Latest

ไปทำฟันมาแล้วกลัวติดเอดส์

คุณหมอช่วยด้วยครับ
ผมอายุ 50 ปี คือเมื่อสองวันที่แล้วผมได้ไปทำฟันที่ทันตกรรมในรพ.เอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เคสของผมคือฟันผมบิ่น ทันตแพทย์ได้กรอฟันให้เรียบ2 ซี่โดยที่ไม่ได้มีเลือดออกเลยครับ แต่ตอนทำเสร็จผมเห็นเจ้าหน้าที่มาเก็บอุปกรณ์ทำฟันจากเก้าอี้ทำฟันแต่ตรงด้ามกรอฟันซิครับเจ้าหน้าเพียงแต่ถอดหัวกรอออกแล้วเอาแอลกอฮอล์เช็ดตรงด้ามกรอแล้วเอาผ้าก็อสพันหัวด้ามกรอ เตรียมใช้กับคนไข้คนต่อไป ผมก็ถามว่าไม่ได้เอาด้ามกรอไปฆ่าเชื้อก่อนหรือเจ้าหน้าที่ตอบว่าเอาเข็มกรอไปอบฆ่าเชื้อแต่ด้ามกรอ ใช้แอลกอฮอล์เช็ด ผมฟังแล้วเครียดเลยครับ เพราะปกติทำที่กทม.เขาจะเปลี่ยนด้ามกรอใหม่เลยครับ คุณหมอครับผมอยากเรียนถามว่าแบบนี้ผมมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ไหมครับเพราะตอนกรอหัวกรอพ่นน้ำออกมาด้วยเชื้อมันจะมีโอกาสหลบซ่อนอยู่ในช่องว่างเล็กๆในหัวกรอไหมครับ ผมต้องไปตรวจ nat ไหมครับคุณหมอกรุณาตอบหน่อยนะครับผมทุกข์ใจมากนอนไม่หลับมาสองคืนแล้วครั

คนมีกรรม


……………………………………………..

ตอบครับ

ผมเองไม่ได้เป็นทันตแพทย์นะครับ แม้ว่าตอนเป็นนักเรียนเกือบจะมีแฟนเป็นทันตแพทย์ไปซะแล้ว (พูดเล่น) แต่ว่าคุณถามประเด็นการติดเชื้อซึ่งเป็นเรื่องการแพทย์ทั่วไปมา เอาเป็นว่าผมตอบในประเด็นการติดเชื้อก็แล้วกันนะ ส่วนอะไรที่ผมไม่รู้ว่าทันตแพทย์เขาทำกันอย่างไรผมก็จะทำตัวเป็นคนกลางถามทันตแพทย์เขาให้ก็แล้วกันนะครับ

     1.. ถามว่าในการทำฟัน นอกจากหัวกรอแล้ว มาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ ควรจะเอาด้ามกรอไปทำความสะอาดด้วยการทำให้ปลอดเชื้อ (sterile) หรือไม่ ผมขอยกคำแนะนำของทันตแพทยสภาซึ่งได้เคยออกไว้เป็นมาตรฐานแล้ว มาแจ้งแทนคำตอบว่า

     “…เครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง  (พูดง่ายๆว่าเครื่องมือใดๆที่ยัดเข้าไปในปากคนไข้และสัมผัสกับเนื้อหนังหรือน้ำลายของคนไข้นะแหละ)  เช่น เครื่องมือที่ใช้ในงานศัลยกรรมหรือศัลย์ปริทันต์ ต้องทำให้ปลอดเชื้อเท่านั้น”
     
     ดังนั้นหากถือตามมาตรฐานนี้ ทั้งหัวกรอ ทั้งด้ามกรอ ก็ควรนำไปทำให้ปราศจากเชื้อก่อนนำกลับมาใช้ครับ
   
     2.. ถามว่าการทำความสะอาดอุปกรณ์ทำฟันด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์พอไหม ผมขอยกมาตรฐานของทันตแพทย์สภาในเรื่องนี้มาแทนคำตอบอีกครั้งว่า

     “..ไม่ใช้แอลกอฮอล์เป็นสารฆ่าเชื้อทางทันตกรรม และไม่ควรใช้กลูตาราลดีไฮด์
(Glutaraldehyde) ในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิว..”

ซึ่งมาตรฐานนี้ก็ตอบคุณชัดเจนแล้วนะครับ ว่าการเอาแอลกอฮอล์มาเช็ดอุปกรณ์ทำฟันนั้นไม่ใช่วิธีมาตรฐาน และไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ
  
      3.. ถามว่าจะมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ไหม เพราะตอนกรอหัวกรอพ่นน้ำออกมาด้วยเชื้อมันจะมีโอกาสหลบซ่อนอยู่ในช่องว่างเล็กๆในหัวกรอไหม แล้วออกมากับน้ำที่พ่นได้ไหม ตอบว่าไม่มีใครทราบหรอกครับ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัยไว้ ผมบอกคุณได้แต่ว่ายังไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์ที่แพร่ผ่านน้ำลายขณะทำฟัน การติดเชื้อเอดส์ขณะทำฟันทั้งโลกนี้มีรายงานไว้ 5 ราย ซึ่งล้วนเป็นการติดเชื้อจากตัวหมอฟัน (หมอเป็นเอดส์) ไปยังคนไข้โดยไม่ทราบกลไกแน่ชัดว่าติดไปได้อย่างไร ดังนั้นประเด็นที่ว่าคุณมีโอกาสจะติดเชื้อมากไหมนี้ผมไม่มีข้อมูลมาตอบ คุณต้องเดาเอาเองแล้วละครับ

  4.. ถามว่าต้องไปตรวจ NAT ไหมครับ แหะ..แหะ อันนี้แล้วแต่คุณเถอะนะครับ ประโยชน์ของการไปตรวจเอดส์อันหนึ่งคือช่วยรักษาโรคปสด. ประสาทแด๊กซ์ ได้แน่นอน

   5. ที่ว่าทุกข์ใจมากนอนไม่หลับมาสองคืนแล้ว ผมแนะนำว่าให้แยกออกเป็นสองเรื่องสิครับ เรื่องที่หนึ่ง คือ ไปทำฟันแบบที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมา จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ติดเชื้อ จะตรวจเลือดจะทำอะไรก็ทำไป นั่นเรื่องหนึ่ง กับ เรื่องที่สองคือใจที่กังวลกลัวเป็นเอดส์ กลัวตาย อันนี้เป็นประเด็นเทคนิคการฝึกสติและการมีสติไม่ให้เผลอไผลไปย้ำคิดเรื่องที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์แล้วละครับ ประเด็นนี้คุณต้องฝึกจิต หัดตามดูความใจลอยของตัวเองให้ทัน ตามทันแล้วเฝ้าดูมัน ความคิดงี่เง่าเมื่อถูกสติเฝ้าดูมันก็จะฝ่อไปเอง ลองดูนะครับ เอาตอนที่กำลังจะบ้าเพราะกลัวเอดส์นี่แหละ เป็นจังหวะที่จะเริ่มฝึกสติดีนักเชียว เขาเรียกว่า “เอาทุกข์ ดับทุกข์” ฮั่นแน่ นี่ธรรมมะขั้นสูงเลยนะเนี่ย

   6.. คุณเป็นคนที่ชอบเก็บมาคิดวิตกจริตเป็นตุเป็นตุอย่างนี้ ทีหลังเวลาไปทำฟันผมแนะนำให้แอบชำเลืองดูก่อน ว่ามาตรฐานการสวมเครื่องป้องกันตัวเอง (personal protective equipment) ของคนทำฟันเขามีมาตรฐานดีไหม เขาล้างมือหรือเปล่า เขาทิ้งถุงมือที่ใช้แล้วไหม เขาสวมผ้าปิดจมูก (mask) ที่เป็นแบบแนบสนิทพิถีพิถันหรือเปล่า เขาสวมแว่นไหม แล้วที่ข้างแว่นมีที่กันละอองฝอยกระเด็นเข้าตา (side shield) หรือเปล่า ถ้าไม่สวมแว่น เขาใช้แผ่นใสป้องกันหน้า (face shield) ไหม เขาสวมเสื้อกาวน์หรือผ้ากันเปื้อนหรือเปล่า ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานการป้องกันตัวเองที่เป็นมาตรฐานสำหรับคนทำฟันทั่วไป ถ้าตัวเขาเองเขายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเองแล้ว ที่เขาจะมาพิถีพิถันป้องกันคนอื่นก็คงจะไม่มี ให้ไปหาทำฟันที่อื่นดีกว่า 
     เมื่อแอบชำเลืองดูแล้วเห็นว่าเข้าท่าดี ถ้ายังไม่หายข้องใจก็ให้ออกปากถาม ว่าอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในปากของเราแต่ละชิ้นเขาทำความสะอาดอย่างไรก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะตัวด้ามกรอเจ้าปัญหา เมื่อได้คำตอบที่ถูกใจแล้วจึงค่อยตกร่องปล่องชิ้นทำฟันกับเขา จะได้ไม่มานั่งปสด.ภายหลัง
     
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.      แนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางทันตกรรม Thai Dental Safety Goals & Guidelines 201. Accessed on April 2, 2012 at http://www.dentalcouncil.or.th/public_content/files/001/0000401_2.pdf