Latest

แด่..เจ้าแม่เซ่งจี๊ To Sir With Love


สงกรานต์นี้ผมขอนอกเรื่องไม่ตอบคำถามการเจ็บป่วยเสียหนึ่งวัน แต่จะขอเขียนถึง “คุณครู”
สงกรานต์ เพื่อนๆที่เป็นนักเรียนชั้นประถมสี่รุ่นเดียวกัน ได้นัดหมายไปดำหัวคุณครูที่สอนพวกเราสมัยอยู่โรงเรียนหลังคาสังกะสี คือประมาณปีพ.ศ. 2507 คือเกือบห้าสิบปีมาแล้ว และพูดก็พูดเถอะ ตัวผมเองจากบ้านนอกคอกนามา ห้าสิบปี ไม่เคยโผล่ศีรษะกลับไปหาคุณครูเลย มันน่าสักเพี้ยะ..มั้ยละ
คุณครูท่านแรกที่พวกเราไปหาเป็นคุณครูผู้หญิง ซึ่งเป็นคุณครูในดวงใจของผมทีเดียว เพื่อนๆบอกว่าตอนนี้คุณครูเป็นอัลไซเมอร์ไปแล้วนะ ท่านจำใครไม่ได้แล้ว แม้แต่ลูกสาวที่เฝ้าอยู่ข้างๆท่านยังจำไม่ได้ แต่พวกเราก็ยังเดินหน้าไปดำหัวท่านเพราะหลายคน เช่นอย่างตัวผมนี้เป็นต้น ไม่ได้เจอท่านมาเลยตั้งแต่จบชั้นป.สี่ เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าไม่แน่นะ ครูเห็นหน้าสันต์อาจจะปิ๊งอดีตขึ้นมาก็ได้ ผมได้แต่หัวเราะ เพราะตัวเองเป็นหมอย่อมรู้ดีว่าคนเป็นอัลไซเมอร์สมองเขาไม่สามารถเลือกจำหรือไม่จำใครเป็นคนๆได้หรอก เมื่อไปถึงผมดีใจมากที่เห็นหน้าคุณครู ท่านมองหน้าผม มองเข้าไปในดวงตาผมเหมือนที่ท่านเคยมองผมในอดีต และยิ้มอย่างมีเมตตาต่อผมอย่างในอดีต แต่ปากท่านบอกพวกเราว่า
“ครูขอโทษด้วยนะ ที่จำพวกเธอไม่ได้สักคน”
                                                                         
      เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคุณครูของผม ผมขอฉายบรรยากาศประกอบนะครับ คือคุณครูนั้นแปดสิบกว่าแล้ว ส่วนพวกลูกศิษย์นั้นล้วนหกสิบต้นๆกันแล้ว แค่มองทางกลุ่มลูกศิษย์ก็เห็นหัวขาวๆมากกว่าหัวดำๆ คงนึกบรรยากาศออกนะครับ
      พวกเราไปดำหัวคุณครูโรงเรียนหลังคาสังกะสี ท่านที่สอง ซึ่งเป็นคุณครูผู้ชาย บรรยากาศสนุกสนานมาก คุณครูอายุมากแล้วแต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส บอกพวกเราว่า
“พวกเธอมาวันนี้ก็ดีแล้ว เพราะครูยังอยู่ อย่าให้เหมือนตัวครูเอง ที่เคยตั้งใจจะไปหาคุณครูที่สอนครูมาที่เมืองน่าน แต่ก็ไปไม่ได้สักที จนตัวเองเกษียณจึงได้ไปหา เมื่อไปถึงก็พบว่าคุณครูได้ตายไปเสียแล้ว”
พวกเพื่อนๆถามคุณครูเป็นการลองเชิงว่าจำสันต์ได้ไหม คุณครูจ้องผมอยู่นานและยิ้มพลางเหมือนรำลึกถึงอดีต แล้วว่า
“จำได้  บ้านนี้เรียนเก่งทั้งบ้าน  ครูจำสันต์ได้ ตอนที่ครูบีบจมูกสันต์ แล้วสันต์สั่งขี้มูกใส่มือครู”
เพื่อนๆหัวเราะกันครืน  ผมเองก็ยังจำเรื่องราวนี้ได้ ตอนนั้นเราเรียนชั้น ป.หนึ่ง คุณครูมาบีบจมูกผมด้วยความเอ็นดู ผมไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เพราะผมไม่ได้ตั้งใจจะสั่งขี้มูกใส่มือครูดอก ใครจะกล้าทำอย่างนั้น โดยเฉพาะเด็กดีอย่างผมไม่ทำแน่ เข้าใจว่าเป็นเพราะชอล์กที่มือครูทำให้ผมจามฮัดเช้ยมากกว่า แต่ที่ผมจำได้แม่นคือขี้มูกสีงาช้างของผมยาวเป็นยวงอยู่บนสองนิ้วของคุณครู ซึ่งยกมือโชว์ขี้มูกผมห้อยต่องแต่งๆ ขณะที่ท่านเดินเอาไปป้ายไว้ที่ฝาไม้กระดานด้านข้างห้องเรียนมองดูแล้วน่าสยอดสยอง บรื๊อว..ว (สมัยโน้นไม่มีกระดาษทิชชูนะครับ และฝาไม้กระดานโรงเรียนบ้านนอกของเราก็เป็นไม้ที่ไม่มีการไสกบ มีเส้นเยื่อไม้ยุ่ยๆแทนกระดาษทิชชูได้ดีนัก)
ไหนๆก็นอกบทมารำลึกถึงคุณครูแล้ว ผมขออนุญาตพิลาปรำพันถึงพระคุณของบรรดาคุณครูทั้งหลายที่มีต่อผมอย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะช่วงที่ผมเรียนแพทย์ที่ ม.สงขลานครินทร์ เป็นนักเรียนรุ่นแรก ผมได้รับความเมตตาจากคุณครูหลายท่านม้าก มาก  ความรักที่ตัวผมได้รับจากบรรดาคุณครูหลายท่านนั้นท่วมท้น ทำให้ผมถามตัวเองทุกครั้งที่คิดจะทำอะไรแบบเห็นแก่ตัวว่า ตัวเองได้รับความรักความเมตตาจากคนอื่นมามากมายล้นฟ้าอย่างนี้แล้ว ยังจะเป็นคนเห็นแก่ตัวไปได้อย่างไร และผมก็มีความตั้งใจเหมือนที่คุณครูเก่าโรงเรียนสังกะสีเคยตั้งใจ ว่าเกษียณแล้วจะไปเยี่ยมครูของตัวเอง และแน่นอนมันคงจะสายเกินไปเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะครูของผมหลายท่านคงจะเสียชีวิตไปแล้ว หนึ่งในคุณครูที่แสนดีที่จากไปแล้วท่านหนึ่งที่ผมจะเขียนถึงท่านในวันนี้ก็คือ..เจ้าแม่เซ่งจี๊
ตอนนั้นผมเรียนแพทย์ปีสุดท้าย  (ปีหก) ผมกับคลาสเมทคนหนึ่ง (ซึ่งก็คือภรรยาของผมตอนนี้) หมุนเวียนมาเรียนวิชาอายุรศาสตร์ที่ศิริราช ชั้นเรียนที่ศิริราชเป็นชั้นเรียนขนาดใหญ่ คือมีนักเรียนแพทย์ถึง 150 คน ขณะที่สงขลานครินทร์มีแค่ 32 คน การเรียนแพทย์ชั้นคลินิกไม่ได้นั่งเรียนในห้อง แต่ใช้วิธีแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆละ 4-6 คน แต่ละกลุ่มก็ผลัดกันหมุนเวียนไปตามภาควิชาต่างๆ ในภาควิชาใหญ่ๆอย่างอายุรศาสตร์ แต่ละกลุ่มก็เจอครูประจำกลุ่ม กลุ่มใครกลุ่มมันไม่เหมือนกัน กลุ่มไหนได้ครูคนไหนก็เรียนแต่กับครูคนนั้น พอตกเย็นผมมาเข้าหอพักนักเรียนแพทย์ เพื่อนที่ศิริราชก็ถามว่าได้อยู่กลุ่มอาจารย์อะไร ผมตอบว่าได้อยู่กับอาจารย์สุมาลี เพื่อนคนนั้นถึงกับสะดุ้งก้นเด้งขึ้นพ้นเก้าอี้และว่า
“..ฮ้า ต้องไปอยู่กับเจ้าแม่เซ่งจี๊เชียวรึ”
คือครูประจำกลุ่มของผมคืออาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต เป็นธรรมดาในภาษาพูดในโรงเรียนแพทย์ถ้าใครเก่งทางไหนมากๆจนได้ที่ก็จะถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่อ” หรือ “เจ้าแม่” ทางสาขานั้น แต่ผมมาทราบภายหลังว่าตำแหน่ง “เจ้าแม่เซ่งจี๊” ในกรณีครูของผมท่านนี้ ไม่ได้หมายถึงความเชี่ยวชาญในวิชาโรคไตเท่านั้น แต่หมายความหนักไปทาง “ความดุ” ของท่านด้วย  

เช้าวันแรกที่ผมเจอเจ้าแม่เซ่งจี๊ผมต้องตลึง ผมคิดไม่ถึง เคยได้ยินมาแต่ว่าอาจารย์เก๋ามากเรื่องโรคไตเรียนอยู่กับฝรั่งคนแต่งตำราโรคไตที่อเมริกานานหกเจ็ดปี ผมจินตนาการเห็นอาจารย์คุณหญิงเจ้าระเบียบเกล้าผมไว้ข้างหลัง พอมาเจอตัวจริงเป็นผู้หญิงสาวโสดสวยทันสมัย แต่งตัวสวยเช้งใส่เสื้อผ้าสีสันสว่างไสว ใบหน้าสวยรูปไข่ตั้ง ใส่แว่นกรอบพลาสติกเก๋รูปไข่นอนแบบฝรั่ง อายุของอาจารย์อย่างมากก็ไม่เกินสี่สิบ ดวงตาที่มองผมกับคลาสเมทก็ฉายแววเมตตาเปี่ยมล้น ไม่น่าจะถูกพวกนักเรียนแพทย์ศิริราชขนานนามว่าเป็นเจ้าแม่เลย
แต่ยังไม่ทันสิ้นเสียงทักทายต้อนรับลูกศิษย์ใหม่จากปักษ์ใต้ดี เจ้าแม่ก็เริ่มไล่ทุบเพื่อนนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งซึ่ง “มั่ว” ข้อมูลในการทำรายงานคนไข้ น้ำเสียงดุดันและวาจาเชือดเฉือนนั้นเจ็บนัก จนผมนึกว่าถ้าเป็นผมโดนเองคงจะช้ำในตายเป็นแน่ ผมแอบหันไปมองเพื่อนคนนั้นเพื่อแสดงความเห็นใจ ก็พบว่าเขาแอบอยู่ข้างหลังเพื่อนผู้หญิงแล้วยักคิ้วให้ผมแผล็บๆ อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร
วิธีสอนข้างเตียงของเจ้าแม่ใช้วิธียิงคำถาม ที่จะหวังให้เจ้าแม่เล่าความรู้ให้ฟังนั้นฝันไปเถอะ ถ้านักเรียนแพทย์ตอบได้ก็จบ ถ้าตอบไม่ได้ก็กลายเป็นการบ้านไปค้นคว้ามาตอบ เรียกว่ามีแต่เสมอตัวกับเหนื่อย ที่จะสบายนั้นไม่มี การยิงคำถามก็จะยิงไปยังคนที่เซ่อที่สุดหรือใจลอยที่สุดก่อน ตอบไม่ได้ก็โดนทุบหัวแบะ หรือที่พวกเรานักเรียนแพทย์ชอบเรียกว่า sudden dead คือตายแบบกะทันหัน แล้วเจ้าแม่ก็จะหันไปถามคนที่ดูจะมีภูมิธรรมสูงขึ้นไปๆเป็นลำดับ ถ้าถามไปหลายคนแล้วยังไม่มีใครตอบได้ ก็จะเกิดความเครียดสะสมในกลุ่มมากขึ้นๆ เพราะถ้าถามไปจนหมดทั้งเจ็ดคนในกลุ่มแล้วไม่มีใครตอบได้เลย รับประกันคราวนี้ได้ฟังเทศน์กันฑ์ใหญ่ไม่ต้องเป็นอันเรียนต่อ เวลาเรียนกับเจ้าแม่จึงใจลอยไม่ได้เด็ดขาด ตัวผมเองอยากจะมีเวลาลอบชมความสวยและการเมคอัพอย่างพิถีพิถันของเจ้าแม่ก็ไม่มีเวลา เพราะกลัวระหว่างใจลอยเกิดเจอคำถามแล้วตอบไปแบบปล่อยไก่ก็จะเสียไปถึงสถาบันหมด การตอบคำถามก็ใช่ว่าตอบถูกตรงเป้าเจ๋งเป้งแล้วจะจบ เพราะจะถูกลองเชิงต่อว่ารู้พยาธิสรีระของโรคและร่างกายอย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบครบถ้วนลึกซึ้งหรือเปล่า ถ้าตอบได้แบบนกแก้วแต่ไม่รู้ความเชื่อมโยงอย่างพิษดาร ก็จะถูกแฉให้เห็นว่าแท้จริงแล้วบ้องตื้น ด้วยคำถามคมๆอีกสองสามคำถามที่จะตามมา ซึ่งผมสังเกตเห็นว่าเพื่อนระดับจอมเก๋าที่ศิริราชบางคนจะใช้วิธีหลบหนีการตายกะทันหันด้วยวิธีออกมุขตลกดื้อๆ ซึ่งบ่อยครั้งก็สามารถเรียกรอยยิ้มขึ้นมาบนใบหน้าอันสะสวยของเจ้าแม่ได้เหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้ผมให้ความเคารพเจ้าแม่เซ่งจี๊สุดหัวใจก็คือการที่ท่านขยันมากำกับการประชุมมอร์นิ่งคอนเฟอเร้นซ์ทุกวันไม่ได้ขาด คือที่ศิริราช ทุกเช้าแพทย์ประจำบ้านที่อยู่เวรจะต้องเอาคนไข้ที่รับเข้ามาเมื่อคืนที่ผ่านเข้ามามาเสนอในที่ประชุมมอร์นิ่ง คอนเฟอเร้นซ์ ซึ่งทำกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า บรรดาอาจารย์จะค่อยๆทยอยมาเข้าห้องประชุมตามความสะดวกของแต่ละท่าน แต่อย่างน้อยเจ็ดโมงตรงเป๋งจะต้องเห็นเจ้าแม่เซ่งจี๊นั่งหน้าสวยตาดุรอสับเรสิเด้นท์เวรอยู่หลังห้องทุกวัน ทำเอาบรรดาแพทย์ประจำบ้านที่นอกจากจะอยู่เวรอดนอนกันมาทั้งคืนแล้ว ยังต้องรีบตาลีตาเหลือกมาให้ทันมอร์นิ่งคอนเฟอเรนซ์เพราะกลัวโดนเจ้าแม่อัดเรื่องความด้อยวัฒนธรรมในการนัดหมาย แถมยังต้องมาเกี่ยงกันที่หน้าห้อง ฝ่ายพี่ว่า “เคสนี้น้องต้อยเป็นคนปรีเซ้นท์นะ พี่จะเสริม” ข้างน้องก็โวยวายว่า “ได้ไง พี่ตกลงกับหนูแล้วนี่ว่าหนูไม่ต้องปรีเซนท์ถ้าเจ้าแม่เซ่งจี๊อยู่” อะไรทำนองนี้
ตัวผมนั้นตลอดสองเดือนต้องเข็นตัวเองตื่นเช้าให้มาทันเริ่มประชุมเจ็ดโมงเช้าทุกวันไม่มีสายสักวันเดียว ไม่ได้ขยันอะไรเป็นพิเศษหรอก แต่เพราะรู้ว่าเจ้าแม่เซ่งจี๊มาตรงเวลา ถ้าผมมาสายกว่าท่าน นอกจากจะโดนท่านสับแล้ว ท่านอาจเอาไปฟ้องครูของผมที่สงขลานครินทร์ว่าผมขี้เกียจ กลับไปผมก็ต้องโดนอีกเป็นเด้งที่สอง มันไม่คุ้มกัน การมานั่งประชุมมอร์นิ่งทุกเช้าตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผมได้เห็นความอึด ความพยายาม ความปรารถนาดี และความอดทนที่จะอบรมสั่งสอน ที่อาจารย์สุมาลีมีให้กับแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์  ผมสารภาพว่าเรียนกับอาจารย์แล้ว ทำให้ผมไม่กล้าเป็นครู เพราะผมมีความรู้สึกว่าจะเป็นครู ต้องให้ได้อย่างนี้ แต่ว่าผมทำไม่ได้
นอกจากลูกอึดที่ไม่เคยลดด้อยถอยลงแล้ว ผมยังได้เห็นกึ๋นหรือภูมิปัญญาของเจ้าแม่เซ่งจี๊ว่าไม่ได้รู้เฉพาะเรื่องโรคไต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามใดที่ไม่มีอาจารย์ท่านอื่นนั่งอยู่ในห้องคอนเฟอเร้นซ์ด้วยเลย ยามนั้นแหละเป็นยามที่เรสิเด้นท์เจ้าของไข้จะหนาวๆร้อนๆ เพราะเจ้าแม่จะไล่สับดะตั้งแต่อายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรม ชนิดที่พลาดนิดเดียวเป็นตกม้าตายต่อหน้าน้องๆนักศึกษาแพทย์ซึ่งนั่งรอชมชะตากรรมของพี่กันอยู่เต็มห้อง.. เท่ซะเมื่อไหร่ละ
ผมจบการหมุนเวียนอายุรศาสตร์ที่ศิริราช  (ได้เอ.มาด้วยนะ อิ..อิ) กลับไปสงขลานครินทร์ เมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2522 แล้วก็ไม่ได้พบอาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์ อีกเลย จนท่านจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ก่อนวัยอันควร ด้วยโรคมะเร็งรังไข่แพร่กระจายไปในกระแสเลือด

ไม่มีอีกแล้วคุณครูคนสวยตาดุ  เหลือไว้ในความทรงจำของลูกศิษย์คนนี้ แต่การสอนด้วยความรักและการทำตนให้ดูเป็นตัวอย่าง  
“..who taught me right from wrong, 
And weak from strong,
That’s a lot to learn,
What, what can I give you in return?
If you wanted the moon I would try to make a start,

But I, would rather you let me give my heart,

To Sir, with Love…” 


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์