Latest

Bulimia Nervosa เศร้ามาก และ..กลัวตาย

สวัสดีคะคุณหมอสันต์
หนูชื่อ……
หนูทรมานมาก
ล้วงคออ๊วกซ้ำซากมานานกว่า 8 ปี
เศร้ามาก
เหมือนหาทางออกไม่ได้
และกลัวตาย
หนูควรทำอย่างไรดีคะ
(ชื่อ)……
(เบอร์โทรศัพท์) ………
…………………………………………..
ตอบครับ
1.. โรคที่คุณเป็นหมอเขาเรียกว่า Bulimia nervosa ซึ่งหมายถึงคนที่กลัวอ้วน และมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แล้วใช้วิธีกินแล้วรีบชดเชยด้วยการเอาออก จะด้วยการอ๊วก หมายถึงล้วงคอให้อาเจียน หรือกินยาระบาย ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ ก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ทำไปเพราะอารมณ์เครียดและคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ได้ตั้งใจจะล้วงคอ แต่มันมีแรงผลักดัน (impulse) ในใจ ซึ่งไม่อาจต้านทานได้ เหมือนกับคนลืมตัวขาดสติชั่วคราวแต่ว่าเกิดขึ้นซ้ำซาก คนเป็นโรคนี้ ส่วนหนึ่งจะมีความผิดปกติของอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีภาวะซึมเศร้า (depression) และภาวะกังวล (anxiety disorder) อยู่ด้วย ซึ่งผมชั่งน้ำหนักจากจดหมายสั้นๆที่ส่งมา คุณมีเรียบร้อยแล้วครบทุกประการไม่ว่าจะเรื่องซึมเศร้าทุกข์ทรมาน หรือเรื่องกังวลกลัวตาย

2.. ถามว่าควรจะทำอย่างไรดี คำแนะนำคำแรกเลยคือให้คุณไปหาความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ เพราะโรคนี้เป็นโรคทางจิตเวช มีความละเอียดอ่อนอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการช่วยเหลือรักษา และเป็นโรคที่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี หมายความว่าส่วนใหญ่จะหายได้
3.. หลักการดูแลรักษาของแพทย์สำหรับคนเป็นโรคนี้มีสองอย่าง
     อย่างที่หนึ่ง คือการดูแลร่างกาย คนเป็นโรคนี้มักมีปัญหาทางร่างกายหลายอย่างเช่น เช่นฟันเสีย หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ประจำเดือนไม่มา การให้โภชนะบำบัดเพื่อแก้ไขการขาดสารอาหารที่จำเป็น เป็นต้น
     อย่างที่สอง คือการแก้ไขจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยการทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดแบบ Cognitive behavioral psychotherapy (CBT) เช่น การสอนให้คิดใหม่ การสร้างพฤติกรรมใหม่ เช่นจดบันทึกอาหารที่ทาน (diary keeping) การวิเคราะห์เหตุนำเหตุร่วมของการชอบล้วงคอเพื่อนำไปสู่การแก้ไข การปรับความคิดและมุมมองเรื่องน้ำหนักและภาพลักษณ์ เป็นต้น ในกรณีที่ความเครียดเกิดจากความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ก็ต้องรักษาด้วยการปรับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด (Interpersonal psychotherapy -IPT) และที่ขาดไม่ได้ก็คือการรักษาครอบครัว (family therapy) ไปด้วย เพื่อปรับเจตคติของคนในครอบครัวให้สนับสนุนการรักษาไม้สุดท้ายซึ่งหมอมักจะเผลอใช้เป็นไม้แรกเสมอก็คือการใช้ยา เช่นยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล
4. นอกจากการไปรักษากับจิตแพทย์แล้ว ผมแนะนำให้คุณทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดให้ตัวเอง คุณทำได้ ไม่ยากหรอก หลักกว้างๆก็คือความคิดก่อให้เกิดพฤติกรรม โดยมีแรงผลักดัน (impulse) เป็นตัวเชื่อมจากความคิดไปหาพฤติกรรม impulse นี้มักผลักดันเราไปสู่พฤติกรรมที่มากเกินพอดีในเรื่องอื่นๆด้วย เช่นเรื่องการใช้จ่ายเงิน หรือแม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือเกิดขึ้นในใจเราตอนที่เราเผลอ ดังนั้นหัวใจของการรักษาแบบ CBTคือการตามความคิดให้ทันก่อน โดยหัดให้คุ้นกับ “ที่นี่” และ “เดี๋ยวนี้” สนใจแต่อะไรก็ตามที่อยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ อะไรที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ และไม่ใช่เรื่องของเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปคิดถึงหรือสนใจ การจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีทักษะ หมายความว่าต้องหัดทำซ้ำๆซากๆจนทำเป็น เมื่อใจอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ได้บ้างแล้ว จึงค่อยนำความคิดเก่าๆที่เป็นเหตุให้เราต้องล้วงคออ๊วกขึ้นมาท้าทาย ขึ้นมาคิดใหม่ (re-conceptualization) ท้าทายความเชื่อเดิม ความคิดเดิม ทดแทนด้วยความคิดใหม่ที่มีเหตุผล วางแผนพฤติกรรมใหม่ที่เข้าท่ากว่าพฤติกรรมเดิม ในการนี้ย่อมจะต้องมีการสอนตัวเองบ้าง คุยกับตัวเองบ้าง และฝึกตัวเองให้รู้จักสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบใจเย็นๆและผ่อนคลายแทนการสนองตอบแบบรีบร้อนลนลานและเคร่งเครียด
     ผมช่วยคุณได้แค่นี้แหละ คือเป็นแค่ผู้ชี้ทาง คุณต้องออกเดิน ตนแลเป็นที่พึ่งของตน อย่างไรก็ตามคนรอบข้างก็อาจช่วยคุณได้บ้าง หากคุณรู้จักเลือกคบ คนพันธ์ตะกวดที่คอยแต่จะใส่ไฟเอาประโยชน์จากการที่คุณมักขาดสติเผลอไผลตาม impulse คนอย่างนั้นอย่าไปคบ โบราณเขาถึงว่า “คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” นั่นเรื่องจริงนะ ผมละเป็นห่วงคุณจริงๆ ขอให้คุณมีพลังดูแลตัวเองได้จนหายจากโรคนี้ และขอให้มีความสุขในชีวิตนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์