Latest

โรค “ขี้เมี่ยง” หรือโรค “หย็องกอด”

สวัสดีค่ะ คุณหมอ 

     ได้ติดตามเพจคุณหมอมาสักพักนึงแล้ว ไม่คิดว่าอยู่ๆโรคที่เคยอ่านเจออาจจะเกิดกับตัวเอง ดิฉันอายุ 26 ปี ตอนนี้กำลังเริ่มออกกำลังกาย เนื่องจากอยากลดน้ำหนัก วันนี้เริ่มวิ่งวันแรก วิ่งได้แค่ 2 นาที มีอาการเจ็บหน้าอก กลางเยื้องขวา เมื่อเปลี่ยนเป็นเดินเร็วอาการก็หายไปทันที เมื่อสลับไปวิ่งอีก ประมาณสองนาทีก็เจ็บหน้าอกอีก เริ่มลามมาทางซ้ายนิดหน่อย ปวดไปทางหลังด้วยค่ะ อาการที่เจ็บหน้าอกไม่มากนะคะ เหมือนตื้อๆอึดอัดค่ะ ลองเอาอาการไปเสิชดู ดิฉันน่าจะเป็น หัวใจขาดเลือดใช่ไหมคะ หรืออาการนี้อาจจะเป็นโรคอื่นได้ด้วย ตอนนี้เครียดมากเลยค่ะ เพราะอายุแค่ 26 ปี

ดิฉันควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจใช่ไหมคะ จะรอคำตอบนะคะคุณหมอ

ขอบคุณล่วงหน้ามากๆค่ะ


………………………………………
ตอบครับ

     สา…ธุ ขออนุโมทนากับกุศลเจตนาอันดีงาม หาได้ง่ายที่ไหนที่คนรุ่นใหม่อายุแค่ 26 ปีจะหันมาสนใจออกกำลังกายจริงจังถึงขั้นลงมือทำ เพราะเห็นน้ำยาของเด็กรุ่นใหม่แล้ว ต้องยอมรับว่าการได้รู้จักกับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการออกกำลังกายหนึ่งคนเนี่ยะ เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่เทียบได้กับคนเลี้ยงแกะพบลูกแกะที่หลงทางที่หายไปดังที่มีเขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั่นที่เดียว มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มาก จนจีซัสถึงกับสอนให้สาวกมองเรื่องนี้ว่า

“..มาดีใจด้วยกันเถิด
ฉันหาลูกแกะที่หลงไปพบแล้ว..”

     หิ..หิ ผมเปล่าประชดประชันคนรุ่นใหม่นะครับ แต่ชื่นชมคุณด้วยน้ำใสใจจริง มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1.. ถามว่าเริ่มออกวิ่งได้แค่ 2 นาที แล้วเจ็บหน้าอก เมื่อเปลี่ยนเป็นเดินเร็วอาการก็หายไปทันที เมื่อกลับไปวิ่งอีกก็เจ็บหน้าอกอีก เป็นโรคหัวใจขาดเลือดใช่หรือไม่ ตอบว่าในกรณีของคุณไม่ใช่ครับ

     2.. ถามว่าถ้าไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือดแล้วมันเป็นโรคอะไร ตอบว่ามันเป็นโรค “ขี้เมี่ยง” แหะ..แหะ พูดเล่นนะครับ คำว่าขี้เมี่ยงเป็นสะแลงของภาษาเหนือ แปลตรงๆก็คือชานเมี่ยงหรือใบชาที่คนเฒ่าคนเถิบเขาเคี้ยวจนหมดรสแล้วคายทิ้งแบบชานอ้อย ความหมายของคนขี้เมี่ยงก็คือคนหย็องกอดผอมแห้งแรงน้อยออกแรงทำอะไรนิดหน่อยก็มีอาการสาระพัด กลายเป็นคนทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ ไร้ค่าเทียบได้กับขี้เมี่ยงหนึ่งก้อนแค่นั้นเอง ผมไม่ได้ว่าตัวคุณเป็นคนไร้ค่านะครับ แต่อธิบายรากของภาษาให้ฟัง ภาษาแพทย์เขาเรียกอาการแบบคุณนี้ว่า exercise intolerance แปลว่าร่างกายทนการออกกำลังกายได้น้อย พอกล้ามเนื้อซี่โครง (intercostal muscle) ซึ่งไม่เคยออกแรงไปออกแรงมากๆเข้าทันทีทันใดก็จะมีอาการขาดออกซิเจน ทำให้เจ็บเสียดหน้าอกหรือชายโครง พอเพลาการออกกำลังกายลงก็ดีขึ้น พอเร่งมากก็เป็นใหม่

     3..ถามว่าจะรักษาโรคขี้เมี่ยง เอ๊ย ไม่ใช่.. โรคหย็องกอด เอ๊ย ไม่ใช่.. โรคออกกำลังกายได้น้อยนี้ได้อย่างไร ตอบว่าก็ต้องฝึกร่างกายให้สามารถรับการออกกำลังกายมากขึ้นวันละนิดๆทุกวันๆ จนออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ถึงระดับมาตรฐานสากลคือจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้อยู่นานถึง 30 นาทีโดยไม่เจ็บอกหรือเสียดชายโครง ทำได้เมื่อไหร่ ก็ถือว่าเมื่อนั้นคุณได้หายจากโรคนี้แล้ว

     4.. ถามว่าแล้วหมอสันต์รู้ได้อย่างไรว่าหนูไม่ได้เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าหนูตายคาลู่วิ่งไปแล้วใครจะรับผิดชอบ ฮั่นแน่.. เรียกหาคนรับผิดชอบอนาคตตัวเองตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อสาวเลยนะเนี่ย

     พูดถึงการวินิจฉัยโรคของแพทย์ มันก็มีหลักของมันอยู่นะ คือแพทย์จะมองออกมาจากสี่มุม คือ

     มุมที่หนึ่ง คือต้องมองจาก อาการวิทยา คือความรู้ที่ว่าอาการอะไร นำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง ในความเป็นจริงต้องรู้ลึกลงไปถึงเอกลักษณ์ปลีกย่อยของอาการใดอาการหนึ่งซึ่งเมื่อไปแสดงในแต่ละโรคจะแสดงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นอาการเจ็บหน้าอกถ้าแสดงในโรคหย็องกอดก็เป็นประมาณว่าเสียดชายโครง หรือเจ็บๆแน่นๆหน้าอกพอบังคับให้เราชลอการออกกำลังกายให้ช้าลง แต่ถ้าแสดงในโรคหัวใจขาดเลือดก็จะเป็นแบบเหงื่อแตกพลั่กจนต้องรีบนั่งลงแล้วสั่งเสียกับคนข้างๆว่าถ้าฉันตายบอกพี่เขาด้วยนะว่าฉันรักเขา ทำนองนั้น

     มุมที่สอง คือต้องมองจากสรีรวิทยา ของระบบอวัยวะต่างๆ คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าต่อสถานการณ์แวดล้อมอย่างหนึ่ง อวัยวะทั่วร่างกายจะสนองตอบอย่างไร อวัยวะในร่างกายของเรานี้มีอยู่หกสิบกว่าอวัยวะ ซึ่งรวบกันเข้าเป็นสิบสองระบบ ซึ่งผมท่องจำขึ้นใจตั้งแต่เป็นนักเรียน คือระบบผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก ประสาท หายใจ ไหลเวียน ทางเดินอาหาร ปัสสาวะ สืบพันธุ์ เลือด น้ำเหลือง ต่อมไร้ท่อ แต่ละอวัยวะก็ทำงานแตกต่างกันไป การเอาความรู้ส่วนนี้มาช่วยวินิจฉัยโรคก็เช่น เมื่อคนที่ไม่เคยวิ่งออกไปวิ่ง ระบบต่างๆจะทำงานอย่างไรบ้าง ที่กล้ามเนื้อกลุ่มไหนจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอาการอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

     มุมที่สาม คือต้องมองจากด้านสาเหตุของโรคคือความรู้ที่ว่าเมื่อเกิด “เรื่อง” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นกับร่างกาย มันมีอะไรเป็นสาเหตุได้บ้าง ในสมองของหมอที่จะวินิจฉัยโรคแต่ละครั้ง ต้องไล่เลียงสาเหตุที่เป็นไปได้ อย่างสมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์เขาท่องกลุ่มสาเหตุกันว่า ติดเชื้อ อักเสบ บาดเจ็บ เนื้องอก เป็นแต่กำเนิด เกิดจากการเผาผลาญ ภูมิต้านทาน ฮอร์โมน และโรคจากการรักษา แล้วก็คิดเอาแต่ละสาเหตุนี้เข้าไปเทียบว่ามันเป็นไปได้ไหม อะไรเป็นไปได้มาก อะไรเป็นไปได้น้อย

     มุมที่สี่ คือต้องมองจากพยาธิวิทยา คือความรู้เรื่องเฉพาะของแต่ละโรค ว่าโรคๆหนึ่ง มันมีอะไรเป็นสาเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิด เมื่อเกิดแล้ว มันจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆอย่างไร จะมีอาการอะไรโผล่ออกมาบ้าง และจะโผล่มาตอนไหน ยกตัวอย่างการมองในมุมนี้ ความรู้เรื่องโรคหัวใจขาดเลือดทำให้หมอรู้ว่าโรคนี้เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลักสี่ห้าตัว อันได้แก่ (1) ไขมันในเลือดสูง (2) ความดันเลือดสูง (3) สูบบุหรี่ (4) เป็นเบาหวาน (5) มีอายุมาก (คือหญิงมากกว่า 55 ปี ชายมากกว่า 45 ปี) (5) มีพันธุกรรมสายตรงที่บรรพบุรุษตายเพราะโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งในกรณีของคุณไม่มีความเสี่ยงเหล่านี้สักอย่าง จึงแทบจะเชื่อขนมเจ็กกินได้เลยว่าโอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมีน้อยมาก

     จากนั้นก็เอาความรู้ทั้งสี่มุมนี้คลุกเคล้ากันในหัว และเรียบเรียงออกมาว่าจากข้อมูลเท่าที่ได้มาตอนนี้ คนไข้น่าจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย จากนั้นจึงค่อยหาทางพิสูจน์ว่าเป็นโรคตามนั้นจริงหรือเปล่าด้วยกระบวนการสืบค้นเพิ่มเติมต่างๆเช่นแล็บ เอ็กซเรย์ เป็นต้น ทั้งหมดที่เล่ามานี่คือวิธีการวินิจฉัยโรคของแพทย์ รวมทั้งวิธีที่ผมใช้วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคหย็องกอด ไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดด้วยครับ

     5. ถามว่าควรทำอย่างไรต่อไป จะไปหาหมอดีไหม ตอบว่าให้วิ่งออกกำลังกายต่อไปทุกวัน วิ่งแบบฝึกสมรรถนะร่างกายตนเอง คือวิ่งให้หนักขึ้นๆทุกวันๆละนิดๆ ไม่ต้องไปหาหมอหรอกครับ เสียเวลาเปล่า เอาเวลาไปหัดวิ่งดีกว่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์