Latest

ถามเรื่อง hemagglutinin กับ neuraminidase

สวัสดีคะ
คุณหมอสันต์ คือหนูสงสัยว่า hemagglutinin กับ neuraminidase มีเฉพาะใน Influenza virus อย่างเดียวมั้ยอะคะ ใน virus ชนิดอิ่นมีเจ้าพวกนี้อยู่มั้ยคะ
ขอบคุณมากๆคะคุณหมอ

………………………………..
ตอบครับ
     จดหมายของคุณดูจะไม่ใช่จดหมายของคนป่วย น่าจะเป็นจดหมายของนักเรียนมากกว่า ก็ดีเหมือนกัน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ
     ถามว่า hemagglutinin กับ neuraminidase มีเฉพาะใน Influenza virus อย่างเดียวใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ
     เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมอยากทบทวนให้คุณเข้าใจภาพใหญ่ของไวรัสก่อน ว่ามันมีอยู่สองแบบ คือไวรัสเปลือย หมายความว่าไม่มีเปลือก กับไวรัสมีเปลือก พวกที่มีเปลือกมักจะมีหนามที่เปลือกคล้ายกับหนามที่เปลือกทุเรียน หนามนี้เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วมันเป็นโมเลกุลผสมโปรตีนกับแป้ง (glycoprotein) ซึ่งที่เรารู้จักก็มีอยู่สองชนิด
    ชนิดที่ 1. เป็นชนิดที่จับกับฮีม(ของเม็ดเลือดแดง)แล้วตกเป็นตะกอนออกมาได้ จึงได้ชื่อว่า hemagglutinin เขียนย่อว่า H
     ชนิดที่ 2. เป็นน้ำย่อยหรือเอ็นไซม์ที่เรียกว่า neuraminidase เขียนย่อว่า N

     ดังนั้นไวรัสที่มีเปลือกทุกชนิดก็มี H และ N ได้ อย่างไวรัสไข้เลือดออกเราก็อาศัย H ของมันเนี่ยแหละตรวจ hemagglutination test เพื่อวินิจฉัยว่าติดเชื้อไข้เลือดออกหรือเปล่า อันที่จริงทั้ง H และ N เป็นโมเลกุลที่ผิวไม่เฉพาะไวรัสเท่านั้น ผิวเซลบักเตรีหรือผิวเซลของคนเราก็มีเหมือนกัน  อย่างเช่นบักเตรีที่เฮี้ยนอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆตัวหนึ่งชื่อ Pseudomanas aeroginosa ก็มี N เหมือนกัน

      อีกประเด็นที่ควรกล่าวถึงคือหนาม N เนี้ยแหละ ที่เป็นที่มาของยาต้านไวรัส เช่นยาทามิฟลู (Tamiflu หรือ oseltamivir) ยาต้านไวรัสพวกนี้ก็คือยาต้าน neuraminidase นั่นเอง ดังนั้นขณะนี้จึงมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่พยายามจะเอายาต้านไวรัสมาทดลองรักษาโรคที่ก่อโดยเชื้อบักเตรีที่มี N เช่นเชื้อ Pseudomonas แต่ยังไม่รู้ผลสรุปว่าจะออกหัวหรือออกก้อย   
     สำหรับไข้หวัดใหญ่ เรารู้จักทั้ง H และ N ของมันค่อนข้างดี จนเอามาเรียกชื่อเช่น H1N1, H2N3 เป็นต้น แต่ประเด็นสำคัญคือตัว H และ N ในชื่อของไวรัสแต่ละพันธ์นี้ สามารถกลายพันธ์หรือปรับตัวเปลี่ยนหน้าตาไปได้ไม่รู้จบ ทำให้ชื่อที่ตั้งตาม H และ N นี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความดื้อด้านต่อยาหรือความรุนแรงของโรคแต่อย่างใด อย่างเช่น H1N1 ธรรมดาก็เป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่พอมาเจอ H1N1 สายพันธ์ใหม่ 2009 เข้าก็กลายเป็นสายพันธุ์ดุร้ายที่ทำเอาคนที่เป็นล้มตายไปแยะเหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์