Latest

การเลือกสนองตอบอย่างสร้างสรรค์

เรียนคุณหมอ 
นู๋เคยปรึกษาคุณหมอเรื่องปัญหาครอบครัวค่ะแต่ทำตามคำแนะนำคุณหมอก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่นู๋ก็มีปัญหาอีกคือนู๋กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น อนาคตค่ะ คิดว่าปีนี้ปีชงปีวอก 1980 กลัวไปหมด สงบปากคำนิ่งมากสุดทำงานให้หนักคิดว่าช่วยได้ แต่ก็เครียด แค่มีคนว่าให้ก็กังวล นู๋ไปเป็นเพื่อนผ่านเฟสคนที่ทำงานเดียวกับสามี และสามีเอามาเล่าให้ฟังก็เครียด เขาพูดว่า”ใครน้า มาสมัครเป็นเพื่อนเรา นามสกุลคุ้นๆ สงสัยอยากรู้ละมั้ง ว่าสามีตัวเป็นยังไง อ้ะรับไว้ก็ได้” ความจิงก็เป็นอย่างที่เค้าคิดแหละแต่ก็เครียดเลยบล็อคเขาเลยและด่าผ่านเฟส พอนึกได้สติมาก็รีบลบ ไม่อยากบานปลาย
ขอบคุณค่ะ
……………………………………………..
ตอบครับ
“..ปีนี้ปีชงปีวอก 1980” เป็นประโยคที่บ่งบอกแคแรคเตอร์ของคุณอย่างดี ที่เรียกปีเกิดเป็นปี ค.ศ. แสดงว่าเป็นคนรุ่นใหม่รับข้อมูลมาเยอะแยะออกแนวสากลกว้างไกล แต่ที่เด็ดสะระตี่นักก็คือการมีความเชื่อเรื่องปีชง ฤกษ์ผานาที ไสยศาสตร์ไร้สาระ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนรุ่นใหม่แบบไทยๆเท่านั้น ชาติอื่นไม่มี อย่างที่เขาชอบพูดค่อนแคะกันว่า
“เชื่อพรหมลิขิต ติดยา บ้าแบรนด์เนม ติดเกม กลัวผี”
ผมไม่ได้ว่าคนรุ่นคุณไม่ดีนะ เพียงแต่ว่า อดแนะแหนไม่ได้แค่นั้นเอง แต่ก็ไม่มีปัญญาไปเปลี่ยนอะไรได้ เพราะคุณก็คือคุณ หมอสันต์จะไปทำอะไรได้เล่า ได้แนะแหนแล้วก็พอใจละ..มาตอบคำถามของคุณดีกว่า
ความกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นก็ดี ความกังวลก็ดี ความคิดระแวงก็ดี ความหงุดหงิดกับเรื่องราวรอบตัวก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นการตอบสนอง (response) ต่อสิ่งเร้า ที่เราได้ทำลงไปหลังจากสมองของเราได้รับสิ่งเร้า (stimuli) เข้ามา การจะแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของเรา จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจกลไกการดำเนินเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างทะลุปรุโปร่งก่อน

     รู้จักสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้น (stimuli) ก่อน  ในวิชาจิตวิทยานิยมเรียกตัวกระตุ้นนี้ว่า “ตัวก่อความเครียด (stressors)”  นิยามของมันก็คือ “ข่าวสารอะไรก็ตามที่รายงานเข้ามาถึงสมองของเรา” มันอาจจะมาจากห้าทางใหญ่ๆ คือ

     1.. มาจากภายในตัวเราเนี่ยแหละ ในรูปของ ความคิดที่อยู่ๆก็ “ป๊อป” ขึ้นมา ความกลัว ความกังวล เป็นตัวอย่างของความคิดที่ว่านี้ หรืออาจมาจากความจำเก่าๆที่อยู่ๆหน่วยความจำของสมองก็ “ชง” ให้โผล่ขึ้นมาสู่การรับรู้ของจิตสำนึกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

     2..   มาจากเหตุการณ์ในชีวิต เช่น คนใกล้ชิดตาย หย่าจาก ผ. ตัวเองป่วย แต่งงาน ถูกไล่ออก เกษียณอายุ เป็นต้น

     3.. มาจากเหตุทางกาย เช่น ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ บาดเจ็บ

     4.. เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวทางการใช้ชีวิตของเรา เช่น บ้างาน ไม่สนใจดูแลตัวเอง ไม่บริหารเวลา นอนไม่พอ กินไม่ถูกต้อง ดื่มจัด ใช้ยาหรือสารกระตุ้น

     5.. มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะ ร้อนมาก แสงจ้า เสียงดัง บ้านรก สกปรก ภัยพิบัติ

     นอกจากนี้ยังมีอีกนะ คือสิ่งเร้าหรือตัวก่อความเครียดที่เนียนๆ (microstressor) แบบว่าไม่สังเกตไม่รู้ว่ามันมาถึงสมองเราเมื่อไร เช่น อะไรเล็กๆน้อยๆที่กวนใจ ทำให้หงุดหงิด รถติด คิวยาว ถูกตัดหน้า เบื่องาน ลืมกุญแจ เฟซบุ้ค คนอื่นผิดนัด เป็นต้น
     คราวนี้มารู้จักกลไกการสนองตอบ (response) ต่อสิ่งเร้า  กลไกพื้นฐานที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด คือเมื่อเผชิญกับอันตราย ร่างกายจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่เป็นความเครียดในลักษณะก่อให้เกิดการเตรียมพร้อม “จะสู้หรือจะหนี” ระบบที่ไม่สำคัญต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ระบบสืบพันธ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันโรค ความคิดอ่านจดจำ จะถูกลดการทำงานลงหรือปิดการทำงานไปชั่วคราว เพื่อเอาพลังงานทั้งหมดที่มีไปทุ่มให้กับระบบที่ร่างกายใช้ผจญกับอันตรายภาวะฉุกเฉินได้ เช่นระบบหัวใจหลอดเลือด ระบบแข็งตัวของเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ดังนั้นการสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่เป็นความเครียดแบบคลาสสิกคือเราจะมีอาการตื่นตัว กลัว กังวล คิดอะไรไม่ออก จำอะไรไม่ได้ สับสน ขาดสมาธิ คิดซ้ำซากวกวน อารมณ์ขึ้นๆลงๆ โกรธง่าย ซึมเศร้า เอาไม่อยู่ กินไม่ลง หรือกินมากเกินเหตุ ทางด้านร่างกายก็เป็นได้ตั้งแต่ปวดหัว เป็นไมเกรน นอนไม่หลับ ตึงแน่นแถวคอและไหล่ ปวดหลัง น้ำลายแห้ง คอแห้ง อาหารไม่ย่อย เป็นแผลในกระเพาะ ลำไส้ใหญ่อักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง เป็นผื่นผิวหนัง เป็นหอบหืด เป็นเบาหวาน เป็นมะเร็ง ความดันเลือดสูง ชัก ปวดข้อ หายใจสั้นๆถี่ๆ หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายตายซี้แหงแก๋ไปเลย
     กลไกการดำเนินเรื่องก็คือเมื่อสิ่งเร้าเข้ามา เช่นได้อ่านผีเฟซบุ้คบอกว่าปีนี้เป็นปีชงของคนเป็นวอก เอ๊ย..ไม่ใช่ ของคนปีวอก สมองของเราก็สนองตอบ การสนองตอบนี้มีได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบ เป็นความคิด เป็นความรู้สึก เป็นคำพูด เป็นการกระทำ ในกรณีของคุณนี้สมองสนองตอบในรูปแบบของความคิดกลัวซ้ำๆซากๆ และความรู้สึกกังวล การสนองตอบนี้ประหนึ่งว่าเป็นการสนองตอบแบบอัตโนมัติ คือคุณไม่ได้ตั้งใจคิด มันก็คิด คุณไม่ได้ตั้งใจกลัว มันก็กลัว ทั้งๆในความเป็นจริง การสนองตอบนี้อยู่ภายใต้การรับรู้ของคุณตลอด แม้ว่าคุณจะไม่ได้ตั้งใจมองมันในรายละเอียดก็ตาม
     คราวนี้มาเรียนรู้วิธีเลือกสนองตอบอย่างสร้างสรรค์ ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นสุดยอดวิชานี้คือการสนองตอบต่อสิ่งเร้าทุกครั้ง เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่าจะสนองตอบแบบไหนก็ได้ เป็นอำนาจส่วนตัวที่เรามีอยู่เต็ม เพียงแต่ว่าเราต้องรู้ตัวทันว่ามีสิ่งเร้านั้นเข้ามา และเข้าไปกำกับทันได้ใช้ดุลพินิจว่าจะเลือกสนองตอบแบบไหนดี เราก็จะใช้อำนาจของเราเลือกสนองตอบออกไปตามวิธีที่เราเห็นว่าจะทำให้เราไม่ทุกข์ร้อน  

     ยกตัวอย่าง ลิเกรอบที่หนึ่ง พอคุณฟังสามีเล่าว่าอีตาเฟซบุ้คที่คุณสมัครเป็นเพื่อนมันปากโป้งมาฟ้องสามีคุณ คุณก็ปรี๊ด..ด แล้วก็เฟซบุ้คด่า..ด่า..ด่า… Enter  แบบนี้เรียกว่าปล่อยให้เกิดการสนองตอบดำเนินไปราวกับเป็นอัตโนมัติ ไม่เข้าไปวินิจฉัยแทรกแซง ผลก็คือ เกิดความทุกข์ร้อนตามมา สามีทะเลาะกับเพื่อนในที่ทำงาน คุณถูกสามีด่า พาลทุบตีลูก.. เละตุ้มเป๊ะ

     ยกตัวอย่างเดิมอีกครั้ง ลิเกรอบที่สอง พอคุณฟังสามีเล่าว่าอีตาเฟซบุ้คที่คุณสมัครเป็นเพื่อนมันปากโป้งมาฟ้องสามีคุณ คุณก็ปรี๊ด..ด แล้วนึกย้อน (recall) ได้ทันว่าเอ๊ะเมื่อตะกี้เรามีน้ำโหแฮะ คุณเฝ้าดูจิตใจที่โมโหของคุณจนมันสงบลง แล้วก็ชั่งใจเลือกว่าจะสนองตอบแบบไหนดีกับอีตาเฟซบุ้คงี่เง่า จะด่าดี หรือจะเฉยดี แล้วดุลพินิจก็บอกคุณว่าเฉยดีกว่า คุณก็เลือกวิธีที่ตีลูกเฉย และกรวดน้ำคว่ำขันให้อโหสิในใจ แล้วจบเรื่องโดยไม่มีความทุกข์ร้อนตามมา แบบนี้เรียกว่าการเลือกสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างสร้างสรรค์
     คุณศึกษาการเลือกสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างสร้างสรรค์และทดลองทำให้ช่ำชอง แล้วปัญหาทั้งหลายทั้งแหล่ของคุณจะหายเกลี้ยง ผมรับประกัน ความยากอยู่ที่คุณต้องหมั่นฝึกจิตใจตัวเองให้นึกย้อน (recall) ให้ได้เร็วที่สุด ว่าเมื่อตะกี้นี้ มีอะไรกระตุ้นเข้ามา อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปนานหลายนาที ยิ่งถ้าปล่อยให้นานเป็นหลายชั่วโมงหรือหลายวัน อย่างนั้นชีวิตมันมีแต่จะติดหล่ม เพราะชีวิตคุณจะถูกลากไปโดยอัตโนมัติโดยที่คุณจะเข้าไปกำกับชีวิตตัวเองไม่ได้เลย
     พูดถึงกว่าจะ recall อะไรได้ก็ผ่านไปนานแล้วนี้ ผมมีโจ๊กเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง อันนี้ผมฟังมาจากคนงานหนุ่มวัยสำมะเลเทเมาของผมคนหนึ่งในโรงพยาบาล เขาเล่าถึงเพื่อนของเขาคนหนึ่ง เช้าวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมา ก็พบว่าตัวเองนอนอยู่ในสลัมที่ไหนไม่รู้ แล้วข้างๆมีป้าแก่ๆคนหนึ่งนอนอยู่บนเตียงด้วย เขาจึงถามว่า
“..เอ๊ะ ป้า ผมมาอยู่นี่ได้ไงเนี่ย”
คุณป้ายิ้มละไมตอบว่า
“..อ้าว จำไม่ได้เหรอ ก็เมื่อคืนเอ็ง “อ๊อฟ” ป้ามาไง้”
แคว่ก..แคว่ก แคว่ก.. ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น                                       

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์