Latest

จะอธิบายกับลูกว่าอย่างไรดี

ลูกบอกว่า “คนป่วยกำลังรักษาคนป่วย”
ผมมีลูกชายคนเดียว อยู่ ม.ปลาย ปีสุดท้ายของโรงเรียนที่กล่าวขานกันว่าดีที่สุดของประเทศ กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยปีหน้า ผลการเรียนของลูกระดับดีมาก (ไม่เคยได้ GPA ต่ำกว่า 3.85) ปัญหาคือผมอยากให้เขาเลือกเรียนแพทย์ แต่ตัวเขาบอกว่าวิชาแพทย์น่ะมัน “ไม่สุด” ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจนักว่าไม่สุดยังไง ผมแนะนำให้เขาอ่านBlogของหมอเป็นประจำ ซึ่งในที่สุดเขาก็บอกว่า “ยิ่งไม่อยากเรียนใหญ่” ผมถามว่าทำไม แกก็ตอบว่า ที่ผม (อายุน้องๆคุณหมอไม่น่าเกิน10ปี) ไปหาหมอตามหมอนัดทุก 2 เดือนบ้าง หรือ 3 เดือนบ้าง (ผมเป็นความดัน//ไขมันสูง) นั้น พ่อกำลังให้คนป่วยเหมือนกันรักษาพ่อ เพราะแกดันไปอ่านเฉพาะเรื่องที่นักศึกษาแพทย์ หรือแพทย์ ถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่างๆกับคุณหมอ แกบอกว่า “พ่อไม่รู้หรือว่า คนป่วยกำลังถูกคนป่วยด้วยกันรักษา ไม่เชื่อพ่อก็ไปอ่านเรื่องพวกนี้ที่เขียนมาถามหมอสันต์สิ”  ผมก็เลยถามต่อไปว่าวิชาอะไรที่เหมาะสมกับความคิดของลูกมากที่สุดที่น่าจะตัดสินใจเรียน แกก็บอกว่า  Quantum physics ผมถามแกต่อว่ามันดีกว่าวิชาแพทย์ยังไง แกก็บอกว่าวิชาแพทย์เป็นแค่ Applied Science เหมือนพ่อที่เป็นวิศวกรเครื่องกล อีกอย่างแกบอกว่าที่แกไม่อยากเรียนหมอ เพราะปี 2 ที่ต้องเรียน gross anatomy ซึ่งแกบอกว่า แกจะไม่เห็นเฉพาะความจริงที่ปรากฏในทางวิทยาศาสตร์แล้วไปสรุปว่ามันจริงจาก “ภาพที่เห็น” เท่านั้น เพราะเบื้องหลังร่างที่ศึกษามันยังมี “ภาพที่เป็น” อีกมากมายที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไปไม่ถึงและตอบไม่ได้ แกบอกว่า วิทยาศาสตร์ตอบได้เฉพาะ “ภาพที่เห็น” แล้วก็โดดไปสรุปว่าเป็นความจริงแท้ แต่ไม่สามารถอธิบาย “ภาพที่เป็น” ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับทฤษฎีในระดับ Quantum physics เท่านั้นที่จะอธิบายได้ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงให้ลูกชายคนเดียวหันเหมาสนใจเรื่องใกล้ตัว แล้วหันมาศึกษาในสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสามารถใช้วิชาชีพช่วยเหลือคนอื่นในวิสัยที่เป็นไปได้ คุณหมอไม่ต้องตอบก็ได้นะครับ ผมแค่อยากระบายเท่านั้นเอง
……………………………………
ตอบครับ
ผมเพิ่งกลับจากไร่ที่มวกเหล็ก สมองมันเย็นไปแล้วจากการไปอยู่ในไร่ จึงยังไม่พร้อมจะตอบคำถามเรื่องโรคหรือการเจ็บป่วย จึงมองหาจดหมายที่ไม่ใช่เรื่องการเจ็บป่วยมาตอบ และจดหมายของคุณก็ได้สะเป๊คพอดี

ถามว่าอยากให้ลูกเรียนหมอ แต่ลูกไม่ยอมเรียนจะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณอย่าพยายามทำอะไรเกินหน้าที่ของตัวเองสิครับ ผมดูหนังในกองทัพเยอรมันสมัยสงครามโลก การทำอะไรเกินหน้าที่เนี่ย โทษถึงประหารเชียวนะ ในขั้นตอนการเลือกอาชีพนี้ พ่อมีหน้าที่แค่ให้ข้อมูล บอกทรัพยากรส่งเสียว่าเราจะมีอะไรให้ได้บ้าง และรับให้คำปรึกษาเมื่อเขาร้องขอ ส่วนการตัดสินใจเลือกไม่ใช่หน้าที่ของพ่อ แม้แต่การเชียร์อาชีพใดอาชีพหนึ่งอย่างออกนอกหน้าก็ยังไม่ควรทำเลย มิฉะนั้นอีกหน่อยเมื่อเขาต้องไปเป็นหมอเพื่อตามใจพ่อ วันหนึ่งหากเขาเจอคนไข้ที่เขาเอียนสุดขีดเขาอาจส่งต่อมาให้คุณพร้อมกับจดหมายส่งตัวคนไข้ว่า
“ไหนๆพ่อก็ใช้ให้ผมมาเป็นหมอแล้ว พ่อช่วยรับรักษาคนไข้คนนี้ต่อด้วยนะครับ”
หิ..หิ พูดเล่นนะครับ ผมฟังดูแล้วคุณยังไม่เข้าใจคนรุ่นลูกเท่าไหร่นะ ตัวผมเองมีโอกาสได้ดูแลคนหลายชั่วอายุเพราะพ่อแม่มีความทุกข์เพราะลูกก็มักจะพาลูกมาหา จึงได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของคนรุ่นใหม่ที่พวกนักการตลาดเรียกเหมาโหลว่า Generation Y นี้มากพอสมควร ผมจะชี้บางประเด็นให้คุณเห็นนะ ว่าประสบการณ์ชีวิตของคนรุ่นนี้หล่อหลอมเขามาให้ต่างจากคนรุ่นเราอย่างไร
ประเด็นที่ 1. การบ่มเพาะทัศนะต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ คนรุ่นเราทั้งเห็นของจริงทั้งถูกกรอกหูโดยพ่อแม่รุ่นเสื่อผืนหมอนใบหรือรุ่นหลังสงครามโลกว่าชีวิตนี้มันช่างไม่เสถียร เต็มไปด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรแล้วก็มีหวังอดตาย ลองนึกย้อนไปถึงสมัยตอนเราเป็นเด็ก ไม่มีหรอกที่อยากกินอะไรก็เดินไปเปิดตู้เย็นแล้วเลือกหยิบของที่ชอบกินได้ แต่คนรุ่นลูกไม่ต้องเดินไปที่ตู้เย็นด้วยซ้ำ เพียงแค่อ้าปากรับของที่ยื่นป้อนให้ก็อิ่มจนต้องเลือกหุบปากไม่รับของป้อนบางรายการแล้ว ของเล่นก็ทำนองเดียวกัน มันพากันหลั่งไหลมาเองถึงตัว ไม่ต้องไปเสาะหาหรือค้นหาเลย พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ได้เครดิตการ์ดของพ่อแม่ไปใช้ อยากได้อะไรก็ไปรูดการ์ดเอา ดังนั้นสมองของคนรุ่นนี้ไม่เห็นความสำคัญของการเสาะหาการงานที่มั่นคง หรือ job security ยิ่งเราไปพร่ำสอนว่าต้องขยันทำมาหาเงินไว้สร้างหลักฐานสร้างอนาคตให้ตัวเอง แต่เขาหรือเธอกลับเห็นมันตรงกันข้าม คือเห็นว่าจะทำไปทำมาย..ย ในเมื่อเป็นลูกคนเดียว สิ่งที่พ่อแม่มีอยู่ทุกวันนี้มันก็เหลือเฟือแล้ว และด้วยวิถีชีวิตของคนรุ่น Y ที่ใช้เวลา 90% อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจิ้มสมาร์ทโฟน ไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน วันทั้งวันกินปิซซ่าตลับเดียว คุณพูดอย่างไรเขาก็มองไม่เห็นหรอกว่าจะต้องลำบากทำมาหาเงินสร้างหลักฐานที่มั่นคงไปทำไม
ประเด็นที่ 2. ใครคือบุคคลที่มีอิทธิพล  มนุษย์เรานี้ ไม่ว่าเป็นคนรุ่นไหน ต่างก็มีธรรมชาติที่ชอบเสาะหาการยอมรับจากคนอื่น ซึ่ง Maslow กำหนดไว้เป็นความต้องการลำดับสองของมนุษย์ถัดจากปัจจัยสี่เลยทีเดียว คนรุ่นเราเกิดมาในสมัยที่มีอะไรก็ต้องคุยกันแบบ face to face วันหนึ่งๆต้องพบหน้าพูดคุยกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงซึมซับความคิดของผู้ใหญ่เข้ามาแยะและแสวงหาการยอมรับจากคนรุ่นผู้ใหญ่ แต่คนรุ่น Y ไม่ได้เป็นแบบนี้ พ่อแม่ไม่ใช่คนที่เขาพบหน้าบ่อย ครูเขาก็ไม่นับถือ เพราะครูรู้อะไรน้อยกว่ากูเกิ้ลอย่างเทียบกันไม่ได้ ยิ่งสถาบันต่างๆด้วยแล้วยิ่งไม่มีความหมายสำหรับพวกเขาแม้แต่น้อย คนที่เขาหรือเธอพบหน้าบ่อยที่สุดคือเพื่อนทางสมาร์ทโฟน พวกเขาจึงแสวงหาการยอมรับจากเพื่อนๆของเขาเองโดยการโหลดรูปหรือเรื่องราวของตัวเองส่งไปเสาะหาการยอมรับจากเพื่อนทางสมาร์ทโฟน การเสาะหาการยอมรับจากเพื่อนๆนี้ทำกันแทบจะทุกชั่วโมง เรียกว่ากำลังลองเสื้ออยู่ในห้องลองเสื้อยังไม่ทันออกมานอกตู้เลยก็ถ่ายรูปตัวเองใส่เสื้อใหม่ส่งขึ้นเฟซบุ้คแล้ว แล้วเขาหรือเธอจะกระหายการยอมรับจากเพื่อนๆมาก สมัยผมหนุ่มๆทำงานเป็นขี้ข้าเขาต้องมีบี๊บเป้อร์ติดตัว เวลามีคนไข้ฉุกเฉินเขาก็จะเรียกตัว ปี๊บ ปี๊บ ปี๊บ พวกเราทุกคนจะเป็นโรคผวาบี๊บเปอร์ ไม่ได้ยินก็คิดว่าได้ยิน ความที่กังวลว่าคนไข้ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่จะเป็นอะไรไปโดยที่ตัวเองพลาดข่าวสำคัญ พวกเราเรียกอาการผวาบี๊บเปอร์นี้ในหมู่พวกเราว่า Beeper Syndrome มาสมัยนี้ไม่น่าเชื่อว่าเด็กรุ่น Y ก็ป่วยเป็นโรคคล้ายๆกันทั้งๆที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไรคอยบีบบังคับ ฝรั่งเรียกว่าโรค Phantom Vibration Syndrome คือความที่กระหายใคร่รู้ว่ารูปถ่ายหรือเรื่องราวของตัวเองที่ส่งขึ้นเฟซบุ้คไปนั้นจะมีเพื่อนคนไหนชอบแล้วกด like กลับมาบ้าง ใจก็จดจ่อว่าสมาร์ทโฟนของตัวเองสั่นหรือเปล่า มันไม่สั่นก็นึกว่ามันสั่น ประเด็นของผมก็คือคนรุ่น Y รับอิทธิพลความคิดความอ่านจากเพื่อนๆของเขาตลอดเวลา ในสมองจึงมีแต่ความคิดแบบเด็กๆรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมักจะเป็นความคิดฝันเฟิ่องที่ไม่ได้อ้างอิงกฎเกณฑ์ใดๆที่พวกผู้ใหญ่อย่างเราชื่นชอบหรือยอมรับนับถือกันดอก การที่คุณในฐานะพ่อ ซึ่งไม่ใช่คนที่เขาคาดหมายหรือเสาะหาการยอมรับ หรือคนที่จะมีอิทธิพลทางความคิดอะไรกับเขาเลย จะไปคาดหวังว่าพูดอะไรออกไปแล้วจะเปลี่ยนชีวิตเขาได้นั้น.. คุณคาดหวังมากไปนะครับ  
     ประเด็นที่ 3. การถูกสอนให้สำคัญตนว่าเลิศลอยเกินจริง   คนรุ่นเราเกิดมาพร้อมกับการถูกลงโทษ ทำอะไรผิดนิดหนึ่งเป็นโดน…เพี้ยะ ผิดหน่อยเป็นโดน บางครั้งไม่ผิดยังโดนเลย สมัยผมไปทำงานเป็นขี้ข้าเขาใหม่ๆ กฎประจำใจสำหรับกะเหรี่ยงที่มาใหม่ก็คือ
     “คุณคือควาย จนกว่าคุณจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่”
      คือคนรุ่นเราถูกสอนมาแบบถูกเหยียบให้แบนแต๊ดแต๋ติดดินก่อนแล้วค่อยๆโงหัวขึ้นมา แต่คนรุ่นใหม่ถูกสอนมาคนละแบบ คือเขาหรือเธอเกิดมาพร้อมกันการยกยอปอปั้น เกิดมาก็ได้เป็นจักรพรรดิหรือเป็นเจ้าหญิงแล้ว โตจนไปเรียนเมืองนอกเมืองนาแล้วก็ยังเป็นเจ้าหญิงอยู่ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งลูกสาวจบเมืองไทยแล้วไปเรียนหนังสือต่อที่อังกฤษ เธอ (แม่) ตามไปอยู่อังกฤษด้วย ผมท้วงว่าคุณจะตามลูกไปทำไม เธอตอบว่า
     “..ไปเป็นนางกำนัล”
     แล้วยังมีอีกนะ ผมเคยได้อ่านอาจารย์มหาลัยฝรั่งเขียนบ่นถึงพ่อแม่นักศึกษาบางคนชอบเข้ามาล้วงลูกเช่นมาต่อว่าอาจารย์ว่าลูกของฉันทำการบ้านวิชานี้ดีขนาดนี้แต่ทำไมคุณให้เกรดแค่บี. อาจารย์คนนั้นเรียกพ่อแม่แบบนี้ว่า “helicopter parents” คือพ่อแม่แบบว่าทำตัวเป็น ฮ. คอยลอยลำลาดตระเวณคุ้มกันลูกของตัวเองตลอดเวลา คือสรุปว่าคนรุ่นใหม่เกิดมาก็เป็นจักรพรรดิ เป็นเจ้าหญิง มีข้าทาสบริวาร ทำอะไรนิดก็ได้รับคำชม ทำอะไรหน่อยก็ได้รับคำชม บางครั้งทำอะไรผิดก็ยังได้รับคำชมว่าน่ารัก ตอนผมย้ายบ้านใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งตอนนั้นลูกชายยังไม่จบชั้นประถม ผมต้องเคลียร์หิ้งหนึ่งชั้นในโถงกลางบ้านเพื่อเป็นที่ตั้งแสดงวุฒิบัตรเกียรติบัตรโล่ห์เหรียญตราชนะการประกวดประขันทางวิชาการสาระพัดซึ่งแสดงถึงความเก่งของเขา คือคนรุ่นใหม่ถูกพร่ำสอนกรอกหูทุกวันว่า You are special คุณเป็นคนเก่ง คุณเป็นคนพิเศษ คนเราหากโดนครอบอย่างนี้ทุกวันๆเป็นเวลายี่สิบปี เขาหรือเธอจะต้องเข้าใจชีวิตผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นธรรมดา เวลาคิดก็จะออกแนวหลุดๆ มีจินตนาการมากเกิน ประหนึ่งว่าตนเองเป็นตัวแทนพระผู้ช่วยให้รอดที่จะมากู้โลกใบนี้ไว้ ซึ่งมักนำไปสู่การตัดสินใจที่แปลกๆในช่วงเวลาสำคัญๆของชีวิต เวลาปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะออกแนวประหนึ่งว่าตัวเองนั้นเลอเลิศประเสริฐศรี ส่วนคนอื่นนั้นออกเหลาเหย่ใช้การไม่ค่อยได้ มีความเชื่อฝังลึกถึงก้นบึ้งของหัวใจว่าตัวเองนั้นเป็นคนพิเศษมีสิทธิพิเศษมาตั้งแต่เกิด และมักเผลอลืมตัวเอาประโยชน์จากคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกผิดหรือตะขิดตะขวงใจใดๆ คือมองไม่เห็นขอบเขตว่าระหว่างตนกับคนอื่นว่าเขตมันอยู่ตรงไหน เผลอนึกว่าคนอื่นก็คือส่วนหนึ่งของตนเองมีหน้าที่ต้องส่งส่วยให้ตนเองอยู่ร่ำไป ซึ่งมักนำไปสู่ภาวะช็อกเมื่อต้องออกจากครอบครัวไปสู่โลกของความเป็นจริงแล้วพบว่าผู้คนเขาไม่ได้ยอมรับว่าตนเองเป็นอย่างที่ตนเองวาดภาพไว้ ภาวะช็อกนี้นำไปสู่ปัญหาอีกอันหนึ่งเมื่อเรียนหนังสือจบ คือการถดถอยหรือชะงักงันของพัฒนาการทางสังคม  (social development stunt) หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าการเป็นคน “โตไม่พ้นอก” ระยะชะงักงันทางสังคมนี้จะเป็นอยู่นานแค่ไหนกี่เดือนกี่ปีไม่มีใครรู้เพราะคนรุ่นนี้อย่างมากก็อายุเพิ่งสามสิบเศษๆ ตามความคาดหมายของผมการชะงักงันนี้น่าจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ว่าอาจนานได้ถึง 10 – 20 ปี ไม่ได้พูดเล่นนะครับ เพราะผมมีคนไข้ที่คุณแม่พาลูกอายุเกือบจะสี่สิบปีแล้วมาหาหมอเรื่องเป็นหวัดบ่อย เพราะตัวเขาเองไม่มีปัญญาออกจากบ้านมาหาหมอเอง แล้วไม่ใช่ว่าที่มาไม่ได้เนี่ยเป็นโรคโง่เง่าเต่าตุ่นปัญญาทึบอะไรนะครับ เปล่าเลย เรียนจบปริญญาจากเมืองนอกเมืองนามามาแล้ว เพียงแต่ว่าเป็นโรค “โตไม่พ้นอก” เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามผมมองว่าช่วงโตไม่พ้นอกนี้เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญและจำเป็นต้องมี เพราะเป็นช่วงปรับฐานจากการถูก “ครอบ” อย่างผิดๆโดยพ่อแม่ มาสู่การมีชีวิตในโลกของความเป็นจริง เมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้แล้วเขาหรือเธอก็จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีได้เต็มที่
     ประเด็นที่ 4. พัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล อย่างที่บอกแล้วว่าคนรุ่นเรามีอะไรคุยกันแบบ face to face หรือสมัยนี้ก็คือยกหูคุยกัน แต่คนรุ่นใหม่สื่อสารกันด้วยการพิมพ์เป็นตัวหนังสือส่งให้กันทางสมาร์ทโฟน อีเมล ไลน์ หรือโซเชียลเน็ทเวอร์คอย่างเฟซบุ้ค เขาหรือเธอต้องเสียบปลั๊กตัวเอง 24 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 7 วัน ข้อมูลทุกอย่างเข้ามาสู่ตัวทางสมาร์ทโฟน จนมีคำถามอะไรเอ่ยที่พวกเด็กๆฝรั่งถามกันว่า
      
                     “อะไรเอ่ย ที่คุณเห็นได้โดยไม่ใช้สมาร์ทโฟน บอกมายี่สิบอย่างซิ”
ทักษะการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนนี้คนรุ่นใหม่ทำได้ดีและชำนาญมาก และจะชำนาญมากขึ้นๆจนสูญเสียทักษะการสื่อสารทางอื่นไปหมด ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่คิดอยากจะคุยอะไรกับลูกอย่างลึกซึ้งแล้วไปนั่งดักรอคุยกันซึ่งๆหน้าบนโต๊ะอาหารนั้น ไม่ได้ผลหรอกครับ เพราะเด็กเขาสื่อสารทางนั้นไม่เป็น
ผมตั้งข้อสังเกตทั้งสี่ประเด็นนี้ก็เพื่อขยายมุมมองของคุณให้คุณเข้าใจลูกของคุณได้มากขึ้น ลดความคาดหวังที่ห่างไกลความเป็นจริงลง และเตรียมหาทางหนีทีไล่เพื่อรับมือกับสิ่งที่อาจจะตามมาในอนาคตไว้เสียแต่เนิ่นๆ เช่น ลูกอาจจะเปลี่ยนสาขาอาชีพบ่อยๆ คือเรียนยังไม่จบก็อาจเปลี่ยนคณะ หรืออาจสอบเข้าใหม่หลายครั้ง เรียนจบแล้วก็อาจเปลี่ยนงานบ่อย หรือทิ้งวิชาที่เรียนไปทำงานที่ไม่ได้เรียน หรืออาจเข้าสู่โหมด “โตไม่พ้นอก” คือจบแล้วก็ยังเข้าดักแด้สิงอยู่กับพ่อแม่ไม่ยอมไปทำอะไรที่ไหนเป็นเวลานานหลายปี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกและเกิดบ่อยมากเสียจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนรุ่นนี้ไปเสียแล้ว คุณในฐานะพ่อแม่ของคนรุ่น Y รู้ไว้ก็ไม่น่าจะเสียหลาย 

แต่อย่าไปสำคัญผิดว่าทั้งหมดที่ผมตั้งข้อสังเกตมานี้จะหมายความว่าโลกในมือของคนรุ่นลูกเรามันจะสาละวันเตี้ยลงนะครับ ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าหลังจากคนรุ่นเราตายไปแล้ว โลกในมือของคนรุ่น Y นี้จะดีขึ้น ผมไม่ได้มีหลักฐานอะไรมาแบ๊คอัพการคาดการอันนี้หรอกครับ เพียงแต่คาดเดาเอาง่ายๆเอาจากสิ่งที่ผมพบเห็นสองอย่าง คือ
(1) คนรุ่นเราแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ ซึ่งผมว่าเวลาได้พิสูจน์นานพอแล้วว่า..มันไม่เวอร์ค เอาใกล้ตัวผมนี้ก็ได้นะ ปัญหาของวงการแพทย์ เราพยายามส่งแพทย์ไปอยู่ชนบทให้ติด พยายามมา 30 ปี ไม่เคยเวอร์ค ไม่น่าเชื่อนะครับว่าวงการที่ว่ากันว่ามีแต่คนฉลาด พยายามทำงานหนึ่งซึ่งมีรอบการวัดผลเพียง 3-4 ปี แต่ทำอยู่นานถึงสามสิบปี ก็ยังไม่สำเร็จ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างนะ เพราะว่าเราพยายามแก้ปัญหาจากประสบการณ์ การแก้ปัญหาใหญ่ด้วยประสบการณ์ผมว่ามันไม่เวอร์คหรอก ผมว่าปัญหาใหญ่มันต้องแก้ด้วยจินตนาการ ซึ่งคนรุ่นเราไม่มี แต่คนรุ่น Y เขามีมากกว่าเรานะ

(2) เวลาผมไปออกหน่วยรับบริจาคโลหิตทีไร ผมดูรายชื่อ ดูอายุ ของคนที่บริจาคเลือด ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น Y นะครับ เออ.. ทำไมละ นั่นสิ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไม
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์