Latest

นพ.สันต์ ให้สัมภาษณ์ TV-7 เรื่องพิษของความร้อน

 ช่อง 7: ตอนนี้เป็นหน้าร้อนในภาวะที่โลกกำลังร้อนขึ้นๆมากกว่าเดิม ใครๆก็กลัวความร้อน อยากให้คุณหมอพูดถึงพิษภัยของความร้อนต่อร่างกายของคนเรา ว่ามันทำให้เกิดอะไรได้บ้าง

นพ.สันต์:  ผลโดยตรงของความร้อนต่อร่างกายของเรา หรือเรียกว่าก่อโรคให้เรา มีประมาณสี่ห้าโรค คือ

(1) หน้ามืดหรือเปลี้ยเพราะความร้อน (heat exhaustion) หมายความว่าความร้อนทำให้หวิวๆ หน้ามืด เป็นลม เหมือนที่เราเคยเห็นเพื่อนเป็นตอนเข้าแถวสมัยเป็นนักเรียน อันนี้ไม่ซีเรียส พาเข้าร่ม คลายกระดม นอนนลง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ยกขาให้สูงหน่อย สักพักก็จะหาย
(2) ช็อกเพราะความร้อนหรือฮีทสะโตร๊ค (heat stroke) หมอบางคนเรียกว่าเป็นลมแดดแต่ผมคิดว่าเรียกอย่างนั้นจะทำให้สับสนกับภาวะหน้ามืดหรือเปลี้ยเพราะความร้อน (heat exhaustion) ผมจึงขอเรียกในภาษาไทยว่าช็อกเพราะความร้อนก็แล้วกันนะครับ ภาวะช็อกเพราะความร้อนหรือ heat stroke นี้หนักที่สุด เป็นอะไรที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักและนึกว่าเป็นอะไรที่ไม่สำคัญ ทั้งๆที่โรคนี้ใครเป็นแล้วอาจตายได้ง่ายๆ มีอาการคืออุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงปรี๊ดจนช็อกหมดสติ หรือสติแตกเพ้อคลั่งแบบที่คนสมัยก่อนเรียกว่าบ้าร้อนนั่นแหละ ถ้าแก้ไขไม่ทันก็ตาย เหมือนเครื่องยนต์ที่หม้อน้ำแห้งแล้วเครื่องดับลูกสูบแตก ประมาณนั้น
(3) เป็นตะคริวเพราะความร้อน (heat cramp) คือกล้ามเนื้อบางมัด เช่นกล้ามเนื้อน่อง เมื่อถูกใช้งานในบรรยากาศที่ร้อนก็ออกอาการเป็นตะคริว คือเกร็ง แข็ง ปวด ทำงานต่อไปไม่ได้
(4) ไหม้แดด (sun burn) คือผิวหนังไหม้แดงเพราะตากแดดที่ร้อนเกินไป คนไทยไม่ค่อยเป็นเพราะคนไทยไม่ชอบถอดเสื้อตากแดด แต่มักเป็นกับฝรั่งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่รู้จักแดดเมืองไทย เลยไหม้ไปตามระเบียบ
(5) ผด (heat rash) กลไกการเกิดก็คือพอร้อนก็มีเหงื่อมาก เหงื่อส่วนหนึ่งเป็นตะกอนไปอุดปากท่อของต่อมเหงื่อ กลายเป็นผื่นคันหลากหลายรูปแบบ บางคนเป็นมากจนตัวลายเป็นตุ๊กแกตลอดหน้าร้อน

            นอกจากผลโดยตรงของความร้อนแล้ว ที่มีปัญหาต่อร่างกายเรามากกว่านั้นก็คือผลโดยอ้อมซึ่งมีสองเรื่อง เรื่องแรก ก็คือโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เพราะเชื้อโรคทุกชนิดชอบหน้าร้อน คนที่เคยกินอาหารไม่ค่อยสะอาดหน้าหนาวไม่เป็นไรก็อาจจะย่ามใจมากินแบบนั้นในหน้าร้อนบ้าง ผลก็คือ จู๊ด จู๊ด
เรื่องที่สอง คือการที่อุณหภูมิร่างกายต้องสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้แย่ลง ทำให้ติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหวัดและไข้หวัดใหญ่

ช่อง 7: แล้วประชาชนทั่วไปต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษจากพิษของความร้อนอย่างไรบ้าง

นพ.สันต์:  ผมขอพูดในประเด็นเดียวนะ คือการป้องกันเรื่องที่จะทำให้ตาย นั่นคือเรื่องช็อกเพราะความร้อนหรือ heat stroke วิธีป้องกันมีสองข้อ
 หนึ่ง ก็คือหน้าร้อนต้องหัดดื่มน้ำให้มากเป็นนิสัย ยิ่งไปกลางแดดหรือไปออกกำลังกายต้องดื่มน้ำมากๆ ธรรมดาต้องดื่มวันละ 2 ลิตร ถ้าออกกำลังกายต้องดื่มมากกว่านั้น หญิงไทยส่วนใหญ่ชอบทำตัวให้ขาดน้ำไว้นิดๆเสมอเพราะกลัวเข้าห้องน้ำบ่อยแล้วจะเสียฟอร์ม นิสัยอย่างนั้นไม่ใช่สุขนิสัยที่ดี หากทิ้งให้ร่างกายขาดน้ำในยามปกติ พอถึงเวลาคับขันที่ร่างกายร้อนขึ้นต้องขยายหลอดเลือดเพื่อระบายความร้อนก็จะไม่มีน้ำพอไหลเวียนทำให้ช็อกได้

สองก็คือคนข้างเคียงต้องรู้วิธีวินิจฉัยภาวะช็อกจากความร้อนหรือ heat stroke ว่ามันแตกต่างจากหน้ามืดกลางแดดแบบธรรมดาๆหรือ heat exhaustion อย่างไร ตัวช่วยวินิจฉัยมีสองตัว 
ตัวช่วยตัวที่หนึ่ง คือจับดูผิวหนังถ้าผิวหนังเย็นชืดหรือเปียกๆอยู่ก็แสดงว่ากลไกการขับเหงื่อยังดีอยู่ น่าจะเป็นภาวะ heat exhaustion ธรรมดาๆ ไม่ซีเรียส แต่ถ้าจับผิวหนังแล้วร้อนจี๋จนคนจับสะดุ้งโหยง คือร้อนเกินสี่สิบองศา แสดงว่ากลไกการระบายความร้อนด้วยเหงื่อของร่างกายเจ๊งไปแล้ว แสดงว่าน่าจะเป็นภาวะช็อกจากความร้อน 
ตัวช่วยตัวที่สอง ก็คือดูการทำงานของสมอง พูดง่ายๆว่าดูว่าหมดสติหรือเปล่า ลองเรียกดูแล้วถามไถ่ ถ้ายังพยักหน้าได้ พูดรู้เรื่อง บอกให้ทำอะไรก็ทำตามได้ แสดงว่ายังไม่ถึงกับช็อกจากความร้อน แต่ถ้าหมดสติแน่นิ่งหรือสติแตกเอะอะโวยวายพูดไม่รู้เรื่องแบบคนบ้าก็แสดงว่าสมองเริ่มจะไปเสียแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะของภาวะช็อกจากความร้อน 
การมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวคือตัวร้อนฉ่าก็ดี หรือหมดสติก็ดี ก็ให้วินิจฉัยเลยว่าเนี่ยเป็นช็อกจากความร้อนหรือ heat stroke แล้ว
            
       ที่นี้เมื่อรู้ว่าคนใกล้ชิดเกิดภาวะช็อกจากความร้อนแล้วควรจะทำอย่างไร คือภาวะช็อกจากความร้อนนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นแล้วอาจถึงตายได้ ทุกอย่างต้องลงมือแบบฉุกเฉิน 
     สิ่งแรกที่ต้องทำ คือเรียกรถพยาบาลก่อน ใช้โทรศัพท์หมายเลข 1669 อยู่จังหวัดไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น 
     สิ่งถัดไปที่ต้องทำ คือการรีบลดอุณหภูมิร่างกายของผู้หมดสติลงให้เร็วที่สุด งานวิจัยเปรียบเทียบการลดอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสามวิธี คือ (1) ถอดเสื้อผ้า เอาน้ำพรมผิวหนัง แล้วเอาพัดลมเป่า (2) เอาน้ำแข็งหรือโคลแพคโปะตามตัวและตามซอกรักแร้และขาหนีบ (3) ฉีดน้ำเกลือแช่เย็นเข้าทางหลอดเลือด ผลวิจัยพบว่าทั้งสามวิธีลดอุณหภูมิร่างกายได้ดีหมด แต่วิธีพรมน้ำแล้วเป่าพัดลมลดอุณหภูมิได้มากที่สุด ดังนั้นจึงแนะนำให้คนทั่วไปใช้วิธีพรมน้ำแล้วเป่าพัดลมเป็นวิธีหลัก แล้วใช้วิธีอื่นเช่นโปะน้ำแข็งหรือโคลแพคควบไปด้วยถ้าทำได้ 
        ผู้หมดสติจากความร้อนจะตายหรือไม่ตาย ก็อยู่ที่ความสำเร็จของการรีบลดอุณหภูมิโดยฝีมือของคนใกล้ชิดนี่แหละ

ช่อง 7: การที่บางคนซื้อพัดลมหรือแอร์แบบที่มีฝอยละอองน้ำพ่นออกมาด้วยมาใช้ มันจะมีประโยชน์หรือโทษอะไรต่อร่างกายไหม

นพ.สันต์:  การมีตัวพ่นละอองน้ำให้มาตกบนผิวหนังแล้วมีลมเป่าตามมา ก็เป็นกลไกการพรมน้ำแล้วเป่าที่เราใช้รักษาคนช็อกเพราะเสียความร้อนนั่นแหละ เหมือนกันเลย มันก็มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยลดความร้อนได้ดีกว่าเป่าแต่ลมอย่างเดียว แต่ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดถ้าอยู่ในที่อากาศชื้นมากเช่นกรุงเทพนี้ พัดลมแบบพรมแล้วเป่าที่คุณว่านั้นก็คงจะเวอร์คไม่ได้เต็มที่นักเพราะเป่าแล้วมันก็ไม่ค่อยยอมระเหย ส่วนที่กลัวว่าฝอยละอองน้ำที่เป่าออกมาจะทำให้ป่วยไข้เป็นอะไรไปนั้นไม่มีครับ ไม่เคยมีผลวิจัยทางการแพทย์ว่าพัดลมแบบนี้ก่อโรคหรือการเจ็บป่วยแต่อย่างใด

ช่อง 7: แล้วปัญหาการเป็นลมพิษหน้าร้อนจะป้องกันแก้ไขอย่างไร

นพ.สันต์:  ความจริงมันไม่ใช่ลมพิษแบบการแพ้นะครับ ผดหรือผื่นจากความร้อนทางการแพทย์เรียกว่า heat rash หรือ miliaria แม้ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาหลายแบบเป็นเม็ดใสๆแบบหยาดน้ำค้างบ้าง เป็นปื้นแดงบ้าง แต่กลไกการเกิดก็เหมือนกันคือเกิดจากการหมักหมมของเหงื่อจนอุดรูต่อมเหงื่อ การป้องกันก็คือหลบที่ร้อนๆเสียบ้างเพื่อไม่ให้เหงื่อออกมาก เมื่อเหงื่อออกแล้วก็อย่าให้หมักหมม อาบน้ำบ่อยๆ โรยแป้งฝุ่นเพื่อช่วยดูดเหงื่อ เด็กเมื่อเริ่มเข้านอนจะมีเหงื่อออกมาก ควรโชยพัดลมให้เบาๆ พอเด็กหลับแล้วก็ปิดพัดลม เพราะถ้าทิ้งให้เป่าทั้งคืนพอเด็กหลับสนิทแล้วอุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนต่ำเกินไปทำให้เป็นหวัดหรือปอดบวมได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์