Latest

เลเซอร์ SLT รักษาต้อหิน

เรียนคุณหมอสันต์
 
รบกวนสอบถามเกี่ยวกับโรคต้อหิน GCC ถ้าไปทำเลเซอร์ SLT จะเป็นทางเลือกที่ดีหรือเปล่าค่
ะ คือสามีเป็นโรคต้อหิน และรักษามาหลายที่ ส่วนมากก็ให้ยามาหยอด ความดันตาก็ไม่ค่อยจะลง ทานยา แกก็บ่นว่าหน้าชาไปทั้งหน้า ถ่ายไม่ออก ปวดท้องถ่ายแต่ไม่ถ่าย หยดยาก็คอขมไปทั้งปาก เปลี่ยนหมอไปเรื่อยค่ะจนมาหยุดที่การนวดตา แต่ยังไม่ดีขึ้น สามีเลยคิดว่าไปทำเลเซอร์ น่าจะดีขึ้น

คุณหมอมีคำแนะนำ ในการรักษาโรคต้อหินชนิดนี้อย่างไรดีค่ะ

……………………………..
ตอบครับ
      พุทธ้ง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน..เอ๊ย ไม่ใช่ อะไรมันจะลำบากกับการรักษาขนาดนั้น กินยาก็หน้าชา ปวดท้อง อึไม่ออก หยอดยาก็ปากขม แถมยังมีการรักษาแบบนวดอีกต่างหาก อย่างหลังนี่อันตรายนะคุณ การนวดตาเป็นเทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาการอุดกั้นการไหลน้ำในลูกตาหลังผ่าตัดตาเท่านั้น ซึ่งต้องอยู่ในความเห็นชอบและการดูแลของหมอผู้ผ่าตัดตาใกล้ชิด สำหรับคนที่เป็นต้อหินที่ไม่ได้ผ่าตัดอย่าเที่ยวนวดลูกตาเล่นเปะปะเดี๋ยวก็เป็นเรื่อง ยิ่งถ้าสามีของคุณแอบไปใช้บริการหมอนวดยิ่งเป็นเรื่องนะคุณ แหะ..แหะ  ขอโทษ ปากเสียอีกละ มาตอบจดหมายของคุณดีกว่า
     ถามว่ากินยาหยอดยาจนเซ็งแล้ว ความดันลูกตายังไม่ลง ไปทำเลเซอร์ดีไหม ตอบว่าดีครับ หอสมุดโค้กเรนได้ทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบความสามารถการลดความดันลูกตาในระยะยาวระหว่างการใช้ยากับการทำเลเซอร์เท่าที่มีวิจัยกันไว้ในโลกนี้แล้วก็สรุปว่าการทำเลเซอร์ลดความดันในลูกตาระยะยาวได้ดีกว่าแน่นอนครับ
     ถามว่าระหว่างการทำเลเซอร์แบบ SLT (selective laser trabeculoplasty) ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ใช้เลเซอร์ชนิด Nd:YAG กิ๊บเก๋เท่ระเบิด กับการใช้เลเซอร์แบบอาร์กอนรุ่นโบราณ ALT (argon laser trabeculoplasty) อย่างไหนดีกว่ากัน งานวิจัยเปรียบเทียบผลการลดความดันลูกตาพบว่ามันก็แปะเอี้ย แปลว่าลดความดันได้ผลพอๆกัน อย่างไรก็ตามเลเซอร์แบบ SLT ใช้พลังงานน้อยกว่ามาก ต่างจากอาร์กอนเลเซอร์ซึ่งร้อนแรงเผาไหม้รูดมหาราช ผู้คนจึงถือว่า SLT น่ารักกว่า ตัวผมเองหากจะต้องทำเลเซอร์ผมก็จะเลือก SLT ครับ
     แถมนิดหนึ่ง คำว่า GCC ที่คุณใส่มาในจดหมายด้วยนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับการรักษาต้อหินนะครับ GCC ย่อมาจาก ganglion cell complex ซึ่งหมายถึงชั้นในสุด 3 ชั้นของจอประสาทตาซึ่งวงการแพทย์เชื่อว่าเป็นชั้นที่โรคต้อหินเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ใช่ชื่อโรคหรือวิธีรักษาครับ


     เอาละหมดคำถามของคุณแล้วนะ สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปผมสรุปเรื่องต้อหินให้ฟังสั้นๆว่าโรคต้อหิน (Glaucoma) ก็คือภาวะมีสาเหตุอะไรไม่มีใครรู้ (เชื่อกันว่าเพราะความดันลูกตาสูงจากน้ำวุ้นตากดดัน) ไปทำให้โครงสร้างหรือการทำงานของเส้นประสาทตา (optic nerve) เสียไป ทำให้เส้นประสาทเหี่ยว (atrophy) ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ภาวะนี้ส่วนใหญ่สามารถบรรเทาได้โดยการลดความดันในลูกตา (IOP) ลงให้มากเพียงพอ ดังนั้นโรคต้อหินหากตรวจพบเสียแต่ระยะแรกจึงมีทางป้องกันไม่ให้ก่อความเสียหายต่อการมองเห็นได้ โรคต้อหินนี้ยังมีแยกย่อยไปได้สามแบบ คือ

     1. ถ้าเป็นต้อหินแบบที่มีการสูญเสียใยประสาทตา (optic fiber) มีความดันในลูกตาสูงแบบเรื้อรัง โดยที่โดยที่มุมของช่องลูกตาส่วนหน้ายังเปิดอยู่ เรียกว่าต้อหินชนิด primary open-angle glaucoma (POAG) ซึ่งเป็นแบบที่คุณผู้หญิงท่านนี้ถามมาเนี่ยแหละครับ
2. ถ้าเป็นต้อหินที่มุมของช่องลูกตาส่วนหน้าปิดแล้วเป็นเหตุให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เรียกว่าต้อหินชนิด close-angle glaucoma
3. ถ้าเป็นต้อหินที่เกิดโดยที่ความดันในลูกตาไม่สูงก็ได้ เรียกว่า normal-tension glaucoma

     ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นต้อหินที่วงการแพทย์ทราบแน่แล้วได้แก่ (1) ความดันในลูกตาสูง (2) มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน (3) ชาติพันธ์ (คนอัฟริกันผิวดำเป็นมาก) (4) อายุ (คนอายุเกิน 40 ปีเป็นมาก) (5) สายตาสั้น (6) เป็นโรคเกี่ยวกับตาอยู่ก่อนเช่นต้อกระจก เบาหวานลงตา หลอดเลือดที่ตาตีบ (7) เคยได้รับบาดเจ็บ (8) ได้ยาที่เพิ่มความดันตาโดยไม่รู้ตัว เช่นยาลดความดันร่างกายบางตัว ไปเพิ่มความดันในลูกตาก็มี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่คาดเดาแบบมั่วนิ่มกันเอาเองว่าน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงการเป็นต้อหินแต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นจริงหรือไม่ คือ ความอ้วน สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ความเครียด ความกังวล เป็นต้น

     อาการของโรคต้อหิน ถ้าเป็นน้อย ไม่มีอาการ ถ้าเป็นมากแล้วจะมีอาการเช่น ปวดตา ตาแดง มองเห็นวงกลม (halos) หลากสี ปวดหัว ตามืดบอดเป็นบางส่วนบางเสี้ยว ไปจนถึงบอดสนิท เป็นต้น

     การรักษาโรคต้อหินมีสองก๊อก ก๊อกแรก คือการใช้ยา ทั้งหยอดทั้งกิน เพื่อมุ่งลดความดันลูกตาลง ก่อนที่ความดันลูกตาจะไปก่อความเสียหายต่อประสาทตาและการมองเห็น ยาที่ใช้ก็เป็นยาหยอดตาเป็นพื้น ซึ่งแบ่งเป็นห้ากลุ่มคือ (1) ยาเสริมอัลฟ่า (2) ยากั้นเบต้า (3) ยาขับปัสสาวะกลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors, (4) ยาหดม่านตา (5) ยากลุ่มพรอสตาแกลนดิน ก๊อกสอง คือการผ่าตัดทั้งไปทะลวง หรือไปแต่ง หรือไปตัด เนื้อเยื่อส่วนที่เกี่ยวกับการระบายน้ำออกจากลูกตา (trabeculoplasty) การผ่าตัดมีหลายวิธี ทั้งใช้เลเซอร์ ทั้งใช้มีด กรณีใช้เลเซอร์ก็แยกย่อยออกเป็นเลเซอร์แบบ ALT และ SLT อย่างพูดถึงไปในรายละเอียดแล้วนั่นแหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.        Rolim de Moura C, Paranhos A Jr, Wormald R. Laser trabeculoplasty for open angle glaucoma. Cochrane Database Syst Rev. 2007 Oct 17;(4):CD003919.

2.        Russo V, Barone A, Cosma A, Stella A, Delle Noci N. Selective laser trabeculoplasty versus argon laser trabeculoplasty in patients with uncontrolled open-angle glaucoma. Eur J Ophthalmol. 2009 May-Jun;19(3):429-34.
3.        Gordon MO, Beiser JA, Brandt JD, et al. The Ocular Hypertension Treatment Study: baseline factors that predict the onset of primary open-angle glaucoma. Arch Ophthalmol. Jun 2002;120(6):714-20; discussion 829-30.