Latest

Bipolar disorder บัดเดี๋ยวเศร้า บัดเดี๋ยวคึก

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ภรรยาของผมอายุ 44 ปี ทำงานบริหาร…. ปกติเป็นคนสุภาพเรียบร้อยพูดน้อยและมีมารยาท ยิ่งช่วงประมาณหนึ่งปีมานี้เธอไม่ค่อยยุ่งกับใครเลย ใครชวนไปเที่ยวไหนก็ไม่ไป เลิกงานมาแล้วก็กลับบ้าน การบ้านลูกแต่ก่อนเคยช่วยก็เลิกช่วย พอสองเดือนมานี้น้องๆในที่ทำงานของเธอกระซิบบอกผมว่าภรรยาชอบพูดในที่ประชุมแบบมากเกินไป บางทีมติเขาลงไปแล้วเธอก็ลุกขึ้นมาคัดค้านจนคนอื่นงงไปหมด ประมาณสองสัปดาห์มานี้เธอกลับบ้านดึกติดๆกันหลายวัน ซึ่งปกติเธอจะทำแบบนี้เฉพาะช่วงปิดงบเท่านั้น แต่นี่ไม่ใช่ช่วงปิดงบ เมื่อผมถามเธอก็เล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่าต้องอยู่เคลียร์ปัญหาของบริษัทเนื่องจากมีการแอบฟอกเงินขนาดใหญ่ และไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด ผมก็ไม่กล้ายุ่งเพราะเป็นงานของเธอ เมื่อหลายวันก่อนเธอกลับมาบ้านด้วยท่าทางลุกลี้ลุกลน และบอกผมว่ามีคนตามสะรอยเธอ ผมจะออกไปดูเธอก็ห้ามกลัวผมจะถูกทำร้าย เธอพูดอะไรหลายอย่างข้ามไปข้ามมาหลายเรื่องจนผมจับประเด็นไม่ได้  คืนนั้นดูเธอนอนไม่หลับทั้งคืน รุ่งขึ้นผมพาเธอไปหาหมอที่คลินิกโดยหลอกว่าให้ไปเป็นเพื่อนผม ผมให้ข้อมูลหมออย่างละเอียดก่อนแล้ว เมื่อเธอได้พบกับหมอก็คุยดีมาก หมอตรวจเธอแล้วก็สรุปว่าเธอไม่ได้เป็นอะไรมาก เพียงแต่เครียดกับปัญหาในที่ทำงานและให้ยาช่วยนอนหลับและยาคลายกังวลมาทาน แต่ทานยาได้สามวันเธอก็ยังพูดมากมายไร้สาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคนตามเธอเพราะเธอกำลังจะเปิดโปงการโกงเงินบริษัท ผมไม่กล้าถามเรื่องนี้กับคนในที่ทำงานเธอเพราะกลัวเป็นเรื่องไม่จริงแล้วเธอจะตกงาน ได้แต่เลียบเคียงถามน้องๆของเธอซึ่งบอกว่าช่วงนี้ที่ทำงานไม่มีอะไรและไม่มีใครต้องอยู่เลท ผมชวนเธอไปหาหมอที่รพ.เธอก็ไม่ยอมไป บอกว่างานยุ่งและไม่ได้เป็นอะไรไม่ต้องห่วง ผมกลุ้มใจแทบบ้าเพราะเป็นห่วงเธอ เป็นห่วงลูก ความจริงผมกลุ้มใจเรื่องภรรยามานานหลายเดือนแล้วละครับ ผมรู้สึกลึกๆว่าเธอไม่เหมือนเดิม เราไม่มีอะไรกันมานานเป็นปีแล้ว แต่นั่นไม่สำคัญครับ ผมเป็นห่วงเธอมากกว่า ผมเคยคิดจะไปพาเพื่อนที่เป็นตำรวจมาบังคับเอาตัวเธอไปโรงพยาบาล แต่ก็กลัวจะมีผลเสียต่อหน้าที่การงานของเธอ คุณหมอว่าเธอเป็นอะไร ผมควรจะทำอย่างไรดี จึงจะช่วยเธอได้     
………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าภรรยาคุณเป็นอะไร ผมก็ได้แต่ “เดาแอ็ก” เอาตามข้อมูลที่ให้มานะครับ ว่าเธอน่าจะป่วยเป็น Bipolar disorder แปลได้ประมาณว่าคือโรคความผิดปกติทางอารมณ์แบบซึมเศร้าสลับกับร่าเริง คือโรคนี้มีเอกลักษณ์คือมีช่วง “โลว์” คือซึมเศร้ายาวนานสลับกับช่วง “ไฮ” คืออารมณ์ขึ้น หงุดหงิดโมโหง่าย หรือโอ่อ่าร่าเริงผิดสังเกต นอนไม่หลับ พูดน้ำไหลไฟดับเป็นเรื่องบ้างไม่เป็นเรื่องบ้าง ตัดสินใจอะไรแบบใจเร็วด่วนได้หุนหันพลันแล่นไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย ความคิดแปรปรวนสับสน จับประเด็นไม่ได้ ในระหว่างช่วงไฮกับโลว์นี้ก็มีช่วงปกติที่ทำงานทำการได้ดีไม่มีที่ติอยู่ด้วย โรคนี้อาจเป็นมากถึงขั้นบ้า (psychosis) หมายถึงหลุดโลกไปเลย ถึงขั้นเห็นภาพ  เสียง ที่คนธรรมดาไม่เห็น หรือเชื่อหรือคิดเรื่องราวเป็นตุเป็นตะที่คนธรรมดาเขาไม่คิดไม่เชื่อกัน ถ้าเป็นหนักหนาขนาดนี้ก็เรียกว่าไบโพลาหนึ่ง (BP-I) แต่ถ้าเป็นแบบแอบๆ ไม่ถึงกับบ้าชัดๆ คือเป็นแค่บัดเดี๋ยวขึ้นบัดเดี๋ยวลงแต่ไม่ถึงกับหลุดโลก ยังเห็น ได้ยิน และคิดเหมือนคนอื่นทั่วไป ก็เรียกว่าไบโพล่าสอง (BPII) 
แต่ของภรรยาคุณนี้น่าจะระดับไบโพล่าหนึ่งแล้วละครับ เพราะตามเกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV-TR) ถ้าจะทึกทักว่าใครเป็นไบโพล่าหนึ่งคนไข้จะต้องมีช่วงซึมเศร้าที่หนักถึงระดับมีผลต่อการงานหรือสังคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ และจะต้องมีช่วงไฮ หรือช่วงมาเนีย (mania) นานหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไปโดยที่ช่วงไฮนี้อย่างน้อยต้องมีอาการสามอย่างในเจ็ดอย่างต่อไปนี้คือ  
(1) ทำตัวใหญ่โตโอ่อ่า (grandiosity
(2) นอนน้อยลง 
(3) พูดมากขึ้น 
(4)  ความคิดกระเจิง (flight of idea)  
(5) สมาธิสั้น  
(6) มุ่งมั่นอะไรสักอย่างผิดสังเกต เช่นเรื่องงาน เรื่องบ้าน เรื่องเซ็กซ์ 
(7) ทำอะไรเพื่อความบันเทิงผิดสังเกตโดยไม่กลัวผลเสียที่จะตามมา
     2.. ถามว่าโรคนี้มันเกิดจากอะไร ตอบว่าไม่ทราบครับ ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้คือคนไข้จำนวนหนึ่งมีความผิดปกติของยีนที่แยกทางห้องแล็บได้แน่ชัด พูดง่ายๆว่าโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม ขณะที่การศึกษาเนื้อสมองของผู้เป็นโรคนี้พบว่าปริมาณเซลสมองในชั้นของ nonpyramidal cell มีจำนวนลดลง จึงคาดเดากันเอาว่าโรคนี้น่าจะเกิดจากความเสียหายต่อเซลสมองในส่วนนี้ ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมอารมณ์โดยตรง
    ในเรื่องสาเหตุของโรคนี้ แม้วงการแพทย์จะยังถือว่าเป็นโรคที่ยังไม่รู้สาเหตุ แต่ผมอยากจะให้คุณถือว่ามันเกิดจากความผิดปกติของเซลสมองส่วนควบคุมอารมณ์ไว้ก่อนครับ เพราะการมองโรคนี้ว่าเป็นโรคซึ่งเกิดจากพยาธิสภาพที่สมอง ไม่ใช่โรคแกล้งทำ จะทำให้ทุกฝ่ายรวมทั้งครอบครัวและตัวคนไข้ร่วมมือกับการรักษาโรคนี้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไปมองว่ามันเป็นโรคของคนพูดภาษาคนไม่รู้เรื่องหรือแกล้งทำเอาเอง อย่างนั้นก็จะพากันเข้าป่าแน่นอนครับ คือยิ่งรักษายิ่งเละตุ้มเป๊ะ
    3. ถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมแนะนำว่าอย่างไรเสียก็ต้องไปหาหมอละครับ โดยทำเป็นสองขั้นตอน คือ
   ขั้นตอนที่หนึ่งไปหาหมออายุรกรรม เพื่อให้เขาตรวจร่างกายเจาะเลือดคัดกรองโรคทางกายที่ทำให้ดูเหมือนบ้าหรือเป็นโรคทางกายแต่ทำให้บ้าจริงๆได้ออกไปก่อน เช่นโรคคุชิ่ง (cushing disease) เบาหวาน ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไฮโปไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคไตเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคเอสแอลอี. (SLE) เป็นต้น นอกจากนั้นถ้าไปเจอหมอที่ห้าวไม่กลัวคนไข้เสียเงิน รวมทั้งผมเองด้วย ก็จะแนะนำให้ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้กลับมาฟ้องเอาเผื่อฟลุ้คมีเนื้องอกก้อนเบ้อเร่อในสมอง ตรวจทั้งหมดนี้แล้วถ้าพบว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่ว่ามาก็ง่ายเลยครับ คือรักษาโรคต้นเหตุ ความบ้าก็จะหายไปเอง แต่ถ้าไม่พบโรคอะไรก็ต้องไปขั้นตอนที่สองแล้วครับ คือ
   ขั้นตอนที่สอง ไปหาจิตแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์ก็จะประเมินอารมณ์ (affect) ประเมินไส้ในของความคิด (thought content) ประเมินการรับรู้ (perception) ทั้งทางตาทางหูและทางใจ ประเมินการใช้ดุลพินิจ (judgment) และประเมินการรู้หรือไม่ว่าอะไรจริงอะไรปลอม (insight) เช่นรู้หรือเปล่าว่าตัวเองป่วย และประเมินการรู้สภาวะเหนือใต้ (orientation) คือรู้วันเวลาสถานที่และบุคคลไหม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดนี้แล้วก็จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร แล้วก็รักษาโรคนั้นไป
    ผมก็บอกได้แค่ว่าให้ไปหาหมอ แต่จะพาไปอย่างไรนั้นผมไม่ได้รับทำจ๊อบนั้นอะฮับ น่าจะเป็นจ๊อบของฝาละมีละมั้ง แหะ..แหะ พูดเล่น
   4. การรักษาโรคไบโพล่า ดิสออร์เดอร์ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคในระยะไหน และรุนแรงแค่ไหน เช่นถ้าอยู่ในระยะซึมเศร้าและมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงก็ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น เบาลงมาก็รักษาแบบบ้านกึ่งวิถี (half way house) คือกลางวันมาอยู่โรงพยาบาล กลางคืนกลับไปนอนบ้าน ถ้าอาการไม่มากก็รักษาแบบคนไข้นอกให้ทำงานทำการไปปกติแล้วมาหาหมอเป็นพักๆ การรักษาแบบคนไข้นอกนี้มีสาระสำคัญสี่อย่างคือ
(1) การหาทางจัดการความเครียดที่ทำให้เป็นโรค
(2) การให้ยาและเฝ้าติดตามดูว่ากินยาจริงหรือเปล่า เพราะคนไข้มักจะเป็นปฏิปักษ์กับยาด้วยไม่อยากเชื่อว่าตัวเองป่วย การใช้ยาในยุคปัจจุบันนี้สร้างความแตกต่างได้อย่างเหลือเชื่อเลยนะครับจะบอกให้
(3)  การสร้างพันธมิตรรอบตัวคนป่วยให้หนุนช่วยให้เธออยู่ในสังคมได้ พันธมิตรตัวเอ้ก็คือคุณผู้เป็นสามีนั่นแหละครับ
(4)  การให้ความรู้แก่คนไข้และครอบครัว ให้เข้าใจโรค เข้าใจว่าประเด็นไหน ยาไหน สถานะการณ์ไหน อันตรายต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น

ขอเอาใจช่วยนะครับ ชีวิตมันก็งี้แหละ บางทีอยู่ๆดีๆช้างก็มา ผมเองก็เคยวิ่งหนีช้างมาแล้ว แต่ก็ขอให้กำลังใจคุณว่า สู้ สู้ ครับ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.    Baum AE, Akula N, Cabanero M, Cardona I, Corona W, Klemens B, et al. A genome-wide association study implicates diacylglycerol kinase eta (DGKH) and several other genes in the etiology of bipolar disorder. Mol Psychiatry. Feb 2008;13(2):197-207.
2.    Post RM, Speer AM, Hough CJ, Xing G. Neurobiology of bipolar illness: implications for future study and therapeutics. Ann Clin Psychiatry. Jun 2003;15(2):85-94.
3.    Hoang U, Stewart R, Goldacre MJ. Mortality after hospital discharge for people with schizophrenia or bipolar disorder: retrospective study of linked English hospital episode statistics, 1999-2006. BMJ. Sep 13 2011;343:d5422..
4.    American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision, DSM-IV-TR. Washington, DC: 2000.