขตอำนาจของคุณ ไม่ใช่ของผม


มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

        ประเด็นที่ 1.สาเหตุ ปัญหากลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจ คำเรียกทางการแพทย์คือ Halithosis คำเรียกของชาวบ้านในภาษาอังกฤษคือ bad breath เป็นปัญหาที่เกิดจากสาเหตุที่หลายหลาก เปรียบได้กับการเป็นไข้ตัวร้อนซึ่งเกิดจากสาเหตุได้สาระพัดสาระเพ แถมบางคนมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุเกิดขึ้นพร้อมกัน เรียกว่าเป็นการประชุมแห่งเหตุ การจะแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องสืบค้นไปให้หมดทุกความเป็นไปได้ บางปัญหาก็แก้ได้ง่ายๆ บางปัญหาก็แก้ได้ยาก คุณต้องตั้งใจอ่านไปทีละสาเหตุให้จบ ดังนี้
        1. สาเหตุในช่องปาก

        1.1 สุขศาสตร์ของช่องปากไม่ดี ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็นคือ
              1.1.1  ไม่แปรงฟัน คือคนขี้เกียจ อย่างดีตื่นนอนเช้าก็เอาน้ำยาบ้วนปากกลั้วปาก แต่ว่ามันแทนการแปรงฟันไม่ได้ เพราะการแปรงฟันช่วยขจัดเอาเคลือบบักเตรีที่อยู่บนผิวฟัน (dental plaque) ออกไป แต่น้ำยาบ้วนปากขจัด dental plaque ไม่ได้
        1.1.2 แปรงฟันไม่ถูกเวลา เวลาที่ควรแปรงฟันคือหลังตื่นนอน (เพื่อขจัด plaque ที่สะสมมาตลอดคืน) และเวลาหลังอาหารทุกมื้อ (เพื่อขจัดเศษอาหารที่เพิ่งทานเข้าไป) 
        1.1.3 แปรงฟันไม่ถูกวิธี คือแปรงแบบถูไปถูมา ถูมาถูไปจนเหงือกพัง การแปรงฟันที่ถูกวิธีต้องเอาขนแปรงแหย่เข้าไปในซอกฟันแล้วปัดขนแปรงออกเหมือนเราใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดขยะออกจากมุมสวน 
         1.1.4  ไม่ได้ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss) คือเศษอาหารที่หลบอยู่ในซอกหลืบบางจุดขนแปรงเข้าไปเขี่ยไม่ได้ ต้องใช้ไหมขัดฟันลากออกมา ทุกคนจึงต้องหัดใช้ไหมขัดฟันให้เป็นนิจสิน
         1.1.5  ไม่ได้แปรงลิ้น เพราะลิ้นของเรานี้มีธรรมชาติเป็นตะปุ่มตะป่ำทำให้บักเตรีไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ได้ง่ายจนมองเห็นเป็นฝ้าขาวไปหมด เวลาแปรงฟันต้องแปรงที่ลิ้นและโคนลิ้นให้เกลี้ยงด้วย


      1.2  กลิ่นจากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บุหรี่ กาแฟ อาหารที่ปรุงด้วยกระเทียม ล้วนทำให้เกิดกลิ่น
       1.3 ฟันผุ แล้วไม่ได้รับการรักษา ทำให้บักเตรีในหลุมผลิตกลิ่นออกมาได้
       1.4 เหงือกอักเสบ
       1.5 รากฟันเป็นฝี(root abscess)


      2. สาเหตุในจมูกและโพรงไซนัส
       2.1  โพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) ทำให้น้ำมูกขังอยู่ในโพรงไซนัส ถ้าขังไว้นานแล้วมีบักเตรีแบบไม่ใช้ออกซิเจนไปเติบโตขึ้นก็จะเน่าส่งกลิ่น ซึ่งบางครั้งก็มีกลิ่นแรง ขอโทษ..เหมือนใครเข้าไปสร้างส้วมไว้ตรงนั้น โรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรังนี้บางครั้งๆเป็นๆหายๆ ช่วงไหนทำตัวดี หมายถึงได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีอาการดีขึ้น ช่วงไหนอดนอนหรือไม่ได้ออกกำลังกายจมูกก็เริ่มโชยกลิ่น นี่เป็นวงจรปกติของโรคนี้ 
      2.2  เยื่อจมูกอักเสบแบบฝ่อ(atrophic rhinitis) คือเยื่อจมูกมีการเปลี่ยนแปลงจากแต่เดิมที่เป็นเยื่อบุทางเดินลมหายใจ (columnar epithelium) ซึ่งมีขน ไปเป็นแบบเยื่อบุผิวหนัง (squamous epithelium) ซึ่งไม่มีขนคอยปัดขี้มูกออกมา ทำให้ขี้มูกตกค้างอยู่ในจมูก จนแห้งเขรอะเกาะติดอยู่บนเยื่อบุจมูก เกิดกลิ่นเหม็นขจรขจายไปไกลได้ สาเหตุของโรคนี้จริงๆก็คือไม่ทราบ ได้แต่เดากันไปต่างๆนานๆ บ้างว่าเพราะฮอร์โมนเพราะมักเป็นในหญิงที่เริ่มเจริญพันธ์ บ้างว่าติดเชื้อเพราะมีเชื้อขึ้นจริงๆส่วนจะเป็นเหตุหรือเป็นผลจากโรคนั้นไม่ทราบ บ้างว่าเพราะขาดอาหาร เพราะมักเป็นกันมากในประเทศยากจนรวมทั้งประเทศไทย บ้างว่าเพราะกรรมพันธุ์เพราะพ่อแม่เป็นลูกก็มักจะเป็น บ้างว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายเยื่อจมูกของตัวเอง บ้างว่าเพราะมลภาวะ เพราะเมื่อทดลองเอาหนูไปอยู่ในสภาพอากาศแย่ๆก็เป็นเยื่อจมูกฝ่อได้ แต่ไม่ว่าของจริงจะเกิดจากอะไร การรักษาก็เหมือนกันหมดคือทำความสะอาดโพรงจมูกแล้วคอยหยอดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกให้ขี้มูกมันอ่อนตัวแล้วออกมาได้ง่ายไม่เป็นคราบหมักหมมอยู่ในนั้น ร่วมกันการปรับโภชนาการเสียให้ดี   


      3.  สาเหตุในปอดและหลอดลม
      3.1  หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักเป็นในคนมีอายุ ประเภทไอสามเดือน มีเสมหะมาก เสมหะส่วนหนึ่งจะแห้งเป็นก้อนเล็กเหมือนก้อนนิ่วเรียกว่า broncholith ค้างอยู่ตามผนังหลอดลม บางครั้งเวลาไอหรือขากแรงๆออกมา ก้อน broncholith นี้จะมีกลิ่นเหม็นออกมาทางลมหายใจได้
      3.2    หลอดลมส่วนล่างพอง (bronchiectasis) เป็นโรคซึ่งหลอดลมท่อนปลายติดเชื้อซ้ำซากเรื้อรังจนพองออกเป็นที่ขังเสมหะไว้จนเสมหะบางส่วนเน่าเหม็นอยู่ในนั้น ทำให้มีกลิ่นออกมาทางลมหายใจได้
      3.3    ฝีในปอด(lung abscess) คือมีการติดเชื้อในปอดจะจากวัณโรคหรือบักเตรีอื่นๆก็แล้วแต่แล้วกลายเป็นฝีมีหนองขังอยู่ในปอดเวลาเอ็กซเรย์ดูจะเห็นเป็นเหมือนลูกปิงปองมีน้ำอยู่ข้างใน น้ำนั้นก็คือเสมหะซึ่งขังอยู่และเน่าเหม็นได้
      3.4     มะเร็งของทางเดินลมหายใจ ซึ่งเกิดได้ทุกจุดนับตั้งแต่ในปาก ในจมูก เพดานจมูก (Ca nasopharynx) คอ กล่องเสียง ปอดและหลอดลม ขึ้นชื่อว่าเป็นมะเร็งก็ย่อมต้องมีเนื้องอกออกมาเร็ว โตเร็ว และเซลตายเร็ว เมื่อเซลตายก็จะเน่าเสียส่งกลิ่น


      4. สาเหตุในทางเดินอาหาร
      4.1  กรดไหลย้อน(GERD) คือหูรูดปิดที่ปลายล่างของหลอดอาหารปล่อยให้อาหารในกระเพาะอาหารขย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้เป็นครั้งคราว ทำให้มีกลิ่นได้
      4.2    แผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ เมื่อมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดนั้นเมื่อขังอยู่ในกระเพาะนานๆจะส่งกลิ่นออกมาทางปากได้
      4.3    ถุงแก้มลิงที่หลอดอาหาร(Zenker’s diverticulitis) หมายถึงหลอดอาหารบางตอนพองออกเป็นถุงแล้วมีอาหารไปตกค้างเน่าเสียอยู่ตรงนั้น
      4.4    มะเร็งของหลอดอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร


      5. สาเหตุจากโรคทั่วร่างกายที่เป็นมากถึงระดับมีกลิ่นออกมา เช่น
      5.1        โรคตับระยะสุดท้ายถึงตับวาย (fetor hepaticus) แล้วมีกลิ่นสารต่างๆที่ตับทำลายไม่ได้ออกมาทางลมหายใจ
       5.2        ไตวายเรื้อรังระยะที่มีกลิ่นสารที่ร่างกายขับไม่ได้เช่นยูเรียออกมาทางลมหายใจ
       5.3         เบาหวานที่เป็นมากจนมีการคั่งของสารคีโตนในร่างกาย ทำให้มีกลิ่นคีโตนออกมาในลมหายใจ
       5.4         กลุ่มอาการกลิ่นปลา (fish odor syndrome) คือคนที่มีพันธุกรรมผิดปกติของเอ็นไซม์ ทำให้ย่อยสารไตรเมทิลเอมีน (TMA) ในอาหารไม่ได้ ทำให้สารนี้คั่งในร่างกายและออกมาทางเหงื่อและลมหายใจ มีกลิ่นเหม็น ยิ่งถ้ากินอาหารพวกไข่ ถั่ว เนื้อ ปลา ยิ่งมีกลิ่นมาก


        6. โรคจมูกหลอน หมายถึงคนที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร ไม่มีกลิ่นปากจริงๆหรอก แต่ปักใจเชื่อว่าตัวเองมีกลิ่นปาก (halithophobia) หรือ delusional halithosis ย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องกลัวตัวเองมีกลิ่น หนักเข้าก็แยกตัว ไม่อยากเข้าใกล้หรือพูดกับคนอื่นเพราะกลัวเขาเหม็นตัวเอง อย่างไรก็ตามในการจำแนกโรคทางจิตเวชวงการแพทย์ไม่ได้จัดเรื่องจมูกหลอนให้เป็นโรค จึงยังไม่มีวิธีรักษาที่เป็นมาตรฐาน ใครที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็ให้รักษาตัวเองไปก่อนก็แล้วกัน

        ประเด็นที่ 2. ที่คุณบอกว่ามีเสมหะเหนียวๆขาวๆขุ่นๆติดคอ มันมาได้สองทาง คือลงมาจากข้างบนกรณีเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือขึ้นมาจากข้างล่างกรณีเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต้องไปหาหมอให้หมอส่องและเอ็กซเรย์ดูจึงจะวินิจฉัยได้ว่ามันมาจากทางไหนแน่ครับ ส่วนที่ถามว่ามันหายได้ไหมนั้น ตอบว่าหายได้ครับ

        ประเด็นที่ 3. ที่คุณบอกว่ามีกลิ่นออกมาทางลมหายใจ ส่องจมูกดูมีตุ่ม แคะออกมาดมดูมีกลิ่นเหม็นมาก เป็นอาการของโรคเยื่อจมูกอักเสบแบบฝ่อ (atrophic rhinitis) แนะนำให้ไปตรวจวินิจฉัยให้แน่กับหมอหูคอจมูก ถ้าเป็นจริงก็ต้องรักษาตามแนวที่ผมเล่าไปข้างต้น ถามว่าหายได้ไหม ตอบว่าอย่างน้อยก็บรรเทาความรุนแรงได้มากครับ ส่วนจะหายขาดหรือไม่นั้นย่อมแล้วแต่เหตุว่ามันเกิดจากอะไร ถ้าแก้เหตุได้ก็หายขาดได้ครับ ถ้าเหตุนั้นเป็นเหตุที่แก้ไม่ได้ (เช่นกรรมพันธ์) ก็ต้องอยู่กับมันไปโดยใช้มาตรการบรรเทา ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่ต้องไปแสวงหาความ 100% หรอกครับ เอาแค่ให้ชีวิตมันพอเดินหน้าไปได้ก็พอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
 1. Bunnag C, Jareoncharsri P, Tansuriyawong P, Bhothisuwan W, Chantarakul N. Characteristics of atrophic rhinitis in Thai patients at the Siriraj Hospital. Rhinology 1999; 37:125-30.