Latest

บันทึกนี้เขียนที่พม่า Before and After

     บันทึกนี้เขียนที่สนามบินมัณฑะเล เพราะมาทำงานที่พม่าสามวัน ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มาพม่า ครั้งก่อนประมาณสิบปีมาแล้วสมัยที่ยังเป็นรัฐบาลทหาร จึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบครั้งก่อนกับครั้งนี้ เรียกว่าเป็นการมองพม่าในมุม before and after หมายความว่าก่อนเปิดประเทศเมื่อสิบปีก่อน และวันนี้ซึ่งเป็นระยะหลังการเปิดประเทศ
11 มค. 56

     ลงเครื่องบินแล้วยังไม่ทันจะได้ขึ้นรถ มีมี่ซึ่งเป็นเพื่อนคนพม่าที่คอยดูแลอยู่ทางนี้ก็โทรศัพท์มาบอกว่าระหว่างทางไปโรงแรมขอให้ไกด์พาแวะไปวัดอะรูมิไร้  (อะไรมิรู้ เพราะเธอบอกชื่อมาแล้วก็จำไม่ได้) เพื่อให้ผมตรวจดูอาการสมเด็จพระสังฆราชของรัฐฉานซึ่งป่วยอยู่และลงมาจากรัฐฉานเพื่อมารอพบผมโดยเฉพาะ เราขับรถไปยังวัดที่ว่านี้ซึ่งอยู่ในใจกลางเมืองยังกอน หรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองย่างกุ้งนั่นแหละ คือวัดอยู่ใกล้ๆกับเจดีย์ชะเวดากองนั่นเอง ก่อนถึงวัดคนขับพาผ่านซอยหลายแห่ง ผมมองเข้าไปในซอยสังเกตเห็นว่ามีเสาและสายไฟฟ้าแต่ไม่มีสายโทรศัพท์พะรุงพะรังแบบบ้านเรา นี่เป็นข้อดีข้อแรกของการเปิดประเทศช้า เพราะระหว่างที่พม่าปิดประเทศอยู่หลายสิบปีนั้นได้เกินเทคโนโลยีโทรศัพท์ไร้สายและสามจี.สี่จี.ขึ้น สำหรับประเทศที่ล้าหลังยังไม่มีโทรศัพท์โทรเลขใช้ก็สบายเลย คือก้าวข้ามไปใช้มือถือกับไวร์เลสอินเตอร์เน็ทเลยไม่ต้องมาปักเสาต่อสาย

     เรามาถึงเป็นเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้าของที่นี่ มีหมอท้องถิ่นชาวพม่าเป็นหมอผู้หญิงชื่อหมอเมย์มาสมทบและทำหน้าที่เป็นล่าม เข้าไปในวัดเป็นศาลาขนาดใหญ่ การเข้าไปในศาลาหรือบริเวณศักดิ์สิทธิ์ของวัดในพม่านี้เป็นธรรมเนียมว่าต้องถอดรองเท้าเข้าไป มีผู้แสวงบุญมากางมุ้งนอนที่ศาลาจำนวนมาก แต่พอสว่างทุกคนก็เก็บมุ้งและกวาดถูพื้นสะอาดเรียบร้อยพอสมควร ไกด์พาเดินขึ้นไปที่ห้องพักของพระสังฆราชที่ชั้นบน ท่านอายุ 89 ปีแล้ว แต่สมองยังเฉียบแหลมดีและดวงตายังฉายแววรอบรู้และสนใจสิ่งรอบตัว ท่านเชื้อเชิญให้ทานของว่างพิเศษที่จัดมารับ เป็นคล้ายๆเค้กหั่นเป็นแผ่นแบบของเอสแอนด์พีบ้าง ขนมปังครัวซองราดเนยเทียมบ้าง หลายชนิด ทั้งหมดประมาณสิบชิ้นวางกองอยู่ในถาดไม้ไผ่จักสาน ขณะที่ผมเหลือบดูอีกถาดหนึ่ง ซึ่งคงจัดรับรองศรัทธาชาวพม่าชุดที่เข้ามาพบก่อนหน้านี้ เป็นชุดถาดไม้ไผ่สานเหมือนกัน แต่อาหารในนั้นเป็นถั่วต้มประมาณห้าหกชนิดปนกันอยู่ในถ้วยแบบของหยิบทานเล่น อีกถ้วยหนึ่งเป็นผักคล้ายๆผักกูดนึ่งมาแล้วม้วนเป็นก้อนประมาณก้อนละคำ คล้ายเมี่ยงที่ชาวไทยทางเหนือสมัยก่อนชอบทานกัน มองดูอาหารพิเศษสำหรับแขกผู้มีเกือกที่มาจากแดนไกล มันคืออะไรที่วงการโภชนาการทั่วโลกกำลังหมายหัวว่าเป็นอาชญากร อันได้แก่แป้งคาร์โบไฮเดรต ไขมันทรานส์ และน้ำตาล ขณะที่อาหารท้องถิ่นสำหรับคนท้องถิ่นนั้น เป็นอะไรที่วงการโภชนาการสมัยใหม่กำลังเร่งเร้าให้คนหันมาทานมากขึ้น อันได้แก่ ถั่ว ผลเปลือกแข็ง และเมล็ดต่างๆ กับผักและผลไม้ ผมนึกขึ้นได้ว่าตามถนนตอนนี้ในเมืองย่างกุ้งยังไม่มีร้านอาหารเครื่องดื่มอย่าง แมคโดนัลด์ เคนตั๊กกี้ฟรายด์ชิกเก้น เซเว่นอีเลเว่น แต่ว่าพม่าก็ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่เป็นทางสองแพร่งซึ่งต้องเลือกแล้ว ทางที่หนึ่งคือเดินตามหลังโลกภายนอกไป ด้วยการรับเอาอาหารหารอุดมแป้ง น้ำตาลและไขมันทรานส์ มาเป็นวัฒนธรรมอาหารใหม่ของตนเองเพื่อเปลี่ยนสารเคมีในเลือดของตัวเองให้เป็นชุดใหม่ไว้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือด หัวใจ สมอง ความดัน ไต เบาหวาน ในวันหน้า เหมือนอย่างที่คนไทยได้ทำกันในยี่สิบปีที่ผ่านมาและพากันเป็นคนอมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หมดโอกาสที่จะได้ตายดีๆกันซะเกือบครึ่งประเทศแล้วในวันนี้ กับทางเลือกที่สองคือการสร้างนวัตกรรมทางอาหารด้วยการปรับอาหารของชาวบ้านปัจจุบันซึ่งมีโภชนศาสตร์ที่ดีอยู่แล้วให้มีรูปลักษณ์ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของผู้คนที่ล้วนอยากทำตัวเป็นคนสมัยใหม่กันทุกคน การจะทำแบบนี้ได้ก็ต้องรณรงค์ให้คนทั้งสังคมเข้าใจข้อดีข้อเสียของทางเลือกทั้งสองทางนี้อย่างถี่ถ้วนเท่านั้น และคนที่จะรณรงค์เรื่องนี้ได้คงไม่ใช่รัฐบาล แต่ต้องเป็นเอกชนที่ทำธุรกิจด้านอาหารที่มีวิสัยทัศน์ไกลไปถึงยี่สิบสามสิบปีข้างหน้า จะมีพ่อค่าในพม่าที่เข้าสะเป๊คนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป
     อาการป่วยของสมเด็จสังฆราชไม่ได้มีอะไรซีเรียสแบบเร่งด่วนมาก แต่เป็นเรื่องซีเรียสแบบเรื้อรัง คือท่านเป็นอัมพาตครึ่งซีกที่มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาถึงระดับที่มีชีวิตที่มีคุณภาพได้ แต่ขาดระบบฟื้นฟูร่างกายที่ดีและจริงจัง ทั้งๆที่ตัวท่านเองนั้นเป็นคนที่พลังใจและมีความพร้อมทางร่างกายครบถ้วน ผมได้นั่งคุยกับพระผู้ดูแล ผ่านล่ามว่าทางมีมี่จะจัดระบบฟื้นฟูขึ้นที่วัดของท่านที่รัฐฉาน โดยติดตั้งระบบกายอุปกรณ์อย่างง่ายเช่นราวไม้ไผ่แบบเดี่ยวแบบคู่ และระบบอาชีวบำบัดโดยทำเส้นทางเดินบิณฑบาตรในวัด โดยให้ท่านรับปากว่าท่านจะยอมฟื้นฟูร่างกายอย่างจริงจังวันละไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งท่านก็รับด้วยท่าทีแข็งขันและแววตาเด็ดเดี่ยว แล้วก็ได้คุยกับพระผู้ดูแลท่านถึงแผนการปรับโภชนาการเพื่อแก้ไขปัญหาไขมันในเลือดสูงเบาหวาน และน้ำหนักเกิน จนมั่นใจว่าเข้าใจกันดีแล้วจึงลาท่าน ออกเดินทางไปตามทางของเราต่อไป
     ปัญหาการฟื้นฟูร่างกายหลังเจ็บป่วยนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนพม่า เพราะไม่มีรูปแบบการฟื้นฟูแบบหวังผลจริงจัง (goal oriented rehabilitation) มีแต่แผนกกายภาพบำบัดซึ่งก๊องแก๊งและไม่ได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ แม้สำหรับคนทั่วไป การขาดการออกกำลังกายก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่ของชาวพม่าเช่นกัน เพราะชีวิตประจำวันของคนพม่าในอดีตได้ออกกำลังกายจากการเดินทางไปทำงานและเดินทางไกลไปแสวงบุญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินเท้าและใช้จักรยาน แต่ปัจจุบันพาหนะสมัยใหม่กำลังมาไล่ที่การออกกำลังกายส่วนนี้ไปเสียแล้ว ในเมืองก็คือรถยนต์ ซึ่งย่างกุ้ง ณ ขณะนี้รถติดน้องๆกรุงเทพฯ ในชนบทก็คือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งผมเชื่อว่าในเวลาไม่กี่ปีก็คงจะทดแทนรถถีบหรือจักรยานปั่นเสียเกือบหมด เมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย แต่ยังทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอยู่เท่าเดิม คนพม่าซึ่งส่วนใหญ่หุ่นผอมเกร็งเพรียวลมก็จะกลายเป็นคนอ้วนไปในเวลาไม่ถึงสิบปี การจะก้าวกระโดดให้คนพม่าคงการออกกำลังกายไว้ได้ในชีวิตสมัยใหม่ ผมเห็นมีอยู่ทางเดียวคือการทำให้จักรยานเป็นรูปแบบการเดินทางไปทำงานที่นิยมกันทั้งประเทศ ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังมีโอกาสให้ทำได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครทำ

     แม้ว่ารถจะติด แต่จริงๆแล้วผมสังเกตว่าเป็นเพราะระบบถนนยังไม่ดี ไม่ได้เป็นเพราะมีรถยนต์มาก การเปิดประเทศครั้งนี้พม่ายังมีโอกาสก้าวข้ามยุครถยนต์ไปสู่ยุคขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าโดยมีจักรยานและการเดินเท้าเป็นระบบเสริมได้อยู่ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะได้ประโยชน์ครั้งใหญ่เหมือนกับการก้าวข้ามยุคโทรศัพท์มีสายไปสู่สามจี.สี่จี. แต่ว่าโอกาสจะลัดข้ามยุครถยนต์นี้กำลังลดน้อยถอยลงไปอย่างรวดเร็วตามจำนวนรถยนต์ในถนนที่กำลังเพิ่มขึ้น รัฐบาลพม่าเองได้ตัดสินใจโดยดูเอาจากอดีตของเมืองใหญ่อื่นๆ ไม่ได้จินตนาการไปในอนาคต คือวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหารถติดโดยห้ามรถจักรยานออกมาวิ่งในถนนใหญ่ นับว่าเป็นการนับหนึ่งไปสู่ยุครถยนต์แทนการก้าวข้ามยุครถยนต์เสียแล้ว
     รถพาเราลัดเลี้ยวไปตามถนนหลักบ้าง ถนนรองบ้าง ตลอดทางเราผ่านตึกรูปทรงสวยงามสมัยโคโลเนียลมากมาย บ้างเป็นสำนักงานเก่าของรัฐบาล บ้างเป็นอาคารเรียนมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน บ้างเป็นบ้านพักเก่าของพวกอังกฤษซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างผุพัง เมื่อสิบปีก่อนผมเคยพูดว่าย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงที่สวยที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ถ้าได้ขัดขี้ไคลและซ่อมหลังคาให้ตึกเก่าเหล่านี้เสียก่อน วันนี้ความเห็นผมก็ยังเหมือนเดิม อาคารรูปทรงคลาสสิกเหล่านี้แม้ในอังกฤษเองทุกวันนี้ยังไม่เหลือให้เห็นแล้ว เพราะล้วนถูกดัดแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ย่างกุ้งนี้หยุดการดัดแปลงใดๆไปนับร้อยปี อาคารเหล่านี้จะหาดูที่ไหนในโลกไม่ได้อีกแล้ว กระทั่งที่ย่างกุ้งนี้เอง ก็คงเหลือให้ดูอีกไม่กี่ปี เพราะที่ดินกำลังแพงขึ้นทุกวัน การปรับปรุงอาคารเก่าต้องใช้เงินโดยที่ได้ประโยชน์ใช้สอยเพิ่มไม่มาก หากเทียบกับการรื้ออาคารทิ้งเพื่อสร้างคอนโดมิเนียมแล้วอย่างหลังย่อมคุ้มค่าเงินกว่าแยะ เราผ่านจุดหนึ่งซึ่งกำลังมีการสร้างคอนโดมิเนียมเพื่อพักอาศัย ผมถามราคาคอนโดมิเนียมที่นี่ มีมีบอกว่าห้องชุดขนาด 250 ตาราเมตร ราคาคิดเป็นเงินไทย 30 ล้านบาท นี่ขนาดคนซื้อเป็นคนพม่าล้วนๆนะ เพราะคนต่างชาติไม่มีสิทธิ์ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่นี่ ผมฟังราคาแล้วต้องอ้าปากค้างเลย เพราะพื้นที่ขนาดเดียวกันในกรุงเทพฯ ถ้าขายได้หน่วยละ 15 ล้านนี่ก็สุดหรูแล้ว

     รถพาเราจอดที่สำนักงานที่จะเปิดรับคนไข้จากพม่า วันนี้เป็นวันทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสเปิดสำนักงาน หลังจากเรามาถึงได้ไม่นานพระก็มา โดยมีเสียงเพลงป๊อบนำขึ้นบันไดมาก่อน เมื่อพระสงฆ์ทั้งห้ารูปโผล่เข้าห้องพิธีมา จึงเห็นว่าพระหัวหน้าคณะหิ้วลำโพงขนาดประมาณเท่าหม้อหุงข้าวมาด้วย มาถึงท่านก็วางลำโพงไว้ตรงหน้า แล้วควักไมโครโฟนแบบไร้สายออกมา แล้วเริ่มการสวดผ่านไมโครโฟนได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาติดตั้งและทดสอบเสียงให้ยุ่งยาก นับว่าเป็นระบบขยายเสียงในงานทำบุญที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เมืองไทยหลายเท่า
     การสวดชุดแรกของพระเป็นการนั่งยองๆสวด คือพระทั้งห้ารูปพากันนั่งยองๆบนพื้นแบบที่เด็กเป็นโรคหัวใจชนิดตัวเขียวชอบนั่งกัน ทุกรูปพนมมือไหว้พระพุทธรูปที่บนผนัง พระต้นเสียงสวดออกไมโครโฟน มีพระมือขวาคอยขึ้นไลริคหรือเนื้อเพลงให้ตอนเริ่มต้นท่อนแบบพูดหลังไมค์ เข้าใจว่าพระต้นเสียงคงจำเนื้อไม่ค่อยได้แล้ว ส่วนพระอีกสามรูปก็สวดคลอกับพระลูกพี่แบบสวดบ้างไม่สวดบ้าง บางจังหวะก็ควักไอโฟนขึ้นมารับสายพลาง สวดพลาง การสวดของพระลูกน้องทั้งสามรูปก็ไปกันคนละคีย์กับลูกพี่ คือพระต้นเสียงสวดประมาณบีไมเนอร์ แต่พระลูกคู่สวดประมาณดีไมเนอร์ ตอนแรกผมนึกว่าจะเป็นเฉพาะช่วงเริ่มจูนเสียงให้เข้ากัน แต่จริงๆแล้วเป็นวิธีสวดต่างคีย์กันคงที่แบบนั้นไปตั้งแต่ต้นจนจบ ตอนแรกฟังดูแปร่งหูเหมือนกำลังนั่งอยู่ในงานประกวดร้องเพลงพนักงานที่โรงพยาบาล แต่ฟังไปนานๆเข้าก็ไพเราะไปอีกแบบ

     ช่วงที่สองเป็นการสวดให้ญาติโยมฟัง โดยพระนั่งบนม้านั่ง ญาติโยมนั่งบนพื้นแบบบ้านเรา คำสวดบางท่อนคล้ายๆที่สวดในบ้านเรา แต่ใส่ท่วงทำนองเมโลดี้สูงๆต่ำๆเข้าไปจนแทบจะครบโน้ตทั้งแปดตัว ท่วงทำนองออกจะคล้ายกับเพลงฝรั่งเพลงหนึ่งที่ว่า

“…I see the sun shine

On a rainy day

ตึ่ง ตึง ตึง ตึ๊ง ตึง ตึ่ง..”

     การสวดบางตอนเป็นการอาราธนาศีลคล้ายๆบ้านเราแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะมีช่วงที่พระกับญาติโยมสวดยาวไปพร้อมกันไปเป็นปี่เป็นขลุ่ย ผมแอบดูชาวพม่าที่มาร่วมงานล้วนสวดร่วมกับพระได้ทุกคน แสดงว่าพิธีทางศาสนาแบบนี้ทำกันบ่อยมาก
สวดจบก็มีการถวายอาหารเพล อาหารมากมายจัดอยู่บนโต๊ะกลมคล้ายโต๊ะจีนแต่ขาเตี้ยแบบขันโตกเพราะพระนั่งฉันกับพื้น วิธีประเคนของที่นี่ต้องยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดีน่าเอามาใช้ในเมืองไทย คือญาติโยมช่วยกันยกโต๊ะทั้งโต๊ะขึ้นให้ขาลอยจากพื้นนิดหนึ่ง พระก็เอามือมาแตะเป็นการรับประเคนแล้วญาติโยมก็ค่อยๆวางโต๊ะลง ไม่ต้องมาค่อยๆยกประเคนทีละจานแบบบ้านเรา
เสร็จงานทำบุญเลี้ยงพระก็เป็นการเปิดตรวจรักษาโรคฟรีที่สำนักงานนั่นเลย มีคนไข้มามากพอสมควร ตรวจกันตลอดบ่าย คนไข้ส่วนใหญ่มีคำถามเตรียมมามากมาก ก็ต้องใจเย็นให้เวลาตอบให้หมดโดยสื่อสารกันผ่านล่าม จะเข้าใจกันแค่ไหนก็สุดแต่บุญกรรม เพราะบางทีผมพูดเสียยืดยาวแต่ล่ามแปลสั้น บางทีผมพูดสั้นแต่ล่ามแปลเสียยาว ความที่คนไข้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันมาก นอกจากจะสอนให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้วผมนัดให้คนไข้ที่มีปัญหามากไปเรียนการออกกำลังกายกับผมในเช้าวันรุ่งขึ้นที่สวนสาธารณะ ซึ่งคนไข้ทุกคนต่างก็รับปากว่าจะไป

     หมดคนไข้แล้วก็เป็นเวลาค่ำมืด  มีมี่พาเราไปเดินรอบองค์เจดีย์ชเวดากอง ครั้งก่อนผมเคยมาตอนกลางวัน จำได้ว่าต้องถอดร้องเท้าและถุงเท้าเดินเท้าเปล่าลงไปบนพื้นกระเบื้องร้อนอย่าบอกใคร แต่การมาตอนกลางคืนไม่มีปัญหาเลย อากาศเย็นสบาย แสงไฟส่องสาดองค์เจดีย์สวยงาม ไกด์ออกตัวขอแก้ความเข้าใจผิดก่อนว่าทองที่ยอดเจดีย์ไม่ได้เอามาจากเมืองไทยนะ  ชาวพม่าจากแดนไกลยังดั้นด้นมาแสวงบุญที่เจดีย์ชเวดากองมิได้ขาด ครั้งนี้ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนก็ตรงที่มีนักท่องเที่ยวฝรั่งมากขึ้นผิดตา เรียกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่เดินรอบเจดีย์เป็นฝรั่ง ฝรั่งมาชมบรรยากาศ แต่คนพม่ามาแสวงหาความสงบของจิตใจ บ้างสวด บ้างนับลูกประคำ แต่ก็มีบ้างที่มาต่อรองเอาผลประโยชน์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ขายก็เอาใจตลาดโดย diversify สินค้าออกไป เช่น นอกจากพระประจำวันของใครของมันแล้ว บางมุมของเจดีย์ก็เป็นพระพุทธรูปถือสมุดดินสอกระดานดำ ซึ่งถือว่าใครอยากให้ลูกสอบเข้าได้อะไรมาสรงน้ำท่านก็จะสอบได้ บางมุมก็เป็นพระที่ชำนาญเฉพาะการให้ลูกชาย ใครอยากได้ลูกชายก็มาไหว้มาสรงที่องค์นี้ สรงไปด้วยจับจู๋ไปด้วย จู๋ตัวเองนะไม่ใช่จู๋พระ ว่ากันว่าแล้วก็จะได้ลูกชายสมประสงค์

     เดินรับลมเย็นรอบเจดีย์ได้ประมาณสามรอบ รู้สึกจิตใจปลอดโปร่งดี แล้วก็พากันไปเข้าโรงแรมที่พัก ชื่อกรีนฮิลล์ ฟังว่าเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งใหม่ เมื่อไปถึงก็เป็นโรงแรมที่โอ่อ่าสมคำลือ มีโถงใหญ่ห้อยโคมระย้า หะรูหะราไม่แพ้โรงแรมที่ไหนในโลก แต่ที่ห้องโถงเขียนป้ายไว้ว่า

     “Please do not yell, eat, smoke and doze in the lobby” 

     ซึ่งผมขออนุญาตแปลว่า

     “..โปรดอย่าแหกปากตะโกนโว้กเว้ก หรือเคี้ยวอะไรจั๊บๆ หรือดูดยา หรืองีบหลับน้ำลายยืด ในห้องโถงอันอัครฐานนี้”

……………………….    
 12 มค. 56

     เราตื่นแต่หกโมงเช้าเพื่อไปสอนคนไข้ให้ออกกำลังกายที่ปาร์คริมทะเลสาบ มีคนไข้ที่นัดหมายไว้มากับแยะเหมือนกันนับได้สักยี่สิบ บ้างก็ยังใช้กายอุปกรณ์อย่างไม้ค้ำยันอยู่เลย ผมสอนให้ออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ โดยใช้ท่ากายบริหารบ้าง ใช้ไม้กระบองบ้าง ใช้สายยืดบ้าง ใช้ดัมเบลบ้าง สอนไปๆก็มีคนผ่านมาแวะเข้าร่วมกลุ่มฝึกไปด้วยจนกลายเป็นหลายสิบ จบฝึกออกกำลังกายแล้วคนไข้ก็ขยันกันต่อคิวถามคำถามต่างๆเกี่ยวกับผลกระทบของการออกกำลังกายต่อโรคที่เขาเป็นอยู่ ส่วนใหญ่จะถูกหมอห้ามออกกำลังกายเพราะกลัวโรคจะกำเริบ บางรายเช่นคนไข้โรคหัวใจผมต้องล้างความเชื่อโดยจับเขาออกกำลังกายจนหอบแฮ่กๆ แล้วบอกว่าเห็นแมะ ไม่เห็นคุณตายอย่างที่กลัวเลย จบชั้นเรียนออกกำลังกายแล้วผมชวนคุณหมอยงยุทธ์ไปเดินเร็วไปตามสพานไม้รอบทะเลสาป อากาศเย็น แดดอ่อน เดินไปไกลสักสองกม.จนถึงโรงแรมไม้สี่ชั้นริมทะเลสาบ มีประพิมพ์ประพายคล้ายสถาปัตยกรรมไทย สวยงามเป็นอย่างยิ่ง มองออกจากนอกหน้าต่างเห็นเจดีย์ชเวดากองเสียดขึ้นไปบนฟ้า ขณะเดียวกันก็ทอดเงาสีทองดิ่งลงไปในพื้นทะเลสาบอินยายามเช้าตรู่ที่น้ำนิ่งสนิท เข้าใจว่าคนไทยหัวแหลมคงมาลงทุนไว้ที่นี่

     กลับมาอาบน้ำและทานอาหารเช้าที่โรงแรม วันนี้เราไม่ต้องทำงาน เพราะจะต้องเดินทางไกลไปมัณฑะเลย์ เครื่องบินจะออกตอนบ่าย มีมี่บอกว่าตอนเช้าจะพาไปวัดที่ทัวร์ไทยทุกคณะต้องไปที่นี่กันหมด ผมพยักหน้าตกลง สถานที่ไปนั้นเรียกว่า “วัดพระเทพทันใจ” มีเจดีย์ใหญ่ซึ่งว่ากันว่าสร้างไว้เก็บพระเกศาของพระพุทธเจ้า ใต้ฐานเจดีย์เป็นโพรงมีผนังค้ำเจดีย์เป็นรูปดาวหลายแฉกๆ ตรงจุดศูนย์กลางเป็นที่เก็บพระเกศา บนผนังทุกแฉกแกะลวดลายปูนปั้นปิดทองเหลืองอร่าม แต่ที่น่าสนใจคือตามซอกหลืบหรือมุมของแต่ละแฉกของผนัง จะมีพระสงฆ์ตัวเป็นๆนั่งท่องบ่นสวดมนต์แบบปลีกวิเวกอยู่ แต่ดูบรรยากาศที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเบียดเสียดตามซอกตามหลืบแน่นอย่างกับหนอน ผมว่าท่านคงตั้งใจมานั่งดูคนแก้เซ็งมากกว่า บางมุมบางหลืบก็เป็นชาวบ้านธรรมดานั่งสวดหรือนับลูกประคำ คนที่เข้ามาใต้ฐานเจดีย์นี้ส่วนใหญ่มุ่งมาสักการะพระเกศาเป็นสำคัญ

     นอกเจดีย์มีอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เรียกว่า “พระเทพทันใจ” เขาว่านี่เป็นชื่อพม่านะ ผมไม่รู้จริงหรือเปล่า เป็นรูปปูนปั้นฤๅษี ซึ่งฝีมือศิลปะการปั้นก็ออกแนวแข็งๆทื่อๆไม่มีกายวิภาคศาสตร์อะไร คือฝีมือเทียบได้กับพระปางเหยียบโลกที่พระสงฆ์ไทยแถวนครปฐมเคยปั้นและเคยเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อหลายปีก่อนนะแหละ พระเทพทันใจนี้แขนซ้ายงอศอกกำมือเข้าหลวมๆพอให้มีรูอยู่กลางมือ  แขนขวาเหยียดออกชี้นี้วชี้ไปข้างหน้า วิธีใช้บริการของท่านก็คือ user ต้องเอาธนบัตรม้วนกลิ้งเป็นรูปกรวยยัดลงไปในรูที่มือซ้าย แล้วเอาหน้าผากไปจ่ออยู่ที่ปลายนิ้วชี้มือขวาที่ชี้อยู่ แล้วก็อธิษฐานอยากได้อะไรก็ขอไปโดยมีกติกาว่าขอได้อย่างเดียว ว่ากันว่ากลับไปแล้วก็จะได้ดังประสงค์ทุกราย ทั้งชื่อ ทั้งอากัปกริยาชี้ไปข้างหน้านั้นดูแล้วดลใจคนช่างขอนัก มิน่า ลูกค้าคนไทยจึงนิยมกันมาก คุณหมอผู้หญิงที่มากับคณะผมไปใช้บริการเอาหน้าผากจ่อนิ้วชี้แล้วปากก็อธิษฐานอะไรขมุบขมิบดูน่ารัก เธอมาถามผมว่าอาจารย์ไม่เอาบ้างหรือ ผมตอบว่า ไม่ดีกว่าครับ เพราะเห็นนิ้วชี้ของท่านดูจริงจังจนผมกลัวถูกสาป

     ตรงข้ามกับวิหารพระเทพทันใจก็ยังมีอะไรสนุกให้ดูอีก คราวนี้เป็นรูปปั้นผู้หญิงใส่ชุดเขียวมีชื่อเรียกกันว่า “เจ้าแม่กระซิบ” มีผู้คนศรัทธาหาผ้าเขียวมาถวายและต่อคิวเข้ารับบริการอยู่จำนวนมากเป็นเรือนร้อย วิธีใช้บริการคือถวายปัจจัยอะไรๆที่เป็นสีเขียวแล้วไปกระซิบข้างหูของเจ้าแม่ว่าอยากได้อะไรก็จะได้สมใจ ผมสังเกตดูลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง บางคนท่าทางเหมือนเดินทางมาจากแดนไกล

     ขณะอยู่ในวิหารก็เผอิญได้เห็นทีมงานเก็บเงินบริจาคออกจากตู้กำลังตระเวนเก็บเงินออกจากตู้ต่างๆพอดี ทีมงานแต่งตัวคล้ายตำรวจเทศกิจ มีกันสามคน แต่ละคนถือกุญแจคนละพวง ทุกคนเปิดกุญแจคนละดอก แล้วกวาดเองเงินในตู้ใส่กระสอบ มีคนงานแบกกระสอบตามหลังสามคน หมายความว่าเท่าที่เก็บเงินบริจาคมาวันนี้ได้มาแล้วสามกระสอบ ตู้ของเจ้าแม่กระซิบผมประมาณว่าคงได้อีกสักครึ่งกระสอบ

     พม่าทุกวันนี้มีความลงตัวอยู่กับการที่จิตของผู้คนสงบอยู่ได้ด้วยความเชื่อและศรัทธาในศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เงินบริจาคที่ต้องใช้คนแบกทีละหลายกระสอบนั้นถือว่าเป็นการลงทุนหาความสุขทางใจที่ต้นทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่พม่ากำลังจะเจอคือการหาทางทำจิตให้สงบหลังจากเกิดความโลภอยากได้โน่นอยากได้นี้ที่มาพร้อมกับโอกาสที่ประเทศเปิดออกรับความเจริญทางวัตถุจากภายนอก ในขณะเดียวกันกับที่ตอนนั้นอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ได้ล้มล้างความเชื่อดั้งเดิมไปเสียแล้ว จิตที่ถูกปลุกให้มีแต่ความอยากในบรรยากาศที่ไร้ศรัทธาความเชื่อใดๆนั้น ต่อไปจะสงบได้อย่างไร หรือว่าจะต้องเจริญรอยตามอารยประเทศ คือหันไปหาจิตแพทย์และยาต้านซึมเศร้า ซึ่งมันจะเวิร์คดีเท่าพระเทพทันใจกับเจ้าแม่กระซิบหรือเปล่า..ผมไม่แน่ใจ

     บ่ายเราไปขึ้นเครื่องบินไปมัณฑะเลย์ ถนนจากสนามบินเข้ามัณฑะเลย์ตอนนี้เป็นถนนขนาดสี่เลน และเห็นกำลังขยายไหล่สองข้างออกไปอีกเป็นแปดเลน เมื่อสิบปีก่อนถนนเส้นนี้เป็นถนนสองเลนสวนกันและใช้ร่วมกันทั้งรถยนต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยีเอ็มซีสมัยสงครามโลก กับจักรยาน สามล้อ มอเตอร์ไซค์ และเกวียนเทียมโค วันนี้รถยีเอ็มซีหายไปแล้ว รถยนต์ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นรถเก๋ง มอเตอร์ไซค์เพิ่มจำนวนขึ้นไม่ใช่เป็นเรือนร้อย แต่เป็นเรือนพันเรือนหมื่น จักรยานยังอยู่ แต่เกวียนเทียมโคหายไปแล้ว เราเข้าไปถึงตัวเมืองมัณฑะเลยเอาตอนมืด เมืองนี้ไม่มีความโรแมนติกอย่างย่างกุ้ง แม้จะเป็นเมืองหลวงสุดท้ายของพม่า แต่อาคารปราสาทราชวังซึ่งเป็นอาคารไม้ก็ถูกเผาวอดวายไปหมดแล้ว ตัวบ้านเรือนผู้คนซึ่งเป็นบ้านไม้ก็ถูกแทนที่ด้วยห้องแถวราคาถูกเสียเกือบหมด เหลือบ้านดั้งเดิมที่แสดงความเป็นพม่าแท้อยู่น้อยมาก ต้องเขม้นมองหาจึงจะเห็น ถนนในเมืองคลาคล่ำไปด้วยมอเตอร์ไซค์ หนุ่มสาวขี่มอเตอร์ไซค์จีบกันโดยไม่สนเสียงแตรรถยนต์ที่บีบไล่ ครอบครัวสี่พ่อแม่ลูกและหมาอีกหนึ่งตัวเดินทางไปด้วยกันด้วยมอเตอร์ไซค์คันเดียว สไตล์การขี่จักรยานและมอเตอร์ไซค์ของคนเมืองนี้คือชอบถือแฮนด์มือเดียว อีกมือหนึ่งกุมไว้แถวพุง ตอนแรกผมนึกว่าผู้ชายเขาคงกลัวโสร่งปลิวจึงจับไว้ แต่ความจริงไม่ใช่ ส่วนใหญ่แค่เอามือซุกไว้ในเสื้อกันหนาวเฉยๆ ส่วนผู้หญิงมักใช้มือที่เหลือถือโทรศัพท์มือถือไว้กับหูบ้าง ถือร่มบ้าง หยิบอาหารใส่ปากเคี้ยวตุ้ยๆบ้าง ธุรกิจเอสเอ็มอี.ทำกันบนมอเตอร์ไซค์คันเดียวก็มีไม่น้อย ร้านหนังสือตอนกลางคืนหนึ่งร้าน ใช้มอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน คันเบ็ดที่โยงหลอดไฟฟ้าไว้ที่ปลายหนึ่งอัน และแผงหนังสือแบกะดินที่เก็บกลับใส่ท้ายมอเตอร์ไซค์ทันทีที่เลิกงาน สตูดิโอของศิลปินก็ทำบนมอเตอร์ไซค์คันเดียว เขามักจอดใต้ต้นมะขามใกล้แหล่งท่องเที่ยว ใช้แฮนด์และหม้อน้ำมันของมอเตอร์ไซค์เป็นที่แสดงภาพ ใช้ตัวมอเตอร์ไซค์เป็นที่อิงของเฟรมผ้าใบ และมัดถาดผสมสีไว้กับแฮนด์รถขณะทำงาน

     เราตรงดิ่งไปที่พักคือโรงแรมซาโดนา มีมี่บอกว่าตอนเช้าจะพาไปดูเขาล้างหน้าเช็ดหน้าพุทธรูปมหามุนี ผมถามว่าเช้ากี่โมง เธอตอบว่าตีสาม ผมเลยบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เช้าขนาดนั้นผมจะล้างหน้าเช็ดหน้าตัวเองยังไม่มีปัญญาเลย คุณพาพวกเด็กๆไปก็แล้วกัน
………………………

13 มค. 56

     วันนี้เราต้องไปประชุมคนไข้ที่อีกโรงแรมหนึ่งชื่อมันฑะเลย์ ฮิลล์ เพราะโรงแรมแน่นมาก มีมี่เล่าว่าขนาดจองล่วงหน้าสองเดือนแล้วและใช้เส้นด้วย ยังไม่สามารถจองที่ประชุมกับที่พักให้อยู่ในโรงแรมเดียวกันได้ การประชุมมีคนไข้แน่นขนัด นับได้สักสองร้อยคน ผมสอนวิธีป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นไขมันในเลือดสูง ความดัน หัวใจ อัมพาต โรคไต เบาหวาน ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต คือการปรับอาหารลดแคลอรี่และทานผักและผลไม้ให้มาก และการออกกำลังกาย ผมสาธิตการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อวิธีต่างๆ และให้ผู้ร่วมประชุมฝึกกล้ามเนื้อด้วยท่ากายบริหาร ซึ่งมีบรรยากาศที่สนุกสนานดีมาก ผมสาธิตการใช้กระบองช่วยฝึกกล้ามเนื้อหลัง การใช้ดัมเบล และการใช้สปริงยืดฝึกกล้ามเนื้อท่อนบน จบการสอนแล้วผู้เรียนเฮโลมาจะแย่งกันซื้อสายยืดออกกำลังกาย กว่าจะอธิบายให้เข้าใจว่าเราไม่ได้เอามาขายก็แทบเกิดจลาจล แล้วก็เป็นเวลาเปิดคลินิกฟรี มีคนไข้ต่อคิวรับบริการแยะมาก มีมี่เล่าว่าเมื่อสองวันก่อนมีโรงพยาบาลจากอินเดียมาออกบู้ทโฆษณาว่ารับตรวจพวกที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่จะไปผ่าตัดเปลี่ยนไตที่อินเดียฟรี มีคนมารับการตรวจแน่นขนัดจนขนาดหมอแขกซึ่งคุ้นเคยกับความแน่นยังทนไม่ไหว ต้องปิดการตรวจไว้แต่ห้าสิบคนแรกเท่านั้น คนที่เดินทางมาไกลแล้วไม่ได้ตรวจถึงกับโมโหโกรธาหวิดเกิดสงครามย่อยระหว่างหม่องกับแขกขึ้น ได้ฟังดังนั้นผมก็จำใจต้องทนตรวจคนไข้ไปจนหมดเพราะกลัวถูกตื๊บ กว่าจะหมดก็หกโมงเย็นทั้งๆที่วางแผนว่าจะเสร็จบ่ายสามโมง

     ตกกลางคืนเราไปทานอาหารเย็นที่ร้านเป็ดทอง (Golden Duck) คนมาทานแน่นขนัด เป็นร้านอาหารจีนที่มีเป็ดย่างเป็นเมนูเอก อร่อยไม่มีที่ติ กินกันอิ่มแล้วก็กลับโรงแรม
…………………..
14 มค. 56
     เช้านี้มีมี่บอกว่าเห็นคุณหมอทำงานเหนื่อยมาก ก่อนไปขึ้นเครื่องบินจะพาออกชนบทไปดูสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในพม่า ผมก็เออออห่อหมกด้วย เราออกจากโรงแรมตั้งแต่หกโมงเช้า ไปตามถนนเล็กๆในชนบท ผ่านหมู่บ้านหนึ่งที่มีสถาปัตยกรรมเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน คือบ้านเรือนทำด้วยโครงและวงกบไม้สัก ผนัง บานหน้าต่าง บานประตู เป็นไม้ไผ่ขัดแตะคล้ายชนบททางภาคเหนือเมื่อสี่สิบปีก่อน แต่ที่เตะตามากคือหลังคา ซึ่งเป็นไม้ไผ่ขัดกันเป็นแผงแล้วตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเอาไม้ไผ่ขัดนั้นมาวางซ้อนกันแทนกระเบื้อง อาศัยองศาของความชันที่มากหน่อยก็ทำให้กันฝนได้ ผมเคยเห็นหลังคาบ้านกะเหรี่ยงที่ทำจากไม้ไผ่ผ่าครึ่งลำคว่ำหงายๆสลับกันก็นึกชมว่าเท่มากแล้ว แต่นี่เอาไม้ไผ่ขัดกันเป็นแตะมาทำกระเบื้องหลังคา ต้องยอมรับว่าเท่จริงๆ

     เดินทางมาได้ชั่วโมงกว่าก็มาถึงปลายทาง ซึ่งเป็นริมทะเลสาบ มีสะพานคนเดินที่ใช้เสาไม้สักสูงปักเป็นทิวแถวทอดข้ามส่วนที่แคบของทะเลสาบ ยามนี้เป็นเวลาเช้าตรู่ หมอกลอยอ้อยอิ่ง มองเห็นยอดเจดีย์ที่หมู่บ้านฝั่งโน้นของทะเลสาบโผล่พ้นม่านหมอกรำไร เรือหาปลาของชาวบ้านกระจายเป็นเส้นเล็กๆอยู่บนผิวน้ำที่เรียบเหมือนกระจก ริมน้ำมีเกวียนเทียมโคจอดรอเจ้าของซึ่งกำลังเก็บพืชผลอยู่ เด็กนักเรียนพากันเดินมาตามสะพานจากฝั่งโน้นเพื่อมาเข้าโรงเรียนทางฝั่งนี้ ผมเดินทอดน่องไปตามสพานได้ประมาณสองกม. บรรยากาศดีมาก เสียดายที่ไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปมาด้วย จะใช้โทรศัพท์ถ่ายก็กลัวจะเสียอารมณ์เพราะไม่สามารถซูมเพื่อเฟรมรูปให้สะท้อนความรู้สึกยามนี้ได้ แต่ในที่สุด อดไม่ได้ ก็ต้องควักโทรศัพท์มาถ่ายไว้หนึ่งรูป เป็นรูปนักเรียนสองหนุ่มสาวหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียน เดินทอดน่องมาตามสะพานไม้ เดินไปจีบกันไป แบบไม่อยากให้สะพานสั้นนัก ผมพยายามสร้างความเคลื่อนไหวและจับเงาให้เกิดความรู้สึก แต่โทรศัพท์ไม่ใช่กล้อง จึงไม่ได้อย่างใจ แต่ก็เอารูปมาลงให้ดูด้วย (ท่านผู้อ่านต้องขยายรูปดูจึงจะพอได้อารมณ์ร่วม) ถ่ายรูปแล้วรู้สึกอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ผมหยุดคุยกับยายแก่ที่นั่งขายดอกโสนทอด โดยวิธีคุยกันคนละภาษา ผมถามเธอว่าสินค้าเธอห่อละเท่าไร เธอหยิบธนบัตร 500 จ๊าดขึ้นมาวางเป็นการสื่อว่าราคา 500 จ๊าด มองจากแววตาของเธอแล้วผมเข้าใจว่าเธอกำลังทำใจแข็งเพื่อโขกผมให้แรงเป็นพิเศษ ผมจ่ายเธอด้วยธนบัตรหนึ่งเหรียญยูเอส. เธอแสดงสีหน้าไม่มั่นใจว่าการทำธุรกิจกันครั้งนี้จะยุติธรรมหรือเปล่า เธอตะโกนฝ่าหมอกพร้อมชูธนบัตรให้พ่อค้าหนุ่มอีกคนที่นั่งห่างออกไปดู เขาเดินมาดูแล้วพูดเสียงดังเป็นภาษาพม่าคงมีเนื้อหาประมาณว่า
      “โอ้โฮ..กำไรสะดือปลิ้นแล้วเนี่ยยายแก่เอ๋ย เงินฝรั่งเนี่ยเท่ากับเกือบหนึ่งพันจ๊าดเชียวนะ”
     คุณยายยิ้มหวานปากกว้างจนเห็นก้อนหมากในปาก และรับธนบัตรไปอย่างเต็มใจ ผมยิ้มรับ และยื่นสินค้านั้นกลับไปให้เธอและบอกว่าผมไม่เอาสินค้าของเธอ เพียงแต่อยากให้เงินเธอเท่านั้น มีเสียงพากษ์วิจารณ์ระหว่างหญิงแก่กับชายหนุ่มตามหลังอีกเอ๊ออ๊า เด๊อด๊า ผมเดินต่อไปอย่างอารมณ์ดีและแจกเงินคนละหนึ่งดอลล่าให้ทุกคนที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นหญิงขอทานที่เป็นโรคเรื้อนมือกุด ก๊วนสามเณรสามรูปที่มานั่งทอดอารมณ์อยู่ริมสะพาน และเด็กๆที่หิ้วปิ่นโตจูงจักรยานไปโรงเรียน พอเงินหมดก็หันหลังเดินกลับมาขึ้นรถ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์