Latest

การออกแบบคอนโดคนแก่

        สวัสดีค่ะอาจารย์หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ หนูเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  คือหนูมีความสนใจในเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนแก่ หนูได้อ่านบทความของคุณหมอเกี่ยวกับคอนโดคนแก่” ที่คุณหมอเคยเขียนในบล็อกไว้เมื่อ 03 ตุลาคม 2011 ที่อาจารย์หมอ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับที่ว่า
     “กะว่าเอาให้มันเป็นแบบอย่างของการดูแลคนแก่ที่คนต้องแห่กันมาดูเรียนรู้เอาเป็นแบบอย่างเลยละ เป็นที่ที่คนแก่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและแอคทีฟ มีการดูแลสุขภาพที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพไม่เน้นการรักษา”
     จึงรบกวนอาจารย์หมอได้มอบทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย เพราะหนูมองว่าในอนาคตอีก 10-15 ปีนี้หรือมากกว่านั้น จำนวนผู้สูงวัยจะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหนูคิดว่าการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยไม่ใช่จะมีแค่ ห้องครัว ห้องนอน ส่วนนั่งเล่น หรือเป็นบ้านที่คนส่วนใหญ่อยู่กันเพราะสิ่งนั้นจะไม่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนแก่ดีขึ้น แต่หากมีวิธีการทำให้คนแก่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เน้นการส่งเสริมการดูแลสุขภาพ จะเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยในอนาคตได้มากว่าแนวความคิดเดิมๆ

………………………………..
ตอบครับ
     แฮ้..ดีใจมีคนชวนคุยเรื่องโปรดอีกหละ นานมาแล้วมีนศ.สถาปัตย์คนหนึ่งเขียนมาหาแบบนี้แหละ แต่แล้วก็หายแซ้บหายสอยไปเลยไม่ได้ข่าวคราว คราวนี้คุณเขียนมาอีกก็ดีแล้ว ผมจะชวนเป็นคนออกแบบคอนโดคนแก่ให้ผมซะเลย หิ..หิ ไม่ใช่หลอกใช้แรงงานเด็กนะ เขาจะให้สะตังค์ดอก เพียงแต่ว่าราคาย่อมเยาเท่านั้นเอง เอาแมะ

     มาเข้าเรื่องที่คุณถามมาดีกว่า การที่คุณซึ่งยังเป็นเด็กเอียด คิดจะออกแบบที่พักให้คนแก่ คุณต้องเปิดใจเรียนรู้ให้กว้างๆไว้ เพราะมันมีประเด็นที่คุณยังไม่รู้แต่ต้องพยายามเข้าใจมันให้ลึกซึ้งอยู่มากมายหลายประเด็น วันนี้ผมจะคุยกับแค่สองสามประเด็นก่อนนะเพราะดึกแล้ว เอาไว้วันหลังมีเวลาค่อยคุยกันต่อ

ประเด็นที่ 1. ภาพรวมของระยะ (phasing) ต่างๆ ในชีวิตของคนแก่

     คือชีวิตคนแก่นี้มันเป็นชีวิตที่ยาวมาก ศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ได้คำนวณอายุคาดเฉลี่ยของคนที่อยู่มาได้ถึง 65 ปี ณ วันนี้ว่าถ้าเป็นหญิงจะอยู่ต่อไปได้จนเฉลี่ยถึงอายุ 85 ปี ถ้าเป็นชายจะอยู่ต่อไปได้เฉลี่ยถึงอายุ 83.3 ปี ถ้าเราใช้เกณฑ์นับตามองค์การอนามัยโลกว่าคนเริ่มกลายเป็นคนแก่เมื่ออายุ 60 ปี ก็หมายความว่าช่วงการเป็นคนแก่นี้มีความยาวนานเฉลี่ยประมาณ 25 ปี แต่ในการวางแผนรับมือกับคนแก่ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทประกันหรือของบริษัทก่อสร้างที่พักอาศัย จะวางแผนเผื่อไว้ว่าคนแก่คนหนึ่งจะมีช่วงชีวิตยาว 30 ปี ตลอดระยะ 30 ปีนี้คนแก่ไม่ได้อยู่แบบเหมือนเดิมๆเช้ายันเย็นทุกวันตั้งแต่อายุ 60 ปียัน 90 ปี ในความเป็นจริงชีวิตคนแก่แบ่งเป็นช่วงได้ 3 ช่วง คือ

     ช่วงที่ 1. ระยะมีชีวิตอิสระ (Independent living)เป็นระยะที่คนแก่สามารถทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นทำงานหาเงิน หรือทำงานจิตอาสา หรือทำงานอดิเรกที่หวังเอาแต่ความสุข อาจมีการเดินทางไปไหนไกลๆบ่อยๆ ที่พักอาศัยของคนแก่ระยะนี้ต้องมีลักษณะเป็นฐานที่มั่นซึ่งเป็นที่เอาไว้เติมพลังเท่านั้น เวลาไม่อยู่ก็ปิดประตูทิ้งไว้แล้วไปได้เลยโดยมีคนคอยดูแลให้ เมื่อกลับมาก็ต้องการมาพบกับความคึกคัก มีชีวิตชีวา ไม่เงียบเหงาเศร้าซึม มีเพื่อน มีดอกไม้ มีเสียงเพลง มีกิจกรรม มีคนช่วยทำสิ่งที่ตัวเองทำมาจนเบื่อและไม่อยากทำแล้ว เช่นทำความสะอาดห้อง ดูแลเปลี่ยนหลอดไฟ ซักรีด ทำอาหาร ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือระยะชีวิตอิสระนี้เป็นระยะแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะที่จะดูแลตนเองต่อไปให้ได้นานที่สุด ทั้งทักษะในการเรื่องการออกกำลังกาย โภชนาการ การจัดการความเครียด สถานที่อยู่ของคนแก่ในระยะนี้ต้องออกแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกฝนทักษะเพื่อให้แก่ตัวไปอย่างพึงพาตนเองได้และอย่างมีคุณภาพชีวิต เป้าหมายการสร้างที่พักให้คนแก่ก็โดยรวมก็คือต้องมุ่งยืดระยะมีชีวิตอิสระนี้ออกไปให้ยาวนานที่สุดด้วยการฝึกสอนทักษะการเป็นคนแก่ที่มีศักยภาพเนี่ยแหละ เรียกว่าสโลแกนของการดูแลคนแก่ในระยะนี้คือ education education education

     ช่วงที่ 2. ระยะที่ต้องอาศัยผู้ช่วยบ้าง (assisted living)เป็นระยะที่คนแก่ยังอยู่อาศัยอย่างอิสระเสรีได้ในสถานที่ออกแบบมาดีและมีระบบสนับสนุนดี แต่ว่าต้องการคนช่วยดูแล (caregiver) ในบางเวลา เช่นคนช่วยหัดให้ทำกายภาพบำบัดหลังการเจ็บป่วยเป็นอัมพาตหรือผ่าตัด คนช่วยจัดยาหรือเตือนให้กินยา คนพาอาบน้ำ หรือพาเข้านอน หรือพาไปโรงพยาบาล หรือพาไปช็อปปิ้ง พาไปล้างไต หรือแม้กระทั่งพาไปเที่ยวเมืองนอก องค์ประกอบของการที่พักอาศัยของคนแก่ระยะนี้นอกจากการออกแบบที่คำนึงถึงการให้คนแก่ที่เริ่มจะหง่อม หรือที่ขี้หลงขี้ลืม หรือเป็นอัมพาตบางส่วน สามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุดแล้ว ยังต้องมีระบบผู้ดูแล (caregiver) ที่ดี หมายความว่ามีการสร้างผู้ดูแลมืออาชีพที่มีทักษะวิชาชีพที่ดี มีเจตคติที่ดี มาทำงานบริการคนแก่ในระบบที่ออกแบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพ คือใช้ผู้ดูแลน้อยคน แต่การออกแบบสถานที่ที่ดีจะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถดูแลคนแก่ได้ทั่วถึงและได้ผลดีกว่าการไปนั่งดูแลกันที่บ้านแบบหนึ่งต่อหนึ่งเสียอีก การออกแบบที่พักคนแก่ในระยะนี้เป็นความท้าทายสูงสุดและต้องใช้กึ๋นของผู้ออกแบบเป็นอย่างมาก และเป็นการทำงานที่ต้องซิ้งค์กันระหว่างสถาปนิกผู้ออกแบบกับผู้วางแผนสร้างชุมชนคนแก่แห่งนั้น เพราะการออกแบบจะต้องสอดคล้องกับกิจกรรมของชุมชน

     ช่วงที่ 3. ระยะช่วยตัวเองไม่ได้เลย (nursing home care)พูดง่ายๆว่าเป็นระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว เป็นระยะล้มหมอนนอนเสื่ออย่างแท้จริง ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย และหมดโอกาสที่จะกลับมาลุกนั่งยืนเดินได้อีกแล้ว ตามสถิติระยะนี้กินเวลาเพียงประมาณ 1ปีสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น และหากคนแก่ได้รับการสอนการฝึกทักษะดูแลตัวเองมาดี ระยะนี้จะยิ่งสั้นมากหรือไม่มีเลย การออกแบบที่พักคนแก่ระยะนี้ก็คือการออกแบบสถานพยาบาลที่มีบรรยากาศของบ้านนั่นเอง ไฮไลท์ของการออกแบบไปอยู่ที่การรู้จักเลือกใช้เครื่องมือทางการแพทย์ กายอุปกรณ์ เครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยการทำงานของผู้ดูแลให้มีประสิทธิภาพโดยไม่ให้เสียความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ไป รายละเอียดปลีกย่อยมีมาก ผมขอไม่พูดถึงตอนนี้
    
     แต่ละระยะของสามระยะนี้ ต้องการการออกแบบที่แตกต่างกัน และในอดีตก็อยู่คนละที่กัน คนแก่ต้องย้ายสถานที่เมื่อย้ายระยะของชีวิต แต่คอนโดคนแก่ที่ผมจะสร้างขึ้นนี้ใช้คอนเซ็พท์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า CCRC ย่อมาจาก Continuing Care Retirement Community แปลว่า “ชุมชนคนเกษียณอายุที่มีระบบดูแลต่อเนื่อง” ความจริงไส้ในของ CCRC นี้ก็แตกต่างกันไปตามผู้ออกแบบ ในแง่ของความเป็นเจ้าของก็มีตั้งแต่แบบจ่ายเงินซื้อเข้าแพงๆครั้งเดียวอยู่จนตายไปจนถึงจ่ายเงินเช่าเป็นรายปี ในแง่ของการประสานช่วงชีวิตของคนแก่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแยกแต่ละระยะอยู่คนละตึกแต่อยู่บริเวณเดียวกัน แต่ของผมนี้จะเป็นอะไรที่ใหม่แปลกยิ่งกว่า คือจะออกแบบให้ผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการปรับแต่งอาคารสถานที่ในลักษณะเป็นพลวัต คือค่อยๆเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตของเจ้าของห้องผู้พักอาศัย ดังนั้นการออกแบบยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะต้องออกแบบไว้เผื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อระดับความต้องการของคนแก่เปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องออกแบบระบบสนับสนุนส่วนกลางของคอนโดแห่งนั้นให้เกื้อหนุนให้คอนเซ็พท์นี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนไม่ว่าจะเป็นระยะไหนของชีวิต และจะต้องซิงค์กับระบบผลิตและ supply ผู้ดูแล (caregiver) ได้อย่างมีจังหวะจะโคนกลมกลืนไร้รอยต่อด้วย

ประเด็นที่ 2. ความต้องการของคนแก่   

    คุณจะออกแบบบ้าน ก็ต้องรู้ความต้องการของเจ้าของ อันนี้แน่นอน งานวิจัยคนแก่ในเมืองไทยหลายครั้งหลายหนสรุปความต้องการของคนแก่หลักเหมือนกันหมดสี่ประการ คือ

(1) ต้องการเห็นลูกหลานเป็นคนดีมีความสำเร็จในชีวิต
(2) ต้องการมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วยเรื้อรังให้เป็นภาระของลูกหลาน และไม่ตายยากตายเย็นหรือตายอย่างทรมาน
(3) ต้องการมีเงินใช้
(4) ต้องการมีงานที่มีประโยชน์ทำ

     งานวิจัยในคนแก่ฝรั่งก็ให้ผลคล้ายกัน เพียงแต่ไปไฮไลท์ข้อที่ต้องการมีงานที่มีประโยชน์ทำไว้เป็นข้อหนึ่ง และลดความสำคัญของการเฝ้ามองความสำเร็จของลูกหลานลงไปเป็นข้อสุดท้าย แต่สาระหลักทั้งสี่ข้อก็ยังเหมือนกัน
     จะเห็นว่าในภาพรวมคนแก่ต้องการเป็นอิสระ ไม่เป็นภาระใคร และมีชีวิตยามแก่ที่มีคุณค่า การจะให้คนแก่บรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องมีการซิงค์การออกแบบที่พักอาศัยเข้ากับการออกแบบชุมชนและกิจกรรมของชุมชน แน่นอนกิจกรรมของชุมชนต้องเน้นการเรียนรู้ เรียนรู้ และเรียนรู้ เพราะคนแก่ที่ก้าวมาเป็นคนแก่เมื่ออายุ 60 ปีนั้น ยังไม่เดียงสาเลยว่าจะใช้ชีวิตในวัยแก่อย่างไรจึงจะได้ตามความฝันทั้งสี่ข้อนั้นได้ การจัดระบบการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตให้คนแก่จึงเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบ
ประเด็นที่ 3. ความปลอดภัยในที่พักอาศัยของคนแก่  
    
     ผมพูดถึงความปลอดภัย (safety) นะ ไม่ใช่การรักษาความปลอดภัย (security) เรื่องการรักษาความปลอดภัยอย่างเรื่องแขกยาม ระบบกล้องวงจรปิดนั้นเป็นเรื่องของคอนโดทั่วไปที่เขาต้องมีกันอยู่แล้ว แต่เรื่องsafety ของคนแก่หมายถึงการออกแบบสถานที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การลื่นตกหกล้ม หรืออื่นๆซึ่งจะชักนำให้ชีวิตคนแก่เป๋ไปก่อนเวลาอันควร ความปลอดภัยในที่พักอาศัยคนแก่เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นปลีกย่อย ผมยกตัวอย่างเช่น
     เริ่มต้นที่ห้องน้ำก่อนนะครับ ห้องน้ำสำหรับคนแก่มีประเด็นคือ

( 1 ) ลูกบิดประตู ต้องไม่ใช่ลูกบิดแบบปุ่มกลมๆหมุนๆตามบ้านทั่วไป เพราะคนแก่กำลังข้อมือไม่ดี ไม่มีแรงบิด ต้องใช้ที่เปิดประตูแบบคันโยก หลักอันเดียวกันนี้ใช้กับก๊อกน้ำด้วย ก๊อกที่หมุนกันสิบรอบแถมต้องขันชะเนาะอีกต่างหากจึงจะปิดน้ำได้ไม่เหมาะกับคนแก่ ต้องเอาแบบโยกด้ามไปมา

( 2 ) ประตูห้องน้ำตามบ้านคนทั่วไปที่เวลาเปิดจะเปิดบานประตูเข้าไปในห้องก็ไม่เหมาะ สำหรับคนแก่ยุต้องเป็นแบบเปิดออกมานอกห้อง เพราะเวลาคนแก่หกล้มหรือหมดสติขวางปากประตูอยู่ด้านใน ผู้ดูแลจะได้เปิดประตูเข้าไปช่วยได้ หากเป็นประตูแบบเปิดเข้า การผลักประตูเข้าไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่คนแก่ที่นอนกองอยู่ที่หลังประตู

( 3 ) ความกว้างของห้องน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรสร้างห้องน้ำให้กว้างกว่าหนึ่งวา หมายความว่ายืนอยู่กลางห้องน้ำแล้วกางแขนออกสองข้างต้องสามารถแตะผนังห้องน้ำทั้งซ้ายและขวาได้ และต้องติดราวระดับเอวไว้บนผนังทั้งสองข้าง เวลาล้มจะได้คว้าราวข้างใดข้างหนึ่งไว้ได้

(4) พื้นห้องน้ำต้องราบเรียบ ไม่มีขั้น ไม่มีธรณีประตู การระบายน้ำก็อาศัยวิธีให้พื้นเอียงจากส่วนแห้งลงไปหาส่วนเปียก

( 5 ) โถสุขภัณฑ์อย่าใช้ของแพง เพราะโถแพงจะเตี้ย คนสูงอายุนั่งแล้วลุกไม่ขึ้น โถสูงจะถูก ให้ใช้โถที่มีความสูงเท่าหรือสูงน้องๆม้านั่งที่นั่งอยู่ประจำ และต้องเผื่อความจำเป็นที่จะต้องทำราวโหนในอนาคตด้วย ราวโหนที่อยู่ข้างโถก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ถูกต้องด้วยหลักท่าร่าง (ergonomic) ของคนสูงอายุ ที่จับโหนแบบเป็นเชือกห้อยลงมาจากเพดานก็ไม่เหมาะเช่นกัน เพราะต้องพึ่งกล้ามเนื้อแขนซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแอที่สุดของคนแก่ ต้องทำราวโหนแบบอยู่ที่ข้างหน้าตรงๆ เพราะคนแก่จะได้อาศัยทั้งกล้ามเนื้อแขนและกล้ามเนื้อขายกตัวขึ้นพร้อมกัน เรื่องนี้มันเป็นทริกที่ลึกซึ้ง เอาไวเวลาทำจริงผมจะทำให้ดู


( 6 ) อ่างล้างหน้าแบบแปะเข้ากับผนังก็ไม่ดี เพราะคนแก่เข่าสองข้างแข็งแรงไม่เท่ากัน ชอบเท้าอ่างล้างหน้า อ่างแบบแปะผนังมักโครมลงมาง่ายๆ ควรทำอ่างแบบฝังลงไปบนเคาน์เตอร์ดีกว่า

( 7 ) สีของกระเบื้องบุพื้นกับผนังอย่าให้เป็นสีเดียวกัน และอย่าให้ลวดลายมากจนไม่รู้ตรงไหนเป็นพื้น ตรงไหนเป็นผนัง คนแก่จึงมักเผลอเดินเอาหัวชนผนังบ่อยๆเพราะการวางสีกระเบื้องไม่ถูกหลักนี่เอง จะให้ดีควรให้สีพื้นตัดกับสีผนังให้เห็นๆจะๆไปเลย

( 8 ) พื้นห้องน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนเปียก ควรปูแผ่นยางกันลื่นที่ฝรั่งเรียกว่า bath mat แผ่นนี้ช่วยป้องกันการลื่นล้มได้ สมัยก่อนที่โรงพยาบาลของผมนี้ผู้ป่วยลื่นล้มในห้องน้ำบ่อย พอเอาแผ่นยางปูพื้นก็ลดปัญหาได้มาก นอกจากนี้ที่อาบน้ำควรมีม้านั่งเตี้ยที่มีขาสี่ขามั่นคงไม่ไถลง่ายไว้ให้นั่งเวลาอาบน้ำด้วย จะได้ลดความเสี่ยงจากการลื่นล้มขณะยืนอาบน้ำ

( 9 ) ประการสุดท้ายก็คือเครื่องทำน้ำร้อนสำหรับคนแก่ต้องตั้งไว้ให้ตัดไม่ให้น้ำร้อนเกินไป เพราะคนแก่มีปฏิกิริยาสนองตอบหรือรีเฟล็กซ์ช้ากว่าธรรมดา กว่าจะรู้ว่าน้ำร้อนผิวหนังก็ลอกไปเป็นแถบแล้ว

     คราวนี้ก็มาว่าถึงตัวบ้าน มีหลักดังนี้

( 1 ) ก็คือการออกแบบตกแต่งทางเดินในบ้าน ต้องทำให้โล่งและเรียบตลอด เอาหีบห่อ สายไฟ แร็คหนังสือพิมพ์ กระถางต้นไม้ ออกไปให้พ้นทางเดิน สองข้างทางเดินควรมีที่เกาะยึด ถ้าเป็นผนังก็ควรมีราวเกาะบนผนัง ถ้าเป็นโต๊ะก็ต้องแข็งแรงมั่นคงให้ยึดเหนี่ยวได้ อย่าเอาเก้าอี้โยกมาไว้ใกล้ทางเดิน เพราะเวลาจะล้มคนแก่หันไปพึ่งเก้าอี้โยกก็..เรียบร้อย คือโครมลงไปทั้งคนทั้งเก้าอี้

( 2 ) พรมปูพื้นแบบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมวางตามห้องรับแขกไม่เหมาะสำหรับบ้านคนแก่ ควรเอาออกไปเสีย เพราะทำให้สะดุดขอบ หรือย่นไถลจนหกล้มได้ง่าย หากชอบอยากจะใช้พรมต้องเอาเทปสองหน้ายึดกับพื้นให้แน่น

( 3 ) ถ้าเป็นบ้านพื้นไม้กระดาน ต้องหมั่นตรวจตราซ่อมพื้นกระดานที่หลวมหรือกระเดิดขึ้นให้ราบสนิท เพราะคนแก่เตะแล้วเกิดแผลทีหนึ่ง รักษาแผลกันนานเป็นปี ไม่คุ้มกัน ยิ่งถ้าสะดุดหกล้มยิ่งเป็นเรื่องซีเรียส อย่าดูเบาเป็นอันขาด การลื่นตกหกล้มของคนแก่บางทีเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว คือล้มนิดเดียว แต่กระดูกตะโพกหัก ต้องนอนโรงพยาบาลหลายเดือน บางรายติดเชื้อถึงเสียชีวิตก็มีบ่อย

( 4 ) ต้องมีระบบรักษาพื้นให้แห้งตลอดเวลา

( 5) ถ้าพื้นเป็นกระเบื้อง ควรใช้กระเบื้องแบบไม่ลื่น และถูพื้นด้วยขี้ผึ้งแบบไม่ลื่น

( 6 ) ระบบแสงสว่างในบ้านคนแก่เป็นเรื่องบิ๊ก บิ๊ก บิ๊ก จริงๆ มีหลักอยู่สองประการคือประการที่หนึ่งแสงต้องมากกว่าธรรมดาเพราะคนสูงอายุเลนซ์ตาขุ่นรับแสงได้น้อยลง จะให้ดีติดไฟบอกทางที่ฝรั่งเรียกว่า night light เหมือนไฟบอกทางบนเครื่องบินไว้ทั่วบ้าน ประการที่สองต้นแสงต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่แยงตา โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นหรือลงบันได ต้องไม่เห็นหลอดไฟ เพราะตาของคนแก่นี้ม่านตาจะหดขยายเพื่อตอบสนองต่อแสงได้ช้า ถ้าเป็นคนหนุ่มคนสาวเมื่อมองหลอดไฟม่านตาจะหดพรึ่บไม่ให้แสงเข้าไปถึงจอประสาทตามาก พอหันไปมองที่มืดม่านตาก็จะถ่างขยายฟึบเพื่อให้แสงเข้าไปหาจอประสาทตาได้มากที่สุด แต่ม่านตาของคนแก่ไม่ไวเช่นนั้น พอมองหลอดไฟปุ๊บตาจะพร่ามองอะไรไม่เห็นไปอีกหลายวินาที ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย

( 7 ) บันไดต้องมองเห็นแต่ละขั้นชัด อาจจะคาดเทปสีให้เห็นขอบ ถ้าพื้นบันไดเป็นไม้ลื่นก็ต้องติดมุมกันลื่น สองข้างบันไดต้องมีราวให้เกาะทั้งซ้ายมือขวามือ

( 8 ) อุบัติเหตุมักเกิดจากคนแก่ตื่นกลางดึกแล้วคลำหาสวิตช์หรือคลำหาทางไปห้องน้ำ ดังนั้น ห้องนอนต้องมีสวิตช์อยู่ข้างเตียง หรือมีโคมไฟข้างเตียง ให้เปิดไฟได้ก่อนที่จะลุกขึ้น ไฟฉายต้องมีไว้ให้ตลอดเวลา

( 9 ) ต้องศึกษาลักษณะการใช้บ้านว่าเจ้าของมีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วออกแบบให้เหมาะกับท่าร่างการทำกิจกรรมนั้น เรียกว่าหลักเออร์โกโนมิก( ergonomic) หรือเออร์โก้ดีไซน์ อย่างเช่นถ้าชอบทำอาหาร แต่มีครัวแบบมาตรฐานซื้อจากห้างไปติดตั้ง ครัวแบบนี้ที่เก็บจานอยู่สูงเหนือศีรษะ คนแก่ต้องเอาม้าต่อขาปีนขึ้นไปหยิบจาน ซึ่งไม่ดี จะให้ดีต้องออกแบบให้ที่เก็บจานอยู่ต่ำ หยิบได้โดยไม่ต้องปีน เป็นต้น

    วันนี้คุยกันแค่นี้ก่อนนะเพราะดึกแล้วคุณขา แล้วอย่าลืมที่ผมชวนให้มาออกแบบโครงการคอนโดคนแก่ของผมนะ ทำเป็นวิทยานิพนธ์ของคุณก็ได้.. เขาพูดจริงนะตัวเอง


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.      CDC National Vital Statistic Report. Accessed on September 25, 2012 at http://www.cdc.gov/nchs/data/nvsr/nvsr61/nvsr61_03.pdf